Mobile Version / สำหรับโทรศัพท์มือถือ ยินดีต้อนรับท่านผู้มาเยือน www.peoplecine.com ท่านยังไม่ได้ log in นะครับ
นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจอันทรงคุณค่าในด้านวงการภาพยนตร์ไทย เมื่อเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival)ประเทศฝรั่งเศส ในปีนี้ คัดเลือกให้ภาพยนตร์ "สันติ-วีณา" เข้าฉายในสาย Cannes Classics ภาพยนตร์เก่าที่ทรงคุณค่าจากทั่วโลก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีภาพยนตร์ไทยฉายในสายนี้ หลังหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ค้นพบต้นฉบับฟิล์มภาพยนตร์เก่าเรื่องนี้ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากสูญหายไปนานกว่า 50 ปี และทำโครงการบูรณะให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง "สันติ-วีณา" เป็นภาพยนตร์ไทย ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2497 ระบบ 35 ม.ม.ไวด์สกรีน อำนวยการสร้างโดย รัตน์ เปสตันยี เรื่องราวของ สันติ ชายหนุ่มตาบอด กับ วีณา หญิงสาวผู้มอบความรับและความเมตตาแก่สันติด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ความรักของทั้งคู่ก็ต้องเจอกับอุปสรรคใหญ่จาก ไกร คู่หมั้นของวีณา น่าเสียดายที่สุดท้ายทั้งสองก็ไม่ได้ครองคู่กันดังหวัง วีณาจบชีวิตลง ส่วนสันติก็หันหน้าเข้าพึ่งพระพุทธศาสนา
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเซียอาคเนย์ที่ประเทศญี่ปุ่นอีกถึง 3 รางวัล ได้แก่ กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม กำกับภาพยอดเยี่ยม และรางวัลพิเศษจากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกาในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ที่แสดงวัฒนธรรมของเอเชียได้เป็นอย่างดี และหลังจากได้รับรางวัลกลับมาแล้ว ก็กลายเป็นภาพยนตร์ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ที่สำคัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรรอบปฐมทัศน์ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2497 ด้วย
[1]
(ID:196941)
สันติ - วีณา ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถ่ายทำในระบบฟิล์ม 35 ม.ม สีในระบบ widescreen ผลงานการสร้างโดย บริษัทหนุมานภาพยนตร์ จากประเทศไทย.ออกฉายในปี พ.ศ. 2497
บทภาพยนตร์ โรเบิร์ต จี นอร์ท
กำกับการแสดง ทวี ณ บางช้าง และ โรเบิร์ต จี นอร์ท
กำกับภาพ รัตน์ เปสตันยี
รายชื่อนักแสดง
สันติ รับบทโดย..พูนพันธ์ รังควร
วีณารับบทโดย... เรวดี ศิริวิไล
หลวงตารับบทโดย.. จหมื่นมานพนริศร์
(ID:196948)
หนังตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องนี้ครับ.
https://www.youtube.com/watch?v=_17LNtbrTs8
(ID:196964)
บทความ แนะนำภาพยนตร์จากประเทศไทย “สันติ-วีณา” โดย จินเค่อมู่.จากหนังสือนิตยสาร.ภาพยนตร์มหาชน เล่ม 16 ปี ค.ศ.1957 ซึ่งเป็นฉบับพิเศษ ฉบับเทศกาลภาพยนตร์เอเชีย ที่ประเทศจีน.....
ผลงานโดย บริษัทหนุมานภาพยนตร์ จากประเทศไทย
บรรยายจีน โดยบริษัทภาพยนตร์จีนและบทบรรยายประกอบเสียง
บทภาพยนตร์ โรเบิร์ต จี นอร์ท
กำกับการแสดง ทวี ณ บางช้าง และ โรเบิร์ต จี นอร์ท
กำกับภาพ รัตน์ เปสตันยี
รายชื่อนักแสดง
สันติ พูนพันธ์ รังควร
วีณา เรวดี ศิริวิไล
หลวงตา จหมื่นมานพนริศร์
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทั่วประเทศมากมีวัดวาอารามและเจดีย์ และเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจีนแผ่นดินใหญ่มาเป็นเวลาช้านาน ...
ใน “เทศกาลภาพยนตร์เอเชีย” ครั้งนี้ มีภาพยนตร์ไทยมาฉายในประเทศจีนเป็นครั้งแรก นั่นคือภาพยนตร์เรื่อง “สันติ-วีณา” ซึ่งแสดงให้เราได้เห็นถึงความทัศนียภาพอันงามตา และชาวไทยที่ขยันขันแข็งและโอบอ้อมอารี
ตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบบริบูรณ์นั้น ภาพยนตร์เรื่อง “สันติ-วีณา” ได้ถ่ายทอดให้ผู้ชมได้สัมผัสกับความงามของทัศนียภาพของประเทศไทย สีสรรพ์ที่สดใสงดงาม อันเป็นตัวแทนของภูมิภาคในเขตร้อน ทำให้ผู้ชมเสมือนอยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพรและสายน้ำ หลังจากชมภาพยนตร์จบลง ก็ยังประหนึ่งถูกตราตรึงไว้ด้วยกลิ่นอายแห่งพระศาสนา และสองหูก็ยังแว่วเสียงแห่งพระธรรมคำสอน
ไม่น่าเชื่อว่าทั้งหมดทั้งปวงที่ดึงดูดผู้ชมเอาไว้อย่างตราตรึงนั้น คือความสงบแห่งหมู่บ้านในชนบท และผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ทว่าในความสงบที่ได้กล่าวถึงนั้น มนุษย์ทุกคนย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงวัฏฏะแห่งทุกข์-สุข-พบ-พราก ความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับบุคคล การเกิดขึ้น เป็นไป และสิ้นสุด จึงไม่แปลกที่เราจะได้พบเห็นวัดวาอาราม โรงมหรสพ อุปมาได้ดั่งแสงจันทร์สุกสว่างที่ทาบทอลงบนผิวนทีที่สงบนิ่ง แต่แล้วจู่ๆ ก็มีไฟลุกขึ้นที่ดอกบัวดอกหนึ่งที่อยู่ในสระ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมองภาพรวมแล้ว ประกายไฟเล็กน้อยนั้น ก็มิอาจทำลายความสงบสุขทั้งปวงไปได้
(มีการเปิดเผยเนื้อหาทั้งหมดของเรื่อง)
เนื้อเรื่องของภาพยนตร์นั้นเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในชนบทของประเทศไทย มีพ่อลูกคู่หนึ่งอาศัยอยู่ด้วยกัน ลูกนั้นเป็นคนพิการตาบอดสนิททั้งสองข้าง ชื่อว่า “สันติ” เขาได้รับความทรมานใจเป็นอย่างยิ่งจากอาการเจ็บป่วยที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ สันติมีเพื่อนสาวคนหนึ่งที่เล่นหัวเติบโตด้วยกันมา ชื่อว่า “วีณา” เธอมักจะเป็นคนพาสันติเดินไปโรงเรียนเสมอ
อยู่มาวันหนึ่ง มีพระรูปหนึ่งเดินทางเข้ามายังหมู่บ้าน ทุกคนต่างเรียกขานกันว่าหลวงตา หลวงตาเดิมทีเป็นเพื่อนสนิทเก่าแก่กับพ่อของสันติ และตั้งใจจะขอสันติไปเป็นบุตรบุญธรรม พ่อของสันติคิดทบทวนอยู่หลายเพลา สุดท้ายก็ตัดสินใจยกสันติให้ไปเป็นบุตรบุญธรรมของหลวงตา แม้สันติจะรักหลวงตาอยู่มาก แต่ก็ไม่ปรารถนาที่จะต้องพรากจากบิดาและวีณา
สันติและหลวงตาอาศัยอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งซึ่งเป็นวัดในท้องที่แห่งนั้น หลวงตานอกจากจะพยายามความรู้ทางศาสนาให้กับสันติแล้ว ก็ยังสอนวิชาหัตถกรรมให้กับเขาเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพด้วย ในเทศกาลสำคัญวันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา มีลูกชายเจ้าที่ดินคนหนึ่งจากบ้านเกิดของสันติมาหาเรื่องกับสันติ คนตาบอดอย่างสันติหมดหนทางจะต่อสู้ได้ แต่ก็ได้วีณามาช่วยเอาไว้
หลายปีต่อมา สันติและวีณาได้เติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ทุกปีในประเทศไทยจะมีเทศกาลลอยกระทง สันติรู้สึกว่าเขาได้หลงรักวีณาเข้าเต็มหัวใจ และวีณาที่มีทีท่าว่าจะมีใจผูกสมัครรักใคร่กับเขา หมายมั่นว่าจะอยู่ครองรักกันฉันท์สามีภรรยา ทว่าลูกชายของเจ้าที่ดินที่ชื่อ “ไกร” ก็สนใจหมายปองในตัววีณา และปรารถนาจะแต่งงานครองคู่กับวีณา โชคไม่ดีที่พ่อของวีณาก็เห็นด้วยกับความคิดนี้
เมื่อสิ่งที่เรียกว่าความขัดแย้งประทุขึ้น ภาพยนตร์ก็ได้เสนอให้เห็นสองทางเลือกในการยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ในทางที่หนึ่ง วีณาแก้ปมความขัดแย้งนี้ได้โดยการทำลายกุญแจที่กักขังของครอบครัว หนีออกจากบ้านไปอยู่บนเขากับสันติ และได้รับความรักเป็นชัยชนะ
ทว่าก็เกิดทางเลือกที่สองในการยุติปมขัดแย้ง
ไกรและพรรคพวกได้บุกไปหาสองคนที่ถ้ำบนเขา วีณาสามารถหลบหนีได้ในครั้งที่หนึ่ง แต่ก็ไม่อาจหลีกหนีได้ในครั้งที่สอง เธอถูกบังคับให้กลับสู่หมู่บ้าน สันติต้องได้รับบาดเจ็บจากความรัก บังเกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งอีกชุดหนึ่ง กล่าวคือ เขาอยู่บนทางเลือกที่จะต้องตัดสินใจ ซึ่งทางสายแรกที่เขาคิดคือ การฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดหน้าผา
แต่พระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาก็ได้เสนอให้เกิดอีกหนึ่งทางเลือก เมื่อหลวงตาได้มาพบและห้ามเขาเอาไว้ ทำให้เขาตาสว่าง แต่แล้วการช่วยชีวิตของผู้อื่นของหลวงตาก็เปรียบเสมือนการสังเวยด้วยชีวิต เมื่อภัยธรรมชาติได้พรากชีวิตหลวงตาไป ก่อนมรณภาพหลวงตาได้ฝากฝังคำสอนสุดท้ายเอาไว้ เห็นปรัชญาอันลึกซึ้งของพระพุทธศาสนา ให้สันติได้ละวางความโกรธแค้นทั้งปวง และมุ่งหาความสงบในรสพระธรรม
เมื่อสันติเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ทุกวันเมื่อแสงเงินแสงทองสว่างเรืองรอง พระสงฆ์ก็ย่อมต้องออกรับบิณฑบาตรพระรูปสุดท้ายที่เดินมาก็คือสันติ เมื่อถึงจังหวะรับบิณฑบาตร วีณาซึ่งเป็นภรรยาของไกรและพระสันติก็ได้สบตากันแต่ไม่มีคำพูดใดๆ ก่อนที่พระสันติในจีวรเหลืองอร่ามจะค่อยๆ เดินจากไปจนลับสายตา
(หมดช่วงการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์)
เรื่องราวจบลง ณ จุดนี้ ภาพยนตร์จบลงด้วยหลักของพระพุทธศาสนา ข้อดีเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ ทำให้ชาวต่างชาติได้มีโอกาสเห็นทัศนียภาพอันร่มรื่นงดงามของประเทศไทย ได้เห็นถึงการใช้ชีวิต และเข้าใจถึงความเชื่อและความศรัทธาของผู้คนในต่างวัฒนธรรม
แนวคิดของพระพุทธศาสนาที่เริ่มต้นจากอินเดียสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียนั้น มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เราจะเห็นภาพว่าพระพุทธศาสนานั้นมีความผู้พันกับประชาชนชาวไทยอย่างแนบแน่น เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต เด็กเล็กถูกส่งเข้าไปเรียนเขียนอ่านกับพระในวัด บนภูเขาก็มีวัดวาอารามให้พระสงฆ์พำนัก อาจจะกล่าวได้ว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เรามักพบได้ในประเทศไทย พม่า ฯลฯ ซึ่งแตกต่างไปจากพระพุทธศาสนาแบบมหายานในประเทศจีน ทว่าพระพุทธศาสนานั้น แม้ว่าจะมีลัทธิปฏิบัติที่แตกต่างกัน แต่รากลึกของปรัชญาคำสอนนั้นก็มีความใกล้เคียงด้วยต้นกำเนิดจากสายธารเดียวกัน
หลังจากชมภาพยนตร์จบแล้ว เราคงไม่สามารถตอบได้ว่าสันติ-วีณาโชคร้ายหรือโชคดี ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราต้องนำไปขบคิดด้วยตนเอง เพราะเราคงไม่อาจประเมินค่าของภาพยนตร์ด้วยความไม่สมหวังของเนื้อเรื่อง หรือที่สุดแล้วก็ไม่สามารถเอาความสูญเสียในท้องเรื่องมาประเมินเป็น “โศกนาฎกรรมทั้งหมด” เพราะทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิตของคนเราทั้งสิ้น
แต่ละคนมีมุมมองต่อโลกและชีวิตที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไป ดังนั้นพลังที่จะทำให้เกิดความรู้สึกอย่างแท้จริงย่อมมิใช่แค่เพียงความสะเทือนใจแต่เพียงเท่านั้น ผู้สร้างภาพนตร์ได้เสนอให้เห็นถึงความจริงของสัจนิยมในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งถ่ายทอดให้เห็นเรื่องราวในสังคมไทยที่แท้จริงได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
ความสามารถอันแพรวพราวของผู้กำกับภาพยนตร์ และศิลปะการแสดงของบรรดานักแสดง ช่างภาพ และทีมงาน ได้ให้แนวทางและแง่คิดในการสร้างภาพยนตร์กับพวกเราชาวจีนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในส่วนของการถ่ายทำทัศนียภาพและการถ่ายทอดของตัวละคร ความลุ่มลึกทางอารมณ์ของตัวละคร โดยเฉพาะการแสดงออกทางอารมณ์โดยไม่ต้องใช้คำพูด (เช่น ฉากที่พ่อปลงผมลูกให้ออกบวช) การสอกแทรกบรรยากาศให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกอันเข้มข้น (เช่น ฉากที่หินถล่ม มีเสียงขลุ่ยครวญมาตามสายลม ฉากโคลสอัพไปที่พระพุทธรูป และเสียงสวดมนตร์ เป็นต้น) กระบวนการทางศิลปะเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราควรสนใจให้การศึกษา รวมไปถึงสุนทรียศาสตร์ของการใช้ดนตรีประกอบ การร่ายรำ การประดิษฐ์กระทง ซึ่งล้วนเป็นลายละเอียดที่ไม่ควรมองข้ามไป
หวังว่าการได้ชมภาพยนตร์จากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มวิสัยทัศน์ให้กับพวกเราชาวจีน และบังเกิดเป็นมิตรภาพที่ถาวรสืบไป..
(ID:197479)
สันติ-วีณา ที่เมืองคานส์ (รายงานโดย กัลปพฤกษ์)
‘สันติ-วีณา’ คืนชีพ
ประกาศศักดาหนังไทยใน Cannes Classics

การจัดฉายได้รับความสนใจจากผู้ชมที่นั่นอย่างอบอุ่น แม้จะมีหนังเรื่องอื่น ๆ ฉายในเวลาเดียวกันให้เลือกชมอีกหลายเรื่อง ซึ่งผู้ชมนานาชาติเหล่านี้ดูจะตอบรับกับหนังได้อย่างดี โดยหนังได้รับเสียงปรบมือชื่นชมจากผู้ชมหลังการฉายเสร็จสิ้นลง...
วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ต้องนับเป็นวันประวัติศาสตร์แห่งวงการภาพยนตร์ไทยกันอีกวัน เมื่อภาพยนตร์ไทยที่เคยสร้างประวัติศาสตร์อย่าง ‘สันติ-วีณา’ ฉบับปี พ.ศ. 2497 ได้ฟื้นคืนชีพกลับมาสู่ภาพยนตรพิภพอีกครั้งจากการค้นพบและบูรณะใหม่ หลังจากที่ฟิล์มต้นฉบับได้หายสาบสูญไปยาวนานกว่า 60 ปี
และที่สำคัญคือผลจากการบูรณะอันน่าดีใจนี้ ได้รับคัดเลือกจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ให้ร่วมฉายในงานประจำปี ค.ศ. 2016 นี้ด้วย นับเป็นหนังไทยเพียงเรื่องเดียวที่ได้ร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 69 นี้ แต่ก็เป็นผลงานที่สำคัญมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทยเลยทีเดียว
ภาพยนตร์เรื่อง ‘สันติ-วีณา’ เป็นผลงานสร้างของบริษัทหนุมานภาพยนตร์ กำกับโดย ครูมารุต หรือ ทวี ณ บางช้าง เจ้าของผลงานดังอย่าง ‘พันท้ายนรสิงห์’ (พ.ศ. 2493) ‘สาวเครือฟ้า’ (พ.ศ. 2496) และ ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ (พ.ศ. 2498) อำนวยการสร้างและควบคุมงานด้านการถ่ายภาพโดยคุณ รัตน์ เปสตันยี ผู้กำกับชั้นครูอีกท่านของวงการหนังไทย นับเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี 35 มม. ตลอดทั้งเรื่อง
ภาพยนตร์เรื่อง ‘สันติ-วีณา’ ฉบับแรกนี้ได้เข้าร่วมประกวดในงานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2497 และสามารถคว้ารางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม และกำกับศิลป์ยอดเยี่ยมมาครองได้ นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลจากการประกวดในระดับนานาชาติ แต่หลังจากทางผู้สร้างได้พยายามนำฟิล์ม negative ต้นฉบับกลับมาประเทศไทย กลับมีประเด็นปัญหาเรื่องศุลกากรและภาษีนำเข้า ทางหนุมานภาพยนตร์จึงตัดสินใจส่งฟิล์มต้นฉบับไปยังประเทศอังกฤษ แต่กลับได้รับข่าวว่าเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางจนต้นฉบับหนังหายสาบสูญไปในที่สุด
อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เคยมีสำเนาและได้เคยออกฉายในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยเสด็จเพื่อทอดพระเนตรที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ ย่านสะพานพุทธ มาแล้ว แต่น่าเสียดายที่ในสมัยนั้นยังไม่มีการเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์กันอย่างจริงจัง ฟิล์มหนังที่เคยออกฉายในประเทศไทยจึงสูญหายไป ทำให้ ‘สันติ-วีณา’ ฉบับแรกกลายเป็นหนังในตำนานที่นักวิชาการ นักวิจารณ์ และคอหนังรุ่นหลัง ๆ เคยได้ยินแต่ชื่อ แต่กลับไม่มีโอกาสได้ดูแบบเดียวกับหนังไทยในประวัติศาสตร์ที่สูญหายเรื่องอื่น ๆ เช่น ‘นางสาวสุวรรณ’ (พ.ศ. 2466) ‘โชคสองชั้น’ (พ.ศ. 2470) หรือ ‘หลงทาง’ (พ.ศ. 2475) เป็นต้น อย่างไรก็ดีหลังจากได้สร้าง ‘สันติ-วีณา’ ฉบับแรกไปแล้ว ครูมารุต ก็ได้ remake สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2519 แต่ก็ดูจะไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับฉบับแรก
กระทั่งเมื่อผู้เขียนเองกำลังศึกษาต่ออยู่ที่ประเทศอังกฤษ และได้ไปใช้บริการหอภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร หรือ British Film Institute ซึ่งเมื่อได้ลองสอบถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทยที่ทาง British Film Institute ได้เก็บรักษาไว้ ก็พบว่ามีรายชื่อของภาพยนตร์เรื่อง Santi-Veena (1954) ซึ่งก็คือ ‘สันติ-วีณา’ ฉบับแรกอยู่ แต่มีเฉพาะฟิล์มเสียง negative ของทั้งเรื่อง กับภาพเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีฟิล์มภาพต้นฉบับอยู่ ผู้เขียนจึงได้ส่งอีเมลแจ้งให้ทางหอภาพยนตร์ไทยทราบ ทางเจ้าหน้าที่ของหอภาพยนตร์ จึงได้ประสานงานต่อกับ British Film Insitute เพื่อขอสำเนาฟิล์มเสียงนั้นไว้
ประกอบกับในเวลาต่อมาไม่นานก็ได้มีการค้นพบฟิล์ม positive ที่ใช้ในการฉายในโรงภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์ Gosfilmofond ที่รัสเซีย และหอภาพยนตร์จีน เนื่องจากมีผู้จัดจำหน่ายจากทั้งสองประเทศเคยซื้อภาพยนตร์เรื่อง ‘สันติ-วีณา’ ไปฉาย โดยฟิล์ม positive จากทั้งสองแหล่งนี้ แม้จะเสื่อมสภาพไปพอสมควร แต่ก็พอจะบูรณะกลับคืนมาได้ ทางหอภาพยนตร์ไทยจึงมีโครงการที่จะบูรณะภาพยนตร์เรื่อง ‘สันติ-วีณา’ ขึ้นใหม่โดยใช้ภาพจากฟิล์ม positive ที่พบที่รัสเซีย และใช้ฟิล์มเสียงต้นฉบับที่เก็บไว้ที่ British Film Institute
แต่เมื่อทางหอภาพยนตร์ติดต่อขอสำเนาฟิล์มเสียงจาก British Film Institute เพื่อการบูรณะ จากรหัสฐานข้อมูลที่ได้พบว่ามีลำดับตัวเลขที่กระโดดหายไป ประกอบกับความสงสัยว่าหากมีฟิล์มเสียงเก็บไว้ ก็น่าจะมีฟิล์มภาพอยู่ จึงได้ขอตรวจสอบรหัสฐานข้อมูลที่ขาดหายไปจึงพบว่าเป็นฟิล์มภาพ negative ต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่อง ‘สันติ-วีณา’ จริง ๆ แต่ในฐานข้อมูลใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Santi-Vina’ ซึ่งไม่ตรงกับฟิล์มเสียงที่บันทึกไว้ว่า ‘Santi-Veena’ ทำให้ระบบการเก็บข้อมูลของฟิล์มเสียงและฟิล์มภาพไม่สอดคล้องกัน โดยทาง BFI ได้รับต้นฉบับเหล่านี้มาจาก Rank Film Laboratories ที่สหราชอาณาจักร ซึ่งแสดงว่า ฟิล์มต้นฉบับที่หนุมานภาพยนตร์ส่งไปสหราชอาณาจักรนั้นส่งไปถึงโดยไม่สูญหาย
การค้นพบฟิล์มต้นฉบับนี้ ทำให้การบูรณะภาพยนตร์เรื่อง ‘สันติ-วีณา’ ฉบับปี พ.ศ. 2497 ทำได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถบูรณะจากฟิล์ม negative ได้โดยตรง โดยทางหอภาพยนตร์ไทยได้ติดต่อให้บริษัท L’Immagine Ritrovata ที่อิตาลี ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการบูรณะฟิล์มสู่ระบบดิจิตอลโดยเฉพาะเป็นผู้ชุบชีวิต ‘สันติ-วีณา’ ให้กลับคืนมามีลมหายใจอีกครั้งด้วยระดับคุณภาพภาพและเสียงที่สมบูรณ์ที่สุด กระทั่งการบูรณะได้ดำเนินโดยเสร็จสมบูรณ์ ทันส่งให้ทางเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์พิจารณา กระทั่งเทศกาลใหญ่ระดับโลกแห่งนี้ก็อ้าแขนต้อนรับภาพยนตร์ไทยในประวัติศาสตร์เรื่องนี้เพื่อร่วมฉายในที่สุด
การจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘สันติ-วีณา’ ฉบับบูรณะใหม่ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในครั้งนี้เกิดขึ้นที่ห้องฉาย Salle Bunuel รอบเวลา 17.00 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 โดยมี ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ไทย ขึ้นกล่าวแนะนำภาพยนตร์ในนามของหอภาพยนตร์แห่งชาติ พร้อมด้วย ออกัส เปสตันยี หลานคุณปู่ รัตน์ เปสตันยี ที่ได้ไปร่วมชมผลงานเรื่องนี้ด้วย
‘สันติ-วีณา’ เล่าเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ตั้งแต่เด็กจนโตของ ‘สันติ’ เด็กชายตาบอดที่มีความสามารถในการเป่าปี่ กับ ‘วีณา’ นักเรียนหญิงที่ให้ความเมตตาคอยช่วยเหลือ ‘สันติ’ อยู่ตลอดเวลา เมื่อทั้งคู่เติบโตขึ้นมา มิตรภาพจึงได้พัฒนาจนกลายเป็นความรัก แต่ด้านบุพการีของ ‘วีณา’ กลับไม่เห็นด้วยที่บุตรสาวจะร่วมหอลงโรงกับชายตาบอดที่แทบจะช่วยตัวเองไม่ได้ และพยายามเกลี้ยกล่อมให้ ‘วีณา’ รับรักกับ ‘ไกร’ หนุ่มบ้านทุ่งจอมกร่างที่เป็นเพื่อนสมัยเรียนของ ‘วีณา’ นั่นเอง แต่ด้วยความที่หัวใจของ ‘วีณา’ เก็บไว้ให้ ‘สันติ’ เท่านั้น สุดท้าย ‘วีณา’ จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพื่อตาม ‘สันติ’ ไป อันนำไปสู่การตามล่าเพื่อนำตัว ‘วีณา’ กลับคืนมาในที่สุด
หากจะมองจากเนื้อหาหลัก ๆ ของหนังแล้ว ก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโครงเรื่องก็ไม่ได้หนีไปจากสูตรการเล่าเรื่องราวความรักที่ต้องเผชิญอุปสรรคของคู่หนุ่มสาวธรรมดา ๆ แต่สิ่งที่ทำให้ ‘สันติ-วีณา’ แตกต่างจากหนังรักรันทดเรื่องอื่น ๆ อย่างน่าสนใจได้ก็คือบริบทของความเป็นไทย โดยเฉพาะการอ้างอิงเรื่องราวเข้ากับพุทธศาสนา ประกอบกับบรรยากาศบ้านทุ่งชนบทอันอุดมไปด้วยศิลปะและวัฒนธรรมในแบบฉบับของตัวเอง สีสันเหล่านี้จะเห็นได้ชัดในช่วงที่ ‘สันติ’ ได้ไปอาศัยอยู่กับ ‘หลวงตา’ ณ วัดที่อยู่ภายในถ้ำ ซึ่งก็ทำให้ผู้ชมได้เห็นถึงวิถีวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม รวมถึงประติมากรรมทางพุทธศาสนา สลับกับการแสดงลีลาเชิงนาฏศิลป์แบบไทย ๆ ผ่านการร่ายรำของ ‘วีณา’ ด้วย
คุณรัตน์ เปสตันยี ผู้ถ่ายภาพก็บรรจงบันทึกความงดงามต่าง ๆ เหล่านี้ออกมาได้อย่างประณีตพิถีพิถัน สมควรกับการได้รับรางวัลด้านการถ่ายภาพจากเวทีนานาชาติ แต่องค์ประกอบเชิงเทคนิคที่ดูจะเป็นปัญหามากที่สุดในหนัง ก็คือเรื่องของเสียง ที่ใช้วิธีการพากย์ซึ่งยังทำได้ไม่ลื่นไหลนัก หลาย ๆ ช่วงจึงยังชวนให้รู้สึกติดขัดว่า เสียงกับภาพดำเนินไม่ตรงจังหวะกัน และผู้พากย์บางท่านก็ให้เสียงที่ไม่ค่อยเหมาะกับตัวละครนัก ด้านขนบการแสดงก็ยังเห็นอาการเก้ ๆ กัง ๆ และแข็งกระด้างในกรณีมือสมัครเล่น และการเล่นใหญ่จนล้นเกินไปในกรณีของมืออาชีพบางราย
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร วิถีแห่งเรื่องราวของ ‘สันติ-วีณา’ ฉบับนี้ก็นำเสนอภาพชีวิตและความคิดความเชื่อของผู้คนในชนบทของประเทศไทยเมื่อสมัยหกสิบกว่าปีที่แล้วได้อย่างแจ่มชัด จนนับเป็นความมหัศจรรย์อันน่ายินดีที่ในที่สุดหนังเรื่องนี้ก็ได้ฟื้นคืนชีพกลับมาให้คอหนังรุ่นหลังได้ดูชมเป็นบุญตา กับผลงานที่ควรค่าแก่การพิทักษ์และอนุรักษ์ไว้ต่อไปหลังจากที่สูญหายมาเป็นเวลานาน
สำหรับการจัดฉายในสาย Cannes Classics ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์นั้น ก็ได้รับความสนใจจากผู้ชมที่นั่นอย่างอบอุ่น แม้จะมีหนังเรื่องอื่น ๆ ฉายในเวลาเดียวกันให้เลือกชมอีกหลายเรื่อง ซึ่งผู้ชมนานาชาติเหล่านี้ก็ดูจะตอบรับกับหนังได้อย่างดี มีการหัวเราะในฉากขบขัน ไปจนถึงส่งเสียงร้องเอาใจช่วยตัวละครในช่วงตอนที่พวกเขาถูกทำร้าย โดยหนังได้รับเสียงปรบมือชื่นชมจากผู้ชมหลังการฉายเสร็จสิ้นลง
หลังจากการจัดฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์แล้ว ทางหอภาพยนตร์แห่งชาติก็มีโครงการจะจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘สันติ-วีณา’ ฉบับบูรณะใหม่นี้ให้ผู้ชมชาวไทยที่สนใจได้ชมกันในงานมหกรรมภาพยนตร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยเสด็จทอดพระเนตรที่โรงภาพยนตร์ภายในปีนี้ โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ต่อไปจากหอภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ของหอภาพยนตร์ทุก ๆ ท่าน โดยเฉพาะผู้ประสานงานหลัก อย่าง คุณสัณห์ชัย โชติรสเศรณี ที่ทำให้ ‘สันติ-วีณา’ สามารถกลับมาได้อย่างสมความภาคภูมิเช่นนี้ และหวังว่าเราจะมีโอกาสได้ดูหนังไทยที่ได้ชื่อว่าหายสาบสูญเรื่องอื่น ๆ กันอีกต่อ ๆ ไป
----------
รายงานโดย ‘กัลปพฤกษ์’ /kalapapruek@hotmail.com.
(ID:197491)
เป็นภาพยนตร์ไทยในอดีตที่ไม่ควรพลาดชมครับ..ทางหอภาพยนตร์แห่งชาติก็มีโครงการจะจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘สันติ-วีณา’ ฉบับบูรณะใหม่นี้ให้ผู้ชมชาวไทยที่สนใจได้ชมกันในงานมหกรรมภาพยนตร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยเสด็จทอดพระเนตรที่โรงภาพยนตร์ภายในปีนี้ โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ต่อไปจากหอภาพยนตร์แห่งชาติ..
(ID:197533)
เนื่องในโอกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี หอภาพยนตร์ฯ เตรียมจัดกิจกรรมพิเศษ "เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์" ด้วยการจัดฉายภาพยนตร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยทอดพระเนตรในโรงภาพยนตร์ชั้น 1 มาจัดฉายอีกครั้ง
ประเดิมด้วยภาพยนตร์เรื่อง สันติ - วีณา ในวันศุกร์ที่ 15 กรกฏาคม พ.ศ.2559 ศกนี้ ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า รอบ 20.00 น. ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเร็วๆนี้ครับ.
(ID:198441)
บทความต่อเนื่องจาก การตามหาฟิล์มภาพยนตร์ สันติ-วีณา....
หลังจากหอภาพยนตร์พบฟิล์มต้นฉบับภาพและเสียงที่สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ หอภาพยนตร์ตัดสินใจจ้างบริษัท L’Immagine Ritrovata ที่อิตาลี ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับทำการบูรณะภาพยนตร์ด้วยระบบดิจิทัลโดยเฉพาะ มีผลงานบูรณะภาพยนตร์เรื่องสำคัญ ๆ ระดับโลก และเป็นที่ยอมรับมากมาย ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ของพี่น้องลูมิแอร์, ภาพยนตร์ผลงานของชาลี แชปลิน, ภาพยนตร์ผลงานของ Jacque Tati, The Apu Trilogy ประเทศอินเดีย, Rome Open City ประเทศอิตาลี รวมไปถึง ภาพยนตร์จากประเทศอาเซียนอย่าง After the Curfew จากประเทศอินโดนีเซีย และ Manila, In the Claws of Light จากประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น...
ในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๘ เป็นวันลงนามในสัญญาการจ้างบูรณะภาพยนตร์สันติ – วีณา ระหว่างหอภาพยนตร์ กับ L’Immagine Ritrovata หอภาพยนตร์เลือกที่จะทำการบูรณะสันติ – วีณา ด้วยระบบดิจิทัลในความละเอียดระดับ 4K ซึ่งเป็นระดับความละเอียดสูงสุดในเทคโนโลยีสำหรับการบูรณะรองรับ โดยระยะสัญญาทั้งสิ้น ๒๗๐ วัน เพื่อให้ได้ผลงานที่ปราณีตมากที่สุด
กระบวนการบูรณะเริ่มต้นจากการขนส่งฟิล์มต้นฉบับ สันติ – วีณา ทั้งหมดจากสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ ไปที่ L’Immagine Ritrovata ที่อิตาลี เนื่องจากฟิล์มต้นฉบับเสียงซึ่งมีฐานฟิล์มเป็นไนเตรทต้องขนส่งแยกต่างหาก และใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันความร้อนเป็นพิเศษ การขนส่งจะต้องทำโดยบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ขนส่งวัตถุอันตรายได้เท่านั้น
โดยระหว่างการบูรณะ มีการติดต่อกันระหว่างหอภาพยนตร์และ L’Immagine Ritrovata เพื่อรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะ ๆ โดยหลัก ๆ ของขั้นตอนการบูรณะ จะประกอบด้วย ๓ ขั้นตอนหลัก
๑. การตรวจสภาพ ซ่อม และทำความสะอาด ฟิล์มต้นฉบับภาพและเสียงอย่างละเอียด
๒. การบูรณะภาพด้วยระบบดิจิทัล จะเริ่มจากการนำฟิล์มต้นฉบับภาพเข้าเครื่องกราดฟิล์ม เพื่อให้ได้ไฟล์ภาพ และใช้โปรแกรมในการแก้ไข ลบรอย และแก้ไขสี
๓. การบูรณะเสียงด้วยระบบดิจิทัล จะเหมือนกับการบูรณะภาพ แต่จะได้ไฟล์เสียง ซึ่งเนื่องจากฟิล์มต้นฉบับเสียงอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ จึงไม่ต้องแก้ไขอะไร ..
ปัญหาของการบูรณะ
ในนวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ Davide Pozzi ผู้จัดการ L’Immagine Ritrovata ได้นำภาพยนตร์สันติ – วีณา ร่างแรก มาฉายที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ ซึ่งบุคลากรของหอภาพยนตร์เข้าร่วมชมจำนวนหนึ่ง จากการชมร่างแรก ทางหอภาพยนตร์ได้รวบรวมข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไขในการบูรณะสันติ – วีณา ให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
ปัญหาที่พบชัดเจนที่สุดในร่างแรก คือ ในภาพยนตร์เรื่องสันติ – วีณา มีฉากตอนกลางคืนหลายฉาก ซึ่งทางหอภาพยนตร์เข้าใจว่าในยุคสมัยนั้น การถ่ายทำตอนกลางคืน จะนิยมใช้วิธีการถ่ายทำที่เรียกว่า “Day for Night” หรือ ถ่ายฉากกลางคืนตอนกลางวัน ซึ่งจะทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ จะถ่ายฉากดังกล่าวโดยใช้รูรับแสงที่เล็กกว่าปกติ ทำให้ภาพที่ได้จะดูมืดลง ซึ่งทาง L’Immagine Ritrovata ไม่ได้คำนึงถึงการถ่ายวิธีแบบนี้ จึงแก้สีและแสงให้สว่างขึ้น ทำให้ภาพช่วงกลางคืนในภาพยนตร์สว่างกว่าที่ควรจะเป็น...
สิ่งที่จะยืนยันข้อสันนิษฐานเรื่องวิธีการถ่ายทำแบบนี้ได้ดีที่สุด คือ การกลับไปติดต่อขอดีวีดีฟิล์มสำเนาที่เก็บที่หอภาพยนตร์จีน เพื่อนำมาใช้เป็นตัวอ้างอิงความสว่างในการบูรณะ ซึ่งทางหอภาพยนตร์จีนก็ได้ส่งดีวีดีมาที่หอภาพยนตร์ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ก็เป็นอย่างที่หอภาพยนตร์สันนิษฐานไว้เรื่องแสงสว่างในฉากกลางคืน ทางหอภาพยนตร์จึงส่งภาพยนตร์สันติ – วีณา จากหอภาพยนตร์จีน ให้แก่ทาง L’Immagine Ritrovata ต่อไป
ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ ทาง L’Immagine Ritrovata ได้ส่งร่างแก้ไขของสันติ – วีณา มาให้หอภาพยนตร์อีก ซึ่งก็ยังคงมีปัญหาเรื่องความสว่างในฉากที่ใช้วิธีถ่ายทำ Day for Night เพราะทาง L’Immagine Ritrovata ปรับความสว่างให้มืดเกินไป หอภาพยนตร์จึงขอให้ทาง L’Immagine Ritrovata ยึดความสว่างของท้องฟ้าในระดับเดียวกับสันติ – วีณา ฉบับจากหอภาพยนตร์จีน ..
อีกปัญหาหนึ่งทางหอภาพยนตร์ได้แจ้งทาง L’Immagine Ritrovata ทราบ แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ คือ สีของภาพในช่วงแรก ๆ ของหนัง สีน้ำเงินจะเป็นสีเขียว ซึ่งทาง L’Immagine Ritrovata แจ้งว่า หากแก้ไขสีจุดใดจุดหนึ่งก็จะกระทบกับสีของภาพทั้งเฟรม ซึ่งหลักในการแก้ไขสี จะยึดที่สีผิวตัวละครเป็นหลัก หอภาพยนตร์สันนิษฐานว่าปัญหาน่าจะเกิดจากฟิล์มต้นฉบับ เพราะในภาพยนตร์สันติ – วีณา ที่ได้จากหอภาพยนตร์จีนก็มีปัญหาเรื่องสีในลักษณะคล้ายคลึงกัน..
บางฉากที่หายไป
การได้ภาพยนตร์สันติ – วีณา จากหอภาพยนตร์จีน ทำให้เห็นว่ามี ๒ ฉากที่หายไปจากฟิล์มต้นฉบับภาพและเสียง แต่ปรากฏอยู่ที่ฟิล์มสำเนาของจากหอภาพยนตร์จีน และจากการตรวจสอบรายงานการตรวจฟิล์มที่สถาบันอังกฤษ จึงพบว่า ในฟิล์มภาพรายการเลขที่ C-148735 มีภาพที่น่าจะเป็นภาพที่หายไปจากฟิล์มต้นฉบับ ทางหอภาพยนตร์จึงแจ้งให้ทาง L’Immagine Ritrovata ทราบ..
ทาง L’Immagine Ritrovata จึงได้ส่งไฟล์ภาพที่ได้จากฟิล์มภาพเลขที่ C-148735 ซึ่งปรากฏว่า นอกจากฉากที่หายไปดังกล่าวแล้ว ยังมีฉากที่ไม่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ฉบับที่อยู่หอภาพยนตร์จีน แต่ปรากฏอยู่ในบทภาพยนตร์ฉบับที่ใช้ในการถ่ายทำ ที่หอภาพยนตร์ได้อนุรักษ์ไว้จากการได้รับบริจาคจากครอบครัวคุณรัตน์ เปสตันยี และยังมีไตเติ้ลภาพยนตร์สันติ – วีณา ภาษาไทย และประกาศเกียรติคุณภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมไปถึงรูปโล่รางวัลที่ภาพยนตร์สันติ – วีณา ได้รับจากงานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ อีกด้วย
โดยปกติแล้ว การบูรณะภาพยนตร์ มักจะยึดจากฟิล์มต้นฉบับเป็นหลักในการบูรณะ เพราะถือว่าน่าจะเป็นฉบับที่ออกฉาย แต่กระนั้น เนื่องจากภาพยนตร์ฉบับที่อยู่หอภาพยนตร์จีนแตกต่างจากต้นฉบับ รวมทั้งหอภาพยนตร์ยังไม่สามารถหาฟิล์มสำเนาฉบับที่ตรงกับฟิล์มต้นฉบับได้ หอภาพยนตร์จึงติดต่อที่ Gosfilmofond เพื่อขอสำเนาดีวีดีของภาพยนตร์สันติ – วีณา ที่เก็บที่นั่น เพื่อนำมาเปรียบเทียบอีกฉบับหนึ่ง จากการตรวจสอบภาพยนตร์สันติ – วีณา ของ Gosfilmofond ก็ปรากฏว่ามีความเหมือนกับฉบับที่อยู่ที่หอภาพยนตร์จีนทุกประการ หอภาพยนตร์จึงเห็นสมควรจะที่จะใส่ฉากดังกล่าวเข้าไปในภาพยนตร์สันติ – วีณา ฉบับบูรณะด้วย .
และเนื่องจากการบูรณะครั้งนี้ หอภาพยนตร์พยายามอ้างอิงฟิล์มสำเนาที่หอภาพยนตร์หาได้ และเนื่องจากภาพยนตร์สันติ – วีณา ที่หอภาพยนตร์พบล้วนแล้วแต่มีไตเติ้ลภาษาอังกฤษทั้งหมด ในฉบับบูรณะ หอภาพยนตร์จึงไม่ได้ใส่ไตเติ้ลภาษาไทย และคำประกาศเกียรติคุณต่างๆ เข้าไปแทนไตเติ้ลภาษาอังกฤษ เพราะยังไม่สามารถหาหลักฐานมาอ้างอิงได้ว่า ควรจะใส่อย่างไร และใช้ดนตรีประกอบหรือไม่อย่างไร แต่กระนั้นไฟล์ภาพเหล่านี้ ก็จะถูกจัดเก็บอนุรักษ์ไว้ รอคอยวันที่หอภาพยนตร์จะพบเจอสำเนาภาพยนตร์สันติ – วีณา ที่ใช้ไตเติ้ลภาษาไทย เพื่อสามารถนำกลับมาใส่ในภาพยนตร์อีกครั้งด้วยความมั่นใจ..
๖๒ ปี ที่หายไป กำลังจะกลับมา
ความสำเร็จในการค้นหาและการบูรณะภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ สันติ – วีณา เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหน้าที่การอนุรักษ์สื่อภาพยนตร์มีความสำคัญอย่างไร และการอนุรักษ์ไม่ได้มีความหมายแต่เพียงการเก็บรักษาภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ การจัดทำฐานข้อมูลภาพยนตร์ และ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบูรณะภาพยนตร์ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง การติดต่อเชื่อมสัมพันธ์กับหน่วยงานที่ทำการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์อื่น ๆ ทั่วโลกอีกด้วย
กว่า ๕ ปี ตั้งแต่ได้เบาะแสแรก และ กว่า ๑,๗๐๐ ชั่วโมง ที่ใช้เพื่อการบูรณะภาพยนตร์เรื่องสำคัญ ภาพยนตร์สันติ-วีณา กำลังจะกลับมาฉายในโรงภาพยนตร์ให้ผู้ชมชาวไทยได้รับชมกันอีกครั้ง..
เลือกหน้า [1]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 7
ถูกเปิด: ถูกคลิ๊กแล้ว: 116949141
ตอนนี้มีผู้เข้าชม : 1 ล่าสุด :Stanley , RobertMIGH , ProlBlask , Robbsf , Jamesfap , LavillKer , Maciedetpailt , BobbyHOm , Sallycgriet , CarolyncJuh ,