Mobile Version / สำหรับโทรศัพท์มือถือ ยินดีต้อนรับท่านผู้มาเยือน www.peoplecine.com ท่านยังไม่ได้ log in นะครับ เข้าใช้งานระบบ / สมัครสมาชิก/ ลืมรหัสผ่าน

ประธานกรรมการ :ปวีณ เขื่อนแก้ว
เวบมาสเตอร์:อนุกูล วิมูลศักดิ์ 084-819-7374,095-308-6840


= ภายใน24ชั่วโมง , = ภายใน 3 วัน = ทั่วไป , = คลาส2 , = คลาส3 ,
รูป
โรงหนังเมื่อครั้งอดีต เจ้าของ อ่าน ตอบ ผู้ตอบหลังสุด
-“ย้อนรอย ทับเที่ยงภาพยนตร์” “โรงแรม ร้านอาหาร โกเต็ง”9540ยังไม่มีคนตอบ
-โรงภาพยนตร์ตรังรามา9430ยังไม่มีคนตอบ
-เปิดตํานานสายหนังดัง ภาคอีสาน8851.. 19/6/2563 18:14
-บัญชีรายชื่อโรงภาพยนตร์ต่างจังหวัดในอดีต (บัญชีเก่ามากเลยทีเดียว) ตอนที่ 2726314.. 13/4/2563 10:44
-Great stars Vintage ep 43 ตามรอยโรงหนังเก่าย่านพระโขนง8250ยังไม่มีคนตอบ
-stand alone ชะตากรรมโรงหนังเดี่ยว9450ยังไม่มีคนตอบ
-“ไชโย โอป้า Exclusive” EP. 35 ตอน “ตำนานรักแห่งสยาม (สแควร์)”9640ยังไม่มีคนตอบ
-โรงหนังทับเที่ยงภาพยนตร์13442.. 9/2/2562 18:32
-วิสุทธิ์ จิตต์แจ้ง ผู้จัดการโรงหนังคิงส์ตรัง12032.. 9/2/2562 18:13
-โรงภาพยนตร์เฉลิมไทย ละครเรื่อง “ พันท้ายนรสิงห์ “13495.. 17/12/2561 9:53
-เรื่องเล่าสายหนังในอดีตที่น่าสนใจ12950ยังไม่มีคนตอบ
-โรงหนัง สกาลา...11403.. 23/10/2561 10:52
-แด่...โรงหนังลิโด14567.. 23/10/2561 10:52
-Being History8620ยังไม่มีคนตอบ
-“ภาพเก่าเล่าเรื่องโรงหนังตรัง ปี 2480 “17442.. 27/9/2561 12:43
-โรงภาพยนตร์ในจังหวัดกาญจนบุรี525011.. 17/6/2561 21:38
เลือกหน้า
[<<] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12] [13] [14] [15] [16]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 247

(ID:20932) โรงภาพยนตร์ในจังหวัดกาญจนบุรี


ทั่วทั้งจังหวัดกาญจนบุรีจะมีโรงภาพยนตร์เพียง 3 อำเภอเท่านั้น คือในอำเภอเมือง, อำเภอท่าม่วง และอำเภอท่ามะกา ซึ่งอำเภออื่นๆ จะไม่มีโรงภาพยนตร์เลย (หรืออาจจะมีแต่ไม่พบข้อมูล)  เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล บางจุดก็เข้าถึงลำบาก ถึงลงทุนสร้างขึ้นมาก็ไม่คุ้มค่า ดังนั้น “หนังกลางแปลง” จึงเป็นทางออก เพราะสามารถเข้าได้ทุกพื้นที่ แม้บางช่วงจะต้องพบทางลูกรัง หรือถึงขั้นต้องลงแพขนานยนต์ข้ามฟากไปอีกฝั่งก็เคยมี

ในภาพที่เป็นรายชื่อโรงภาพยนตร์นี้ คือ หลักฐานจากเอกสารทึ่อ้างอิงได้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีโรงภาพยนตร์ที่เคยสร้างความสุขให้กับผู้ชมในช่วงเวลานั้น เมื่อเวลาผ่านไปพร้อมๆ กับความเจริญที่เข้ามา โรงภาพยนตร์หลายแห่งก็มีการปรับเปลี่ยน มีทั้งการเปลี่ยนเจ้าของกิจการ เปลี่ยนชื่อ สร้างใหม่ หรือล้มหายตายจากไป กระทั่งเมื่อพฤติกรรมของผู้ชมภาพยนตร์เปลี่ยนไป ที่มาพร้อมกับโฮม เอ็นเตอร์เทนเมนท์ อย่างวิดีโอ เทป เรื่อยมาจนถึงยุควิดีโอ ซีดี, ดีวีดี, บลูเรย์ รวมทั้งการเข้ามาของโรงภาพยนตร์ที่เป็นระบบผูกขาด ทำให้โรงภาพยนตร์เหล่านี้ถูกลดความสำคัญลง นำไปสู่การปิดกิจการทั้งหมดในที่สุด บางแห่งถูกปล่อยทิ้งร้างรอเวลาทุบทิ้ง บางแห่งได้ปรับเปลี่ยนภายในจนไม่เหลือเค้าโครงเดิมว่าเคยเป็นโรงภาพยนตร์มาก่อน เหลือเพียงบันทึกหลักฐานจากคำบอกเล่าที่อยู่กับผู้ที่เคยชม รวมทั้งอดีตเจ้าของกิจการซึ่งปัจจุบันมีอายุมากแล้ว หรือไม่ก็อยู่กับทายาทของผู้ที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งน้อยคนนักที่จะให้ข้อมูลได้

ในฐานะที่เว็บมาสเตอร์มีภูมิลำเนาอยู่ที่นั่นก่อนที่จะย้ายติดตามครอบครัวในปี พ.ศ. 2531 และเคยมีโอกาสได้กลับไปทำงานในปลายปี พ.ศ. 2545 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 ก่อนที่จะเป็นเพียงการเดินทางเพื่อไปเยี่ยมเยียนเป็นระยะๆ ในช่วงหลังเมื่อไม่นานนี้ กระทู้นี้จะพาย้อนรอยกลับไปด้วยข้อมูลเท่าที่มีอยู่ และมีความจำเป็นต้องเว้นช่วงไปเพื่อให้สมาชิกได้เข้ามาแสดงความเห็น หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนที่จะต่อด้วยรายละเอียดเพิ่มเติมเท่าที่เว็บมาสเตอร์จะเสาะหามาได้


+

ความเห็น

[1]


(ID:189520)

ก่อนอื่นเลยต้องขอนำชื่อโรงภาพยนตร์นี้ก่อนและถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจคนแรกด้วย นั่นคือ “สมานมิตรภาพยนตร์”

สมานมิตรภาพยนตร์ก่อตั้งโดย จ.ส.ต.ไตรรงค์ สุขเจรียงพร (ยศในขณะนั้น ยศสุดท้ายก่อนเสียชีวิตคือ พ.ต.ต.) หรือในชื่อ จ๊อกหยินนายตำรวจชื่อดังแห่งเมืองกาญจนบุรี โดยเริ่มต้นจากการเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ “ศรีกาญจนา” ซึ่งก่อตั้งขึ้นราวๆ ปลายทศวรรษ พ.ศ. 2490 หรือ พ.ศ. 2500 ต้นๆ (ไม่ทราบเลขหลักหน่วยที่ชัดเจน)

โรงภาพยนตร์ ศรีกาญจนาโรงภาพยนตร์เก่าแก่ของเมืองกาญจน์ มีลักษณะเป็นอาคารไม้สองชั้น เป็นทั้งโรงลิเกและโรงภาพยนตร์ โดยชั้นบนใช้เป็นที่ตั้งเครื่องฉายภาพยนตร์ ทางเจ้าของได้เช่าพื้นที่ว่าง ซึ่งเป็นของวัดเทวสังฆาราม (คนเมืองกาญจน์เรียกว่า “วัดเหนือ”) ทำเป็นโรงภาพยนตร์ ที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ห่างจากแม่น้ำแควใหญ่ซึ่งเป็นปลายน้ำที่ไหลบรรจบกับแม่น้ำแควน้อย และเป็นต้นทางของแม่น้ำแม่กลอง ทำให้เกิดชุมชนและย่านการค้าอยู่บริเวณนั้น และกลายเป็น “ถนนปากแพรก” ในเวลาต่อมา  

สำหรับนักพากย์ภาพยนตร์ประจำโรงนี้ คือ ศักดิ์ชาย สนั่นเมือง” หรือ นายไพศาล เหลืองสะอาด ซึ่งเป็นชาวอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี มีประสบการณ์การพากย์ภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง จนอาจารย์ตั้งนามแฝงนี้ให้ ต่อมาราวๆ ปี พ.ศ. 2507 “จ.ส.ต.ไตรรงค์มีความคิดว่า โรงภาพยนตร์ ศรีกาญจนามีพื้นที่คับแคบ อากาศถ่ายเทไม่ดี จึงได้ย้ายมาตั้งโรงภาพยนตร์แห่งใหม่ซึ่งเป็นที่โล่ง และเคยเป็นสนามบินชั่วคราว (ปัจจุบัน คือศูนย์การค้าตลาดผาสุก หรือ ตลาดท่ารถ บขส.) โดยใช้ชื่อว่า สมานมิตรภาพยนตร์

“สมานมิตรภาพยนตร์” เป็นโรงภาพยนตร์กลางแปลงล้อมรั้วด้วยสังกะสี พร้อมกับตั้งจอและเครื่องฉายในนั้นเลย ไม่มีที่นั่ง ผู้ชมต้องนำเสื่อมาเอง ยิ่งถ้าเป็นช่วงฤดูฝนจะสร้างความลำบากมากถึงขนาดต้องกางร่ม ส่วนระบบการฉายภาพยนตร์ มีครบครัน ไม่ว่าจะเป็นระบบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร เสียงในฟิล์ม หรือฟิล์มขนาด 16 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นหนังไทย พากย์สดที่นิยมสร้างในเวลานั้น ส่วนหนังต่างประเทศที่เป็นฟิล์ม 35 ม.ม. หรือถูกพิมพ์ (โบลว์) เป็นฟิล์ม 16 ม.ม. ในบางเรื่อง ก็ต้องพากย์สดเช่นกัน

การวางโปรแกรมภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายเป็นช่วงปลายสัปดาห์ ซึ่งก็คือวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ยกเว้นเด็กนักเรียนที่จะเข้าชมได้เฉพาะช่วงวันศุกร์และวันเสาร์ หรือไม่ก็ช่วงปิดภาคเรียนเท่านั้น เนื่องจากทางโรงเรียนมีระเบียบห้ามมิให้เยาวชนเที่ยวเตร่ในช่วงเวลากลางคืน โดยมีอาจารย์หรือสารวัตรนักเรียนของโรงเรียนนั้นๆ คอยสังเกตการณ์ แต่ก็อนุโลมให้กรณีที่ผู้ปกครองและตัวเด็กที่อยู่ในความปกครองไปขายของ ซึ่งก็มีน้อยราย อีกอย่างหนึ่งทางโรงก็ไม่ได้ฉายตลอดทุกปลายสัปดาห์ เนื่องจากต้องขนย้ายไปฉายในลักษณะ “หนังเร่” ปิดวิกล้อมผ้าที่ต่างอำเภอไกลๆ เช่น ไทรโยค, ศรีสวัสดิ์, บ่อพลอย, ทองผาภูมิ หรือ สังขละบุรี ถึงขนาดบุกป่าฝ่าดง หรือขนย้ายอุปกรณ์และรถลงเรือข้ามฟากขนาดใหญ่ก็เคยมี และบางครั้งก็ข้ามไปยังในพื้นที่จังหวัดอื่น อย่าง สุพรรณบุรี, นครปฐม, ราชบุรี สักพักก็วนกลับมาฉายที่โรงตามเดิม

ราวๆ ปี พ.ศ. 2515 "สมานมิตรภาพยนตร์ก็หมดสัญญาเช่า เนื่องจากบริเวณนั้นกลายเป็นพื้นที่ของราชพัสดุ และทางราชพัสดุก็ต้องการใช้พื้นที่ในการสร้างศูนย์การค้า "สมานมิตรภาพยนตร์” จึงยุติในส่วนของโรงภาพยนตร์ และเป็น “หนังกลางแปลง” อย่างแท้จริง โดยจะเป็นลักษณะรับจ้างฉายในงานวัด ขณะเดียวกันบรรดาลูกน้องที่เป็น “มือฉาย” ของ “สมานมิตรภาพยนตร์” บางคนที่ชำนาญต่างก็แยกไปตั้งหน่วยเป็นของตนเอง เช่น รังษีภาพยนตร์”, “รุ่งทิวาภาพยนตร์”, ไพบูลย์ภาพยนตร์” ซึ่งสองหน่วยแรกยังให้บริการอยู่จนถึงทุกวันนี้

สำหรับลูกน้องทีมงานก็คือ ครอบครัวในตระกูล วิมูลศักดิ์นี่แหละครับ ก็คือคุณพ่อ และน้องชายอีกสอง (ซึ่งตนเรียกว่า อา”) รวมทั้งญาติๆ ก็เข้ามาช่วยบ้างเป็นครั้งคราว เลยทำให้สองครอบครัว สนิทสนมกันจนถึงทุกวันนี้ 

เว็บมาสเตอร์ในวัยเด็ก เป็นช่วงปลายยุคของ สมานมิตรภาพยนตร์แล้วครับ นานๆ จะมีโอกาสได้ไปดู แต่ก็ไม่ได้อยู่นาน บางครั้งคุณพ่อก็พาไปที่บ้านของท่าน จ๊อกหยินซึ่งอยู่ถัดจากสะพานข้ามแม่น้ำแควเพียง 300 เมตร ก่อนที่จะมาทำธุรกิจรีสอร์ต และในครั้งนั้นถือเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นการฉายภาพยนตร์กลางแปลงของ สมานมิตรภาพยนตร์ ในปี พ.ศ. 2530 ก่อนที่จะย้ายติดตามครอบครัวในปีต่อมา และจุดนี้ก็เลยสันนิษฐานว่า สมานมิตรภาพยนตร์น่าเลิกกิจการหลังจากนั้น

ภายหลังจากเลิกกิจการ ก็หันมาช่วยเหลืองานสังคมเสียเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ช่วงที่ตนรับปริญญาก็เดินทางมาเยี่ยมท่านจ๊อกหยินด้วย และในที่สุดราวๆ เดือนกันยายน พ.ศ. 2546 ขณะที่ตนยังเป็นครูอัตราจ้างสอนอยู่ที่โรงเรียนประชามงคล อำเภอหนองปรือ ซึ่งวันนั้นตนเดินทางกลับมาพักผ่อนที่ตัวเมือง โดยมาพร้อมกับเพื่อนครูอีก 2 คน เพื่อไปเยี่ยมครูที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรียในตัวจังหวัด หลังแยกย้ายกันแล้ว เมื่อมาถึงก็พบคุณพ่อ จึงทราบว่าท่านจ๊อกหยินได้เสียชีวิต ก็เลยได้ไปร่วมงานศพ ซึ่งในงานก็ได้พบกับบุคคลที่เคยมีส่วนร่วมหลายท่าน รวมไปถึงบริการ รังษีภาพยนตร์" ซึ่งตอนนั้นออกฉายหนังเร่เก็บเงิน ก็มาร่วมงานด้วย

เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่เคยมีโอกาสได้สอบถามพูดคุยกับบุคคลหรือญาติๆ ที่เกี่ยวข้องเลย แม้กระทั่งภาพถ่ายก็ไม่มี เหลือเพียงตัวอักษรที่เป็นบันทึกหลักฐานไว้เท่าที่มีอยู่




(ID:189521)

เมื่อความเจริญเข้ามาเยือน มีหลายชุมชนเกิดขึ้น ทำให้ในตัวเมืองกาญจนบุรี มีโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อะโลนถึง 4 โรง

โรงภาพยนตร์โรงแรกที่จะกล่าวถึง ก็คือ ห้าสิงห์รามาซึ่งก็คือที่ตั้งเดียวกันกับโรงภาพยนตร์ “ศรีกาญจนา” ดังที่กล่าวไปในตอนต้น หลังจากที่ย้ายออกไปราวๆ ปี พ.ศ. 2507 มีคนชื่อ นายเสถียรหรือ โก๊เถน” ชาว ต. ท่าเรือ อ. ท่ามะกา ได้มาเช่าต่อ และสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่ที่ทันสมัย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น ห้าสิงห์รามา สันนิษฐานว่าเป็นเครือเดียวกับที่อยู่ในอำเภอท่าม่วง และอำเภอท่ามะกา ตามรายชื่อที่อยู่ด้านบน

เว็บมาสเตอร์ในวัยเด็ก ตัวโรงกลายเป็นโรงหนังชั้นสาม ฉายสองเรื่องควบ กล่าวคือ ฉายหนังรอบท้ายๆ ก่อนที่จะออกจากโรงในเมืองกาญจน์เพื่อไปสู่หนังเร่ และหนังกลางแปลงต่อไป เคยมีโอกาสเข้าไปชมการแสดงของวงดนตรีซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อการกุศลที่โรงนี้ แต่ไม่ได้อยู่จนจบ แล้วก็ช่วงก่อนที่จะย้ายติดตามครอบครัว ก็มีหนังลามกอนาจารในระดับซอฟต์คอร์เข้ามาฉายบ้างแล้ว ก่อนที่จะฉายหนังแนวนี้อย่างเต็มตัวจนเป็นที่รู้กันในกลุ่มของนักเรียนที่หนีโรงเรียน ก่อนที่จะปิดตัวราวๆ ปลายทศวรรษปี พ.ศ. 2530 และปล่อยทิ้งร้างอยู่พักใหญ่ ต่อมามีผู้มาเช่าต่อโดยรื้อภายในออกทั้งหมดจนโล่ง และกลายเป็นผู้รับจ้างทำป้ายโฆษณาในที่สุด

ภาพบนมาจาก google map ส่วนภาพล่างมาจาก Facebook


+
+


(ID:189522)

โรงภาพยนตร์ที่ก่อสร้าง และเปิดตัวในช่วงปลายยุค 70 ในส่วนของใจกลางเมืองซึ่งมีการสร้างตลาดผาสุก และศูนย์การค้าในตัวเมืองกาญจนบุรี รวมทั้งสถานีขนส่งผู้โดยสาร มีถึง 3 โรง หนึ่งในนั้นคือ “กาญจนบุรีรามา” ซึ่งเป็นโรงที่อยู่ห่างจากศูนย์การค้าในตัวเมืองไม่มาก ตั้งอยู่บริเวณสามแยกชุกโดน (อ่านว่า “ชุก-กะ-โดน”) ทว่า (มีข้อมูลว่า) มีปัญหากับหุ้นส่วนหรือมีความขัดแย้งอะไรสักอย่างนี่แหละ ทำให้โรงนี้ซึ่งทำท่าว่าจะเปิดตัวเป็นแห่งแรกๆ ต้องกลับกลายเป็นการปิดตัวไปอย่างถาวร โดยไม่มีการฉายภาพยนตร์เลยแม้แต่เรื่องเดียวนับตั้งแต่ก่อสร้างเสร็จ

เว็บมาสเตอร์ในวัยเด็ก เคยนั่งรถผ่านเป็นประจำ ก็สงสัยว่าเอ๊ะ ทำไมโรงนี้กลายเป็นที่รกร้าง มาทราบข้อมูลจากคนใกล้ชิดเมื่อไม่นานนี้เอง ต่อมาก็ถูกรื้อทิ้ง เพื่อสร้างเป็นโรงพยาบาลธนกาญจน์ ส่วนภาพนี้มาจาก fanpage เจ็ดหมื่นหนึ่งพัน และภาพจาก Google Map ตามลำดับ


+
+


(ID:189524)

ภาพนี้มาจาก Google Map เช่นกัน เมื่อมองจากภายนอกแล้ว คงเป็นร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป ความจริงแล้ว นี่คือที่ตั้งของ โรงภาพยนตร์เมืองทองรามาครับ ซึ่งเจ้าของและผู้ประมูลได้ คือ “สมานมิตรภาพยนตร์” และมีหุ้นส่วนกับเจ้าของโรงภาพยนตร์ “เฉลิมทองคำ” อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ด้วยภาพยนตร์ฝรั่งเรื่อง ออร์ก้า ปลาวาฬเพชฌฆาต

(ใน กทม. เข้าฉายเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2521 เสียงอังกฤษ ซับไทยฉายที่โรงภาพยนตร์สกาลา, ฮอลลีวู้ด, ปารีส ส่วนเสียงพากย์ไทยฉายที่โรงภาพยนตร์พาราเมาท์ ซึ่งหลายปีต่อมามีบริษัทหนังรายหนึ่งได้ออกแบบใบปิดและโชว์การ์ดของหนังเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อภาษาไทยเป็น แหวกนรก ฝ่ามหาสมุทรสุดโหดโดยมีหลักฐานเป็นใบปิดและโชว์การ์ดอยู่ที่เว็บมาสเตอร์)

เว็บมาสเตอร์ในวัยเด็ก เคยมีโอกาสได้ชมที่โรงภาพยนตร์นี้ถึง 2 เรื่อง คือ นวลฉวีและ วัลลีตามลำดับ โดยไปพร้อมกับคุณแม่ นอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าเคยมีวงดนตรีทั้งสตริงและลูกทุ่งมาเปิดทำการแสดงในโรงนี้ด้วย

วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2541 มีโอกาสได้มาที่กาญจนบุรีเพื่อมาชมงานสะพานแม่น้ำแคว ซึ่งในตอนสายของวันนั้นได้แวะผ่านโรงภาพยนตร์เมืองทองด้วย ตอนนั้นเป็นการฉายสองเรื่องควบแล้ว แม้ว่าในตอนนั้นจะมีโรงภาพยนตร์ธนาซีนีเพล็กซ์ในห้างกนกกาญจน์ ซึ่งอยู่ติดกันแล้วก็ตาม สันนิษฐานว่าน่าจะยุติกิจการหลังจากนี้ได้ไม่นาน

(ปีต่อมาโรงภาพยนตร์ธนาซีนีเพล็กซ์ ย้ายไปที่ห้างคาสเซิลมอลล์ แบ่งเป็นมินิเธียเตอร์ 3 โรง ก่อนที่ยุบเหลือ 2 โรง และปิดตัวในที่สุดด้วยโปรแกรมสุดท้ายเรื่อง คุณนายโฮเนื่องจากมีโรงภาพยนตร์เอสเอฟซีนีมา ที่จะเปิดตัวในห้างโรบินสันพอดี)

ปลายปี พ.ศ. 2545 ตัวโรงภาพยนตร์เมืองทองกลายเป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ไปแล้ว ซึ่งตอนนั้นยังใช้พื้นที่ภายในโรง หลังจากรื้อที่นั่งออกไปหมดแล้ว ต่อมาค่อยต่อเติมหลังคาซึ่งแต่เดิมคือ ลานจอดรถโล่งๆ ก่อนที่จะขยับขยายจนเต็มทุกพื้นที่ ตอนนั้นเคยลองเสี่ยงถามเพื่อขออนุญาตขึ้นไปดูที่ห้องฉายภาพยนตร์ แต่ก็ถูกปฏิเสธ ทราบแต่เพียงว่า อุปกรณ์ในห้องฉายยังอยู่ และไม่ได้รื้อออกไป เพราะเจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์นั้นเช่าซื้อจากเจ้าของอาคารอีกที ป่านนี้คงหมดสภาพไปแล้ว


+


(ID:189525)

โรงภาพยนตร์สุดท้ายในตัวเมืองที่จะขอกล่าวถึงคือ โรงภาพยนตร์สยามอยู่ด้านหลังสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ที่ประมูลได้เป็นเจ้าของเดียวกันกับ “ห้าสิงห์รามา” โดยเปิดตัวไล่เลี่ยกัน

เว็บมาสเตอร์ในวัยเด็ก เคยมีโอกาสได้ชมที่โรงภาพยนตร์นี้เป็นครั้งแรกในเรื่อง สุดสาครซึ่งเป็นอะนิเมชั่นที่จัดเป็นกิจกรรมส่งเสริมเนื่องในโอกาสที่ ยูเนสโก ได้ยกย่องให้ สุนทรภู่เป็นกวีของโลกในปี พ.ศ. 2529 โดยจัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ให้นักเรียนในโรงเรียนของตัวเมืองกาญจน์ได้ชมฟรี ก่อนที่จะเว้นไปหลายปีโดยได้กลับมาชมที่โรงภาพยนตร์นี้อีกครั้งขณะที่ยังเป็นครูอัตราจ้างในปลายปี พ.ศ. 2545 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 ในทุกโปรแกรม เริ่มตั้งแต่เรื่อง โดราเอมอน ตำนานสุริยะกษัตริย์จนถึงเรื่อง ขุนศึกซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายก่อนที่จะปิดตัวลงอย่างถาวร โดยช่วงก่อนจะใกล้ปิดตัว และเดินทางกลับนครสวรรค์ ทางโรงได้อนุญาตให้ผมเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้เข้าไปเลือกใบปิดหนัง และฟิล์มภาพยนตร์ตัวอย่างทั้งใหม่ และเก่าเก็บกลับไปด้วย ซึ่งตอนนั้นตนเลือกเฉพาะใบปิดเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ และก็ยังรู้สึกเสียดาย เพราะฟิล์มตัวอย่างที่วางระเกะระกะนั้น ไม่ใช่แค่ในกล่องกระดาษ มันมีที่เป็นฟิล์มรุ่นเก่าที่เริ่มส่งกลิ่นเหมือนน้ำส้มสายชูด้วย

มีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าโรงภาพยนตร์สยามนี้เคยปิดตัวมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยฉายภาพยนตร์เรื่อง กระโปรงบานขาสั้นเป็นเรื่องสุดท้าย แล้วก็กลับมาเปิดตัวอีกครั้งเพื่อฉายภาพยนตร์ในสาย 8 จังหวัด (สายเดียวกับ แจกันหยก”) ซึ่งก็ตรงกับปีที่ตนได้เข้าไปชมในครั้งนั้น สลับกับที่ธนาซีนีเพล็กซ์บ้าง ภายในโรงก็ลดขนาดพื้นที่ลง ต่างจากปี พ.ศ. 2529

หลังจากที่ปิดกิจการไปแล้ว ก็มีผู้เช่าซื้อพื้นที่ด้านหน้าซึ่งเป็นห้องจำหน่ายตั๋ว และในห้องฉายภาพยนตร์เพื่อทำเป็นร้านอาหาร Love Restaurant แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จากการสำรวจโรงภาพยนตร์ครั้งล่าสุด ซึ่งมีผู้นำพาเว็บมาสเตอร์ไป เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าสภาพทรุดโทรมลงไปมาก


+


(ID:189526)
ปิดท้ายกระทู้นี้ด้วยโรงภาพยนตร์ที่อยู่ในอำเภอท่ามะกา ซึ่งปิดตัวและหมดสภาพไปแล้ว ภาพจากบล็อก The Southeast Asia Movie Theater Project ซึ่งถ่ายโดย "ฟิลลิป เจบลอน" (Philip Jablon)

ภาพบนเป็นโรงภาพยนตร์อาทิตย์รามา ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าไม้ ติดกับชุมชนตลาดหลังสถานีรถไฟลูกแก

ส่วนภาพล่างเป็นโรงภาพยนตร์มงคลรามา ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าเรือ

+
+


(ID:189567)
น่าเสียดายที่บรรยากาศเหล่านัี้หายไปหมดแล้ว...



(ID:195791)

ส่วนคุณ “ศักดิ์ชาย สนั่นเมือง” (หลังจากการปิดตัวของ “สมานมิตรภาพยนตร์”) โดยในปี พ.ศ. 2536 ได้ถูกชักชวนจาก ลุงพรซึ่งเป็นนักอ่านข่าวที่รู้จักกันดีของคนเมืองกาญจน์ทางสถานีวิทยุ FM ตชด.) ได้ให้ไปช่วยจัดรายการในบางช่วง จึงได้มีโอกาสฝึกเป็นนักจัดรายการวิทยุ  โดยจัดรายการเพลงสากลย้อนยุค ก่อนที่จะย้ายมาที่สถานีวิทยุชุมชน ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และยังตั้งสำนักงานเล็กๆ สำหรับผู้ที่ต้องการจ้างภาพยนตร์ย้อนยุคไปฉาย พร้อมโชว์การพากย์สดจนถึงทุกวันนี้

** เว็บมาสเตอร์ได้แก้ไขข้อความและเรียบเรียงใหม่ หลังจากได้ข้อมูลส่วนหนึ่งจากการพูดคุยกับคุณศักดิ์ชาย สนั่นเมือง เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558 ตรงกับข้อมูลที่อยู่ใน facebook fanpage "Feeling Shutter" ร่วมกับการพูดคุยจากญาติๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “สมานมิตรภาพยนตร์” ส่วนหนึ่งซึ่งมีเพียงเล็กน้อย เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ขอขอบคุณ คุณมนูญ สุภาพ (นักพากย์ภูธร) สมาชิกเว็บพีเพิลซีนที่ช่วยประสานงานจนทำให้เนื้อหาของเรื่องเกิดความสมบูรณ์ครับ




(ID:202822)

หลังจากที่ตั้งกระทู้นำเสนอไปแล้ว ล่าสุดก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเป็นโรงภาพยนตร์รุ่นบุกเบิก ก่อนที่จะมี “วิกศรีกาญจนา” จริงๆ แล้วควรจะใช้คำว่า “โรงมหรสพ” ถึงจะถูก เพราะยุคนั้นการแสดงลิเกที่ไม่ใช่ตามงานวัด หรืองานสมโภชศาลหลักเมือง และงานประจำปี รวมถึงภาพยนตร์ก็จะมาฉายในโรงมหรสพที่สร้างเป็นอาคารไม้ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “วิก”  (มาจากคำว่า “วีค” ซึ่งทับศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า week เพราะการแสดงมหรสพตามต่างจังหวัดจะใช้ช่วงปลายสัปดาห์ คืนวันศุกร์, เสาร์ อาทิตย์) กรณีของลิเกจะเป็นลักษณะที่เรียกว่า “ลิเกขอทาน” กล่าวคือ ขณะทำการแสดง ก็จะมีนักแสดงลิเกคนใดคนหนึ่งที่รอเข้าฉาก ก็จะใช้ช่วงนี้ ถือขันเดินไปขอรับเงินจากผู้ชม ส่วนภาพยนตร์ก็จะเก็บค่าชมอยู่แล้ว สำหรับหนังกลางแปลง มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ภาพยนตร์จากสำนักข่าวสารอเมริกัน ที่เรียกว่า “หนังยูซิส” โดยฉายผ่านหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ อีกรูปแบบหนึ่งคือ “หนังขายยา” ทั้งจากบริษัทยา หรือผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นซึ่งมาจากในกรุงเทพฯ

สำหรับโรงภาพยนตร์รุ่นบุกเบิก ประกอบไปด้วย “ศรีวัฒนบรรเทิง” อยู่ใกล้วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) หลายปีต่อมา มีการสร้างถนนเป็นทางแยกและวงเวียน หลายปีต่อมาได้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควใหญ่ติดรั้ววัด พร้อมด้วยถนนเลียบแม่น้ำยาวจนถึงถนนอีกด้านหนึ่งซึ่งในอดีตการเดินทางไปอีกฝั่งหนึ่งต้องขับรถขึ้นแพขนานยนต์ และเรือข้ามฟาก ภายหลังที่มีการสะพานข้ามแม่น้ำ ทำให้แพขนานยนต์และเรือข้ามฟากเลิกกิจการไปโดยปริยาย

ส่วนอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่ตลาดชุกโดน มีชื่อว่า “ศรีอุดมสุข” ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามข้อมูล ก็เลยขอนำเสนอ “ศรีวัฒนบรรเทิง” ก่อน เพราะเพิ่งได้รับข้อมูลมาเมื่อไม่กี่วันนี้เอง

แรกเริ่มของ “ศรีวัฒนบรรเทิง” เป็นโรงสูบฝิ่น สร้างโดยเทศบาลกาญจนบุรี ..!!

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2493 เทศบาลกาญจนบุรี ได้ใช้งบประมาณก่อสร้างโรงสูบฝิ่นขึ้น เพื่อให้ชาวขี้ยาได้นอนสูบฝิ่นกันอย่างสบายอารมณ์ และเมื่อเกิดคดีลักเล็กขโมยน้อย ตำรวจก็จะพุ่งเป้าไปที่โรงยาแห่งนี้ จนสามารถจับกุมได้อยู่หลายครั้ง

กระทั่งปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีนโยบายเลิกสูบฝิ่นในประเทศไทย จนนำไปสู่การเผาทำลายฝิ่นที่ท้องสนามหลวง โรงสูบฝิ่นแห่งนี้จึงถูกดัดแปลงเป็นโรงมหรสพในชื่อ "ศรีวัฒนบรรเทิง" สำหรับการแสดงลิเก ต่อมามีการฉายภาพยนตร์ในนั้นด้วย ต่อมาสภาพตัวอาคารก็เริ่มผุพังไปตามกาลเวลา ทางเทศบาลจึงตัดสินใจรื้อทิ้งในปี พ.ศ. 2511

ข้อมูลและภาพถ่ายจาก Facebook ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองกาญจน์ฯ โพสต์โดย Sakon Ketkaew


+


(ID:202823)
ภาพจาก Google Map แสดงที่ตั้งของ "ศรีวัฒนบรรเทิง" ในปัจจุบัน ที่ตอนนี้กลายเป็นสนามเด็กเล่นไปแล้ว อยู่ทางซ้ายมือที่เห็นโล่งๆ นั่นแหละครับ



(ID:203474)
คิดถึงอดีตจังครับ



เลือกหน้า
[1]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 11

กลับขึ้นข้างบน / กลับหน้าแรก

ค้นกระดานข่าว:


ถูกเปิด: ถูกคลิ๊กแล้ว: 112731443 ตอนนี้มีผู้เข้าชม : 1 ล่าสุด :Juliqpw , GordonFella , Michailrzd , IlyiaMug , Vikimyg , ct832 , ct832 , Vikijmv , Vilianarqt , Lindahoisy ,