Mobile Version / สำหรับโทรศัพท์มือถือ ยินดีต้อนรับท่านผู้มาเยือน www.peoplecine.com ท่านยังไม่ได้ log in นะครับ เข้าใช้งานระบบ / สมัครสมาชิก/ ลืมรหัสผ่าน
รูป
หนังไทยในอดีต ทุกยุค ทุกสมัยเจ้าของ ผู้ตอบหลังสุด
-มหาวิทยาลัยเหมืองแร่ ปี 2548.. 19/11/2561 22:07
-หอแต๋วแตกแหกต่อไม่รอแล้วนะ.. 19/11/2561 21:31
-สุภาพบุรุษเสือไทย ปี 2492.. 8/11/2561 15:03
-ผีเสื้อและดอกไม้ ปี 2528.. 29/10/2561 21:09
-โทน.. 27/10/2561 23:10
-คนเหนือคน ภาพยนตร์ไทย ปี 2510.. 4/10/2561 21:31
- HOMESTAYยังไม่มีคนตอบ
-จำปูน หนังไทย ปี 2507.. 30/9/2561 21:00
- พ่อปลาไหล ปี2515ยังไม่มีคนตอบ
-นาคี ๒.. 28/9/2561 18:42
-ปาหนัน ภาพยนตร์ไทยปี 2500.. 25/9/2561 16:17
-แผลเก่า ปี 2520.. 9/9/2561 11:27
-GOLD ทองภาค1 ปี พ.ศ. 2516.. 7/9/2561 11:51
-ขุนพันธ์ ภาค 2.. 24/8/2561 15:17
-Girl Don't Cry 2018.. 19/8/2561 23:24
-เรือนแพ .. 17/8/2561 10:03
เลือกหน้า [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12] [13] [14] [15] [16] [17] [18] [19] [20] [21] [22] [23] [24] [25] [26] [27] [28] [29] [30] [31] [32] [33] [34]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 533

บทวิจารณ์ ด้วยเกล้าภาพยนตร์ไทยแห่งปี พ.ศ.2530.ผลงานยอดเยี่ยมของบัณฑิต ฤทธิ์กล


พอดีไปอ่านเจอบทวิจารณ์ภาพยนตร์ไทยเรื่อง ด้วยเกล้า ของอาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ระดับอาจารย์ของเมืองไทย.ซึ่งท่านได้เขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2011 ที่ผ่านมาแล้ว.ในเวบบล๊อคของท่าน.ซึ่งมีบทวิจารณ์และสาระประโยชน์ดีๆแฝงไว้อยู่พอสมควร ผมเห็นว่าบทวิจารณ์ดีๆของอาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษรที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ควรค่าที่จะนำมานำเสนอต่อเพื่อนสมาชิกพีเพิลซีนให้รับทราบเป็นข้อมูลสาระประโยชน์ต่อไป.รวมทั้งต้องขออนุญาตคัดลอกบทความของอาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษรมานำเสนอและขอขอบพระคุณมาณ.ที่นี้ด้วยครับ.


ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นเจตนารมณ์ตั้งแต่เริ่มแรก แต่หลายครั้งหลายคราและอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คอลัมน์ Replay ต้องกลายสภาพเป็นเสมือนคอลัมน์แจ้งข่าวการมรณกรรม และแสดงความไว้อาลัยแด่การล่วงลับดับขันธ์ของบุคคลที่ได้สร้างคุณูปการอัน มากมายมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมหนังทั้งไทยและเทศ และหลงเหลือไว้เพียงผลงานที่ทรงคุณค่าและอยู่ในการรำลึกถึงของผู้ชม และครั้งนี้ก็หาได้เป็นข้อยกเว้นอีกเช่นกัน เพียงแต่ข่าวการจากไปอย่างกะทันหันและก่อนเวลาอันสมควรด้วยวัยเพียง 58 ปีของคุณบัณฑิต ฤทธิ์ถกลอันเนื่องจากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน โจมตีทั้งญาติสนิทมิตรสหาย ผู้คนที่รู้จักมักคุ้นและรวมถึงแฟนหนังของเขาในลักษณะที่แทบไม่แตกต่างไปจาก ฟ้าผ่าลงมากลางวันแสกๆและแดดกำลังเปรี้ยงทีเดียว.


ความเห็น

[1]


กล่าวคือนอกจากไม่มีใครทันได้ตั้งตัว เหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้ทุกคนที่ได้รับข่าวร้ายนี้ล้วนแล้วตกอยู่ในอาการ ช็อคด้วยนึกไม่ถึงไปตามๆกัน แม้ว่าก่อนหน้านี้ มันจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างรับรู้โดยทั่วไปว่าในช่วง 3-4 ปีหลัง คุณบัณฑิตล้มป่วยด้วยโรคไต และต้องเข้ารับการฟอกไตอยู่เป็นประจำ แต่ใครที่เคยได้พบกับคุณบัณฑิตโดยเฉพาะในช่วงก่อนเสียชีวิตไม่นาน-ก็กลับจะ รู้สึกว่า เขาอาจจะดูผอมลงจากเดิมที่เป็นคนร่างอ้วน หากทว่าไม่มีวี่แววที่ชวนให้เชื่อได้เลยว่า มันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความอ่อนแอ อันที่จริง เป็นไปในทางตรงกันข้าม เขายังคงดูทะมัดทะแมง และแข็งแรงขึ้น

            มากยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มันดูเหมือนว่าความเจ็บป่วยดังกล่าวไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำหนังของเขาซัก เท่าใด เพราะในช่วง 3-4 ปีหลัง เขากำกับหนังขนาดยาวโดยเฉลี่ยปีละหนึ่งเรื่อง อันได้แก่ “พระ เด็ก เสือ ไก่ วอก” (2549), “บุญชู ไอ-เลิฟ-สระ-อู” (2551) และ “อนึ่ง คิดถึงเป็นอย่างยิ่ง” (2552) แถมยังมีแรงเหลือไปร่วมกำกับหนังสั้นอีกสองเรื่อง อันได้แก่ “ข่าวที่ไม่สำคัญ” (2550) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการรวมหนังสั้นชุด “แด่พระผู้ทรงธรรม” และล่าสุด “มาหานคร” (2552) หนังสั้นในชุด “สวัสดีบางกอก” ที่ถูกนำออกฉายปิดเทศกาลหนังนานาชาติกรุงเทพ ปี 2552 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 หรือก่อนหน้าที่คุณบัณฑิตจะอำลาโลกใบนี้ไปเพียงแค่วันเดียว นั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงการที่ตัวคุณบัณฑิตกำลังอยู่ในระหว่างเขียนบทหนัง เรื่อง “บุญชู 10” ซึ่งมันก็ย่อมหมายความว่า นอกจากคุณบัณฑิตไม่ได้เตรียมอำลาวงการหนังไทยอย่างเงียบๆอันเนื่องมาจาก สุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวย เขายังคงมีแผนการที่จะทำในสิ่งที่เขารักต่อไป

แน่นอนว่า มันไม่มีทางที่จะกล่าวเป็นอย่างอื่นยกเว้นต้องบอกว่า มันเป็นการสูญเสียบุคคลากรที่เปี่ยมไปด้วยทักษะและความสามารถอันรอบด้าน ครั้งใหญ่หลวงอีกครั้งหนึ่งของอุตสาหกรรมหนังไทย และการจากไปอย่างปัจจุบันทันด่วนของคุณบัณฑิตได้ปล้นเอาโอกาสของผู้ชมอีก จำนวนมากมายมหาศาลที่จะได้ยลโฉมผลงานแห่งความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งกาลเวลาที่ผ่านพ้นไปได้พิสูจน์ให้ทุกคนได้แลเห็นว่ามันมีอยู่ในตัวคุณ บัณฑิตอย่างล้นเหลือ-ให้หลุดลอยไปอย่างชนิดที่ไม่มีวันหวนคืน และหนทางเดียวเท่าที่คอลัมน์เล็กๆนี้จะทำได้ ก็คือการย้อนกลับไปทบทวนหนังในอดีตที่คุณบัณฑิตได้มอบไว้ให้กับผู้ชม ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีจำนวนมากถึงเกินกว่าสามสิบเรื่องด้วยกัน (นับเฉพาะหนังขนาดยาว และรวมถึงหนังที่คุณบัณฑิตกำกับ แต่ไม่ได้ใส่ชื่อของตัวเอง) หลายต่อเรื่องก็เป็นผลงานที่ถ้าหากไม่เก็บกวาดรางวัลจากสถาบันต่างๆอย่าง เป็นกอบเป็นกำ มันก็เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้อย่างอึกทึกครึกโครม จนส่งผลให้เขาเป็นคนทำหนังคนแรกที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับร้อยล้านอย่างเต็ม ภาคภูมิ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังที่สะท้อนตัวตนที่ชัดเจนที่สุดของคุณบัณฑิต ฤทธิ์ถกล หรืออย่างน้อย-ก็น่าจะเป็นหนังที่เขารักและหวงแหนที่สุด ก็คือ หนังชุด “บุญชู” ซึ่งคอลัมน์ Replay ก็เพิ่งจะกล่าวถึงไปเมื่อปีกลายนี้เองในวาระของการร่วมเฉลิมฉลองที่คุณ บัณฑิตหวนกลับมาทำตอนต่อของ “บุญชู” แต่ข้อที่ควรระบุไว้อย่างเจาะจงก็คือ ชีวิตของการเป็นคนทำหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือน ใครของคุณบัณฑิต-ไม่ได้ถูกผูกติดไว้กับหนังชุด “บุญชู” เพียงอย่างเดียว และเขายังมีหนังอีกไม่น้อยกว่า 7-8 เรื่องที่ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง และทั้งหมดล้วนแล้วบ่งบอกถึงวิสัยทัศน์ มุมมองความคิดที่อย่างน้อย ก็น่าเชื่อได้ว่ามันอธิบายถึงความเป็นบัณฑิต ฤทธิ์ถกลในมิติต่างๆกัน (อันได้แก่ความเป็นคนมองโลกในแง่ดี ความรักและศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความโอบอ้อมอารี และการมีมิตรจิตมิตรใจแบบไทยๆ)

อาทิ “ส.อ.ว. ห้อง 2 รุ่น 44” (2533) ที่พูดถึงโลกของความเป็นจริงที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับโลกของความเพ้อ ฝันในสมัยที่ยังเป็นนักเรียน, “อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป” (2535) ที่พูดถึงช่วงหนึ่งของชีวิตที่สนุกและอยู่ในความทรงจำมากที่สุด และนั่นก็คือช่วงปีสุดท้ายของการเรียนระดับมัธยม, “กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้” (2537) ที่สะท้อนปัญหาพื้นฐานที่สุดของสังคม อันได้แก่เรื่องของครอบครัว, “สตางค์” (2543) ที่พูดถึงความหมกมุ่นลุ่มหลงในทรัพย์สินเงินทองของผู้คนอย่างไม่ลืมหูลืมตา, “14 ตุลา สงครามประชาชน” (2544) ที่บอกเล่าเรื่องราวที่สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของนักเคลื่อนไหวทางการ เมืองคนสำคัญ

แต่ในบรรดาหนังทั้งหมดของคุณบัณฑิต มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เมื่อมองย้อนกลับไปอย่างผิวเผินแล้ว ชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่า มันถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร เพราะเมื่อพิจารณาเฉพาะในแง่ของเนื้อหาหรือที่เรียกว่า ‘หน้าหนัง’ แล้ว มันแทบจะมองไม่เห็นวี่แววว่าหนังเรื่องดังกล่าวจะสามารถเอาตัวรอดในแง่ของ การตลาดได้อย่างไร และที่ค่อนข้างแน่ก็คือ มันเป็นหนังที่ไม่น่าจะถูกสร้างในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่า ธุรกิจหนังไทยในกระแสหลักถูกจำกัดกรอบเนื้อหาของหนังไว้เพียงแค่ไม่กี่แนว อีกทั้งกลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่ล้วนแล้วเป็นวัยรุ่น และไม่ค่อยให้การต้อนรับหนังที่มีเนื้อหาเคร่งขรึมจริงจัง จนเชื่อแน่ว่าคงจะไม่มีนายทุนคนไหนยอมเสี่ยงอนุมัติให้สร้างหนังที่ว่าด้วย เรื่องของชาวนาทางภาคเหนือที่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนต่อสู้กับความแห้งแล้ง ทั้งจากธรรมชาติและจิตใจผู้คน และตลอดทั้งเรื่อง มีแต่ภาพของท้องไร่ท้องนา คนบ้านนอกที่แต่งเนื้อแต่งตัวมอซอ ฉากหลังที่เกี่ยวข้องกับความทุรกันดาร ซึ่งล้วนแล้วไม่มีอะไรที่ชวนให้รื่นรมย์

ด้วยเหตุนี้เอง จึงต้องนับเป็นความกล้าหาญทั้งของบริษัทไฟว์สตาร์ และแน่นอน ของตัวคุณบัณฑิต ฤทธิ์ถกล(ในช่วงเวลาก่อนที่เขาจะให้กำเนิด “บุญชูผู้น่ารัก”) ที่ทำหนังเรื่อง “ด้วยเกล้า” (2530) ที่สะท้อนถึงความเชื่อและศรัทธาอันแรงกล้า ตลอดจนความมุ่งมาดปรารถนาอันควรได้รับการยกย่องชื่นชม อย่างไรก็ตาม ไฟว์สตาร์และคุณบัณฑิต-ก็ไม่ได้สร้าง “ด้วยเกล้า” โดยปราศจากแรงเกื้อหนุนในแง่ของยุคสมัยและจังหวะเวลา และเป็นดังที่หลายคนรับทราบเป็นอย่างดีว่าเหตุผลหลักมาจากการร่วมเฉลิมฉลอง วโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษาในปี พ.ศ. 2530 นั่นเอง แต่ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่การแสดงออกถึงความจงรักภักดีของคุณ บัณฑิตไม่ได้รับการร่วมตอบสนองจากผู้ชมเท่าที่ควรทั้งในการออกฉายครั้งแรก และการออกฉายครั้งหลังในปี 2549 ตามโครงการ “หนังไทยเพื่อในหลวง” ในวาระของการฉลองการครองราชย์ 60 ปี อันส่งผลให้หนังไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้เทียบเท่ากับตัวคุณค่าและ มูลค่าของผลงาน

เป็นไปได้ว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนไม่นึกอยากดูหนังเรื่องนี้-อาจจะมา จากความเข้าใจผิดๆที่ว่านี่คือหนังที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อโปรโมทโครงการในพระ ราชดำริตามแบบประเพณีนิยมที่มักจะอาศัยวิธีการนำเสนอและการกระตุ้นเร้า อารมณ์อย่างคร่ำครึและโบราณ หรือแม้กระทั่งบอกเล่าแบบยัดเยียดตรงไปตรงมา และก็เป็นไปได้อีกเช่นกันว่า สมมติว่าหนังเรื่องนี้ไปตกอยู่ในมือของคนทำหนังระดับรองๆ แนวโน้มที่มันจะกลายสภาพเป็น ’ละครโทรทัศน์วันเฉลิมฯ’ (ที่ไม่มีใครตั้งคำถามในเจตจำนง แต่หลายครั้งหลายครา แท็คติกการนำเสนอ-ก็มักจะตื้นเขิน หรือพยายามสั่งสอนจนเกินไป) ก็นับว่าสูงทีเดียว แล้วไหนจะในส่วนของเนื้อหา-ก็ไม่ได้เป็นเรื่องพาฝัน หรือเปิดช่องทางให้ผู้ชมได้อาศัยเป็นช่องทางพักผ่อนหย่อนใจ..





ไม่ว่าคุณบัณฑิตจะรับรู้ถึงข้อจำกัดเหล่านั้นหรือไม่อย่างไร หนังเรื่อง “ด้วยเกล้า” ก็ไม่ได้เดินตกหลุมพรางของความเป็นหนังที่มุ่งกราบไหว้บูชาสถาบันพระมหา กษัตริย์อย่างงมงาย, ขาดเหตุผลและไม่ลืมหูลืมตา และพร้อมๆกับการที่มันเป็นหนังที่แสดงออกถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระเจ้าอยู่หัวของตัวคุณบัณฑิตในฐานะที่เป็นหนึ่งในพสกนิกร “ด้วยเกล้า” ก็เป็นหนังชีวิตที่หนักแน่นไปด้วยพลังของการโน้มน้าวชักจูง และข้อสำคัญ โดยไม่ต้องอาศัยหนทางของการโหมกระพือในทางเทคนิคการนำเสนอจนสูญเสียความเป็น ธรรมชาติและความมีชีวิตชีวา

หนังเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวละครเอกของเรื่องอย่างเรียบง่ายแต่ทว่าแยบยล เสาคำ (รับบทได้อย่างเข้าถึงจิตวิญญาณตัวละครโดยคุณจรัล มโนเพ็ชรผู้ล่วงลับ) ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคนไทยทั่วไปที่รักและเทิดทูนในหลวงเหนือสิ่งอื่นใด และเมื่อเขาได้ข่าวว่าพระองค์โปรดเกล้าให้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวทรงปลูกจากแปลง นาสาธิตในวังสวนจิตรลดาฯไปหว่านในพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ ท้องสนามหลวงเป็นครั้งแรก เขาก็ดั้นด้นเข้ากรุงเทพด้วยหวังว่าจะสามารถนำเมล็ดข้าวเหล่านั้นมาปลูก เพื่อเป็นสิริมงคลแด่ผืนที่นาของตัวเอง-ซึ่งเจ้าตัวก็แย่งชิงมาจำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่หนังให้เห็นก็คือ เขาไม่ได้เก็บเมล็ดข้าวเหล่านั้น ซึ่งสำหรับเสาคำ มันเป็นของสูงค่ายิ่งกว่าแก้วแหวนเงินทอง-เอาไว้เพียงคนเดียว และยังได้แบ่งให้กับคนใกล้ตัว คนหนึ่งที่พลอยได้รับอานิสงค์ก็คือ แม่เลี้ยงบัวเรียน (นฤมล นิลวรรณ) ที่อาชีพหลักของเธอก็คือเปิดร้านขายของชำและปล่อยเงินกู้นอกระบบโดยการเรียก เก็บดอกเบี้ยแพงๆ

จากนั้น หนังก็พาผู้ชมกระโดดข้ามกาลเวลาไปอีกสิบกว่าปี พันธุ์ข้าวของในหลวงในผืนนาของเสาคำก็ให้ดอกออกผลเจริญงอกงาม จนเขาสามารถกล่าวกับลูกๆที่โตเป็นหนุ่มเป็นสาวด้วยความภาคภูมิว่าผืนนาของ เขามีแต่ ’ข้าวในหลวง’ แต่ปัญหาหนักหนาสาหัสที่เสาคำกับชาวนาคนอื่นๆในหมู่บ้านเดียวกันกำลังต้อง เผชิญ-ก็คือความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นมาหลายปีอันเนื่องจากฝนไม่ตกต้องตามฤดู กาล จนส่งผลให้นอกจากปลูกข้าวไม่ค่อยจะได้ราคาแล้ว ทั้งหมดยังต้องเข้าไปอยู่ในระบบการกู้หนี้ยืมสินของแม่เลี้ยงบัวเรียนจอม หน้าเลือดและขูดรีด ผู้ซึ่งประกาศให้บรรดาลูกหนี้ของเธอได้ยินเสียงดังฟังชัดหลายครั้งหลายครา ว่า ใครไม่ชดใช้เงินต้นและดอกเบี้ยตามกำหนดที่ตกลงกันไว้ เธอก็ต้องยึดที่นามาไว้ในครอบครองอย่างชนิดที่ไม่ต้องมาพิโอดพิครวญ มากยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เธอยังเป็นเจ้าของบ่อน้ำที่อุดมสมบูรณ์บ่อเดียวของหมู่บ้านที่ทุกคนต้อง อาศัยซื้อเพื่อใช้อาบใช้กิน และโดยปริยาย เธอแทบจะกุมชะตาชีวิตของแทบทุกคน

อย่างที่ผู้ชมสามารถมองเห็นได้ชัดเจน เสาคำกับแม่เลี้ยงบัวเรียนเป็นขั้วที่ตรงกันข้ามอย่างชนิดสีขาวสีดำ คนหนึ่งเปี่ยมล้นไปด้วยความโอบอ้อมอารี และยึดมั่นในวิถีของการช่วยเหลือเกื้อกูล ส่วนอีกคนบูชาเงินเป็นเทพเจ้า ไม่เคยรู้จักคำว่าเมตตาธรรมและมนุษยธรรม ทั้งหลายทั้งปวง มันส่งผลให้ความขัดแย้งที่ประทุขึ้นระหว่างตัวละครทั้งสอง-กลายเป็นการขับ เคี่ยวของคู่ต่อกรที่ไม่สมศักดิ์ศรีโดยสิ้นเชิง เพราะในขณะที่แม่เลี้ยงบัวเรียน-มีอำนาจอย่างล้นเหลือในการบีบให้เสาคำขาย ที่นาของตัวเองเพื่อนำเงินมาใช้หนี้สินที่หยิบยืมไป ฝ่ายหลังซึ่งอยู่ในสถานะที่จนตรอกและเปรียบเสมือนลูกไก่ในกำมือ-แทบไม่มี อะไรที่จะนำใช้สู้รบปรบมือ ยกเว้นเพียงอย่างเดียว นั่นคือความเชื่อที่หนักแน่นและไม่เคยสั่นคลอนว่าเขาเป็นชาวนา ถ้าหากไม่ทำนาแล้ว เขาก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ตลอดจนสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง และความคิดที่จะละทิ้งที่ทำกินของตัวเองแล้วเข้าไปเสี่ยงโชคในตัวเมืองไม่ เคยอยู่ในห้วงคำนึง แต่ทว่าความหยิ่งทระนงนี้-ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เขากำลังเผชิญแต่อย่างใด

แม้ว่าในข้อมูลเครดิตจะไม่ได้ระบุว่าเค้าโครงของ “ด้วยเกล้า” นำมาจากเรื่องของใคร และว่าไปแล้ว มันก็สันนิษฐานได้ว่าคุณบัณฑิตคงจะผูกเรื่องขึ้นเอง แต่ไม่มีใครที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว-จะไม่คิดว่านี่เป็นเรื่องจริงของ ชาวนาไทย โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ระบบทุนนิยมและวัตถุนิยมเริ่มเข้ามามีบทบาทระรานและก่อ กวนวิถีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของผู้คนที่ตั้งแต่ไหนแต่ไร สามารถดำรงชีวิตในแบบพึ่งพาตัวเอง

จริงอยู่ที่สถานการณ์ฝนแล้ง-เป็นเรื่องสุดวิสัย อยู่นอกเหนือการควบคุมและไม่อาจจะโยนความผิดนี้ไปให้ใคร แต่ถึงกระนั้น มันก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ใครจะแอบคิดว่า การที่ชาวนาตัวเล็กๆอย่างเสาคำและอีกจำนวนมากถูกปล่อยให้ต่อสู้กับความยาก แค้นลำเค็ญตามลำพังและอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย สะท้อนถึงความบกพร่องและล้มเหลวของหน่วยงานของรัฐฯที่อย่างน้อย ควรจะต้องหยิบยื่นความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานตามสมควร เช่น การจัดหาแหล่งน้ำที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อจากแม่เลี้ยง ข้อสำคัญก็คือ หนังให้เห็นว่าชาวบ้านก็ไม่ได้นั่งงอมืองอเท้ารอฟ้าฝนให้ตกเพียงอย่างเดียว และยังได้ช่วยกันแก้ปัญหาเท่าที่กำลังสติปัญญาของพวกเขาจะเอื้ออำนวย ด้วยการพึ่งพา ‘อาจารย์ดูน้ำ ตาทิพย์’ แต่เมื่อไม่ได้ผล การแก้ปัญหาความอยุติธรรมที่ได้รับ-ก็ลงเอยด้วยการก่อม็อบและพยายามใช้กำลัง บุกยึดบ่อน้ำของแม่เลี้ยง ซึ่งต้องนับเป็นวิธีการที่บ่งชี้ถึงความสิ้นหวังและอับจนความคิดของชาวนา อย่างน่าสมเพชเวทนา

สมมติเล่นๆว่านี่คือหนังของผู้สร้างที่มีอุดมการณ์ความคิดแบบสังคมนิยม ไม่ต้องสงสัย หนังเรื่องนี้จะต้องกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้อธิบายว่า ทำไมระบบทุนนิยมจึงเป็นปิศาจร้ายและวิถีทางแห่งการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ จะเป็นคำตอบและทางออกที่ดีที่สุดได้อย่างไร

แต่เป็นที่แจ้งชัดว่า นอกจากอุดมการณ์ทางการเมืองของคุณบัณฑิตไม่ได้โอนเอียงไปในทิศทางนั้น เขายังไม่ได้ต้องการตำหนิติเตียนใคร อันที่จริงแล้ว เขาได้แสดงให้เห็นว่าภาครัฐฯไม่ได้ทอดทิ้งความทุกข์ร้อนของประชาชน ดังจะเห็นได้ตั้งแต่ในช่วงต้นเรื่องที่เสาคำกับลูกชายได้รับบาดเจ็บจากพายุ ฝนที่กระหน่ำอย่างหนักหน่วงรุนแรง ในอีกวันถัดมา หน่วยงานด้านสาธารณสุขก็มาเยียวยารักษาอย่างทันท่วงที ยิ่งไปกว่านั้น อ้าง (กฤษณ์ ศุกระมงคล) ลูกชายคนรองของเสาคำ-ก็ยังได้รับความอนุเคราะห์ในแง่ของทุนการศึกษาจาก รัฐบาลจนสำเร็จปริญญาจากเมืองนอกเมืองนา และเป็นตัวอ้างซึ่งทำงานในโครงการหลวงบนดอย-ที่ช่วยเดินเรื่องให้หมู่บ้าน ของเขาได้รับความเมตตาจากโครงการฝนหลวง

ฉากที่สะท้อนถึงความเฉียบคมและหลักแหลมในการสื่อสารด้วยภาษาหนัง(และโดย ไม่ต้องใช้คำพูดใดๆมาสาธยาย)ของคุณบัณฑิตอยู่ในฉากถัดไปนี่เอง กล่าวคือหลังจากที่ชาวบ้านต้องเฝ้าคอยกันมาแสนนานและอย่างอดทน ในที่สุด ฝนจากโครงการของในหลวงก็โปรยปรายลงมาท่ามกลางความยินดีปรีดาของทุกคน และพวกเขาก็พากันออกมาเริงร่าเล่นน้ำฝนกันด้วยความซาบซึ้งในพระมหา กรุณาธิคุณและสนุกสนานเบิกบาน อย่างไรก็ตาม หนังก็ไม่ลืมที่จะแสดงภาพของใครอีกคนที่ยืนเท้าสะเอวหลบฝนอยู่ภายในบ้าน และมองปรากฏการณ์นี้ด้วยความรู้สึกขุ่นเคือง และนั่นก็คือแม่เลี้ยงบัวเรียน เชื่อแน่ว่าลึกๆแล้ว เธอคงจะเริ่มตระหนักได้เองว่า ศูนย์ถ่วงในเชิงอำนาจของชุมชนแห่งนี้จะไม่ได้อยู่ที่บ่อน้ำของเธออีกต่อไป

แต่กล่าวอย่างถี่ถ้วนแล้ว หนังของคุณบัณฑิตก็ไม่ได้ทำให้ฝนหลวงกลายเป็นของวิเศษหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างชนิดที่มันจะช่วยสะสางปัญหาของชาวนาได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงกันข้าม คำปั๋น (ไกรลาส เกรียงไกร) เพื่อนรักของเสาคำ-ต้องตกเป็นเหยื่อรายแรกของแม่เลี้ยงบัวเรียนที่ถูกยึด ทั้งบ้านและผืนนา โดยที่ฝ่ายหลังไม่รับฟังทั้งเหตุผลและข้อแก้ตัว หรือแม้กระทั่งกับตัวเสาคำเอง ทั้งๆที่ฝนหลวงช่วยนำความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนนาของเขาจนส่งผลให้มันออกดอก ผลอย่างเจริญงอกงาม และเสาคำถึงกับเผลอมองโลกอย่างเพ้อฝันเกินจริงว่า เงินที่ได้จากการขายข้าวปีนี้จะไม่เพียงสามารถใช้หนี้แม่เลี้ยงบัวเรียนจน หมดสิ้น หากมันจะยังมีเหลือมากพอที่จะมาช่วยสนับสนุนให้คำปั๋นไถ่บ้านและที่นาของตัว เองกลับคืน แต่ด้วยความที่เขาไม่รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของแม่เลี้ยงบัวเรียน-ที่ทำให้ เขาเกือบจะต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับเพื่อนรักของตัว เดชะบุญที่คุณบัณฑิตยังเชื่อมั่นในสังคมไทยว่า ถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ใจไม้ไส้ระกำและผู้คนยังพอจะหลงเหลือน้ำจิตน้ำใจและความเมตตา ซึ่งมันถูกแสดงได้อย่างทรงพลังและมีชั้นเชิงในฉากที่เสาคำต้องกล้ำกลืนขาย ข้าวที่เก็บเกี่ยวมาได้ในราคาต่ำกว่าที่ตัวเขาประเมิน และพบว่ามันมีจำนวนไม่เพียงพอกับเงินต้นและดอกเบี้ยที่พอกพูน

แต่ฉากที่ยอดเยี่ยมที่สุด ลึกซึ้งที่สุด รวมทั้งสะท้อนถึงความเป็นบัณฑิต ฤทธิ์ถกลมากที่สุด-ก็คือฉากจบเรื่องนั่นเอง แทบไม่มีข้อกังขาเลยว่า ตลอดเวลาที่ผู้ชมเฝ้าติดตามหนังเรื่องนี้ พวกเราล้วนคาดหวังจะได้เห็นแม่เลี้ยงบัวเรียน (ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการสวมบทบาทที่เข้มข้นและหนักแน่นของคุณนฤมล นิลวรรณทำให้ผู้ชมไม่หลงเหลือข้อสงสัยในความร้ายกาจและเลือดเย็นของตัวละคร และถ้าจะจัดอันดับตัวร้ายในหนังไทย เธอคือคนหนึ่งที่ไม่สมควรถูกละเลย) ได้รับการลงโทษทัณฑ์ไม่ทางหนึ่งก็ทางใด มิเช่นนั้นแล้ว พวกเราจะไม่มีวันสิ้นสุดการดูหนังเรื่องนี้ด้วยความพออกพอใจ

แม่เลี้ยงบัวเรียนได้รับผลกรรมตามที่ได้ก่อเอาไว้จริงๆ แต่ไม่ใช่ด้วยการรุมประชาทัณฑ์ของคนในชุมชน หากเป็นเพราะเธอแพ้ภัยตัวเอง หมายความว่าความใจจืดใจดำของเธอ-ทำให้ไม่มีใครคบค้าสมาคม จนกระทั่งกิจการร้านขายของชำและการปล่อยเงินกู้ของเธอก็อยู่ไม่ได้ (ส่วนหนึ่งมาจากการที่ชาวบ้านรวมตัวกันตั้งสหกรณ์) และต้องย้ายถิ่นฐานออกไป แต่หนังก็ไม่ได้รุมเหยียบย่ำซ้ำเติมตัวละคร และแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าเธอจะร้ายกาจอย่างไร เธอก็ยังมีอีกอย่างที่เหมือนกับคนไทยทั่วไป นั่นคือความจงรักภักดี และเมล็ดพันธุ์ข้าวของในหลวงที่เสาคำให้เธอไว้ในตอนต้น ก็ยังคงถูกเก็บไว้ในตลับขี้ผึ้งเหมือนเดิม เพียงแต่มันไม่ได้เจริญเติบโตมากไปกว่านั้น เมื่อเปรียบกับเมล็ดพันธุ์ข้าวของเสาคำ-ที่ก็เหมือนกับตัวเจ้าของนั่นเองที่ ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านพ้นไป มีชีวิตที่ทั้งระหกระเหินและล้มลุกคลุกคลาน แต่ในที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ของความมานะบากบั่นทุ่มเท มันก็ไม่เพียงให้ดอกผลที่งอกงาม แต่ยังลงรากฝังลึกแน่นหนาและมั่นคง

หนังกำหนดให้เส้นทางโคจรของตัวละครทั้งสอง-มาบรรจบกันอีกครั้งในตอนท้าย แต่ไม่ใช่ด้วยจุดประสงค์ของการตอกย้ำความพ่ายแพ้หรือชัยชนะของตัวละคร หากมันเหมือนกับจะบอกเป็นนัยว่า และแล้ว ทั้งสองก็คงต้องดำเนินชีวิตของตัวเองกันต่อไป และในกรณีของแม่เลี้ยงบัวเรียน เชื่อว่าคุณบัณฑิตก็ยังคงมีความปรารถนาดีกับเธอ อีกทั้งเขาคงอยากให้ผู้ชมร่วมกันภาวนาว่า บางที เธออาจฉุกคิดและสำนึกขึ้นมาได้ว่า หนทางของยืนหยัดและอยู่รอดที่ยั่งยืน-ไม่ใช่ด้วยการเสวยสุขบนกองทุกข์และ ความยากไร้ของผู้คน แต่แท้ที่จริงแล้ว มันมาจากการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และหยิบยื่นความเมตตาปรานีแด่เพื่อนมนุษย์ ด้วยกัน

และถ้าจะกล่าวสรุปให้หมดจดจริงๆ-ก็ต้องบอกว่า นี่คือจุดยืนทางความคิดที่ไม่เคยโยกไหวหรือสั่นคลอนของบัณฑิต ฤทธิ์ถกลตลอดเวลาเกือบสามสิบปีที่เขาร่วมเป็นกำลังหลักของอุตสาหกรรมหนังไทย





“ด้วยเกล้า” (2530)


กำกับ, บทภาพยนตร์-บัณฑิต ฤทธิ์ถกล/อำนวยการสร้าง-เจริญ
เอี่ยมพึ่งพร/กำกับภาพ-พิพัฒน์ พยัคฆะ/กำกับศิลป์-กฤษพงษ์
หาญวิริยะกิตติชัย/ออกแบบเครื่องแต่งกาย-เจดีย์ ศุภกาญจน์, ศรัณยา
สุภารัตน์/ลำดับภาพ-พูนศักดิ์
อุทัยพันธ์/ดนตรีประกอบ-บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เรียบเรียงเสียงประสานโดย พระเจนดุริยางค์, หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช
และปราจีน ทรงเผ่า/ดนตรีประกอบอื่นๆ-ดำรง ธรรมพิทักษ์, มนตรี
อ่องเอี่ยม/ผู้แสดง-จรัล มโนเพ็ชร, นฤมล นิลวรรณ, ไกรลาส เกรียงไกร,
สันติสุข พรหมศิริ, จินตหรา สุขพัฒน์,  กฤษณ์ ศุกระมงคล,โรม อิศรา, ต่อลาภ
กำพุศิริ, ศศิวิมล ศรีสง่า, ฯลฯ/สี/ความยาว 110 นาที


ตีพิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ.2552

ที่มาของข้อมูล : http://pwttas.wordpress.com/2011/06/12/%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2-2530/




ภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้เป็นหนังในดวงใจของใครหลายๆคน.ซึ่งรวมทั้งผมด้วยก็เลยคิดจะกำเนิดโครงการจัดทำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาเป็นบลูเรย์HD 1080Pสำหรับคนรุ่นหลังๆเพื่อที่จะที่ได้รับชมผลงานยอดเยี่ยมเรื่องนี้ในรูปแบบที่มีความคมชัดทั้งภาพและเสียง..ซึ่งต้องขอเสียงสนับสนุนจากเพื่อนสมาชิกทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทวิจารณ์ในกระทู้นี้.ว่าเห็นด้วยอยากจะให้ทีมงานดำเนินโครงการนี้ขึ้นมา..หรือมีข้อเสนอแนะอื่นๆขอได้โปรด..แสดงความคิดเห็นของทุกท่านให้ผมและทีมงานที่คิดอยากจะทำโครงการนี้ได้เห็นและรับทราบด้วยเถอะครับ.บอกความคิดเห็นของท่านมาในกระทู้นี้ได้เลยครับ..ขอขอบคุณทุกความเห็นที่เข้าโพสตอบในกระทู้นี้ทุกท่านครับ.




ยกมือสนับสนุนคนแรกเลยครับ  ...  หนังไทยคุณภาพหลาย ๆ เรื่องกำลังจะล้มหายตายจากพวกเราไป ถึงหลาย ๆ เรื่องยังพอมี VCD DVD บ้าง แต่คุณภาพก็ไม่ดีเอาซะเลย เพราะต้นฉบับที่นำมาทำส่วนมากมาจากม้วนวีดิโอ ภาพ 4:3 ซึ่งไม่ได้อรรถรสในการดูหนังเอาซะเลย ... หรืออย่างโครงการคิดถึงหนังไทยของไฟว์สตาร์แม้จะเป็นการรีมาสเตอร์จริง ๆ แต่ DVD ที่ทำออกมาก็เป็นภาพแบบ 4:3 เลทเทอร์บอกซ์ ขาดความคมชัด ซึ่งที่จริงน่าจะทำได้ดีกว่านี้  ... ถ้ามีโครงการทำหนังเรื่องนี้เป็น Full HD ผมสนับสนุนเต็มที่ครับ ที่จริงไม่เฉพาะเรื่องนี้หรอกนะครับ อยากให้ทำหนังไทยคุณภาพเรื่องอื่น ๆ ด้วย ร่วมด้วยช่วยกันทุกเรื่องครับ


ขอแจ้งเพิ่มเติมอีกนิดว่าโครงการนี้จะทำออกมานี้ จะดำเนินการตามอัตราส่วนภาพของฟิล์มภาพยนตร์คือซีนีมาสโคป อัตาส่วน 2:35:1 ANAMORPHIC WIDESCREEN 16:9 ในขั้นตอนการทำ Authuring transfer ภาพจากฟิล์มเป็นไฟล์ บลูเรย์นามสกุล.m2t ครับ..รับรองว่าไม่ขัดใจคนรักหนังเรื่องนี้แน่นอน.




http://www.youtube.com/watch?v=szBDsSXhR5c



เลือกหน้า
[1]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 7

กลับขึ้นข้างบน / กลับหน้าแรก

ค้นกระดานข่าว:


ถูกเปิด: ถูกคลิ๊กแล้ว: 112739009 ตอนนี้มีผู้เข้าชม : 1 ล่าสุด :GordonFella , Juliynw , Iringgz , Elvindroni , FrankHoumn , Michaelphobe , Vikigoz , Julirag , Jabeabe , Clarazkamic ,