คอลัมน์ ศิลปวัฒนธรรม-บันเทิง นสพ.โคราชคนอีสาน
โดย วิวัย จิตต์แจ้ง
“อารีดัง”
สงครามและความรัก
อารีดัง หนังที่สร้างโดยบริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.๒๔๙๖ เนื้อเรื่องอิงเหตุการณ์ช่วงสงครามเกาหลี สงครามชิงความเป็นเจ้าโลกระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยรัสเซียและจีน กับค่ายพันธมิตรที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ ต่างฝ่ายต่างต้องการแผ่อิทธิพลในคาบสมุทรเกาหลีที่เส้นขนาน ๓๘ องศาเหนือ (Latitude) ดินแดนนี้จึงถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือ เกาหลีเหนือและ
เกาหลีใต้ เหตุการณ์ร้ายเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๓ เกาหลีเหนือหาเรื่องนำกองทัพบุกผ่านเส้นขนาน ๓๘ มาถล่มเกาหลีใต้ สหประชาชาติต้องประชุมด่วนที่นิวยอร์ค มีมติให้ประเทศสมาชิกส่งทหารเข้าไปป้องกันเกาหลีใต้
รัฐบาลไทยซึ่งเป็นสมาชิกได้ส่งหน่วยทหารไทยไปรบ ด้วยความกล้าหาญ ภายหลังจึงได้รับการขนานนามอย่างยกย่องว่า ‘กองพันพยัคฆ์น้อย’ (Little Tiger) จัดไปหลายผลัดสลับกัน ในนามของ กองทัพสหประชาชาติ
นอกจากหนังดังแล้ว เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นตำนานคลาสสิกไพเราะมาก เป็นที่รู้จักในสังคมไทยมานาน คนไทยรู้จักเพลงชุดนี้ดีคุ้นหูจากรุ่นสู่รุ่น เช่น เพลงเสียงครวญจากเกาหลี อารีดัง ขับร้องโดย สมศรี ม่วงศรเขียว และมีเวอร์ชั่นใหม่นำมาร้องอีก ๒ ท่านคือ พรพรรณ วนา และ เหมียว จินตนา เพลงรักแท้จากหนุ่มไทย ขับร้องโดย เบญจมินทร์ และ เพลงรักคุณเข้าแล้ว ถูกบรรจุเข้าไปในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
อารีดัง นิยายรักเค้าโครงเรื่องที่เกิดขึ้นจริง หนุ่มทหารไทยจากบ้านไปรบ พบสาวงามระหว่างสงคราม จึงเกิดความรักความผูกพันอย่างลึกซึ้ง ความรักเป็นสิ่งสวยงาม หนังกำกับโดย แจ็สสยาม อำนวยการสร้างโดย เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร
ดาราดังแสดง จตุพล ภูอภิรมย์ รับบท ร.อ.พงพันธ์ เทวาพิทักษ์ ส่วนนางเอกเกาหลีชื่อว่า มิส ซอง ชุน มี รับบท โอบุบริ ส่วน มันอู รับบท เป็น ชู วาย ฮอ ไกรลาศ เกรียงไกร รับบทเป็น ร.ท.โชติ พลอยแสง และ วาสนา สิทธิเวช รับบท ลีลานุช เธอแสดงได้ดีมากสมเป็นดาราดัง หนังเข้าฉายครั้งแรกเมื่อเดือน มิถุนายน ปี ๒๕๒๓ ประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับอย่างดี ปัจจุบันอารีดังทำเป็นระบบดิจิทัล HD Remaster ใหม่ ภาพสีคมชัดมาก เรื่องราวตำนานความรักที่แสนซึ้ง คนรักที่ต้องจากกัน ไม่มีโอกาสได้ชี้แจงว่า เหตุใดจึงไม่ได้กลับมาพบกันตามสัญญา
เรื่องย่อ ในช่วงสงครามเกาหลี ทหารไทยถูกส่งไปปฎิบัติหน้าที่ เป็นกองร้อยที่แข็งแกร่งสู้รบได้ชัยชนะตลอด โดยการนำของ ร.อ.พงพันธ์ เทวาพิทักษ์ ทำลายล้างข้าศึกแพ้ขาดทุกครั้ง แต่สุดท้ายข้าศึกเอาคืนจนได้ สงครามไม่เคยปราณีใคร คืนหนึ่งขณะที่ทหารไทยเผลอ ถูกข้าศึกซุ่มโจมตีเสียหายหนัก
ตายไปหลายคน ผู้กองพงพันธ์ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ร.ท.โชติ พลอยแสง ประคองผู้กองมาขอความช่วยเหลือที่หมู่บ้านโทมินดอง ห่างจากที่สู้รบไม่มากนัก ที่นี่เป็นตำบลอารีดัง ตำบลนี้ขึ้นชื่อว่า สาวสวย เป็นที่อยู่ของนางเอก เธอมีชื่อว่า “โอบุบริ “ พรหมลิขิตให้มาพบกัน ความรักไม่มีพรมแดนของหนุ่มไทยกับสาวเกาหลี ผู้
กองอาศัยอยู่บ้านเธอนานจากวันเป็นเดือน โอบุบริ พยาบาลดูแล เอาใจใส่ ทำกับข้าวให้ทานทุกวันจนรู้ใจกัน บทจู๋จี๋คู่นี้น่ารักมาก พระเอกสอนภาษาไทยให้นางเอกทุกวันจนเริ่มพูดไทยได้ แม้ไม่ชัดแต่ฟังแล้วต้องขำ เธอพูดไทยสำเนียงเกาหลี สุดท้ายต่างฝ่ายก็ห้ามใจไม่ไหว แต่งงานกันเงียบๆ ทั้งที่ยังมีสงคราม จนวันที่ ๑๗ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๙๖ สงครามสงบลง พระเอกหนุ่มคิดถึงเมืองไทย
จึงขอกลับ ไม่ได้พานางเอกไปด้วย แต่สัญญาว่า “โอบุบริจ๊ะ พี่ขอกลับไปเมืองไทย สักพักแล้วพี่จะกลับมารับเธอทีหลัง” พระเอกคาดการณ์ว่าประมาณ ๓ เดือนจะกลับไป เอาเข้าจริงๆ ทำไม่ได้ ภารกิจสารพัด ผู้กองติดราชการไม่มีจังหวะกลับไปได้เลย
เวลาผ่านเลยไปถึง ๓ ปี ผู้กองพงษ์พันธ์ จึงตัดสินใจลาออกจากราชการ ตั้งใจแนวแน่จะไปรับนางเอก พอไปถึงเจออุปสรรคมากมาย เช่น พาครูลีลานุช ไปร้านอาหารเกาหลี ถูกชูวาย ฮอง แอบถ่ายรูป ส่งไปให้โอบุบริดู จนเธอเข้าใจผิดคิดว่า พระเอกนอกใจไม่สนใจเธอแล้ว ได้แต่เสียใจตรอมใจ
มาถึงเกาหลี เกิดพายุใหญ่ที่หมู่บ้านนางเอกพอดี เธอกำลังเสียใจคิดว่า พระเอกไม่รักเธอแล้ว เธอดูจากรูปถ่ายที่ได้รับจาก ชูวาน ฮอง เธอเสียใจมากจึงหลบไปเก็บตัวที่บ้านเชิงเขาเขตอันตรายที่สุด วันหนึ่งพายุหิมะพร้อมลมพายุพัดมาแรง โอบุบรีถูกพายุถล่มจนเสียชีวิต ไม่มีโอกาสได้พบคนที่ทีเธอรัก ต้องจากกันชั่วนิจนิรันดร หนังจบลงด้วยความเศร้าวังเวงใจ อารีดังจึงเป็นตำนานหนังไทยที่ดีมีคุณภาพที่ควรชมอีกเรื่องหนึ่ง
สำหรับพระเอกผู้อาภัพ จตุพล ภูอภิรมย์ เกิดวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ปี ๒๔๙๔ และเสียชีวิต ๒๐ มีนาคมปี ๒๕๒๔ มีอายุเพียง ๒๙ ปี เข้าวงการจากการเป็นนายแบบโฆษณายาสีฟันใกล้ชิด ปี ๒๕๑๔ เข้ามาสู่วงการหนังได้ ๑๐ ปีและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ มีผลงานการแสดงประมาณ ๒๕ เรื่อง ได้รับตุ๊กตาทอง สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง เงาะป่า ปี ๒๕๒๓ กำกับโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และ เปี๊ยก โปสเตอร์
หนังสือ "ประวัติการรบของทหารไทยในสงครามเกาหลี" ที่จัดพิมพ์โดยกรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ.๒๕๔๑ อธิบายว่า ".... พอร์คช็อปเป็นเนินเขาและชัยภูมิที่หมายปองของทั้งสองฝ่าย ซึ่งต่างต้องการครอบครองพื้นที่บริเวณนี้ เพื่อความได้เปรียบทางยุทธวิธีของตน เพราะเป็นจุดคุมเส้นทางหลักที่จะเจาะเข้าเมืองชอร์วอน เมืองยอนชอนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และพื้นที่สูงข่มบริเวณแม่น้ำอิมจินทางทิศตะวันตกเฉียงใต้" เพราะพอร์คช็อป ฮิลล์ มีความสำคัญมากเช่นนี้ คำสั่งที่ตามมาจึงระบุชัดว่า การรบบนเขาลูกนี้คือ การสู้ตาย ห้ามถูกจับเป็นเชลย และจะถอนตัวได้ก็เมื่อมีคำสั่งจากผู้บังคับกองพันเพียงคนเดียวเท่านั้น
การรบเพื่อแย่งชิงชัยภูมิพ็อคช็อป ฮิลล์ เกิดขึ้นอย่างดุเดือด ตั้งแต่คืนวันที่ ๑ ไปจนถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน กองกำลังทหารจีนและเกาหลีเหนือ ใช้รถถังกรุยทางและยิงนำ ตามด้วยทหารราบ บุกทีเดียวสามทิศทาง เป้าหมายคือ ไปบรรจบกันบนยอดเขา ทหารไทยต่อสู้อย่างทรหด การรบหนักที่สุดในคืนวันที่ ๑๐ ต่อเนื่องถึงรุ่งสางวันที่ ๑๑ ฝ่ายเกาหลีเหนือปูพรมถล่มด้วยกระสุนปืนใหญ่ ๒,๖๙๐ นัด และถึงขั้นตะลุมบอนด้วยดาบปลายปืน ทหารคนหนึ่งเล่าในเวลาต่อมาว่า
"ไม่รู้ใครเป็นใคร สังเกตว่าเป็นฝ่ายเดียวกันหรือข้าศึกก็จากท่าทางถืออาวุธและเครื่องแบบเท่านั้น" ทุกอย่างเกิดขึ้นในท่ามกลางหิมะโปรยปราย หนาวเย็น
เช้าวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พล.ท.พอล ดับเบิลยู เคนดอล แม่ทัพน้อยที่ ๑ ของสหรัฐฯ พร้อมด้วย พล.ต.ฟราย ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๒ เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ถึงยอดพอร์คช็อป ฮิลล์ ผลของการรบปรากฏอยู่ตรงหน้าแทนคำอธิบายใดๆ ตลอดวันนั้น ทหารไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น ๒๕ นาย ทหารจีนและเกาหลีเหนือทิ้งศพไว้บนยอดเขากว่า ๑๖๐ ศพ (มีการประเมินว่าน่าจะเสียชีวิตทั้งสิ้นราว ๒๖๔ นาย) และถูกจับเป็นเชลย ๕ คน
เมื่อได้เห็นสภาพที่มั่นภายหลังการต่อสู้และศพข้าศึกที่กลาดเกลื่อนอยู่แล้วนั้น ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 สหรัฐฯ ได้กล่าวกับผู้บังคับกองพันทหารไทยและนายทหารสหรัฐฯ ที่ติดตามว่า “ข้าพเจ้าไม่มีอะไรสงสัยในจิตใจแห่งการต่อสู้ของทหารไทยอีกแล้ว”
ชื่อเสียงของ “ลิตเติล ไทเกอร์” หรือ “กองพันพยัคฆ์น้อย” จึงเกิดด้วยประการฉะนี้ ผู้ที่ให้สมญาคือ ‘พล.อ.เจมส์ เอ.แวน ฟลีต’ แม่ทัพที่ ๘ ของสหรัฐฯ ผู้บังคับบัญชากองกำลังสหประชาชาติ
“อารีดัง” ชื่อตำบลที่คุกรุ่นไปด้วยควันไฟสงคราม ขณะเดียวกัน “อารีดัง” คือ สถานที่ถักทอสายใยรักระหว่างทหารไทยกับสาวเกาหลี เป็นที่ประจักษ์ว่า “สงคราม” และ “ความรัก” ย่อมเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กัน
![]() | ![]() |
![]() |
ความเห็น |