Mobile Version / สำหรับโทรศัพท์มือถือ ยินดีต้อนรับท่านผู้มาเยือน www.peoplecine.com ท่านยังไม่ได้ log in นะครับ เข้าใช้งานระบบ / สมัครสมาชิก/ ลืมรหัสผ่าน
รูป
หนังไทยในอดีต ทุกยุค ทุกสมัยเจ้าของ ผู้ตอบหลังสุด
-Photo Book of Mitr Chaibuncha 2020.. 1/1/2563 1:34
-ห้องหนังไทย.. 27/10/2554 13:41
-หลานม่า.. 17/4/2567 18:35
-"สิงห์ล่าสิงห์".. 29/12/2566 15:29
-"ชุมทางเขาชุมทอง"ยังไม่มีคนตอบ
-ชู้ .. 29/12/2566 15:11
-มนต์รักนักพากย์ พ.ศ. 2566.. 22/10/2566 19:14
-ภาพยนตร์ไทย ประจำปี พ.ศ. 2500.. 19/10/2566 16:38
-มนต์รักนักพากย์ .. 1/10/2566 17:42
-บังเอิญรักข่อยฮักเจ้า.. 18/3/2566 2:07
-"วัยอลวน5".. 7/1/2566 1:48
-หนุมาน WHITE MONKEY.. 16/11/2565 14:15
-มายาพิศวง (Six Characters)ยังไม่มีคนตอบ
-SAMARITAN Trailer (2022)ยังไม่มีคนตอบ
-บุพเพสันนิวาส ๒ ยังไม่มีคนตอบ
-ตัวอย่าง SIAM SQUARE ปี 2527 4K.. 26/4/2565 9:10
เลือกหน้า [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12] [13] [14] [15] [16] [17] [18] [19] [20] [21] [22] [23] [24] [25] [26] [27] [28] [29] [30] [31] [32] [33] [34]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 533

บทวิจารณ์ภาพยนตร์ไทยอมตะเรื่อง "แผลเก่า" ของ เชิด ทรงศรี (พ.ศ 2520)



          ได้อ่านบทวิจารณ์ยอดภาพยนตร์ไทยอมตะ  ผลงานการสร้างและกำกับของ เชิด  ทรงศรี ผู้ล่วงลับ โดยนักวิจารณ์ระดับครู  อาจารย์ประวิทย์  แต่งอักษร แล้วพบว่ามีสาระดีๆที่อยากจะให้สมาชิกเวบพีเพิลซีนแห่งนี้ ได้รับทราบและเป็นข้อมูลที่เป็นสาระประโยชน์แก่ผู้ที่รักและชมชอบภาพยนตร์ไทยทุกท่าน  ก็เลยขออนุญาตนำข้อมูลบทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องแผลเก่าของ ท่านอาจารย์ ประวิทย์  แต่งอักษร  มานำเสนอให้รับทราบเป็นข้อมูลดีๆกันครับ ..








ถ้อยคำประสาบ้านนอกคอกนาที่แฝงความเป็นไทย สไตล์ของไม้ เมืองเดิม จากอมตะนิยายแผลเก่า

พรอดพร่ำรำพันคำรัก

(เรียม ) "แม่แกว่าผู้ชายหน่ะเหมือนปลา พอน้ำใหม่มามันก็ไปกับน้ำใหม่ ฉันจึงกลัวนักเออ"

(ขวัญ)  "อ๋อ เรียม ก็จริงของแกอยู่บ้างหรอก
(เรียม ) "แต่ใจฉันหน่ะเห็นว่า น้ำใหม่มันก็น้ำเก่า ไอ้น้ำเก่ามันก็ไหลมาเป็นน้ำใหม่...ขึ้นๆลงๆอยู่ในคลองเดียวกันนั้นแหล่ะ"
(ขวัญ) เรียมเอ๋ยอย่ากลัวเลยพี่ไม่ใช่ปลารักน้ำอย่างว่าหรอก หัวใจพี่เติบ หัวใจพี่ใหญ่ อย่างตะเข้รักวัง ถึงน้ำเก่าจะไปน้ำใหม่มันจะมาหรือน้ำมันจะแห้งขอดจนพี่ ต้องตายคาวัง...เพื่อ ต้องตายอยู่กับเรียมคนเดียวจริงๆ"

(เรียม ) “ถ้างั้นพี่ขวัญก็รักฉันมากเหลือเกินใช่ไหมจ๊ะพี่ ?"

(ขวัญ)
" ใช่ แท้เทียวเรียมเอ๋ย  
พี่ไม่เห็นว่าอะไรจะน่ารักไปกว่าเรียมของพี่จริงๆ  
พี่คิดถึงวันข้างหน้าแล้วก็อยากจะร้องไห้เสียดังๆ พอได้โล่งใจ
 พี่คิดเผลอไปว่าถ้าผู้ใหญ่เขาดีกันแล้ว   พี่จะพ่อแกไปสู่ขอเจ้า
 แล้วต่อไปเราคงเป็นสุขมากทีเดียวเรียม นาของพ่อแกมีถึง  ๕0  ไร่
 และพี่ก็เป็นลูกคนเดียวต้องได้หมดทั้งห้าสิบ  เช้าไปนาเย็นกลับบ้าน
เราเห็นหน้ากันก็เป็นสุขจริงๆ  หัวใจพี่ไม่แส่หาอะไรมากมาย
 ในน้ำมีปลาในนามีข้าวและที่บ้านมีเรียมอยู่พี่ก็แสนสบาย
 เมื่อพ้นหน้าเกี่ยวหน้าลานแล้ว
 เราก็มีเงินซื้อทองแต่งเที่ยวงานวัดหรือเข้าบางกอกพออวดเพื่อนๆ เขาได้"



คำสาบานของขวัญ

(ขวัญ) "เจ้าประคุณ---ข้อขอให้เจ้าพ่อไทรเป็นพยานด้วย  ข้าชื่อนายขวัญ ข้ารักนังเรียมหนักหนาปานชีวิต  แต่มีเหตุขัดข้อง ที่จะยังไม่ได้กัน  ข้าขอสาบานว่า ข้าจะไม่ยุ่งกับหญิงอื่นเป็นอันขาด  ข้าจะรัก ข้าจะรอเจ้าเรียมจนกว่าจะสมประสงค์หรือชีวิตหาไม่  ถ้าแม้นข้าทำผิดคำสาบานที่ว่าไว้นี้  ขอให้ชีวิตข้าเป็นอันตรายต่างๆ อย่าแคล้วเขี้ยวแคล้วงา ศาตราวุธ หอกดาบ อย่าพ้นสามวันเจ็ดวันเลย  ถ้าแม้นข้าตั้งอยู่ในศีล ในสัตย์ด้วยความซื่อตรง ขอให้ข้าได้อยู่กินกับเจ้าเรียมสมใจทั้งชาตินี้และชาติหน้า ศัตรูคิดร้ายขอให้พ่ายแพ้วอดวายไปเถิด

เมื่อความรักของขวัญเรียมโดนจับได้ 

(ขวัญ) "ฉันผิดจ้ะ พ่อ   แต่ขออย่าทุบตีแม่เรียมเลย  นึกว่าขอให้ฉันเถิด  

(ขวัญ) "พ่อจะว่า อย่างไร......ข้าเจ็บแล้ว เห็นไหมไอ้เริญฟันข้าก่อน หลีกไป  ถ้าพ่อรักจะเป็นผู้ใหญ่หลีกไป  เอาเถอะสำหรับพ่อข้ายกให้"

(เรียม )"โธ่  ฆ่ากันเองแท้ๆ พี่ขวัญอย่าแทงพ่อนะพ่อฉัน  อย่าทำพ่อฉัน"

(ขวัญ) "เรียม......แผลนี้แน่ะ   เพราะรักเจ้าหรอกนะจะบอกให้  ถ้าผิดจากเจ้าแล้ว  อ้ายพวกนี้เป็นศพหมด !! "

(ขวัญ) "มึงไม่ใช่นักเลงหรอกวะอ้ายเริญ   ยิ่งอ้ายจ้อยหมาเลย  ลูกผู้ชายที่ไหนวะ...เขาจะถีบ  กูกำลังกราบตีนพ่อมึง...แล้วก็ล้อมฟันเอา  ถุ้ย !! อ้ายเสียชาติเกิด"

(ขวัญ) "อ้ายเริญ มึงกับกูมาฆ่ากันเถอะ มาออกมาทั้งอ้ายหมาจ้อยด้วย ไหนๆ กูเจ็บแล้ว 
กูจะตายที่นี่แหละ"

(กำนันเรืองพ่อของเรียม )""นึกว่ายกให้พ่อเถอะขวัญเอ๋ย  อ้ายเริญมันก็ผิดไปแล้วเอาเถอะ  พ่อจะจัดการให้สมัครสมาเจ้าทีหลัง"

(ขวัญ) "เมื่อพ่อขอฉันจะยกให้ แต่อ้ายจ้อยนะ ฉันจะจำจนวันตายทีเดียวว่ามันถีบหน้าฉัน"

(ขวัญ) "ฉันไม่ลืมคำหรอกเรียม ฉันได้สาบานไว้แล้วว่าอย่างไรก็อย่างนั้น เรียมดูโน่นก็แล้วกัน แล้วจำไว้ด้วยว่านั่นเป็นเครื่องเซ่นของฉัน  มันเป็นพยานที่ฉันได้สาบานให้เจ้าจำไว้"





เมื่อขวัญมาตามที่นัดไว้ แต่ไม่พบเรียม

(ขวัญ) "เอ๊อ....นังเรียมเอ๋ยมึงจะฆ่ากูแท้  กูมาเพราะมึงนัด  กูเก้อเพราะมึงลวง  กูเพ้อหามึง กูร้องไห้หามึง เมื่อน้ำหลากมา  กูใฝ่ใจถึงแต่มึง ทั้งหน้าไถหน้าหว่าน กูก็เฝ้าคอย  คอย....นังเรียมเอ๋ย  ........."

(ขวัญ) "โอ๋..... เรียมต้นไม้เปลี่ยน  ใบหญ้าเปลี่ยนสี  กุ้งปลาก็ลอกคราบหมดไปแล้ว  พี่ยังไม่วายรักเจ้าเลย  พี่จะคอยเจ้าต่อไปอีก  เมื่อเจ้าเบื่อบางกอกเจ้าก็ คงคิดถึงพี่มั่ง....ตายอยู่กับเรียมคนเดียวจริงๆ"

ความสำนึกของเรียม

(เรียม ) “โธ่--เอ๋ย ขวัญ_เอ๋ย ฉันผิดเสียแล้วที่หลอกลวงทรมานให้คอยฉันจนป่านนี้  โอ้_พี่ขวัญฉัน ผิดลึกนัก ฉันลืมแผลเก่าของฉันเพราะกรุงเทพ แท้ๆ กรุงเทพฯให้ความเพลิดเพลินซึ่งฉัน ไม่เคยพบเลยในทุ่งบ้านเรา ฉันหลับอยู่ทุ่งบางกะปิตั้งแต่เกิดมาจนรุ่นสาว  และฉันก็เสียสาว เพราะขวัญของฉัน_ฉันมาตื่นเอาในกรุงเทพฯเพียง ๓ ปีเท่านั้นฉันก็ลืมที่นอน ซึ่งหลับอย่างแสนสบายมาแต่เล็ก ฉันกำลังหลับอยู่กลางพระนครเมื่อ ๓ ปี มานี้ และก็บางกะปินี่เองที่ปลุกให้ฉันตื่นรู้จักบ้านเกิดเมืองนอนของฉันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกลับจากบางกะปิ เมื่อกลับจากเธออย่างหญิงเจ้าเล่ห์ นายขวัญ_พี่ขวัญ บางกะปิของเราปลุกฉันตื่นแล้ว บางกะปิของเราทุกหย่อมหญ้า วังน้ำนั่นสุขกว่ากรุงเทพฯเป็นไหนๆ"


บทสุดท้ายก่อนลาจากชั่วนิรันดร์

(ขวัญ) “เรียมเอ๋ย !  กูเลือดนองวันนั้นเพราะมึงเทียว  พระธรณีได้กินเลือดกูเพราะมึงแท้  เออ  มันกรรมของกูคนเดียว ที่ทำให้มึงไปบางกอก--ไปบางกอก  แล้วบางกอกก็ เปลี่ยนมึงเสียสิ้น บางกอกมันฆ่ากู  อ้ายคนบางกะปิ !!!”

(ขวัญ) "เรียม
เอ๋ย เจ้าหลอกข้าให้หลงแล้วหนีไป  
เพราะรักเจ้าหน่ายหมดแล้วเจ้านัดให้ข้าอิ่มใจในชั่วเย็น
แล้วข้าจะแห้งใจไปชั่วชาติ เจ้าไปอยู่บางกอก ๓ ปี
ข้าคิดไม่วายว่าเจ้ายังรักข้า ยังรักอ้ายขวัญลูกทุ่งน้ำเดียวกับเจ้า.....”

(ขวัญ) “เรียมเอ๋ย เจ้าจะกลับบางกอกเสียแล้ว อ้ายหนุ่มบางกอกกำลังพาเจ้าไปเที่ยวชมทุ่งชมนาและอีกครู่หนึ่งมันก็จะ พรากเจ้าให้จากพี่ไป ใจหาย_เรียมพี่ใจหายนัก เมื่อวันวานเรายังเล่นน้ำอยู่ด้วยกันแสนสบายเป็นสุขแท้ เมื่อมองค้นตามทุ่งโล่งไม่พบ”

(ขวัญ) “เออ_เรียม พี่ก็ได้ลั่นปากไว้แล้วว่า
พี่จะต้องเป็นผีเสียก่อนมันจึงจะขืนใจเจ้าไปจากพี่ได้ เรียมเอ๋ย-พี่ไม่ยอม
พี่ยอมมันไม่ได้เป็นแท้ พี่เกิดมาบางกะปิ จากต้นน้ำนี้ถึงปลายน้ำโน้น
ทุ่งนี้สุดโน้นทุกๆแห่งที่ฝ่าตีนอ้ายขวัญเหยียบมาแล้ว
จะยอมให้ใครมาลบหน้าไม่ได้เป็นอันขาด”

(ขวัญ) "เจ้า
ฆ่าพี่แท้ เจ้าฆ่าผัว  เรียมเอ๋ย เจ้าฆ่าผัวของเจ้าด้วยมือคนอื่น
 พี่รักเจ้าด้วยใจซื่อ   แผลเก่าของพี่ เป็นแผลรัก แผลรอ นังเรียม
 แผลใหม่นี้เป็นแผลจากของกู เพราะมีงชัง"

(ขวัญ) "เรียม เอ๋ย...ท้องน้ำนี้  ลำน้ำนี้ของเรา  ลำน้ำรักหนาเจ้าเรียม แต่มันจะเป็น
เรือนตายของพี่  เจ้าอยู่ดีเถิด"



ขวัญ-เรียม

คำร้อง-ทำนอง: พรานบูรพ์

เรียมเหลือทนแล้วนั่น ขวัญของเรียม
หวนคิดผิดแล้วขมขื่น ฝืนใจเจียม
เคยโลมเรียม เลียบฝั่ง มาแต่หลัง ยังจำ

คำที่ขวัญ เคยพรอดเคยพร่ำ
ถ้วนทุกคำยังเรียกยังร่ำเร่าร้องก้องอยู่
แว่ว แว่ว แจ้ว หู ว่าขวัญชู้ เจ้ายังคอย

เรียมเหลือทนแล้วนั่น ขวัญคงหงอย
หวนคิดคิดแล้ว ยิ่งเศร้า เหงาใจคอย
อกเรียมพลอย นึกหน่าย คิดถึงสายน้ำนอง
 
คลองที่เรียมเคยเที่ยวเคยท่อง
เมื่อเราสองต่างว่ายต่างว่องล่องไล่ไม่เว้น
เช้า สาย บ่าย เย็น ขวัญลงเล่น กับเรียม
 





ความเห็น

[1]


                  ถ้าไม่นับโปรแกรมของการหวนรำลึกถึงผลงานของคนทำหนังที่สร้างคุณูปการอันใหญ่ หลวงให้กับอุตสาหกรรม-ซึ่งถูกผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการจัดงาน เทศกาลภาพยนตร์ โอกาสที่ผู้ชมโดยเฉพาะในบ้านเราจะได้ดูหนังของผู้กำกับคนหนึ่งคนใดในลักษณะ ของการแสดงออกถึงความซาบซึ้งและความคารวะ, ย้ำเตือนความทรงจำ หรือย้อนกลับไปตรวจสอบคุณค่าในด้านหนึ่งด้านใด ในรูปของการฉายในโรงภาพยนตร์ด้วยแผ่นฟิล์มเป็นการเฉพาะ-ต้องนับเป็นเรื่อง ยากเย็น ด้วยเหตุผลสำคัญเพราะการนำหนังเก่ากลับมาฉายใหม่-ไม่ใช่ประเพณีที่ได้รับ ความนิยม รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ไม่ค่อยจะได้รับการตอบสนองอย่างอุ่นหนาฝาคั่งจริงๆ จังๆ..



                           
ตัวอย่างล่าสุดได้แก่กรณี ที่สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ร่วมกับบริษัทไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น นำเอาหนังเรื่อง “ด้วยเกล้า” (2530) ของคุณบัณฑิต ฤทธิ์ถกล นำกลับมาบูรณะใหม่ทั้งทางด้านภาพและเสียง เพื่อจัดฉายในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 60 ปี ทั้งๆที่ไม่มีข้อสงสัยในคุณภาพของผลงาน และกาลเวลาที่ผ่านพ้น-ก็ไม่ได้ทำให้ตัวหนังพ้นยุคพ้นสมัยแต่อย่างใด กลับจะยิ่งมีความหมายในแง่ของการช่วยให้ผู้ชมได้มองเห็นบางแง่มุมของสังคม ไทยเมื่อยี่สิบปีที่แล้วในมิติที่ล้ำลึก แต่ปรากฏว่า กระแสของการให้การสนับสนุน-อยู่ในขั้นที่เรียกได้ว่าเงียบเหงาเหลือเกิน

                           ด้วยเหตุนี้เอง การที่มูลนิธิหนังไทย ร่วมกับครอบครัวของคุณเชิด ทรงศรี และอีกหลายหน่วยงาน-จัดฉายหนังของคุณเชิดภายใต้ชื่อ “สัปดาห์ภาพยนตร์ เชิด ทรงศรี” ในระหว่างวันที่ 21-30 กันยายน เมื่อปี พ.ศ 2550 ที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์แกรนด์ อีจีวี จึงนับเป็นความท้าทายครั้งสำคัญทั้งกับผู้จัดและผู้ชมในการพิสูจน์บทบาทของ ตัวเอง(ซึ่งจนถึงป่านนี้ คงจะรู้แล้วว่า-ผลลัพธ์เป็นอย่างไร) ขณะเดียวกัน-ก็ถือเป็นนิมิตหมายอันหาได้ยากที่ผู้ชมจะได้สัมผัสกับผลงานทรง คุณค่าถึง 5 เรื่อง ของคนทำหนังไทยชั้นครูผู้ซึ่งทำหนังที่สามารถกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า ไม่มีคนทำหนังในปัจจุบันคนไหนกล้าทำอย่างนี้อีกแล้ว

อย่างที่คนที่เติบโตทันได้ดูหนังของคุณเชิดรู้กัน เอกลักษณ์อันโดดเด่นที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร-ก็คือความสามารถในการ ถ่ายทอดวิถีชีวิตของความเป็นไทยแบบพื้นบ้านที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาได้ อย่างเข้าถึงแก่นแท้และจิตวิญญาณ โดยอ้อม มันเป็นการเรียกร้องให้ผู้คนในสังคมสมัยใหม่ได้ตระหนักถึงรากเหง้าทาง วัฒนธรรมของไทยที่มักจะถูกหลงลืม และกำลังถูกวิถีชีวิตแบบตะวันตกครอบงำ และนั่นทำให้คำประกาศเจตนารมณ์ในการสร้างหนังของคุณเชิด-ที่เคยบอกในทำนอง ว่า หนังของเขาเป็นการสำแดงความเป็นไทยให้ประจักษ์ต่อชาวโลก จึงไม่ได้เป็นเพียงคำอวดอ้างที่เลื่อนลอย หากสะท้อนถึงตัวตนตลอดจนจุดยืนทางความคิดของคุณเชิดอย่างมั่นคงแน่นหนาและ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง






                    

                             หนังของคุณเชิดที่ได้รับการนำกลับมาฉายเพื่อหวนรำลึกและแสดงความคารวะ หลังจากที่คุณเชิดอำลาโลกใบนี้ไปได้ปีเศษๆ ได้แก่ผลงานสำคัญที่สร้างชื่อทั้งสิ้น อันได้แก่ “แผลเก่า” (2520), “เพื่อนแพง” (2526), “พลอยทะเล” (2530), “ทวิภพ” (2533) และ “อำแดงเหมือนกับนายริด” (2537) ข้อน่าสังเกตก็คือ หนังเหล่านี้ยังไม่เคยได้รับการผลิตในรูปแบบของดีวีดี. และนั่นยิ่งทำให้คุณค่าและความหมายของการถูกนำมาฉายอีกครั้ง-เพิ่มมากขึ้น หลายเท่าตัว

ไม่ว่าจะอย่างไร ในบรรดาผลงานทั้งหมดของคุณเชิดซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 18 เรื่อง ไม่มีข้อกังขาแม้แต่น้อยนิดเลยว่า เรื่องที่ถือเป็นจุดสูงสุดในอาชีพการทำหนังของคุณเชิด สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ชมอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย ได้แก่เรื่อง “แผลเก่า” (หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า The Scar) นั่นเอง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นด้วยความบังเอิญหรือเจตนา การกลับคืนสู่จอเงินอีกครั้งของตัวหนัง-นับเป็นวาระที่ครบรอบ 30 ปีพอดี

                     

                              แต่ในขณะที่ใครๆพากันจดจำหนังเรื่อง “แผลเก่า” ในฐานะของผลงานอมตะที่ได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญจากทั่วทุกทิศทาง เบื้องหลังของความสำเร็จ-นับว่าระหกระเหินทีเดียว ข้อมูลจากบทความ “เชิด ทรงศรี เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก!” ที่ปรากฏอยู่ในสูจิบัตรรางวัลภาพยนตร์ไทย ประจำปี 2545 เมื่อครั้งที่คุณเชิดได้รับรางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จจากชมรมวิจารณ์ บันเทิง-ระบุว่า เขาสร้างหนังเรื่อง “แผลเก่า” อย่างชนิดที่พร้อมจะเผชิญการขาดทุน ทั้งนี้เพราะตระหนักดีว่า กระแสของตลาดหนังไทยตอนนั้น-ไม่ใช่ช่วงเวลาของหนังที่สะท้อนวิถีชีวิตแบบ โบราณ ซึ่งถูกมองว่าล้าหลังและพ้นยุคสมัย โดยเฉพาะหนังที่พระเอกขี่ควายและไม่ใส่เสื้อ และเนื้อหาที่ลงเอยด้วยความตายของพระเอกนางเอกในตอนท้ายเรื่อง

แต่เหตุผลที่คุณเชิดยังคงเดินหน้าทำ “แผลเก่า” ต่อไป-ก็เพราะเขาต้องการจะสร้างหนังที่แสดงออกถึงความเป็นไทยในสมัยที่คุณ ย่าซึ่งคุณเชิดผูกพันและเคารพรัก-ยังมีชีวิต หรือเมื่อราวๆเจ็ดสิบปีที่แล้ว และได้วางแผนการระดมงบประมาณการสร้างอย่างแยบยลด้วยการทำหนังตลกสองเรื่อง อันได้แก่ “ความรัก” (2516) กับ “พ่อไก่แจ้” (2520) เพื่อนำผลกำไรมาเป็นต้นทุน

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่สำคัญ-ก็คือ หลังจากที่หนังถูกสร้างเสร็จสมบูรณ์ กลับไม่ปรากฏว่ามีผู้ค้าหนังหรือสายหนังยอมซื้อ “แผลเก่า” ไปฉาย เพราะมองไม่เห็นวี่แววว่าหนังจะคืนทุน แต่ด้วยคุณค่าของตัวผลงาน และวิสัยทัศน์อันแหลมคมของผู้ชม กลายเป็นว่าการคาดคะเนของบรรดาสายหนัง-ผิดพลาดอย่างร้ายแรง เพราะหลังจากที่ “แผลเก่า” ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์พร้อมกันถึงหกโรงในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2520 กระแสตอบรับ-เป็นไปอย่างอึกทึกครึกโครม นอกจากตัวหนังจะสามารถยืนระยะการฉายเป็นเวลายาวนานหลายเดือน ตัวเลขรายได้ยังพุ่งขึ้นไปถึง 13 ล้านบาท (ในช่วงที่ราคาตั๋วหนังอยู่ราวๆ 15-30 บาท) ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีหนังเรื่องไหนไม่ว่าของไทยหรือ เทศ-เคยทำได้มาก่อน...




                          

                             ในแง่ของผลรางวัลและคำชื่นชม “แผลเก่า” ได้รับรางวัลชนะเลิศ (กรังด์ปรีซ์) จากการประกวดภาพยนตร์ในงาน Festival des 3 Continents ที่เมืองนองต์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2524 รวมทั้งอีกสามรางวัลตุ๊กตาทองของสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง แต่ดัชนีที่อาจใช้บ่งชี้ถึงความคงทนถาวรต่อการพิสูจน์ด้วยกาลเวลา-ก็คือการ ที่หนังไม่เคยถูกลืม และยังคงได้รับการนำกลับมาฉายซ้ำเป็นครั้งคราว เหนืออื่นใด ในปี 2536 หลังจากการออกฉายของหนังเรื่อง “แผลเก่า” ผ่านพ้นไป 16 ปี นิตยสาร “ฟิล์มวิว” เคยสำรวจความคิดเห็นของบุคคลในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และนักวิจารณ์รวมทั้งสิ้น 49 คน (อาทิ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, ยุทธนา มุกดาสนิท, บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ฯลฯ) เกี่ยวกับหนังไทยที่บุคคลเหล่านี้คิดว่าดีที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างกันมา ผลปรากฏว่า “แผลเก่า” เป็นหนังที่ได้รับเลือกให้อยู่ในอันดับที่สอง และเป็นรองเพียงแค่ “ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น” ของท่านมุ้ยเพียงเรื่องเดียว

กล่าวสำหรับคุณภาพของฟิล์มที่ถูกนำกลับมาฉายคราวนี้-ต้องถือว่าอยู่ใน สภาพที่ค่อนข้างดี และโครงสีหลักๆก็ยังอยู่ครบครัน รวมทั้งระบบเสียงก็ถือได้ว่าแจ่มชัด แต่ที่นับว่าน่าทึ่งไปกว่านั้นก็คือ ในแง่ของเนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอ “แผลเก่า” ของคุณเชิดยังคงสามารถสร้างความสนุกสนานบันเทิง และแน่นอนที่สุด ความสะเทือนอารมณ์ให้กับผู้ชมในสามสิบปีให้หลังได้ไม่แตกต่างจากครั้งแรกที่ ออกฉายเลย

                 

                                    ฉากหลังของหนังเรื่อง “แผลเก่า” ได้แก่ทุ่งบางกะปิ ชานเมืองพระนครในช่วงราวๆพุทธศักราช 2479 หรือตรงกับยุคสมัยของรัชกาลที่ 8 (ข้อน่าสังเกตก็คือ มันเป็นปีที่นิยาย “แผลเก่า”ของไม้ เมืองเดิมได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งหมายความว่า ในมุมมองของผู้เขียน นี่คือเรื่องร่วมสมัย ไม่ใช่การย้อนอดีตแต่หนหลัง) ขณะที่เค้าโครงเรื่องก็เป็นอย่างที่หลายคนคงมองเห็นว่า น่าจะได้รับอิทธิพลไม่มากก็น้อยจากบทละครเรื่อง Romeo and Juliet ของวิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ เนื่องจากมีความละม้ายคล้ายคลึงในหลายส่วนด้วยกัน ตั้งแต่พล็อตหลักที่เกี่ยวข้องกับความรักท่ามกลางความชิงชังเคียดแค้นของสอง ตระกูล ไปจนถึงส่วนปลีกย่อย อาทิ การแนะนำตัวละครเอกทั้งสองคนในงานเต้นรำ (ในกรณีของ “แผลเก่า” ก็คืองานรำวง), การลักลอบได้เสียกัน(ดังจะเห็นได้จากในฉากสุดท้าย ทั้งเรียมและขวัญเรียกกันและกันว่าผัว-เมีย), ความเข้าใจผิด-ซึ่งนำไปสู่เหตุโศกนาฏกรรม และบทสรุปในตอนท้ายที่จบลงด้วยการที่ฝ่ายหญิงปลิดชีวิตตามคนรักของนาง

              อย่างไรก็ตาม บทประพันธ์ “แผลเก่า” ของไม้ เมืองเดิมก็ไม่ได้ถูกล่ามไว้กับบทละครของเช็คสเปียร์ จนสูญเสียความเป็นตัวเอง ในทางกลับกัน โครงเรื่องดังกล่าวกลับถูกใช้เป็นช่องทางในการถ่ายทอดวิถีชีวิตแบบไทย ลูกทุ่ง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อและความศรัทธาของตัวละครได้อย่างน่าอัศจรรย์ และนั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงการสอดแทรกทัศนคติของผู้เขียน-ต่อหลายๆเรื่องราว ตั้งแต่วิถีของความเป็นลูกผู้ชาย, การเทิดทูนบูชาความรักเหนือกว่าเงินทอง ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างสังคมชนบทกับสังคมเมือง, การใช้ชีวิตอย่างตะวันตกที่ทีละน้อย มันหล่อหลอมให้ตัวละครหลงลืมกำพืดของตัวเอง...






                      

                 ไม่ว่าใครก็ตามที่เคยได้อ่านนิยายเรื่อง “แผลเก่า” จะวาดภาพของ
’ไอ้ขวัญ’ กับ ’อีเรียม’ ไว้ในมโนทัศน์อย่างไร
อย่างหนึ่งที่ไม่มีทางที่ใครจะปฏิเสธได้เลยก็คือ การคัดเลือกคุณสรพงษ์
ชาตรีและคุณนันทนา
เงากระจ่างสำหรับบทดังกล่าว-ถือเป็นสุดยอดของความเหมาะเจาะลงตัวทั้งในแง่
ของบุคลิกลักษณะของนักแสดงและรูปโฉมโนมพรรณ
และด้วยฝีไม้ลายมือในทางการแสดงของทั้งสองคน-ก็ยิ่งช่วยบันดาลให้ขวัญกับ
เรียมไม่เพียงเป็นตัวละครที่มีเลือดมีเนื้อขึ้นมา
หากผู้ชมยังรักใคร่เอ็นดูและห่วงใยผูกพัน


แต่กล่าวอย่างถี่ถ้วน
นั่นก็ยังไม่ใช่เงื่อนไขเดียวที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชม
และองค์ประกอบในส่วนบทภาพยนตร์ (“รพีพร” และธม ธาตรี)
กับงานด้านกำกับ-ก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการพัฒนาตัวละครทั้งสองอย่าง
พิถีพิถันและรัดกุม


ในตอนเปิดเรื่อง
หนังให้เห็นว่าขวัญกับเรียมไม่ได้เริ่มต้นในฐานะคนที่ชอบพอกัน ตรงกันข้าม
กลับจะเกลียดชังกันและกัน-ตามความขัดแย้งดั้งเดิมระหว่างผู้เป็นพ่อของคน
ทั้งสอง ซึ่งส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับการที่กำนันเรือง (สุวิน สว่างรัตน์)
กับผู้ใหญ่เขียน (ส.อาสนจินดา)
พิพาทบาดหมางกันเรื่องที่ฝ่ายแรกบุกรุกที่นาและแพ้ความ
ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีอยู่ในตัวนิยายก็คือการที่กำนันเรืองกับผู้ใหญ่
เขียนหลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน อันได้แก่แม่เริ่ม (ศิรินทิพย์ ศิริวรรณ ที่แสดงได้อย่างยอดเยี่ยม)
ผู้ซึ่งลงเอยด้วยการเลือกอยู่กินกับกำนันเรือง
ทว่าไม่ใช่ด้วยเหตุผลของความรัก แต่เป็นเรื่องของเงิน และในเวลาต่อมา
นางก็ยอมรับว่านั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งร้ายแรง
และนางต้องใช้ชีวิตในสภาพที่ไม่แตกต่างจากการ ‘ตกนรกทั้งเป็น

                  

                                     แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า บทของแม่เริ่มซึ่งไม่มีความสลักสำคัญในฉบับนิยาย
(อันที่จริง ตัวละครนี้ไม่มีทั้งชื่อให้เรียกและบทพูด)
ถูกขยายให้ใหญ่โตขึ้นมา-ก็เพื่อให้ผู้ชมและบางที รวมถึงเรียมได้ตระหนักว่า
ผลลัพธ์ของการปฏิเสธความรัก
และเลือกความสุขสบายในทางวัตถุ-มันทุกข์ทรมานเพียงใด


แต่ก่อนที่หนังจะพาทั้งผู้ชมและตัวละครไปเผชิญกับความขัดแย้งที่ไม่มี
วี่แววว่าจะสามารถสะสางลงได้อย่างไร
ช่วงของการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างขวัญกับเรียมในราวๆครึ่งชั่วโมงแรกซึ่ง
ได้รับการนำเสนอในลักษณะของแนวเรื่องแบบพ่อแง่แม่งอน-ดำเนินไปอย่างเปี่ยม
ด้วยสีสัน, อารมณ์ขัน และเสน่ห์ดึงดูดชวนให้ติดตาม เหนืออื่นใด
มันทำหน้าที่อธิบายทั้งบุคลิกและความนึกคิดของตัวละครได้สมบูรณ์
โดยเฉพาะเจ้าขวัญที่เป็นแบบฉบับของหนุ่มลูกทุ่ง-ที่นอกเหนือจากความเป็นคน
รักสนุก และร้องเพลงยี่เกได้ทั้งวัน เขายังเป็นคนซื่อสัตย์ จริงใจ
ยึดมั่นในความรัก, ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือกลโกง และไม่เคยรังแกใคร
ขณะที่เรียมซึ่งเป็นคนแข็งนอก
แต่อ่อนใน-ก็พบว่านอกจากตัวเองจะไม่อาจต้านทานการรุกเร้าของเจ้าหนุ่มแห่ง
ทุ่งบางกะปิรายนี้แล้ว
ลึกๆในจิตใจของนางก็ยังไม่อาจปฏิเสธความรู้สึกแท้จริงได้...

                






                                 ทว่ายิ่งเวลาผ่านไป ลักษณะทีเล่นทีจริงในพฤติกรรมของตัวละครก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ และในที่สุด ทั้งขวัญกับเรียมก็พากันมาถึงจุดที่ต้องช่วยกันครุ่นคิดว่าจะจัดการกับ อุปสรรคที่ขัดขวางความรักของทั้งสอง-อย่างไร และเพื่อตอกย้ำให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงความคอขาดบาดตายของเหตุการณ์ที่เฝ้าคอยรูปแบบการเล่าเรื่องก็เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน

                            แจ้งชัดที่สุดได้แก่การตัดต่อที่ในช่วงก่อนหน้านี้-เน้นการรักษาความต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่าcontinuity editing และการเปลี่ยนภาพ-ก็เป็นไปตามเหตุและผลของเวลา, สถานที่และเรื่องราว แต่ในฉากที่เรียมปรับทุกข์กับขวัญบริเวณชายคลองตอนกลางวัน-ทำนองว่า นางไม่รู้ว่าเรื่องจะลงเอยอย่างไร-ถ้าพ่อกับพี่ชายล่วงรู้เรื่องของคนทั้งสองเข้า ทันใดนั้นเอง หนังก็ใช้การตัดภาพแบบ dynamic cut (ที่เรียกร้องความสนใจในตัวมันเอง) ไปบนเวทีลิเกตอนกลางคืน และต่อเชื่อมประโยคที่เรียมเอ่ยค้างไว้ผ่านคำพูดของนักแสดงบนเวที อย่างได้ใจความสรุปได้ว่า เรื่องก็คงจะบานปลายถึงขั้นฆ่าแกงกัน





                  อันที่จริง
การแสดงบนเวทีลิเก-ยังถูกใช้ในบทบาทของการตัดสลับเปรียบเปรยกับเหตุการณ์
จริงได้อย่างคมคายในอีกฉากที่จ้อย (เศรษฐา ศิระฉายา) เจ้าพ่อเมืองมีน-พยายามจะรวบหัวรวบหางเรียมในป่าเปลี่ยวยามวิกาล และมันบอกอย่างจะแจ้งถึงการพยายามใช้อานุภาพของภาษาหนัง-เพื่อเขย่าอารมณ์ผู้ชม ทั้งหลายทั้งปวง เทคนิคในส่วนอื่นๆ-ก็ถูกใช้สอยอย่างได้ผลไม่แพ้กัน อาทิ งานกำกับภาพในหลายๆช่วง-ที่ทำหน้าที่ทั้งในการทดแทนคำพูดของตัวละคร และช่วยขยายขอบเขตของความสะเทือนอารมณ์ได้อย่างมีพลัง หนึ่งในนั้น-ได้แก่การเคลื่อนกล้องแบบดอลลี่จากวงเหล้าที่เจ้าจ้อยเลี้ยงดูปู่เสื่อพ่อกำนันกับเจ้าเริญ (กิตติ ดัสกร) พี่ชายของเรียม-ไปจับที่แม่เริ่มในขนาดภาพปานกลางที่นั่งร้องไห้อยู่เพียงลำพังตรงบันไดบ้าน และเส้นแนวนอนของขั้นบันไดที่พาดขวางเบื้องหน้าตัวละคร-ก็ตอกย้ำสภาวะที่เหมือนถูกคุมขัง และไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือลูกสาวของนาง(ที่ถูกคุมขังเช่นกัน)ได้อย่างใด หรือดนตรีประกอบที่ล้วนแล้วใช้เครื่องดนตรีไทยบรรเลง-ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนเนื้อหาตามหน้าที่พื้นฐานของมันแล้ว ยังสร้างเสริมบรรยากาศของความเป็นไทยได้อย่างวิเศษยอดเยี่ยมเหลือเกิน
...







        แต่ฉากที่กล่าวได้ว่าสามารถสะกดผู้ชมให้ต้องนิ่งงันไป-ก็คือไคลแม็กซ์ใน ช่วงท้ายที่เรียมเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองพร้อมกับคนรัก ส่วนที่เป็นความกล้าหาญอันน่าทึ่งของคุณเชิดและทีมงานก็คือ การที่หนังไม่เพียงพาผู้ชมไปร่วมรู้เห็นเป็นพยานต่อความรักของทั้งสองคนใต้ ผิวน้ำซึ่งนับเป็นภาพบีบคั้น (ผลงานการถ่ายของท่านมุ้ย) หากยังเลือกที่จะไม่ให้เราได้ยินเสียงอะไรเลย และมันยิ่งทำให้ความน่าสมเพชเวทนาเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เป็นไปได้ว่า การใส่เสียงดนตรีประกอบเข้ามา-จะไม่ก่อให้เกิดความน่าสลดหดหู่อย่างนี้

            กล่าวในที่สุดแล้ว ในขณะที่หนังเรื่อง “แผลเก่า” ของคุณเชิด-มักจะถูกนึกถึงในฐานะอนุสรณ์ความรักอันซาบซึ้งตราตรึงของขวัญกับ เรียม แต่อย่างหนึ่งที่ถูกสอดแทรกไว้อย่างมีนัยสำคัญ-ก็คือด้านที่เลวร้ายและ อัปลักษณ์ของระบบทุนนิยม, วัตถุนิยมและวิถีชีวิตสมัยใหม่ของสังคมเมือง แม่เริ่มเป็นคนแรกที่เดินไปติดกับดักของเงินตรา และต้องลงเอยด้วยการตรอมใจตาย ถัดมาได้แก่กำนันเรืองที่นำที่นาไปจำนองไว้กับคุณนายทองคำ (สุพรรณ บูรณะพิมพ์) ที่บางกอกและนำเงินไปกินเหล้าและเล่นการพนัน จนในที่สุด ไม่มีปัญญาชดใช้หนี้สินที่พอกพูนและต้องเลือกวิธีขายลูกสาวให้ไปเป็นทาสคุณ นาย นั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงจ้อยที่อาศัยความได้เปรียบในฐานะทางเศรษฐกิจ-เป็น เล่ห์เหลี่ยมเพื่อให้ตัวเองได้ในสิ่งที่ต้องการ

          


             





                                         อีกสองคนที่ติดยึดกับวัตถุและมีความเป็นมนุษย์อยู่น้อยพอกัน-ก็คือคุณนาย ทองคำ กับสมชาย (ชลิต เฟื่องอารมย์) หนุ่มสังคมชั้นสูงที่มาติดพันเรียม คนแรกเพิ่งจะเสียลูกสาวที่ชื่อโฉมยงได้ไม่นาน แต่ในทันที่เห็นว่าเรียมหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงลูกสาวผู้วายชนม์-ก็ทึกทักว่า มันเป็นของที่สามารถใช้ทดแทน มันบอกโดยอ้อมว่า-คุณนายทองคำไม่ได้มองเห็นเรียมเป็นผู้เป็นคน และยึดถือเป็นเพียงสิ่งที่ย้ำเตือนความทรงจำ สมมติเล่นๆว่าถ้าเรียมไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกับลูกสาวของคุณนาย เป็นไปได้สูงว่าหญิงสาวคงจะไม่ได้รับการชุบเลี้ยงอย่างออกหน้าออกตาเพียงนี้ ส่วนคนหลังมาพร้อมกับการคุกคามของวิถีแบบตะวันตก ตั้งแต่เรือยนต์, เหล้าฝรั่ง และอาวุธที่มีพิษสงร้ายกาจยิ่งกว่ามีดดาบของขวัญหลายเท่าตัว นั่นก็คือปืนพกที่ใช้ปลิดชีพไอ้หนุ่มแห่งทุ่งบางกะปินั่นเอง


            หรือถ้าจะแจกแจงให้ครบถ้วนจริงๆ แม้กระทั่งตัวเรียมก็ไม่ได้วิเศษไปกว่าใคร เพราะผู้ชมได้เห็นว่าหลังจากเข้าไปอยู่พระนครได้สามปี หญิงสาวก็เปลี่ยนไปเกือบจะเป็นคนละคน คำที่เรียมเรียกขวัญว่า ‘นายขวัญ’ ในตอนที่พบกันครั้งหลัง-บอกถึงการยกฐานะทางชนชั้นของตัวเองเหนือกว่าหนุ่ม บ้านนอกโดยปริยาย รวมทั้งน้ำเสียงและคำพูดคำจา-ก็ยังแฝงไว้ด้วยท่าทีดูถูกเหยียดหยามในที แต่ก็ยังนับว่าทั้งคนเขียนเรื่องและคนทำหนังให้ความเมตตาปรานีกับตัวละครและ ผู้ชมตรงที่ในที่สุดแล้ว ก็เปิดโอกาสให้เรียมได้สติและตระหนักในคำสั่งเสียของผู้เป็นแม่ก่อนตายที่ บอกว่า ถ้าหากจะนางต้องเลือกระหว่างความรักกับเงินตรา ก็จงเลือกความรัก

นั่นส่งผลให้การที่เรียมกระโจนเข้าไปสู่ความตายในตอนท้าย-ไม่ใช่ความพ่าย แพ้หรือการยอมจำนนต่อโชคชะตาของตัวละคร หากเป็นการประกาศชัยชนะของความรักเหนืออำนาจเย้ายวนของทรัพย์สินเงินทอง และวิถีชีวิตในแบบวัตถุนิยม

แผลเก่า” (2520)

กำกับ, อำนวยการสร้าง-เชิด ทรงศรี/บทภาพยนตร์-รพีพร, ธม ธาตรี จากบทประพันธ์ของไม้ เมืองเดิม/ถ่ายภาพ-กวี เกียรตินันท์, โสภณ เจนพานิช, สุทัศน์ บุรีภักดี, สมชัย ลีลานุรักษ์/กำกับศิลป์-อุไร ศิริสมบัติ/ดนตรี ประกอบ-เสรี หวังในธรรม/ผู้แสดง-สรพงษ์ ชาตรี, นันทนา เงากระจ่าง, ส.อาสนาจินดา, สุพรรณ บูรณะพิมพ์, เศรษฐา ศิระฉายา, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, สุวิน สว่างรัตน์, กิตติ ดัสกร, ชลิต เฟื่องอารมย์/สี/จัดจำหน่ายโดยสหมงคลฟิล์ม/ความยาว 130 นาที

เรื่องย่อ

ณ ท้องทุ่งบางกะปิ
ไอ้ขวัญลูกผู้ใหญ่เขียน หนุ่มเลือดนักเลงรูปงาม มีเพื่อนสนิท คือ
ไอ้เฉ่ง ไอ้เยื้อน ไอ้สมิง ไอ้เปีย ผู้ใหญ่เขียนรักไอ้ขวัญมาก จึงไม่คิดที่จะมีเมียใหม่ แล้วความวุ่นวายก็เกิดขึ้นเมื่อ นายเรืองและไอ้เริญ รุกล้ำที่นาของผู้ใหญ่เขียนและเกิดเป็นคดีความขึ้น แต่นายเรืองแพ้จึงประกาศตัวเป็นศัตรูกับผู้ใหญ่เขียน แต่เหมือนเป็นกรรมเก่าที่ทำร่วมกันมา เพราะขวัญเกิดไปชอบพอกับเรียม ลูกสาวนายเรือง ซึ่งมีหนุ่มมารุมรักมากมาย รวมถึงไอ้จ้อยเศรษฐีมีเงิน

ขวัญกับเรียมแอบนัดพบกันเสมอ ความรักของทั้งสองยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นจนทั้งคู่แอบมีอะไรกัน ขวัญพร่ำบอกว่ารักเรียมเท่าชีวิต แต่เรียมนั้นไม่แน่ใจจึงพาขวัญไปสาบานต่อหน้าศาลเจ้าพ่อไทร ขวัญโกรธที่เรียมไม่เชื่อใจจึงเอามีดกรีดแขนตัวเอง เพื่อใช้เลือดเป็นเครื่องยืนยันความรัก ทั้งคู่สาบานรักกันว่าจะซื่อสัตย์ต่อกันตลอดไป จ้อยเห็นขวัญกับเรียมอยู่ด้วยกันจึงถีบหน้าขวัญอย่างจัง ไอ้เริญได้ใช้ดาบฟันที่กกหูขวัญเป็นแผล

ขวัญจะฆ่าจ้อยแต่เรียมขอเอาไว้ อีกอย่างนายเรืองอนุญาตให้ขวัญยกขันหมากมาสู่ขอเรียม ซึ่งสร้างความหวังให้กับทั้งคู่เป็นอย่างมาก แต่แล้วทุกอย่างก็ไม่เป็นไปตามที่หวัง เมื่อไอ้เริญและนางรวยเป่าหูนายเรืองให้กันขวัญออกจากเรียมแล้วยกให้ไอ้จ้อย เพื่อยกฐานะให้กับตนเอง เรียมถูกขายให้คุณนายทองคำที่บางกอก ขวัญจึงออกไปตามหาที่บางกอกแต่ไม่เจอ ไอ้ขวัญแทบคลั่ง ด้วยความเป็นห่วงลูกชาย ผู้ใหญ่เขียนแอบเก็บเงินเพื่อช่วยไถ่ตัวเรียมอีกแรง

ขวัญคลั่งหนักเมื่อรู้ข่าวว่าไอ้จ้อยจะไปไถ่ตัวเรียมเพื่อมาแต่งงาน ผู้ใหญ่เขียนจึงไปกราบเท้านายเรืองให้ขวัญมีสิทธิ์ไถ่ถอนตัวเรียมมาแต่งงาน นายเรืองรับกราบ ขวัญเร่งทำงานหาเงินเพื่อไถ่ตัวเรียม เรียมอยู่ที่บางกอกในฐานะทาสรับใช้แต่คุณนายทองคำเอ็นดูเรียมเพราะหน้าคล้าย ลูกสาวที่ตายไป จึงรับเป็นลูกบุญธรรม โดยซื้อจากนายเรือง นายเรืองบอกให้ขวัญนำเงินไปไถ่ถอนเรียมเอง แต่แล้วขวัญก็ต้องคลั่งอีกครั้งเมื่อรู้ว่านายเรืองได้ขายเรียมให้กับคุณนาย ทองคำไปแล้ว แต่ขวัญยังเชื่อในคำสาบานว่าเรียมจะกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันผู้ใหญ่เขียนเห็น ว่าน่าจะให้ขวัญบวชจะได้ทำให้ขวัญสงบลง

ฝ่ายเรียมเมื่อขยับขึ้นมาเป็นลูกบุญธรรม ชีวิตก็เปลี่ยนไป สมชายอดีตคู่หมั้นของลูกสาวคุณนายทองคำสนใจเรียมแล้วทั้งสองคนก็ใช้ความ ศิวิไลซ์ของบางกอกมัดใจเรียม เรียมพอใจกับความเป็นอยู่หรูหรา เริ่มมองว่าสมชายรักจริง และเริ่มมองขวัญเป็นเพียงพวกป่าเถื่อนด้อยพัฒนา ส่วนขวัญเฝ้าเวียนวนภาวนาต่อหน้าศาลเจ้าพ่อไทร ให้ดลใจให้เรียมนึกถึงคำสัญญา แล้วคำภาวนาก็สัมฤทธิ์ผลเมื่อนางรวยป่วย เรียมต้องกลับมาเยี่ยม ขวัญดีใจรีบไปหาเรียม

แต่ต้องผิดหวังเมื่อเรียมดูสูงส่งไม่เหมือนเรียมคนเดิม และเรียมได้หนีขวัญกลับบางกอกทั้งที่สัญญาว่าจะมาพบในตอนกลางคืน ขวัญเสียใจมากจะฆ่าตัวตายต่อหน้าศาลเจ้าพ่อไทร แต่ผู้ใหญ่เขียนมาขวางไว้ ผู้ใหญ่เขียนได้โอกาสตอนที่ขวัญกำลังซมซานจึงพูดเรื่องที่จะให้ขวัญบวช ขวัญก็เออออตามพ่อ เพราะกำลังสับสน เช่นเดียวกับเรียมที่ตอบตกลงแต่งงานกับสมชายเพราะกำลังสับสน จนนางรวยเจ็บหน้าอกอีกครั้ง ทำให้เรียมต้องกลับมาดูแลแม่ ช่วงเวลา 3 วันที่อยู่บางกะปิ เรียมตัดสินใจคืนดีกับขวัญ ทั้งคู่ร่าเริงเหมือนปลาได้น้ำ แต่เรียมไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ นอกจากคุณนายทองคำคนเดียว

เวลาผ่านมาถึงวันที่ 4 นางรวยตาย หลังจากเสร็จงานศพ สมชายก็ตามเรียมกลับบางกอกเพราะคุณนายทองคำป่วย เรียมจำใจต้องกลับทั้งที่วันนี้เป็นวันบวชของขวัญ เรียมตั้งใจจะกลับไปบอกคุณนายทองคำว่าเป็นเมียขวัญ และจะไม่แต่งงานกับสมชาย แต่เรียมไม่มีโอกาสที่จะไปบอกขวัญถึงการจากไปครั้งนี้

ที่บ้านผู้ใหญ่เขียนกำลังเตรียมงานบวชโดยที่ไม่รู้เลยว่างานบวชวันนี้จะเป็น งานศพแทน ขวัญเมื่อรู้เรื่องว่าเรียมจะไปบางกอกถึงกับสติแตกคว้ามีดซุยคู่ใจโดดออกจาก เรือน สมชายให้เรียมพาไปเที่ยวท้องนา เรียมตัดสินใจบอกว่าขวัญเป็นหนึ่งในดวงใจ และจะไม่แต่งงานกับสมชาย แต่เขาไม่บังคับเพราะต้องการสมบัติของคุณนายทองคำอย่างเดียว ขวัญมาพบการพูดคุยกัน ทำให้ขวัญเข้าใจผิดคิดว่าเรียมจะหนีไอ้ขวัญไปชั่วชีวิต

ขวัญคลั่งทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้ารวมทั้งฆ่าไอ้เริญกับสมุนตาย เรียมไม่คิดว่าเรื่องดีจะกลายเป็นเรื่องเลวร้าย เพราะไอ้ขวัญยอดรักถูกสมชายยิงตายไปต่อหน้า ตายไปพร้อมกับความเข้าใจผิดคิดว่าเรียมนอกใจ ทางด้านผู้ใหญ่เขียนวิ่งถือผ้าไตรและเครื่องบวชตามไอ้ขวัญมา ในขณะที่กระสุนปืนพุ่งใส่ร่างของไอ้ขวัญ ผู้ใหญ่เขียนสะดุดรากไม้ล้มลงพร้อมผ้าไตรและเครื่องบวช ผู้ใหญ่รู้ทันทีว่าไอ้ขวัญไม่มีวันกลับมาเป็นลูกชายของเขาอีก ทำได้แต่ก้มหน้าลงร้องไห้จนสิ้นสติไป

เรียมตัดสินใจจะเป็นเมียไอ้ขวัญเพียงคนเดียวชั่วชีวิต จึงตัดสินใจใช้มีดแทงตัวตายตามไอ้ขวัญไป ณ ท้องน้ำอันเป็นที่เริงรักของทั้งคู่ ท้องน้ำที่ไหลสู่ศาลเจ้าพ่อไทร สถานที่ที่ทั้งคู่เคยร่วมสาบานรักกันตราบจนกว่าความตาย จะมาพรากทั้งคู่จากกันไป...

ที่มาของข้อมูล   :   www.http://pwttas.wordpress.com/

                       :   http://mblog.manager.co.th/11arrows/th-39839/





  มาดูภาพยนตร์เรื่อง "แผลเก่า" กันครับ....

http://www.youtube.com/watch?v=Uc1adyHSnOQ




ต่อ..

http://www.youtube.com/watch?v=8nZDI7KxqMY




ตอนที่ 3 ...

http://www.youtube.com/watch?v=OT-5t0_aMx0

ตอนที่ 4 . . .
http://www.youtube.com/watch?v=MWx9p2bfC3I





ตอนที่ 5...

http://www.youtube.com/watch?v=eAEd4miXxH4&playnext=1&list=PL4C651EA8287F71D7&feature=results_video


ตอนที่ 6..

http://www.youtube.com/watch?v=ROQFDzN1V7E


ตอนที่ 7...

http://www.youtube.com/watch?v=ROQFDzN1V7E






ขอขุดกระทู้หนังไทยอมตะเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่อีกรอบ.เป็นการต้อนรับปีใหม่ พ.ศ 2557 ซึ่งจะเป็นนิมิตรหมายอันดี สำหรับการที่จะได้มีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในระบบ HD1080Pที่คมชัดทั้งภาพและเสียงที่จะบังเกิดขึ้นในเร็วๆนี้..แม้ว่าโอกาสความเป็นไปได้แทบจะไม่น่าจะบังเกิดขึ้นมาได้เลย...ก็ต้องขอขอบคุณต่อความพยายามและไม่ย่อท้อในความยากลำบากสำหรับทีมงานและคณะบุคคลที่จะพยายามทำให้โครงการนี้บังเกิดขึ้นมา..ต้องขอชื่นชมว่า..หัวใจพวกคุณสุดยอดดดด.มากครับ.




จำได้ว่าเคยดูตอนเด็กๆโน่นล่ะครับ...เนื้อหาดีเพลงประกอบเพราะมากครับ


สำหรับผลงานของผู้กำกับ เชิด ทรงศรี ที่ถูกจัดทำเป็น dvd วางจำหน่ายแล้ว แบบรีมาสเตอร์ภาพสีคมชัด จากฟิล์มเนกาทีฟ  คือ อำแดงเหมือนกับนายริด แต่น่าเสียดายว่าอุตส่ารีมาสเตอร์ทั้งทีดันทำระบบภาพออกมาเป็น เลเทอบ็อกซ์ ทั้ืงๆที่ ระบบภาพแบบนี้เลิกใช้ไปนานพอสมควรแล้ว และระบบเสียงก็็มีจุดบกพร่องในส่วนของเสียงเบส ที่บันทึกมาแบบพีคสุดๆ ที่ฟังจนปวดหู เฮ้อ....น่าเหนื่อยใจ


นี่คือผลงานของ   PEPLECINERAMA  555


ขอขโมยซีนภาพเทเลซีนจากป๋าจุ๊บมายั่วคนรักหนังเรื่องนี้ให้ดีใจกันเล่นครับ..จะสังเกตเห็นได้ว่าการทำเทเลซีนรีมาสเตอร์ใหม่จะทำมาในสัดส่วนเต็มอัตราส่วนภาพที่ฉายคือ สัดส่วนภาพ 2:35 หรือซีนีมาสโคปนั่นเอง (ในขณะที่การทำเทเลซีนแบบโบราณยุคพระเจ้าเหา.มักนิยมทำกันมาแบบ letterbox ให้คนดูนั่งก่นด่าคนทำกันเล่น)..อีกไม่นานเกินรอคงได้รับชมกันในระบบ hd 1080pกันในเร็วๆนี้ครับ.





เนื่องจากขั้นตอนในการทำเทเลซีนของภาพยนตร์เรื่องนี้.ยังมีปัญหาและพบข้อบกพร่องบางประการโดยเฉพาะในส่วนของระบบภาพและเสียงยังไม่เป็นที่พอใจของทีมงานฯ..จึงดำริห์ทีี่จะรทำเทเลซีนกันแบบสุดๆโดยทำออกมาเป็นไฟล์บลูเรย์ที่มีความคมชัดสูงกันไปเลย..พร้อมๆกันกับมีผู้ใหญ่ใจดีที่เห็นภาพจากการเทเลซีนในกระทู้นี้.ได้เห็นความตั้งใจของทีมงาน.และจุดมุ่งหมายรวมทั้งวัตถุประสงค์ที่ทีมงานจะเทเลซีนออกมา..รวมทั้งท่านมีฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้เก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดีอยู่หนึ่งก๊อปปี้เป็นฟิล์มธรรมดาสภาพดี..และพร้อมจะส่งมอบฟิล์มให้ทีมงานนำไปเทเลซีนตามวัตถุประสงค์..นับเป็นข่าวดีสำหรับคนที่รักหนังเรื่องนี้จริงๆครับ.


จะรอดูเน้อครับ


เลือกหน้า
[1]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 18

กลับขึ้นข้างบน / กลับหน้าแรก

ค้นกระดานข่าว:


ถูกเปิด: ถูกคลิ๊กแล้ว: 113005297 ตอนนี้มีผู้เข้าชม : 1 ล่าสุด :Davidyzx , FrankFeask , Serzgwp , Evahml , migNer , max , Davidzon , Evanpk , Sergsrn , RaymondZoxia ,