กระบี่เย้ยยุทธจักร (จีน: 笑傲江湖; พินอิน: xiào ào jiāng hú) เฉี่ยเหงากังโอ๊ว หรือ เซี่ยวเอ้าเจียงหู ผลงานของกิมย้ง (金庸) เรื่องนี้ น.นพรัตน์ แปลครั้งแรกชื่อเรื่อง ผู้กล้าหาญคะนอง ในปี ค.ศ. 1960 แต่พอต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น เดชคัมภีร์เทวดา ต่อมาจึงเปลี่ยนตามภาพยนตร์โทรทัศน์ว่า 'กระบี่เย้ยยุทธจักร' (เนื้อหาถูกตัดลดลงเหลือเพียง 4 เล่ม)
เฉี่ย แปลว่า ยิ้ม หัวเราะ, เหงา แปลว่า ผยอง หยิ่ง, กังโอ๊ว แปลว่า ยุทธจักร รวมแล้วพอจะแปลเอาความได้ว่า 'ยิ้มผยอง (ใน) ยุทธจักร' หรือ 'ยิ้มผยอง หยันยุทธจักร' ในความหมายของไทย "กระบี่เย้ยยุทธจักร" หมายความว่า "มือกระบี่มือหนึ่งแห่งแผ่นดินเยาะเย้ยความเป็นไปของยุทธจักร และ กฎเกณฑ์อันหลอกลวงของยุทธจักร" อันเป็นผลงานชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งของกิมย้ง และ เรื่องนี้ "กิมย้ง" ยังไม่คล้ายคลึงประวัติศาสตร์ของจีนอย่างตายตัว นิยายเรื่องนี้กิมย้งได้เขียนในเชิงเสียดสีกับการเมืองในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (Cultural Revolution, ปี ค.ศ. 1966-1976) ของจีน ซึ่งเป็นการต่อสู้ภายในเพื่อแย่งชิงอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากโครงเรื่องของ The Count of Monte Cristo ของ Alexandre Dumas เช่นเดียวกับกระบี่ใจพิสุทธิ์ ซึ่งเขียนก่อนหน้านี้ (แต่ไม่ได้เสียดสีการเมือง)
ความเห็น |