ตอบให้แล้วกัน
จุ๊ยเจริญภาพยนตร์นี้ เป็นหน่วยหนังที่อยู่คู่กับนครสวรรค์ และภาคเหนือตอนล่าง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 แล้วครับ (ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนังไทยกลับสร้างในระบบ
สำหรับผมมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์กลางแปลงของบริการนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ตอนที่ผมย้ายไปอยู่ที่ อ. ขาณุวรลักษบุรี จ. กำแพงเพชร เนื่องจากอยู่ใกล้กับวัดทุ่งสนุ่น ประกอบกับครอบครัวได้ออกไปขายของกินประเภทลูกชิ้นทอด, น้ำอัดลม, น้ำปั่น เลยทำให้มีโอกาสได้ดูหนังมาตลอด
ไม่ใช่แค่จุ๊ยเจริญภาพยนตร์แต่เพียงหน่วยเดียว ยังมีหน่วยอื่น ๆ ซึ่งก็อยู่ที่ศูนย์ท่ารถนครสวรรค์นั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็น พรสมัยฟิล์ม, เสริมศิลป์ภาพยนตร์, ปราณีภาพยนตร์, นครสวรรค์ฟิล์ม และยังมีหน่วยอื่นที่อยู่นอกศูนย์ท่ารถ อย่าง สหมิตรฟิล์ม หรือโอบอ้อมภาพยนตร์ ส่วนใหญ่จะเป็นการฉายปิดวิกเก็บเงินทั้งสิ้น นาน ๆ จึงจะมีการฉายให้ชมฟรี นอกจากนี้ก็ยังมีหนังขายยาเข้ามาแทรกบ้าง จากบริษัท บีเอลฮั้ว, เครื่องดื่มกระทิงแดง, เครือซีเมนต์ไทย
ช่วงปี พ.ศ. 2532 บรรดาหน่วยหนังได้ฉายที่บริเวณลานกว้าง ใกล้กับที่ทำการไปรษณีย์ตำบลทุ่งสนุ่น แต่ห่างจากบ้านร่วมกิโล ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ความยากลำบากแต่อย่างใด ขณะเดียวกันครอบครัวก็ไม่ได้จัดเตรียมของไปขายอีก
กระทั่งหน้าฝน ปรากฏว่าระดับน้ำจากคลองทุ่งสนุ่น สูงขึ้นจนท่วมบ้านเรือน รวมทั้งวัดทุ่งสนุ่นด้วย แม้แต่บริเวณลานกว้าง ที่อยู่ใกล้กับที่ทำการไปรษณีย์ตำบลทุ่งสนุ่นก็โดนผลกระทบจากระดับน้ำที่สูงขึ้นเช่นกัน เจ้าของตลาดแสงเจริญ ตรงข้ามกับบ้านผมก็เลยเสนอแนะให้บรรดาหน่วยหนังกลางแปลงตั้งจอฉายที่บริเวณตลาดนั่นซะเลย เพราะมีหลังคาด้านใน ซึ่งจอดรถหน่วยเข้าไปข้างในเพื่อหลบฝนได้ (โดยมากเครื่องฉายจะตั้งอยู่บนรถเหมือนกันทุกหน่วย) ทีนี้ก็เลยกลายเป็นโอกาสของครอบครัวที่สามารถขายของได้อีก กระทั่งหมดหน้าฝน ระดับน้ำลดลงจนกลับสู่ภาวะปกติ บรรดาหน่วยหนังก็ย้อนกลับไปที่บริเวณลานกว้างอีกครั้ง แต่ความสุขกับการดูหนังก็ต้องจบลงในช่วงปลายปี เมื่อครอบครัวต้องย้ายอีกครั้ง โดยมาอยู่ที่ อ. หนองบัว จ. นครสวรรค์ จนถึงปัจจุบันนี้ (เดือนธันวาคมปีนี้ก็จะครบ 20 ปี)
เอกลักษณ์ของจุ๊ยเจริญภาพยนตร์ ในช่วง พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2532 ขอบจอภาพยนตร์จะเป็นสีแดงตามความเชื่อของคนจีน มีการประดับไฟที่ขอบจอ รวมทั้งมีไฟหมุนแบบแถบสีหมุนดูคล้ายรูปครึ่งวงกลมดูสวยดี แต่พอถึงเวลาฉายก็จะดับไฟทั้งขอบจอและไฟหมุน มีอยู่ครั้งหนึ่งดูหนังเรื่อง อยู่กับยาย พอถึงช่วงเพลงก็จะเปิดไฟประดับที่ขอบจอ พอเพลงจบก็ดับไฟ หน่วยนี้มีรถอยู่ 10 หน่วย หน่วยที่มาฉายที่กำแพงเพชร จะเป็นหน่วย 5 ส่วน อ. หนองบัว ช่วงที่ย้ายมาอยู่ใหม่จะเป็นหน่วย 7 ก่อนที่จะเป็นหน่วย 9 ซึ่งเหลือเพียงหน่วยเดียวในตอนนี้ ส่วนวัดทุ่งสนุ่นในตอนนี้กลายเป็น กิ่ง อ. บึงสามัคคีไปแล้ว
ช่วงที่ย้ายมาอยู่ อ. หนองบัว ก็ยังมีหน่วยจากนครสวรรค์แค่ จุ๊ยเจริญ, สหมิตรฟิล์ม, พรสมัย ฯ และเสริมศิลป์ ซึ่งเป็นยุคท้าย ๆ ของการฉายปิดวิก ก่อนที่จะค่อย ๆ หายไปเรื่อย ๆ จนถึงช่วงปี พ.ศ. 2543 ก็มีการฉายหนังปิดวิกเป็นเรื่องสุดท้ายก็คือ นางนาก หลังจากนั้นก็ไม่มีการฉายปิดวิกอีกเลย เนื่องจากสายหนังที่ผูกขาดได้ออกนโยบายห้ามมิให้นำฟิล์มหนังไปฉายเร่ปิดวิกอีก คงเหลือไว้เพียงแค่จ้างนำไปฉายเท่านั้น
ใน อ. หนองบัว จะมีการฉายภาพยนตร์ของจุ๊ยเจริญ ฯ ก็คงเป็นช่วงงานประจำปีวัดหนองบัว (วัดหนองกลับ / วัดหลวงพ่อเดิม) ช่วงระหว่างวันที่ 17 - 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี นอกจากนั้นก็จะเป็นช่วงวันลอยกระทงของทางวัด ซึ่งเอาแน่นอนไม่ได้ บางปีมี บางปีไม่มี และก็ยังมีงานประจำปีเจ้าพ่อ เจ้าแม่ และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ช่วงกลางเดือนมีนาคม เฉพาะงานหลังนี้ไม่มีหนังกลางแปลงมาฉาย 4 ปีติดต่อกันแล้ว (ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2552) ผลก็คือ บรรยากาศในงานกร่อย หงอย เหงา แม้ว่าจะมีคอนเสิร์ตลูกทุ่งมาเป็นแม่เหล็กในงานแล้วก็ตาม ถ้าท่านป๊อบอายจะมาชมหนังกลางแปลงของจุ๊ยเจริญ ฯ แล้วล่ะก็ ขอให้มาช่วงงานวัดหนองบัวนี่แหละ แต่ยังไม่รับปากว่าปี พ.ศ. 2553 จะมีหนังมาฉายหรือไม่ อีกอย่างหนึ่ง 17 - 21 กุมภาพันธ์ ปีหน้า ตรงกับวันอังคารถึงวันเสาร์ ถ้าสนใจจริง ๆ ก็โทร (ยิง) มาถามได้
ส่วนเรื่องที่สมาชิกไปเห็นบรรดาหน่วยหนังในศูนย์ท่ารถ ต่างหันมาทำอาชีพเสริมนั้นก็เพราะว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงก่อนฟองสบู่แตก ปี พ.ศ. 2540 นั้น บรรดาเจ้าของหน่วยเห็นว่า หนังกลางแปลงไม่บูมเหมือนเมื่อก่อน และยังมีตัวแปรที่สำคัญที่สุดก็คือ มูฟวี่ ดิจิตอล ฟอร์แมต ไล่มาตั้งแต่ VCD, DVD ทั้งแผ่นผีหนังซูมชนโรง, แผ่นลิขสิทธิ์แท้, แผ่นผี รวมทั้งบิทเทอเรนต์ที่โหลดมาดูบนคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้นบรรดาหน่วยเลยตัดสินใจหาอาชีพอื่นเป็นรายได้เสริมแทน เช่น จุ๊ยเจริญ ฯ เปิดร้านถ่ายรูป, พรสมัยฟิล์ม ขายอาหารสัตว์และขนมโมจิ, เสริมศิลป์ภาพยนตร์ ขายเครื่องเสียงกลางแจ้งและเป็นตัวแทนจำหน่ายลำโพงโอบอ้อม เป็นต้น