Mobile Version / สำหรับโทรศัพท์มือถือ ยินดีต้อนรับท่านผู้มาเยือน www.peoplecine.com ท่านยังไม่ได้ log in นะครับ เข้าใช้งานระบบ / สมัครสมาชิก/ ลืมรหัสผ่าน

ร่วมทดสอบ Peoplecine mobile Beta0.1


รูป
หนังจีนในอดีต ทุกยุค ทุกสมัยเจ้าของ ผู้ตอบหลังสุด
-รายการ:TALK ABOUT MOVIEแนะนำหนังน่าสะสม(คนตัดคน-GOD OF GAMBLERS,賭神 THE COLLECTION-1989-1997)by Samuel ร.. 10/9/2562 16:47
-5หนังในตำนานของนักแสดงกังฟูผู้เป็นตำนาน”BRUCE LEE”(บรู๊ช ลี).. 6/9/2562 22:37
-เก่งกับเฮง-Mr.Boo:The Private eyes(1976).. 6/9/2562 22:36
-เฮงกำลัง-3(3-เฮงไม่จำกัด)Security Unlimited(1981).. 6/9/2562 22:35
-เปิดตำนานเก่งกับเฮง(2คน2โกง)Games Gamblers play(1974).. 6/9/2562 22:33
-Jade Dynasty 诛仙 (2019) ยังไม่มีคนตอบ
-7 เซียนซามูไร.. 16/8/2562 15:40
-กล้าแล้วต้องบ้า..ยังไม่มีคนตอบ
-JOURNEY TO CHINA Trailer .. 26/7/2562 20:59
-Only The Cat Knowsยังไม่มีคนตอบ
-หงส์ทองคะนองศึก.. 11/4/2562 21:25
- โคตรพยัคฆ์หยินหยาง 2018.. 7/1/2562 23:47
-วันนี้ไม่กลับบ้าน ปี 2512.. 11/12/2561 22:18
-THE WAY OF THE DRAGON 1972 ไอ้หนุ่มซินตึ๊งบุกกรุงโรม .. 18/11/2561 8:35
-จอมคนกระบี่เงา.. 6/11/2561 16:27
-วันคัท ซอมบี้งับๆๆๆ .. 3/10/2561 15:16
เลือกหน้า [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12] [13] [14] [15] [16] [17] [18] [19] [20] [21] [22] [23] [24] [25] [26] [27] [28] [29] [30] [31] [32] [33] [34] [35] [36] [37] [38] [39] [40] [41] [42] [43] [44] [45] [46] [47] [48] [49] [50] [51] [52] [53] [54] [55] [56] [57] [58] [59] [60] [61] [62] [63] [64] [65] [66] [67] [68] [69] [70]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 1115

แกะรอย "งูเกงกอง" (เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง)


แกะรอยงูเกงกอง
เรื่อง > ดรสะรณ

 

 

            เด็กผู้หญิงที่มีเส้นผมเป็นงู คือหนึ่งในภาพจำของผู้ชมจำนวนมากในเอเชียที่ได้เคยสัมผัสกับงูเกงกอง ภาพยนตร์ของ เตียลิมกุน ที่สร้างขึ้นในกัมพูชาเมื่อปี 1970 ก่อนการบุกเข้ายึดกรุงพนมเปญของเขมรแดง

 

            แม้ระบอบเขมรแดงจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างต้องสูญสลาย รวมทั้งได้คร่าชีวิตของ เจียยุทธร พระเอกของหนังเรื่อง งูเกงกอง ไปด้วย แต่ภาพความน่าสะพรึงกลัวของงูเกงกองยังคงติดตรึงอยู่ในใจของผู้ที่เคยได้ชมหนังเรื่องนี้เสมอมา แม้ว่าเวลาจะผ่านเลยไปกว่า 40 ปีแล้วก็ตาม และเรื่องราวนี้ยังคงถูกนำมาผลิตซ้ำอยู่เรื่อย ๆ ผ่านทางสื่อต่าง ๆ อย่างเช่น ละครโทรทัศน์เรื่อง ป่านางเสือ 2 ที่เพิ่งออกอากาศไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ยังมีตัวละครผู้หญิงที่มีเส้นผมเป็นงู และชื่องูเกงกอง

            จากการที่อยู่ในสถานะหนังที่เชื่อกันว่าสาบสูญไปแล้วนานนับสิบปี เช่นเดียวกับ เตียลิมกุน ที่เคยมีคนเชื่อกันว่าเขาได้ตายไปแล้ว ปี 2012 คือปีที่งูเกงกองได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เมื่อเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินประจำปีนี้ ได้นำเอางูเกงกองกลับมาฉายอีกครั้งในสายฟอรั่มของเทศกาล ซึ่งได้ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งที่อยู่ร่วมการฉายในเวลานั้น ได้มีโอกาสเห็นหนังเรื่องงูเกงกองอีกครั้ง รวมไปถึงหนังเรื่อง บัวขาวน้อย ซึ่งเป็นผลงานการกำกับอีกเรื่องของเตียลิมกุน

 

            ในการฉายในครั้งนั้น เตียลิมกุน ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 80 ปีแล้ว และพำนักอยู่ในประเทศแคนาดาก็ได้เดินทางไปร่วมอยู่ในการฉายด้วย โดยนับเป็นการปรากฏตัวเป็นครั้งแรกของเขาต่อสาธารณชนในรอบหลายสิบปี ซึ่งหลังจากเบอร์ลิน หนังทั้งสองเรื่องก็กำลังจะเดินทางต่อไป โดยมีกำหนดฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้

            อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีกำหนดว่าหนังเรื่องนี้จะได้กลับมาเผยแพร่ในประเทศไทยในรูปแบบใด ๆ หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ด้วยความหวังว่าในสักวันหนึ่งหนังเรื่องนี้จะได้มีโอกาสกลับมาอวดโฉมสู่สายตาของคอหนังในเมืองไทยอีกครั้ง สกู๊ปชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นนี้จึงเกิดขึ้นมา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับงูเกงกอง จากปากคำของเตียลิมกุนที่ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร FILMAX ผ่านทางอีเมลเป็นกรณีพิเศษ โดยที่บางเรื่องเป็นเรื่องที่เขายังไม่เคยเปิดใจกับที่ไหนมาก่อน

 

เตียลิมกุน ผู้ให้ชีวิตงูเกงกอง

            ผู้ที่ให้ชีวิตแก่งูเกงกองก็คือเตียลิมกุน ผู้กำกับที่ได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีตุ๊กตาทองของเขมร เพราะแม้จะมีผลงานภาพยนตร์ทั้งหมดเพียงแค่ 11 เรื่องเท่านั้น แต่ก็มีหนังที่ประสบความสำเร็จอยู่เป็นจำนวนหลายเรื่อง ซึ่งจุดเริ่มต้นในการทำหนังของเขาเกิดขึ้นในเวลาที่วงการภาพยนตร์ในกัมพูชายังแทบไม่เป็นรูปเป็นร่าง โดยเตียลิมกุนได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำหนังของเขาว่า

            “ผมชอบศิลปะตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ผมชอบดูหนังและถ่ายภาพ ผมสนใจในการทำหนังเสมอมา แต่ในเวลานั้นคนกัมพูชาชอบดูหนังต่างประเทศมากกว่า เพราะวงการหนังกัมพูชาอ่อนแอมากเมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ ผมจึงอยากสร้างหนังที่สามารถแข่งกับหนังต่างประเทศได้ และอยากให้ชาวกัมพูชาได้เห็นหนังกัมพูชาในแบบของผม”

             ในเวลานั้น ในกัมพูชาหรืออีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้มีการสอนการทำหนังกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนอย่างในปัจจุบัน คนทำหนังทั้งหมดในกัมพูชายุคนั้นจึงต้องล้วนศึกษาการทำหนังกันด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับเตียลิมกุน “ในช่วงยุค 60 ในกัมพูชาไม่มีโรงเรียนสอนทำหนัง ผมจึงต้องเรียนรู้การทำหนังด้วยตัวเอง ว่าจะทำหนังจากภาพที่มีอยู่ในหัวออกมาได้อย่างไร มันเป็นพรสวรรค์ส่วนตัวที่ผมมีในการเปลี่ยนภาพในหัวให้กลายเป็นภาพบนจอ”

            ภาพยนตร์เรื่องแรกของเตียลิมกุน ซึ่งสร้างภายใต้ชื่อของดารารัฐภาพยนตร์ คือLeah Huey Duong Dara (Goodbye Duong Dara) ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไม่เคยเข้าฉายในประเทศไทย โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉายในกัมพูชาเมื่อปี 1963 โดยเป็นภาพยนตร์ระบบ 16 มม. เช่นเดียวกับภาพยนตร์อื่น ๆ ในกัมพูชายุคนั้น เพราะในกัมพูชาเวลานั้น มีเพียงภาพยนตร์ที่สร้างโดย เจ้านโรดม สีหนุ และผู้สร้างอีกเพียงเจ้าถึงสองเจ้าเท่านั้น ที่สร้างหนังเป็น 35 มม.

            “ผมทำหนังของผมเป็น 16 มม. เพื่อลดต้นทุน ในช่วงยุค 60-70 ผู้ชมยังไม่ค่อยสนใจในเรื่องระบบของหนังเท่าไหร่ ที่จริงหลังจากงูเกงกอง ผมได้ลงทุนซื้่อกล้อง 35 มม.สโคปและอุปกรณ์จัดแสงใหม่เพื่อถ่ายหนังเรื่องใหม่ของผมในระบบ 35 มมแต่ประเทศของผมล่มสลายไปเสียก่อน ก็เลยไม่ได้ทำ” โดยเตียลิมกุนได้กล่าวถึงประสบการณ์ในการทำหนังเรื่องแรกของเขาว่า “มันเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างน่าหงุดหงิด เพราะนักแสดงบางคนก็แสดงไม่ได้อย่างผมต้องการ ทำให้หลายฉากต้องถ่ายแล้วถ่ายอีกจนกว่าผมจะพอใจ” สุดท้ายเมื่อ Goodbye Duong Dara ออกฉาย หนังก็ประสบความสำเร็จ โดยได้รับรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์กัมพูชาปี 1964 ซึ่งรางวัลดังกล่าว เตียลิมกุนได้รับจากพระหัตถ์ของเจ้านโรดม สีหนุ

            หลังจากนั้นเตียลิมกุนได้สร้างภาพยนตร์ออกมาเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้มากมายเท่าผู้สร้างเจ้าอื่น ๆ อาทิเช่น Ork Leah Tronum (Out of the nest-1967-ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เคยออกฉายในประเทศไทย), Vil vinh na bong (1966-ออกฉายในประเทศไทยภายใต้ชื่อ “เลือดในสายฝน” โดยออกฉายในประเทศไทยครั้งล่าสุดเมื่อปี 1981), Peov Chuk Sor (1967-ออกฉายในประเทศไทยภายใต้ชื่อ “บัวขาวน้อย”) โดยภาพยนตร์ที่เตียลิมกุนกล่าวว่าเขาชอบมากที่สุดก็คือ Out of the Nest

            “ที่จริงผมรักหนังของผมทุกเรื่อง เพราะในทุก ๆ เรื่อง ผมตั้งใจทำมันอย่างดีที่สุด แต่ที่ผมชอบเป็นพิเศษคือหนังเรื่อง Out of the Nest ซึ่งหนังเรื่องนี้ถ่ายทำที่บ้านที่ผมเกิด แต่มาตอนนี้บ้านหลังนี้ก็ไม่อยู่แล้ว เพราะตัวบ้านได้ถูกทำลายไปในระหว่างสงคราม”

 

กำเนิดงูเกงกอง

            งูเกงกองเป็นเรื่องราวที่มาจากนิทานพื้นบ้านของกัมพูชาที่ว่าด้วยที่มาของงูบนโลกมนุษย์ เนื้อหาในนิทานเล่าถึงผัวเมียคู่หนึ่ง ฝ่ายเมียชื่อ นางหนี่ ส่วนฝ่ายผัวนั้นไม่ปรากฏชื่อ ทั้งสองมีลูกสาวชื่อ นางเอต ผัวของนางหนี่มักเดินทางเข้าไปค้าลูกปัดในเมืองเป็นเวลานาน ๆ จนวันหนึ่งขณะที่สามีของนางหนี่ไม่อยู่ นางหนี่และนางเอตได้ออกไปหาฟืนในป่า เมื่อนางหนี่เห็นต้นไม้สูงใหญ่จึงเงื้อขวานฟันต้นไม้นั้น แต่ขวานได้ตกลงไปในโพรงดินซึ่งเป็นที่อาศัยของงูเกงกอง เมื่อขอให้งูเกงกองส่งขวานให้ งูเกงกองตอบกลับมาว่า จะคืนขวานให้ก็ต่อเมื่อนางหนี่ยอมเป็นเมียของตน เมื่อนางหนี่ตกลง งูเกงกองจึงขึ้นมาสมสู่กับนางหนี่ที่บ้านจนนางตั้งครรภ์

            ต่อมาเมื่อผัวของนางหนี่กลับมาถึงบ้าน นางเอตได้ฟ้องพ่อว่าแม่เป็นชู้กับงูเกงกอง ผัวของนางหนี่จึงใช้อุบายให้นางเอตไปหลอกงูเกงกองมาฆ่าที่บ้าน แล้วทำเป็นอาหารให้นางหนี่รับประทาน ขณะที่กำลังกินข้าวอยู่นั้น อีกาที่เกาะอยู่ที่กิ่งไม้ก็ได้ร้องว่า “กา ๆ กลืนกินเนื้อผัวตัวเอง” เมื่อนางหนี่มองออกไปเห็นหัวงูอยู่บนกิ่งไม้ ทำให้รู้ว่างูเกงกองได้ถูกฆ่าไปแล้ว และนางก็กำลังกินเนื้อของงูนั้นนางหนี่จึงน้ำตาไหล เรื่องนี้ยิ่งทำให้ผัวของนางหนี่โกรธแค้น จึงวางอุบายลวงนางหนี่ไปฆ่า แต่เมื่อผัวของนางหนี่ใช้ดาบฟันร่างของนางหนี่ขาดตรงกลางตัว ลูกงูที่อยู่ในท้องก็เลื้อยออกมาเป็นจำนวนมาก ผัวของนางหนี่ใช้ดาบฟันลูกงูตายไปหลายตัว แต่อีกหลายตัวมุดหนีไปตามที่ต่าง ๆ บนพื้นโลกของเราจึงมีงูอยู่หลายประเภทนับแต่นั้นมา

            “ก่อนหน้างูเกงกอง ไม่เคยมีหนังกัมพูชาเรื่องไหนที่สร้างเกี่ยวกับงูเลย” แม้จะมีการสร้างหนังกัมพูชาออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงเวลานั้น แต่ก็ไม่เคยมีเรื่องใดที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับงูมาก่อน เช่นเดียวกับนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ที่ก็ไม่เคยมีใครหยิบนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่จากเรื่องราวเดิมในนิทานพื้นบ้านก็ได้มีการเสริมเนื้อหาเพิ่มเติมเข้าไป

            “สาเหตุที่ผมเพิ่มเติมเนื้อหาต่อจากนิทานพื้นบ้านเข้าไป เพราะตัวนิทานพื้นบ้านมันสั้นเกินไป มันจบลงตรงที่นางหนี่ถูกฆ่าโดยสามีของนาง ซึ่งถ้าทำเป็นหนังมันจะยาวแค่ 15 นาทีเท่านั้น ผมก็เลยแต่งเรื่องราวที่เหลือขึ้นมา ตอนที่ผมเริ่มเขียนบทในส่วนที่เหลือ ผมไม่สามารถหยุดเขียนได้เลย เพราะไอเดียใหม่ ๆ ได้ไหลเข้ามาในหัวผมเรื่อย ๆ”

            ด้วยเหตุนี้งูเกงกองในฉบับสมบูรณ์จึงมีความยาวถึง 2 ชั่วโมง 44 นาที (ขณะที่ฉบับที่ออกฉายในประเทศไทยจะถูกตัดให้สั้นลง) และในหนังก็ได้มีการสร้างตัวละครใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็คือตัวละครเด็กผู้หญิงที่มีเส้นผมเป็นงู ซึ่งกลายเป็นภาพจำของงูเกงกองไปในที่สุด “ผมสร้างตัวละครเด็กผู้หญิงที่มีผมเป็นงูขึ้นมา เพราะผมรู้ว่าบทนี้จะต้องทำให้หนังเรื่องงูเกงกองดัง ผมรู้ว่าคนต้องอยากเห็นตัวละครเด็กผู้หญิงคนนี้ที่เป็นลูกครึ่งระหว่างงูกับคน”

            เรื่องราวในหนังงูเกงกอง ดำเนินต่อไปจากนิทาน โดยให้ลูกงูตัวหนึ่งที่รอดชีวิตมาได้ ได้เติบโตขึ้น และด้วยพลังแห่งธรรมชาติ ก็ทำให้งูตัวนั้นสำรอกแหวนวิเศษออกมาวงหนึ่ง ซึ่งสามารถทำให้มันแปลงกายเป็นมนุษย์ได้ โดยมีชื่อว่า วาสนา (เจียยุทธร) และได้พบรักกับ สุริยา(ดีเศวต) ลูกสาวของเศรษฐี แต่ความรักครั้งนี้ก็อยู่ในสายตาของ นกเอี้ยง (ศัก ศศิบอง) แม่เลี้ยงใจร้าย ที่ได้ไปขอความช่วยเหลือจากนางแม่มดที่สามารถถอดหัวออกได้แบบผีกระสือ ให้ช่วยเล่นงานคนทั้งคู่ โดยมีแหวนวิเศษของวาสนาเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน จึงทำให้วาสนาต้องคำสาปของแม่มดจนคืนร่างกลายเป็นงูและกลายเป็นหิน ขณะที่สุริยาก็ได้คลอดลูกสาวออกมาเป็นเด็กสาวซึ่งมีผมเป็นงู (ด.ญ. วิจิตร) ซึ่งจะต้องมาช่วยเหลือทั้งพ่อและแม่ให้พ้นจากคำสาปของแม่มด

            ในหนังเรื่องงูเกงกองมีฉากที่เป็นเทคนิคพิเศษอยู่หลายฉาก ซึ่งวิธีการถ่ายทำเตียลิมกุนเป็นผู้คิดค้นขึ้นมาเองโดยการใช้เทคนิคในการใช้กล้อง ซึ่งเมื่อพูดถึงงูเกงกอง สิ่งที่ทุกคนนึกถึงคืองูซึ่งมีอยู่มากมายในหนังเรื่องนี้ การทำงานกับงูนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

            “ก่อนที่จะถ่ายทำฉากนี้ ผมต้องให้คนไปจับงูมาหลายตัว ผมใช้งูเป็นคันรถเลยในการถ่ายทำหนังเรื่องงูเกงกอง ผมต้องหางูที่มีหลายขนาดเพื่อนำมาใช้ในหลาย ๆ ฉากในหนังเรื่องนี้ ผมต้องเลือกงูตัวเล็กมาใช้วางบนศีรษะของตัวเด็กผู้หญิง การถ่ายทำงูที่กำลังเคลื่อนไหวนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะแสงที่ใช้ในการถ่ายหนังจะทำให้งูไม่ขยับ เราจึงต้องมีการสับเปลี่ยนตัวงูอยู่เรื่อย ๆ ในขณะถ่ายทำเพื่อให้งูเคลื่อนไหวได้อย่างที่คุณเห็นในหนังเรื่องนี้ ในการถ่ายทำแต่ละฉาก ผมต้องสับเปลี่ยนตัวงูหลายครั้งมาก”

            ฉากที่ทุกคนจำได้ถึงงูเกงกองก็คือ ฉากที่ผัวของนางหนี่ฆ่านางหนี่ด้วยการใช้ดาบฟันท้อง ทำให้มีลูกงูตัวเล็ก ๆ จำนวนมากออกมาจากท้องของนางหนี่ ซึ่งเตียลิมกุนได้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในการถ่ายทำฉากนี้ว่า “การถ่ายทำฉากนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ผมใช้เทคนิคบางอย่างซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ เท่าที่ผมจำได้คือฉากนี้เราต้องใช้เวลานานมากในการถ่ายทำ”

 

ความสำเร็จของงูเกงกอง

            “ผมชอบเข้าไปนั่งอยู่ในโรงหนังร่วมกับคนดูและคอยสังเกตปฏิกิริยาระหว่างการฉายหนังของผม มันจึงทำให้ผมจับทางได้ว่าฉากแบบไหนที่ทำให้คนดูสนใจ” เมื่อออกฉายในพนมเปญตลอดจนจังหวัดอื่น ๆ ในกัมพูชาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1970 งูเกงกองกลายเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จมาก โดยตั๋วในแต่ละรอบนั้นเต็มตลอดเป็นระยะเวลาติดต่อกันถึงสามเดือน ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เตียลิมกุนตัดสินใจนำหนังเรื่องนี้ไปออกฉายในประเทศอื่น ๆ บ้าง ซึ่งประเทศแรกที่ไปก็คือประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยนี่เอง

            “ไม่มีใครรู้ว่าหนังเรื่องหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้แค่ไหน แต่หลังจากที่ผมได้เห็นปฏิกิริยาของผู้ชมชาวกัมพูชาที่มีต่องูเกงกองแล้ว ผมก็รู้ในทันทีว่าหนังเรื่องนี้จะต้องประสบความสำเร็จในตลาดเอเชียอย่างแน่นอน”

            ด้วยเหตุนี้ เตียลิมกุนจึงได้หอบหนังเรื่องงูเกงกองมาหาโรงฉายที่ประเทศไทย แต่ก็ต้องประสบปัญหาจากการที่เจ้าของโรงหนังยังไม่เชื่อในหนังกัมพูชาเท่าที่ควร “มันเหมือนเมื่อวานนี้เอง ตอนที่ผมนำหนังเรื่องนี้มาฉายที่เมืองไทย สมัยก่อนมันไม่ง่ายเลย เพราะเจ้าของโรงหนังที่เมืองไทยไม่เชื่อในหนังกัมพูชา การเจรจานั้นยากลำบากมากและผมต้องใช้ความอดทนจนกระทั่งในที่สุดก็สามารถนำงูเกงกองมาฉายในกรุงเทพฯได้”

            งูเกงกองออกฉายในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2514 ที่โรงภาพยนตร์เมืองทอง ย่านประตูน้ำ (ปัจจุบันคือแฟลตเมืองทอง) โดยในเวลาต่อมาหนังเรื่องนี้ได้กลับมาฉายใหม่อีกครั้งที่โรงภาพยนตร์เมืองทอง ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม พ.ศ.2514 โดยคอหนังเก่าตัวยงอย่างคุณ โต๊ะ ปริภัณฑ์ วัชรานนท์ นักพากย์ชื่อดังแห่งทีมพากย์พันธมิตรได้เล่าให้ฟังถึงความทรงจำของเขาที่มีต่อหนังเรื่องนี้ว่า

            “ครั้งแรกงูเกงกองฉายเป็น 16 มม ที่โรงหนังเมืองทอง ประตูน้ำ พากย์โดยคุณ สมพงษ์ วงษ์รักไทย กับ ป้าจุ๊ จุรี โอศิริ หลังจากนั้นก็มีก็อปปี้ฟิล์ม 16 ไปเดินสายฉายทางใต้ มีนักพากย์มาพากย์สด ทำเงินมหาศาล ก่อนที่ 4-5 ปีให้หลัง เขาจะโบลว์ฟิล์ม 16 เป็น 35 มาฉายเป็นรอบที่สอง รอบหลังจะฉายที่เพชรรามา โดยค่ายโกบราเดอร์ของตระกูลพูลวรลักษณ์เป็นผู้จัดจำหน่าย คราวนี้ให้สมพงษ์ วงษ์รักไทย, รอง เค้ามูลคดี และจุรี โอศิริ พากย์เป็นสามคน รอบแรกจะพากย์กันแค่สองคนคือสมพงษ์-จุรี ส่วนถ้าเป็นในสายต่างจังหวัด ที่หาดใหญ่ หนังฉายที่โรงหนังคิงส์ พากย์โดยนักพากย์ชื่อ มหรรณพ-วราลักษณ์ ตอนที่ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ที่โรงหนังคิงส์ หาดใหญ่ผมก็ยังเด็กมาก ๆ”

            โดยผู้ที่เข้ามาจัดจำหน่ายหนังเรื่องงูเกงกอง และหนังอื่น ๆ ของเตียลิมกุน ในช่วงที่มีการโบลว์ฟิล์มเป็น 35 มม. ก็คือโกบราเดอร์ของตระกูลพูลวรลักษณ์ที่ยังคงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันกับเตียลิมกุนมาจนถึงปัจจุบันนี้

 

            เตียลิมกุนย้อนระลึกถึงวันแรกที่เขานำงูเกงกองมาฉายที่กรุงเทพฯว่า “เมื่อครั้งที่งูเกงกองมาฉายรอบปฐมทัศน์ที่กรุงเทพฯ ผมยังคาดเดาไม่ได้ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง วันนั้นผมนั่งแท็กซี่ไปโรงหนังเมืองทอง เมื่อไปถึงแถว โรงหนังปรากฏว่ารถติด ผมถามแท็กซี่ว่าทำไมรถติดแบบนี้ แท็กซี่บอกกับผมว่าเพราะโรงหนังเมืองทองกำลังฉายหนังเกี่ยวกับงู เลยมีคนจำนวนมากรอเข้าไปในโรงหนังทำให้รถติดยาว สิ่งที่ได้ยินจากแท็กซี่ทำให้ผมยิ้มออกและคิดในใจว่า ในที่สุดความตั้งใจทั้งหมดที่ได้ทุ่มเททำลงไปก็สัมฤทธิ์ผล ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่คนไทยชอบหนังของผม”

            งูเกงกองได้ออกฉายเป็นครั้งสุดท้ายในประเทศไทย ที่โรงภาพยนตร์เพชรรามา, เฉลิมบุรี, สามย่าน, เจ้าพระยา และเพชรคลองจั่น เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศกัมพูชาได้แตกไปแล้ว และเตียลิมกุนต้องเข้ามาพำนักในประเทศไทย ก่อนที่จะพาครอบครัวไปใช้ชีวิตที่ประเทศแคนาดาจนถึงปัจจุบัน แต่ช่วงเวลาก่อนที่กัมพูชาจะแตก งูเกงกองได้เดินสายฉายในหลายประเทศทั่วเอเชีย ทั้งที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงฮ่องกงและไต้หวัน

             โดยหนังยังได้เข้าร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์ Asean Film Festival ที่ประเทศสิงคโปร์และไต้หวัน ซึ่งที่สิงคโปร์หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลสิงโตทะเลทองคำด้วย “หนังของผมออกฉายที่สิงคโปร์ก่อน แล้วจึงฉายที่ฮ่องกง แล้วตามมาด้วยประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เมื่อผู้จัดจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ ได้ยินถึงความสำเร็จของงูเกงกองในไทย ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นว่า หนังก็น่าจะประสบความสำเร็จในประเทศของพวกเขาด้วยเช่นกัน ซึ่งหนังทั้งงูเกงกองภาค 1 และ ภาค 2 เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จมากทั่วเอเชีย”

            หลังจากความสำเร็จอย่างล้นหลามของงูเกงกองภาคแรก ทำให้ชื่อของทั้งเตียลิมกุน เจียยุทธร และ ดีเศวต เป็นที่รู้จักในเมืองไทย จึงมีเจ้าของโรงหนังมากมายติดต่อเตียลิมกุนเพื่อขอหนังเรื่องอื่น ๆ ของเขาไปฉาย“เจ้าของโรงหนังตามล่าตัวผมกันใหญ่ เพื่อให้ผมเอาหนัง งูเกงกอง 2 ไปฉายในโรงของเขา”

            งูเกงกอง 2 เป็นเรื่องราวที่ดำเนินต่อไปจากงูเกงกอง 1 ซึ่งความพิเศษของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การที่ได้ อรัญญา นามวงษ์ ซูเปอร์สตาร์ชื่อดังของไทยในเวลานั้นมาร่วมแสดงด้วย ซึ่งหนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังกัมพูชาเพียงสองเรื่องที่มีอรัญญา นามวงษ์ ร่วมแสดง (อีกเรื่องหนึ่งคือ รักข้ามขอบฟ้า ที่ ส. อาสนจินดา เป็นผู้กำกับการแสดงฝ่ายไทย) โดยเตียลิมกุนได้กล่าวถึงอรัญญา นามวงษ์ว่า “สาเหตุที่ผมเลือกอรัญญา นามวงษ์ มาเล่นในงูเกงกอง 2 เพราะเธอดังมาก และเป็นนักแสดงที่มีความสามารถเหมาะกับหนังของผม และผมก็อยากจะให้มีดาราไทยมาร่วมแสดงกับดารากัมพูชาในหนังของผมด้วย ผมยังจำได้ว่า วันแรกที่ผมถ่ายหนังเรื่องนี้ในประเทศไทย มีนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาถ่ายรูปที่กองถ่าย พอวันรุ่งขึ้นผมก็เห็นภาพของผมกับทีมงานลงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ”

            งูเกงกองได้ชื่อว่าเป็นผลงานที่ทำให้ผู้ชมชาวไทยยังคงจดจำดีเศวตในฐานะนางเอกซูเปอร์สตาร์ของกัมพูชาได้จนถึงทุกวันนี้ โดยดีเศวตได้ร่วมงานกับเตียลิมกุนในหนังเกือบทุกเรื่องของเขา ซึ่งเตียลิมกุนพูดถึงการคัดเลือกนักแสดงของเขาว่า “ผมเลือกนักแสดงจากความเหมาะสมกับบทบาท อย่างเจียยุทธรเหมาะกับบทในเรื่องบัวขาวน้อย และงูเกงกอง ภาคแรกและภาค 2 ในหนังเรื่อง Out of the nest ผมก็ใช้พระเอกชื่อ มายาสิทธิ์ มาแสดงนำ ส่วนในเรื่อง เลือดในสายฝน ผมได้ นบแนม มารับบทเป็นพระเอก ขณะที่ดีเศวตมีความเหมาะที่จะเล่นหนังทุกเรื่องของผม เช่นเดียวกับถ้าเป็นบทนางร้ายก็ต้อง ศัก ศศิบอง”

            ขณะที่เจียยุทธรเองนั้นก็เป็นพระเอกหนังเขมรที่หลาย ๆ คนยังคงจำได้ หากแต่น่าเศร้าที่เขาได้เสียชีวิตไปในระหว่างการปกครองของเขมรแดงนั้นเอง ซึ่งเตียลิมกุนได้กล่าวถึงเจียยุทธรว่า “เจียยุทธรเป็นนักแสดงชายคนโปรดของผม ผมดีใจมากที่ได้ทำงานร่วมกับเขา เขามักบอกผมเสมอว่าเขาได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ มากมายจากผม และเขาก็ชอบที่เวลาถ่ายทำผมจะแสดงให้เขาดูเป็นตัวอย่างก่อน ไม่ว่าฉากที่ถ่ายทำจะยากขนาดไหน หรือจะต้องถ่ายซ้ำสักกี่เทค เขาไม่เคยปริปากบ่น ผมคิดถึงเขา”

 

            แม้งูเกงกอง 2 จะประสบความสำเร็จด้วยดี และเดินสายออกฉายในหลายต่อหลายประเทศในเอเชียเช่นเดียวกับภาคแรก แต่หลังจากนั้นไม่นาน เตียลิมกุนก็ต้องหยุดการทำหนังของเขาเอาไว้จนถึงปัจจุบันนี้ด้วยเหตุผลทางการเมือง เนื่องจากการหนีออกนอกประเทศของ นายพลลอนนอล และการเข้าบุกยึดพนมเปญของเขมรแดง ซึ่งนำมาสู่การทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่เขมรแดงมองว่าเป็นทุนนิยมและความเจริญ ผู้คนจำนวนมากที่เป็นปัญญาชนในสายตาของเขมรแดงถูกสังหารในทุ่งสังหาร หรือตายจากความอดยากหรือโรคภัยไข้เจ็บ โรงภาพยนตร์ถูกปิดตาย ฟิล์มภาพยนตร์และเอกสารต่าง ๆ จำนวนมากถูกเผาทำลาย หรือทิ้งระเกะระกะไว้จนหมดสภาพการใช้งานไปในที่สุด

            “ในเวลานั้นผมอยู่ที่เมืองไทย ช่วงนั้นผมต้องเดินทางไปเทศกาลหนังในสิงคโปร์และไต้หวัน และผมต้องเตรียมเขียนบทหนังเพื่อจะให้เจียยุทธรมาแสดงกับอรัญญา นามวงษ์ แต่พอเตรียมจะทำกัมพูชาก็มาแตกเสียก่อน” โดยทุกวันนี้ ยังคงมีหนังที่เตียลิมกุนสร้างค้างไว้สองเรื่อง คือ Tom Teav ซึ่งเป็นเรื่องราวจากนิทานพื้นบ้านของเขมร ที่มีเนื้อหาคล้าย โรมิโอและจูเลียต และ Chomnol Beung Snor (The Breeze of Beung Snor) หนังทั้งสองเรื่องถ่ายทำไม่เสร็จ และไม่มีโอกาสได้ออกฉายไปตลอดกาลด้วยผลแห่งสงคราม ซึ่งหลังจากนั้นเตียลิมกุนก็ได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยระยะหนึ่ง โดยเขาได้ยุติธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์ทุกอย่างในช่วงปี 1980 ภายหลังการออกฉายครั้งสุดท้ายของงูเกงกองในประเทศไทย

            เมื่อพูดถึงความสำเร็จของงูเกงกองในมุมมองของผู้ชม โต๊ะ ปริภัณฑ์ ให้ความเห็นไว้ว่า “หนังในทั้งโลกนี้ จำไว้ว่าหนังที่จะประสบความสำเร็จคือต้องมีความแปลก และงูเกงกองเป็นหนังที่แปลกมากในยุคนั้น คือการที่มีหัวเป็นงูอย่างนี้ มันไม่มีใครเคยเห็น มันไม่มีเลยจริง ๆ ที่งูมามีอะไรกับคน แล้วผู้หญิงก็ออกลูกมา ตัวแฟนของผู้หญิงคนนี้โมโหก็ฆ่าลูกงูตายคาที่ แล้วเขาจะฆ่างูกันแบบเห็น ๆ เลย มันเป็นความตื่นตาตื่นใจ เราไม่เคยเจอแบบนั้น อะไรที่เป็นความแปลกใหม่คนก็ดู อย่างที่สายใต้ เสริมทุกแห่งที่ฉาย ฉายเจ็ดวัน ก็ต่อเป็นสิบวัน สิบห้าวัน ทุกแห่งจะมีการต่อวันตลอดจนกว่าหนังที่เขารออยู่เขารอไม่ได้”

            ขณะที่ในมุมมองของคนทำอย่างเตียลิมกุน เขาได้กล่าวว่า “ในมุมมองของผม ผมคิดว่าความสำเร็จของงูเกงกองน่าจะมาจากเรื่อง และจากวิธีการที่ผมเชื่อมซีนแต่ละซีนเข้าด้วยกันโดยที่ไม่มีจังหวะให้คนดูเบื่อ คนดูจึงตื่นเต้นกับเรื่องที่เข้มข้นและอยากจะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป นอกจากนี้หนังเรื่องนี้ก็ยังมีทุกรสชาติ ทั้งดราม่า ตลก และมีสเปเชียลเอฟเฟกต์ ซึ่งน่าจะเป็นอีกส่วนที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จ”

            ทุกวันนี้เตียลิมกุนแม้จะมีอายุถึง 80 ปีแล้ว แต่การกลับมาฉายใหม่ของงูเกงกองในปี 2012 ก็ทำให้เขามีไฟในการที่จะกลับมาทำหนังอีกครั้ง ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่นั้น เรายังคงต้องรอชมกันต่อไป “ผมได้เขียนบทเอาไว้สองสามเรื่องในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมอยากสร้าง ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า มันจะต้องออกมาเป็นหนังที่ทรงพลังยิ่งกว่างูเกงกอง“ 

 

 

            Special Thanks - ขอขอบคุณเป็นพิเศษ: Tea Lim Koun, Kim Tea, Davy Chou, Vathana Huy, Sophorn Lim, Chhoum ViRak, Bophana Audiovisual Resource Center, ปริภัณฑ์ วัชรานนท์, วิมลรัตน์ อรุณโรจน์สุริยะ, ก้อง ฤทธิ์ดี, Dr. Tilman Baumgärtel, Berlin International Film Festival

            ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน จาก บทความเรื่องงูเกงกอง โดย อาจารย์ฉลวย มงคล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, http://golden-age-of-khmer-cinema.eklablog.com, ภาพยนตรานุกรม รายชื่อภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ที่กรุงเทพมหานครจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ



ความเห็น

[1]


บทสรุปจากเ้ว็บมาสเตอร์

* ปี พ.ศ. 2514 แรกเริ่มเดิมทีเป็นฟิล์ม 16 ม.ม. พากย์สด ความยาว 2 ชั่วโมง 44 นาที และนำกลับมาฉายซ้ำในเวลาไม่นาน

* ปี พ.ศ. 2523 ได้นำไปโบลว์เป็นฟิล์ม 35 ม.ม. และลงเสียงพากย์ในฟิล์ม รวมทั้งตัดฟิล์มตัวอย่างขึ้นมาใหม่ (จากคลิปที่ผมเคย upload ไว้ ต่อมามีผู้ลักดูดคลิปออกไปใส่ในแชนแนล Youtube ของตนเอง) ส่วนตัวหนังเรื่อง ถูกตัดออกไปบางส่วน

* ล่าสุดก็นำกลับมาฉายในสาย Forum เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในฉบับสมบูรณ์ ร่วมกับเรื่อง "บัวขาวน้อย" แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดไปว่าฟิล์มชุดดังกล่าวถูกบันทึกเสียงขึ้นใหม่หรือไม่ พร้อมกับการปรากฏตัวของผู้กำกับที่หลายคนเข้าใจว่าเสียชีวิตไปแล้ว พร้อมกับหนังเรื่องนี้ก็หายสาปสูญไปด้วย

สำหรับใครที่อยากชมต้นฉบับของหนังเรื่องนี้ ซึ่งทำจากกากหนังแบบลวกๆ และลงเสียงพากย์เขมรทับ ได้อารมณ์หนังกลางแปลงแบบเดิม เข้าเว็บ Youtube แล้วพิมพ์คำว่า Pous Keng Korng จะมีให้เลือกชมในคุณภาพแบบยอมรับได้ หรือรับไม่ได้เลยให้ชมครับ 

* สุดท้าย ท้ายสุด ยังไม่มีข่าวคราวว่าจะมีโอกาสได้เข้าฉายในบ้านเราอีกครั้งเมื่อใด ถึงเข้ามาฉายก็คงจะเป็นในลักษณะเทศกาลภาพยนตร์

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ "ฟิล์มแม็กซ์" (FILMAX) ครับ



อืม...แสดงว่าจริงๆแล้ว คนไทยเราก็ยังไม่เคยได้ดูเรื่องนี้ ในฉบับเต็มไม่ตัดทอนเลยสิเนาะ...

(เอาเหอะ แค่ได้ดูก็ดีใจจะแย่แล้ว)




BTW ใหนๆก็ใหนๆ ไม่เอาฟิล์มตัวอย่างมาทำใหม่ ดีๆ สวยๆ แล้วอัพโหลดใหม่&ลงลายน้ำกันไว้ก่อนเลย ดีมั้ยครับ : ) อิอิอิ



เลือกหน้า
[1]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 2

กลับขึ้นข้างบน / กลับหน้าแรก

ค้นกระดานข่าว:


ถูกเปิด: ถูกคลิ๊กแล้ว: 112924796 ตอนนี้มีผู้เข้าชม : 1 ล่าสุด :HelenViefs , DonaldSap , Davidfable , พีเพิลนิวส์ , AntonGeods , เอก , GermanFoup , Carlosincof , autogNer , Pojja ,