ความเห็น |
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มีทีมงานอะนิเมชั่นส่วนหนึ่งต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในสงคราม ขณะเดียวกัน ที่สตูดิโอของ “วอลต์ ดิสนีย์” ก็ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสถานที่ฝึกของบรรดาทหาร ส่วนภาพยนตร์อะนิเมชั่นที่ได้สร้างและเข้าฉายก่อนที่สงครามจะอุบัติขึ้น นั่นคือ Alice in Wonderland ซึ่งทำรายได้น้อย ระหว่างนั้นเองทางรัฐบาลสหรัฐได้เสนอให้ “วอลต์ ดิสนีย์” สร้างภาพยนตร์ขนาดสั้นเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ และภาพยนตร์ให้ความรู้ เนื่องจากทีมงานอะนิเมชั่นมีจำนวนน้อยอยู่แล้ว ในที่สุด “วอลต์ ดิสนีย์” ตัดสินใจตอบตกลงที่จะรับงานนี้ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) ต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) โดยมีผลงานกว่า 40 เรื่อง และหลังจากนั้นจึงมีการสร้างภาพยนตร์ในลักษณะนี้เป็นครั้งคราว
บรรดาภาพยนตร์ขนาดสั้นเหล่านี้ เป็นรูปแบบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร ได้ออกฉายในโรงในลักษณะ “ภาพยนตร์ประกอบ” การฉายภาพยนตร์เรื่องยาว ถ้าจะยกตัวอย่างให้ชัดเจน ก็คือ อะนิเมชั่นที่ปะหัวก่อนที่ชมตัวหนังเรื่อง ซึ่ง “ดิสนีย์” ใช้รูปแบบนี้ในยุคหลังนั่นเอง
นอกจากนี้ยังได้พิมพ์ในรูปแบบฟิล์ม 16 มิลลิเมตร ส่งไปฉายทั่วทุกมุมโลก หนึ่งในนั้นก็มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย
สำหรับในประเทศไทย ขณะนั้นมีสำนักงานตัวแทนของบริษัท วอลต์ ดิสนีย์ ประจำประเทศไทย ในชื่อ Walt Disney Production, Inc. (ทราบเพียงคร่าวๆ ว่า อยู่บริเวณย่านวังบูรพา ก่อนที่จะย้ายไปที่ชั้นสองของโรงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด สี่แยกราชเทวี ในช่วงกลางทศวรรษของปี พ.ศ. 2500) แต่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า เคยมีการฉายอะนิเมชั่นเรื่องนี้ในรูปแบบฟิล์ม 35 มิลลิเมตรมาก่อน เป็นภาพยนตร์ประกอบรายการที่ไม่ได้ลงโฆษณาแต่อย่างใด
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง สำนักข่าวสารอเมริกัน หรือ ยูซิส (U.S.I.S. หรือ United States Information Service) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกาให้กับประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 โดยออกฉายภาพยนตร์ในระบบฟิล์ม 16 มิลลิเมตร ตามชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ของกรุงเทพฯ ต่อมาในต้นปี พ.ศ. 2505 ได้ร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร และนโยบายของรัฐบาลให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารทุกจังหวัด เนื่องจากรัฐบาลเกรงว่าจะมีขบวนการคอมมิวนิสต์เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่กองทัพของสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพเพื่อทำสงครามที่ประเทศเวียดนาม ก่อนที่จะยุติบทบาทราวๆ ปี พ.ศ. 2520
การจัดฉายภาพยนตร์ของสำนักข่าวสารอเมริกัน ถือเป็นต้นแบบของ “ภาพยนตร์กลางแปลง” ในเวลาต่อมา (เริ่มจาก “หนังขายยา” และ “หนังเร่” ตามลำดับ) โดยก่อนฉายภาพยนตร์ข่าว ซึ่งเป็นรายการหลัก จะต้องฉายภาพยนตร์ประกอบ ซึ่งเรียกว่า “หัวม้วน” เป็นการเอาใจเด็กๆ ก่อนเช่น การ์ตูนขนาดสั้นของ วอลต์ ดิสนีย์ หรือเรื่อง “ทอม แอนด์ เจอร์รี่” ของบริษัท MGM บางครั้งก็เป็นภาพยนตร์ตลกขนาดสั้นที่นำแสดงโดย ชาร์ลี แชปปลิน, ลอเรล แอนด์ ฮาร์ดี (อ้วนผอม), สามเกลอหัวแข็ง (The Three Stooges) จากนั้นจึงฉายภาพยนตร์ข่าว หรือสารคดี ยุคแรกจะเป็นเสียงภาษาอังกฤษ จึงต้องมีผู้พากย์ หรือให้เสียงบรรยาย
ช่วงที่สำนักข่าวสารอเมริกัน ได้ร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ หรือให้การสนับสนุนผู้ผลิตภาพยนตร์เพื่อการศึกษารายอื่นๆ ในเวลาต่อมา เช่น เทพนมภาพยนตร์ ฯลฯ จึงมีภาพยนตร์ข่าว หรือสารคดีจากต่างประเทศ ที่บันทึกเสียงภาษาไทยลงฟิล์มออกฉายหลายเรื่อง หนึ่งในผู้ผลิตภาพยนตร์คนสำคัญ นั่นคือ คุณสรรพสิริ วิริยศิริ เจ้าของ “สำนักงานโฆษณาสรรพสิริ” โดยรับผลิตภาพยนตร์โฆษณา และสารคดีอยู่ก่อนแล้ว
จุดนี้เอง ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในรายการที่ถูกค้นพบ เริ่มจากวิดีทัศน์ที่เทเลซีน ในปี พ.ศ. 2552 โดยช่วงต้นเรื่องได้ขาดหายไปราวๆ 2 นาที ต่อมาได้พบกากฟิล์ม 16 มิลลิเมตร ในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งมีความยาวเกือบครบถ้วน ทว่าถูกใช้งานมาอย่างหนัก และใกล้จะเสื่อมสภาพ ต่อมาจึงพบหลักฐานเป็นเอกสารรายการภาพยนตร์ของสำนักข่าวสารอเมริกัน จึงพบว่าตัวฟิล์มภาพยนตร์ได้ถูกพิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2507 ตรงกับรหัสที่ขอบฟิล์ม 16 มิลลิเมตร ที่เคยพบเมื่อปี พ.ศ. 2556 นั่นเอง โดยนำออกฉายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และยังพบบทบรรยาย (คล้ายบทพากย์ภาพยนตร์) ในสภาพกระดาษเหลืองกรอบ อันเกิดจากการทำปฏิกิริยาของสารเคมีในกระดาษและออกซิเจน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของกระดาษในสื่อสิ่งพิมพ์ เลยทำการจัดพิมพ์ขึ้นมาใหม่โดยยังคงสำนวนเดิมไว้ ยกเว้นบางคำที่สะกดให้ถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (สมัยนั้นยังไม่มีการจัดทำ) หลังจากจัดพิมพ์เสร็จจึงดำเนินการทำลายเอกสารเดิม จากการตรวจสอบพบว่าตรงกับเสียงบรรยายที่อยู่ในวิดีทัศน์ทุกอย่าง