Mobile Version / สำหรับโทรศัพท์มือถือ ยินดีต้อนรับท่านผู้มาเยือน www.peoplecine.com ท่านยังไม่ได้ log in นะครับบทความเกี่ยวกับเรื่องผลิตภันฑ์"ธานินทร์"ของคุณเบญจรงค์เซียนเครื่องเสียงและแผ่นเสียงซึ่งเขียนบทความความรู้อยู่ที่เวบซิโด้บอร์ดและเม็ดทรายบอร์ด.ผมเห็นว่าน่าจะเป็นสาระประโยชน์แก่เพื่อนๆสมาชิกเวบพีเพิลซีนแห่งนี้.ก็เลยขออนุญาติคัดลอกบทความจากคุณเบญจรงค์..มาลงเป็นสาระประโยชน์แก่ผู้สนใจในห้องโฮมเธียเตอร์นี้ครับ พร้อมกับขอขอบคุณคุณเบญจรงค์เจ้าของบทความมาณ.โอกาสนี้ด้วยครับ...
***สโลแกนโฆษณา"ทุกบาทคุ้มค่าด้วย...ธานินทร์"จากน้ำเสียงทุ้มใหญ่ของ
ครู"ไพบูลย์ ศุภวารี" เชื่อว่าเพื่อนสมาชิกทุกท่านต้องเคยได้ยินจากรายการ
วิทยุในอดีต "ธานินทร์"เป็นแบรนด์สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำเนิดโดยคนไทย
คุณภาพดีไม้แพ้ของนอกในยุคสามถึงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่สินค้าที่สร้างชื่อ
เสียงให้"ธานินทร์"จริง ๆก็คือวิทยุ

ย้อนหลังกลับไปในอดีตเมื่อปีพ.ศ.2489 สงครามโลกครั้งที่สองพึ่งปิดฉาก
ไปได้ไม่นาน คุณ"อุดม วิทยะสิรินันท์"(ศิษย์เก่า"อัสสัมชัญพาณิชย์"รุ่นปีพ.ศ.
2485) ซึ่งมีอาชีพเป็นครูสอนพิมพ์ดีด ได้เข้าหุ้นกับพรรคพวกเปิดร้านซ่อมและ
จำหน่ายวิทยุนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เศรษฐกิจในช่วงนั้นยังไม่ดี ร้านวิทยุ
ไม่ทำเงินแถมค่าใช้จ่ายท่วม คุณอุดมจึงเลิกกิจการและกลับไปเป็นครูอย่างเดิม
วันเวลาล่วงเลยมาอีกสามสี่ปี เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นตามลำดับ คุณอุดมซึ่งมี
ใจรักด้านการค้าขายมากกว่าเป็นครู ก็หว่านล้อมเพื่อนฝูงให้มาลงขันเข้าหุ้น
ฟื้นฟูกิจการร้านวิทยุกันอีกครั้ง เนื่องจากทำเลร้านเดิมอยู้ใกล้กับ"นาครเขษม"
(เวิ้งนครเกษม) ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อหาความบันเทิงของคนมีกะตังก์ยุคนั้น
การตัดสินใจของคุณอุดมครั้งนี้ไม่ผิดหวัง กิจการร้านวิทยุไปได้สวยและขาย
ดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีรายได้มากขึ้น ย่อมหนีไม่พ้นความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์
เงินทองไม่เข้าใครออกใครอยู่แล้ว คุณอุดมจึงถอนตัวจากกลุ่มเพื่อน ๆ มาร่วม
หุ้นกับพี่ ๆน้อง ๆด้วยกันเอง เปิดร้านขายวิทยุแห่งใหม่ไม่ไกลจากทำเลเดิม
มากนักโดยตั้งชื่อว่า"ห้างหุ้นส่วนจำกัดธานินทร์วิทยุ"ในปีพ.ศ.2498
ด้วยบุคลิกของความเป็นครูบวกกับทักษะเรื่องวิทยุ คุณอุดมจึงได้รับความ
เชื่อถือจากลูกค้า พากันมาอุดหนุนซื้อวิทยุจากร้านธานินทร์วิทยุอย่างล้นหลาม
กิจการไปได้สวยยิ่งกว่าร้านเดิมซะอีก คุณอุดมฝันถึงการผลิตวิทยุออกจำหน่าย
เอง ซึ่งน่าจะทำกำไรได้มากกว่าสั่งของนอกเข้ามาขาย อีกทั้งในช่วงนั้น อุปกรณ์
ทรานซิสเตอร์เริ่มเข้ามาทำหน้าที่แทนหลอดสูญญากาศ ทำให้ต้นทุนการผลิต
วิทยุลดลงอย่างมาก คุณอุดมซึ่งไฟกำลังแรง จึงตั้งหน้าตั้งตาศึกษาวิธีการสร้าง
วิทยุจากตำราของฝรั่งอย่างเอาจริงเอาจัง โดยสั่งอะไหล่เข้ามาทดลองประกอบ
กันหลังร้านนั่นเอง ยุคนั้นคลื่นวิทยุในบ้านเรามีแต่เอเอ็ม นักอีเล็คทรอนิคส์สมัคร
เล่นอย่างคุณอุดมพยายามปรับจูนเครื่องที่สร้างมากับมือ ให้สามารถรับคลื่นวิทยุ
ได้อย่างชัดเจนตลอดย่านความถี่ และทำได้ดีกว่าเครื่องสำเร็จรูปจากนอกหลาย
ยี่ห้อด้วยซ้ำ คุณอุดมจึงทดลองนำวิทยุประกอบเองมาวางขายหน้าร้าน โดยพะ
ยี่ห้อ"Silver"เพื่อให้มีกลิ่นอายของฝรั่งตามค่านิยมของตลาดในเวลานั้น
วิทยุ"Silver"ของคุณอุดมรับฟังได้ชัดเจนและมีราคาถูก คนมีตังก์ไม่มากก็
สามารถซื้อได้ ไม่นานชื่อเสียงก็ติดตลาด กำลังใจมาเต็มเปี่ยมแล้ว คุณอุดมลด
การนำเข้าวิทยุจากนอกและหันมาผลิตวิทยุเองอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทำเท่าไหร่
ก็ไม่พอขาย แววโรจน์เจ้าสัวรายใหม่มาเยือนแล้ว ในปีพ.ศ.2504 คุณอุดมตัดสิน
ใจลงทุนสร้างโรงงานผลิตวิทยุ"ธานินทร์อุตสาหกรรม" อยู่ในซอยอุดมสุข ซึ่งใน
สมัยนั้นยังมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่มากมาย


วิทยุ"Silver"ขายดีไปทั่วประเทศ แต่ปรากฏว่าชื่อนี้ไปซ้ำกับของนำเข้า
จากญี่ปุ่นที่มีขายมาก่อนแล้ว คุณอุดมจึงคิดที่จะเปลี่ยนยี่ห้อใหม่เพื่อให้เป็น
เอกลักษณ์ของตัวเอง โดยใช้ชื่อแบบไทย ๆซึ่งไม่มีผู้ผลิตรายไหนกล้าใช้กัน
(กลัวไม่มีคนซื้อ) ชื่อ"ธานินทร์"จึงถูกนำมาใช้โดยในระยะแรกจะยิงโฆษณา
ควบคู่ไปกับ"Silver"เพื่อให้คนรู้จักซะก่อน จนถึงปีพ.ศ.2511 จึงใช้ชื่อสินค้า
"ธานินทร์"(Tanin)อย่างเต็มตัวเพียงชื่อเดียว
กิจการของธานินทร์ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้คุณอุดมฝันถึงการ
เป็นเจ้าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย จึงเพิ่มไลน์ผลิตสินค้าอีก 4 ชนิด
คือพัดลม, หม้อหุงข้าวไฟฟ้า,โทรทัศน์ขาวดำและสี ซึ่งก็ขายดิบขายดี(ยกเว้น
ทีวีสี) จนมียอดขายรวมเป็นอันดับที่สาม แพ้แค่โซนี่กับเนชั่นแนลเท่านั้น ไม่
ธรรมดาเลยสำหรับสินค้าแบรนด์ไทย ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำได้แบบนี้มาก่อน
ทีวีสีของธานินทร์ราคาขายค่อนข้างสูง เนื่องจากยังไม่สามารถผลิตหลอด
ภาพเองได้ ต้องนำเข้าสถานเดียว จึงแข่งขันกับของนอกลำบากเพราะราคา
ไม่ต่างกันมากนัก ธานินทร์พยายามดึงภาพพจน์ให้เป็นสินค้าตลาดบน หลาย
ท่านคงจำได้กับโฆษณาของโรงแรมชั้นหนึ่งอย่างโอเรียนเต็ล แต่ก็ไม่ค่อยได้
ผลนัก เนื่องจากกลุ่มคนมีกะตังค์ยังไม่ค่อยเชื่อถือฝีมือของคนไทยด้วยกัน
นับจากปีพ.ศ.2516 เป็นต้นมา คลื่นวิทยุเอฟเอ็มเริ่มมีคนรับฟังมากขึ้น สถานี
ออกอากาศก็เพิ่มขึ้นจนเต็มย่านความถี่ อยู่ต่างจังหวัดก็สามารถรับฟังได้โดยติดตั้ง
แผงสายอากาศภายนอกอาคาร ธานินทร์ก็มีผลิตภัณฑ์เครื่องรับวิทยุที่สามารถรับ
คลื่นได้ทั้งเอเอ็มและเอฟเอ็ม แถมเสียงยังชัดเจนดีกว่าวิทยุของนอกหลายยี่ห้อ
ในห้วงเวลาดังกล่าว ธานินทร์ทำรายการเพลงออกอากาศทางคลื่นเอฟเอ็ม โดย
มีผู้จัดชื่อดังคือครู"ไพบูลย์ ศุภวารี" ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรื่นรมย์และสอดแทรก
คุณภาพของผลิตภัณฑ์ธานินทร์ไปสู่ผู้ฟังอย่างได้ผล
[1]
*ผมได้ยินชื่อของครูไพบูลย์ครั้งแรกจากรายการโทรทัศน์"บันไดดารา" ซึ่ง
ครูไพบูลย์เป็นหนึ่งในกรรมการสามท่าน(ครูล้วน ควันธรรม และครูสง่า อารัมภีร์)
ทำหน้าที่ให้คะแนนนักร้องสมัครเล่นที่เข้าประกวดร้องเพลง รายการนี้ออกอากาศ
เช้าวันเสาร์(ถ้าจำไม่ผิด) ราวปีพ.ศ.2510 โดยมีพันเอก"การุณ เก่งระดมยิง"เป็น
พิธีกร ดูจากรายชื่อของกรรมการก็คงพอคาดการณ์ได้แล้วว่า"หิน"ขนาดไหน คน
ละเกรดกับรายการประกวดร้องเพลงทุกวันนี้ ที่เลียนแบบของฝรั่งมาทั้งดุ้น
สรรพสิ่งเมื่อทะยานขึ้นจนถึงสูงสุดแล้วย่อมตกลงสู่พื้น ฉันใดก็ฉันนั้น ธานินทร์
ก็หนีไม่พ้นวังวนนี้เช่นกัน หลังจากชื่นชมกับความสำเร็จมายาวนานร่วมยี่สิบปี ก็ถึง
คราวที่ต้องพบกับคู่แข่งที่ใหม่สดและมีพละกำลังมากกว่าอย่างเกาหลีและไต้หวัน
ซึ่งปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตโดยใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน ทำให้สามารถ
ผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมากและมีต้นทุนต่อหน่วยที่ลดต่ำลง ตั้งแต่ปีพ.ศ.2525
เป็นต้นมา ทีวีขาวดำซึ่งเคยได้รับความนิยมในตลาดยุโรปกลับขายไม่ออก เนื่อง
จากราคาสูงกว่าสินค้าจากไต้หวันและเกาหลี ซึ่งส่งไปตีตลาดโลกจนกระจุยด้วย
กลยุทธ์ด้านราคาที่ไม่มีชาติไหนกล้าแข่งขันด้วย
คุณอุดมเริ่มกุมขมับเมื่อพบว่ามีสินค้าเหลือค้างสต็อกอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้ง
เจ้าหนี้หลายรายก็พากันเร่งรัดเนื่องจากเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ในปีพ.ศ.2527
รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทและให้สถาบันการเงินจำกัดเพดานสินเชื่อเพื่อป้องกัน
ปัญหาหนี้เน่าล้น เจอไม้นี้เข้า ธานินทร์ถึงกับล้มตึงลงทันที เนื่องจากต้องนำเข้าชิ้น
ส่วนอีเล็คโทรนิคส์จำนวนมาก ค่าเงินบาทที่อ่อนลงก็เท่ากับต้องจ่ายเงินซื้อมากขึ้น
ทำให้ต้นทุนสูงยิ่งขึ้นไปอีก แล้วจะไปแข่งขันกับ...ที่ไหนได้..
ขณะนั้นธานินทร์มียอดหนี้อยู่ราวหกร้อยล้านบาท บรรดาเจ้าหนี้เห็นว่าขืนฟ้อง
ก็มีหวังได้แค่ไม้จิ้มฟันกับกระดาษเช็ดก้นคืนมาเท่านั้น จึงกำหนดแผนฟื้นฟูเพื่อให้
ธานินทร์มีเรี่ยวแรงที่จะหาเงินมาใช้หนี้ดีกว่า แต่แผนฟื้นฟูก็ล้มเหลว เมื่อธานินทร์
ไม่สามารถหาเงินมาผ่อนชำระเจ้าหนี้ได้ สุดท้ายคุณอุดมต้องวิ่งไปหาเจ้าพ่อสิ่งทอ
คุณ"ดำหริ ดารกานนท์"ประธานบริษัทสหยูเนี่ยน เพื่อให้มาช่วยซื้อกิจการธานินทร์
จากเจ้าหนี้รายเดิม สหยูเนี่ยนเข้ามาผ่าตัดธานินทร์ครั้งใหญ่ แต่ยังคงให้คุณอุดม
นั่งเก้าอี้เป็นผู้บริหารอยู่อย่างเดิม
เทคโนโลยี่การผลิตที่ล้าหลังเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้ธานินทร์ไม่สามารถต่อกร
กับคู่แข่งรายอื่น ๆได้ ถึงแม้จะมีสินค้ากลับคืนสู่ตลาดอีกครั้ง แต่ก็ดู"เหล่เก๊"เทียบ
ชั้นกับยี่ห้ออื่น ๆในระดับราคาเดียวกันไม่ได้เลย เปรียบเหมือน"สิงห์เฒ่า"ที่เขี้ยว
เล็บสึกกร่อน และส่งเสียงคำรามได้ดังเท่าเสียงกรน สุดท้ายก็ไปไม่รอดอีกคำรบ
ทางสหยูเนี่ยนเห็นท่าไม่ดี ก็เลยขายกิจการต่อให้นักลงทุนจีนไป
ปัจจุบันโรงงานของธานินทร์ได้รับการปฏิรูปให้เป็นฐานการผลิตของ"ซัมซุง"
ไปแล้ว และแบรนด์"ธานินทร์"ก็ไม่ได้เป็นของตระกูล"วิทยะสิรินันท์"อีกต่อไป ทุก
วันนี้ผมยังเห็นวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องเล็ก ๆติดยี่ห้อ"ธานินทร์"วางขายอยู่บ้าง

ไม่ทราบว่าผลิตจากที่ไหน ของแทัเทียม ๆหรือของเทียมแท้ ๆก็ไม่รู้ แต่รูปลักษณ์ดูกิ๊กก็อกไม่น่าใช้เลย ส่วนใหญ่จะขายในต่างจังหวัด กลุ่มลูกค้าก็ระดับบ้าน ๆเอา
ไว้ฟังเพลงจากวิทยุชุมชนกับหวย!
ช่วงเป็นวัยรุ่น ผมชอบไปฟังเพลงจากวิทยุธานินทร์ที่บ้านเพื่อนบ่อยครั้ง เพราะเสียงมันดีกว่าวิทยุทรานซิสเตอร์ที่บ้านผมมี ตัวเครื่องใหญ่เสียงก็ดัง เปิดหน้าบ้านได้ยินทะลุหลังบ้าน แถมทนทายาด ใช้เป็นสิบปีก็ไม่ยอมพัง เปลี่ยนแค่ถ่านไฟฉาย
อย่างเดียวเท่านั้นครับ..อ่านถึงตรงนี้นี่คือ บรรทัดสุดท้ายของตำนาน" ธานินทร์ " ที่ผมขอนำมานำเสนอเป็นข้อมูลองค์ความรู้แด่เพื่อนสมาชิกพีเพิลซีนเพื่อเป็นสาระประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยครับ..
เลือกหน้า [1] จำนวนหัวข้อทั้งหมด 1
ถูกเปิด: ถูกคลิ๊กแล้ว: 116990048
ตอนนี้มีผู้เข้าชม : 1 ล่าสุด :Akimoxagew , Landyxogew , RobertMIGH , Landexpzgew , Charlesfroms , Gregorydruct , LavillKer , BrianerpGep , Kristenmswony , AnthonykDraib ,