เครือข่ายโรงภาพยนตร์ทั่วโลกกำลังจับมือกันบอยคอตการฉายหนังภาคต่อของ Crouching Tiger, Hidden Dragon เพื่อประท้วงแผนการของผู้สร้างที่เตรียมนำหนังมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตในวันเดียวกับวันที่หนังเข้าโรง เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้ผู้ชมไม่หันมาดูหนังในโรงอีก
Crouching Tiger, Hidden Dragon: The Green Legend ภาคต่อของ พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม บนเวทีออสการ์ปี 2001 นอกจากจะเป็นที่กล่าวขวัญเนื่องจากได้ มิเชล โหยว กลับมารับบทนำ และได้ ดอนนี เยน ยอดดาวบู๊แห่งยุคร่วมแสดงแล้ว แผนการออกฉายหนังช่วงปลายเดือนสิงหาคมปีหน้านี้ยังถูกจับตา เมื่อ Weinstein Co. บริษัทผู้สร้างได้ร่วมมือกับบริษัท IMAX และ Netflix ผู้ให้บริการสตรีมมิงสื่อบันเทิงแบบออนไลน์ เตรียมนำผลงานเรื่องนี้ออกฉายพร้อมกันทั้งในโรงไอแม็กซ์ และให้ผู้ใช้บริการ Netflix สามารถชมทางอินเทอร์เน็ตตั้งแต่วันแรกที่หนังเข้าโรง ต่างจากเดิมที่ผู้ชมทางบ้านต้องรอเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน กว่าภาพยนตร์จะออกจากโรง แล้วถูกนำมาเผยแพร่ในรูปแบบโฮมวิดีโอ
แต่แผนดังกล่าวกลับถูกต่อต้านจากผู้ประกอบธุรกิจการฉายภาพยนตร์ในหลายประเทศ เพราะมองว่าการนำหนังมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตแบบชนโรง จะทำให้ผู้คนไม่สนใจมาดูหนังเรื่องนั้นๆในโรงอีก โดยล่าสุด 4 เครือข่ายโรงหนังยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้ง AMC, Regal, Cinemark และ Carmike ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไอแม็กซ์ถึง 257 แห่งจาก 418 แห่งทั่วสหรัฐฯ ประกาศบอยคอตการฉาย Crouching Tiger, Hidden Dragon: The Green Legend ส่วน Cineplex เครือข่ายโรงหนังชั้นนำของแคนาดา และ Cineworld เครือข่ายโรงหนังที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยุโรป ก็ปฎิเสธการฉายหนังเรื่องนี้ โดย Dalian Wanda กลุ่มทุนจากจีนซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายโรงหนัง AMC ประกาศว่าจะไม่ฉายหนังเรื่องนี้ในเมืองจีนด้วยเช่นกัน
การออกมารวมตัวกันของเครือข่ายโรงหนังทั่วโลกเพื่อต่อต้านแผนการเผยแพร่สื่อโฮมวิดีโอแบบชนโรงครั้งนี้ เคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งในปี 2011 เมื่อค่าย Universal ประกาศจะนำหนังเรื่อง Tower Heist มาเผยแพร่แบบวิดีโอออนดีมานด์ในราคาค่าชมที่ 60 ดอลลาร์ หลังหนังเข้าโรงไปแล้ว 3 สัปดาห์ แต่วิธีการดังกล่าวนำไปสู่การประกาศบอยคอตจากโรงหนังนับพันแห่งทั่วสหรัฐฯ จนสุดท้ายทาง Universal ก็ต้องล้มเลิกแผนดังกล่าวไปในที่สุด
กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มชี้ว่า การรักษาระยะห่างของการฉายหนังในโรงและการจัดจำหน่ายในรูปแบบโฮมวิดีโอ หรือที่เรียกว่า window period อาจกำลังเป็นสิ่งล้าสมัย สำหรับแฟนหนังในปัจจุบันที่หันมาชมสื่อบันเทิงผ่านอุปกรณ์สื่อสารยุคใหม่ซึ่งนำเสนอข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว โดยในอดีตการนำหนังที่ทุนสร้างปานกลางที่ 15 ถึง 30 ล้านดอลลาร์ มาเผยแพร่ในรูปแบบวิดีโอออนดีมานด์ ทั้งเรื่อง Margin Call และ Arbitrage แสดงให้เห็นว่าไม่กระทบต่อการทำเงินจากการฉายในโรงแต่อย่างใด โดยเฉพาะกับหนังที่ออกฉายช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รายได้บนบ็อกซ์ออฟฟิศซบเซา การมีทางเลือกให้แฟนหนังได้รับชมภาพยนตร์ผ่านช่องทางที่หลากหลาย อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์ในอนาคตก็เป็นได้
ความเห็น |