Mobile Version / สำหรับโทรศัพท์มือถือ ยินดีต้อนรับท่านผู้มาเยือน www.peoplecine.com ท่านยังไม่ได้ log in นะครับ เข้าใช้งานระบบ / สมัครสมาชิก/ ลืมรหัสผ่าน

ประธานกรรมการ :ปวีณ เขื่อนแก้ว
เวบมาสเตอร์:อนุกูล วิมูลศักดิ์ 084-819-7374,095-308-6840


= ภายใน24ชั่วโมง , = ภายใน 3 วัน = ทั่วไป , = คลาส2 , = คลาส3 ,
รูป
ตำนานนักพากย์ผู้ยิ่งใหญ่เจ้าของ อ่าน ตอบ ผู้ตอบหลังสุด
-บุกสตูดิโอพากย์พนังของพี่ม็อค..57500ยังไม่มีคนตอบ
-เสียงพากย์ของเจ้าแก่น พีเพิลซีน62751.. 18/2/2555 1:34
-เสียงพากย์พี่ม็อค60441.. 18/2/2555 1:28
-เสียงพากย์ของคุณกรรณิการ์73380ยังไม่มีคนตอบ
-เสียงพากย์ของนักแสดงหญิง55600ยังไม่มีคนตอบ
-บุกห้องนักพากย์หน้าหวาน59090ยังไม่มีคนตอบ
-ใครพอรู้จักหรือทราบประวัติ อาดอกรัก บ้างครับ 53413.. 16/2/2555 18:58
- ...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์ 1674474.. 10/2/2555 20:27
-นักพากย์ ชื่อ ศักดิ์อรุณ63767.. 10/2/2555 19:31
-อยากเห็นหน้าคนที่พากย์เสียงนางเอกทีมอินทรีย์717311.. 10/2/2555 18:51
-ศุภลักษณ์ (นิภา) นักพากย์อาวุโส เสียชีวิตแล้ว53353.. 29/1/2555 14:02
-ตัวอย่างเสียงทีมพากย์ เพื่อนไทยซีน529610.. 19/1/2555 15:16
-บทพากย์หน้าสุดท้าย ของนักพากย์นาม พงศ์พิทักษ์655918.. 2/1/2555 18:47
-เพื่อนไทยซีน พากย์อีึสาน881914.. 2/1/2555 18:34
-โน๊ตอุดมพากย์หนัง63084.. 18/12/2554 20:19
-กลุ่มนักพากย์เพื่อนพีเพิลซีนมาอุดร848019.. 28/10/2554 23:00
เลือกหน้า
[<<] [13] [14] [15] [16] [17]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 265

(ID:7240) ...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์


 ผมได้ขออนุญาติคุณลุงชัยเจริญเพื่อนำบทความในพ๊อกเก็ตบุ๊ค เรื่องคุยเฟื่องเรื่องนักพากย์ มาเผยแพร่โดยจะนำมาลงในเว็บตั้งนานแล้วแต่ไม่มีเวลา พอดีมีนักศึกษาฝึกงานมาฝึกงานพอดีชื่อน้องก้อยก็เลยถือโอกาสให้น้องได้ถอดบทความในพ๊อกเก็ตบุ๊คมาลงในเว็บ

           นักพากย์...ผู้ทำให้หนัง Hollywood ประทับใจคนไทยมานานหลายทศวรรษ

   ...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์  

            นักพากย์ไดโนเสาร์ 

             คุยเรื่อง...นักพากย์ ตอนที่ ๑ 

การพากย์หนัง มีหลายระบบ..พากย์  ตามบทพากย์ พากย์แบบดำน้ำ พากย์แบบเอาฮาเข้าว่า พากย์แบบ "ให้เสียง"

    สงครามโลกครั้งที่สอง..

         พ.ศ.๒๔๘0

                   0ปีก่อน

  เมื่อมีสงคราม...อะไรๆ ก็ขาดแคลนไปหมดเสื้อผ้า-ยารักษาโรค รวมไปถึงภาพยนตร์ด้วย ไม่ว่าภาพยนตร์ที่ฉายในกรุงเทพ ฯหรือตามต่างจังหวัดต่างๆ

             ภาพยนตร์...นับเป็นสิ่งบันเทิงราคาย่อมเยาที่สุดในกระบวนความบันเทิงทั้งหลาย เพราะได้รับความสนุกสนานติดต่อกัน ๒ ชั่วโมงเต็ม หรือบางที-บางเรื่อง-ยาวนานถึงสามชั่วโมงก็ยังมีดูกันด้วยสนนราคาที่ต่ำที่สุด เพียงยี่สิบ-สามสิบสตางค์ ในสมัยโน้นแล้วจากราคาไม่ถึงหนึ่งบาทขยับขึ้นมาเป็นยี่สิบ-สามสิบบาทในสมัยต่อมาและร้อยกกว่าบาทในปัจจุบัน

            ในระหว่างสงคราม...โรงภาพยนตร์ยังคงมีอยู่แต่ภาพยนตร์ที่จะนำมาฉายกลับไม่มี ภาพยนตร์ฝรั่งใหม่ๆ-เลิกพูดถึงกันเลย จะมีก็แต่ภาพยนตร์ในเอเชีย  เช่น...ญี่ปุ่นและจีน ซึ่งไม่ค่อยนิยมดูกันนัก เมื่อไม่มีของใหม่ ก็จำเป็นอยู่เอง-ที่จะต้องไปขุดเอาของเก่าๆออกมาปัดฝุ่นนำมาฉายใหม่ ก็เลือกเอาที่ยังพอฉายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีสภาพที่พออาศัย ส่วนจำพวกที่ฟิล์มชำรุด-รูหนามเตยบกพร่องคนไทยเราก็เก่งทายาท ไปตัดเอารูหนามเตยจากฟิล์มที่ทิ้งแล้ว เอามาปะติดกับฟิล์มดีๆ ที่หนามเตยชำรุจ นำมาซ่อมกันจนพอประคับประคองให้หนังดีๆเรื่องนั้นๆ ฉายต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง

             นักดูหนังสมัยสงครามยังนับว่าโชคดี ที่บริษัทสหซินิมา ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายภาพยนตร์ฝรั่งเกือบทุกบริษัท ยังมีสต๊อคภาพยนตร์ที่ฉายแล้วอยู่มากมาย แม้จะไม่มีภาพยนตร์ใหม่เข้ามาเลย แต่ภาพยนตร์กลางเก่ากลางใหม่ยังมีอยู่นับร้อยเรื่อง ภาพยนตร์เหล่านี้ย่อมเป็นที่ปรารถนาของโรงฉาย และตัวแทนจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร

             นอกจากบริษัทสหซินิมาแล้วยังมีตัวแทนจำหน่ายภาพยนตร์เก่าๆ เป็นหนังจีน-หนังอินเดีย-หนังฝรั่งของบริษัทย่อยซึ่งมีทั้งหนังพูดในฟิล์ม-หนังเงียบที่มีคำบรรยาย...มีอยู่ด้วยกันหลายบริษัทแต่ที่ขึ้นชื่อที่สุดก็เห็นจะเป็น บริษัทเอเชียฟิล์มของ               คุณหิรัญ เงยไพบูลย์หรือที่ชาวหนังเรียกกันว่า "คุณเฮี้ยง" หนังกระป๋องแดง ที่เรียกกันว่า "หนังกระป๋องแดง"ก็เพราะว่า กระดาษที่ปิดฝากระป๋องหนังทุกม้วน จะมีชื่อภาพยนตร์มีลำดับม้วนที่เท่าใด และมีจำนวนกี่ม้วน...เป็นกระดาษที่พิมพ์ด้วยสีแดง ส่วนบริษัทอื่น ล้วนแต่พิมพ์ด้วยสีน้ำเงินหรือสีดำ

              ช่วงเวลานั้น...การพากย์ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจเป็นเพราะคนไทยสมัยนั้นไม่คุ้นกับภาษาต่างประเทศหรือว่า...อาจเป็นเพราะการพากย์ช่วยทำให้ได้รับอรรถรสสนุกสนานเต็มอัตรา หรืออาจเป็นเพราะ..ยังไม่มีการประดิษฐ์คิดค้นการพิมพ์คำบรรยายลงบนฟิล์ม หรืออาจเป็นเพราะ..คนไทยรักภาษาพ่อภาษาแม่ของตนเอง มากกว่าภาษาต่างชาติ...ก็ไม่อาจทราบได้ ยิ่งในต่างจังหวัดด้วยแล้ว การดูหนังพากย์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประเภทหนึ่งเพราะการพากย์ในสมัยนั้นสนุกจริงๆ เรียกได้ว่า     "มันส์" ในอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่า...ไม่ใช่เพียงแต่พากย์ไปตามคำแปลจากภาษาดั้งเดิมในฟิล์มเท่านั้น แต่นักพากย์จะใช้สำนวนโวหารที่ได้ร้อยกรองขึ้นมาเองตามอัธยาศัยใส่เข้าไปแทนที่ ไม่ว่าฝรั่ง-แขกหรือจีน-ญี่ปุ่นในฟิล์มเขาจะพูดว่าอย่างไรก็ช่างเขา แต่นักพากย์ไทยจะพูดตามใจตามปากของตัวเองให้คนดูคนไทยฟัง ยิ่งไปกว่านั้น...นักพากย์บางคน พากย์เอาสนุกเข้าว่า-เอาฮาเข้าไว้ โดยไม่อาศัยเนื้อหาของเรื่องเลย แต่จะประดิดประดอยถ้อยคำของตนเอง-เอาเรื่องสนุกใส่เข้าแทน เพื่อจะปรนเปรอผู้ชมที่เสียเงินเข้าไปดุ ให้สนุกครึกครื้นตามทำนองไทยๆ

             แต่..การพากย์ที่เอาเนื้อหาครบถ้วนกระบวนความ  ซึ่งพากย์ไปตามบทพากย์ที่เรียบเรียงขึ้นมา โดยแปลจาก "ไดอะล็อค" บทภาพยนตร์ หรือเรียบเรียงขึ้นด้วยการเขียนบทจากภาพฉาย...ก็มีเหมือนกัน และมีเป็นส่วนใหญ่ของนักพากย์ทั้งหมด จึงสุดแต่เอกลักษณ์ของนักพากย์แต่ละคนจะพึงมี และมีอยู่มากมายหลายประเภทด้วย

              นักพากย์บางคน เกาะเนื้อเรื่องในฟิล์มอย่างเคร่งครัดไม่ออกนอกรู้นอกทาง จะมีการแทรกความสนุกสนานนอกบทเพิ่มเข้าไปบ้าง ก็เพียงเล็กน้อย-พอสมควร ถือเอามาตรฐานของเนื้อเรื่องเป็นสำคัญ ในกลุ่มนี้-มีผู้เขียนร่วมสังกัดอยู่ด้วยคนหนึ่ง

               นักพากย์บางคน-พากย์เอาแต่ฮาลูกเดียว ฝรั่งพูดว่าอย่างไรช่างหัวมัน-ฝรั่งไม่เกี่ยว เพราะเราพากย์ให้คนไทยดูเอาสนุกไม่ได้พากย์ให้ฝรั่งดู (นี่หว่า) คนดูก็หัวเราะกันกลิ้ง-แทบจะตกเก้าอี้ฮากันทั้งเรื่องไม่มีหยุด ถ้าหากว่า...ลองเปิดเสียงในฟิล์มเปรียบเทียบกับการพากย์ของท่านผู้นั้น คงจะตกตะลึงไปตามๆกัน เพราะฝรั่งในหนังไม่ได้พูดอย่างนั้นแม้สักคำเดียว คนพากย์เสกสรรปั้นแต่งเอาเองตามใจชอบ พูดเอามันพากย์เอาฮา...ได้อารมณ์เฮฮาสนุกสนานกันไปทั้งโรง

                จะไปตำหนินักพากย์ก็เห็นจะไม่ได้ เพราะคนดูชอบของเขาอย่างนั้น เขาต้องการเข้าไปหาความสำราญ-เข้าไปนั่งฮาในภาคอีสาน...นักพากย์ชื่อ "โกญจนาท" โด่งดังที่สุดในกระบวนการพากย์ประเภทนี้



ความเห็น

[1] [2] [3] [4]


(ID:69821)

   ...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์

             นักพากย์ไดโนเสาร์

             คุยเรื่อง...นักพากย์ ตอนที่ ๒   

                คุณมนตรี เจนอักษร ได้พรรณนาถึงนักพากย์อีสานไว้อย่างน่าทึ่ง

              นักพากย์ต่างจังหวัดนั้นยิ่งใหญ่จริงๆ

        หนังจะได้ตังค์หรือไม่ได้ตังค์ ขึ้นอยู่กับพวกเขาเหล่านี้ละครับ

        นักพากย์อย่าง โกญจนาท-ดาราพร-เหมราช-พงษ์พิทักษ์ฯลฯ

        ถ้ามีโปรแกรมฉายเมื่อไหร่ รถแทบไม่วิ่ง สามล้อแทบไม่มีให้นั่ง

        เพราะพวกสามล้อจะพร้อมใจกันไปดูหนังหมด

        ชื่อของนักพากย์บนป้ายโฆษณา ใหญ่กว่าชื่อหนังเป็นเท่าตัวเลยครับ

        โกญจนาท เคยพากย์เอาไว้ตอนไตเติ้ลของหนัง

        ที่ผมฟังแล้วประทับใจและฮึกเหิมมาก

        เค้าพากย์ด้วยเสียงทุ้มห้าว

        แต่แฝงไว้ด้วยความยียวนและอหังการว่า

        "วันนี้ โกญจนาท บังคับให้ฝรั่งพูดไทย"

                 มีเรื่องเล่ากันว่า... ที่เชียงใหม่-เทศกาลยี่เป็งทางโรงแย่งกันฉายหนังใหญ่แข่งกัน โรงโน้นจะเอาเรื่องนี้-โรงนั้นจะเอาเรื่องนี้ก็...หนังเรื่องเดียวกันนั้นเองต่างโรงต่างอยากได้ฉายหนังใหญ่เรื่องนี้แต่ทว่า...หนังเรื่องนี้มีฟิล์มอยู่ชุดเดียว...แล้วจะทำอย่างไร ? ก็ต้องฉายสองโรงพร้อมกัน โดยอาศัยการวิ่งรอกกันทีละม้วน ดรงนี้ฉายเสร็จหนึ่งม้วนก็ขี่มอเตอร์ไซด์บึ่งไปอีกโรง พอฉายจบเรื่อง โรงที่มีฟิล์มอยู่ครบทุกม้วนก็ฉายก่อน เป็นอันตกลงกันตามนี้ แต่ว่า...นักพากย์ต้องเป็นคนละคน ต่างโรงต่างหานักพากย์กันเอาเอง เพราะนักพากย์คนเดียวจะแบ่งภาค เหาะมาพากย์สองโรงพร้อมๆกันได้อย่างไร? สมัยนั้น-เทปอัดเสียงก็ยังไม่มี

                 เจ้าของโรงต่างปวดหัวตัวร้อน จำจะต้องเลือกนักพากย์ชั้นเอกมาพากย์โรงของตัวเองจงได้ ไม่เช่นนั้นต้องแพ้เขา-อายเขาด้วยแถมไม่ได้เงินอีกต่างหาก

                 โรงที่หนึ่ง-เงินหนา ได้นักพากย์ฝีปากเอกไปอยู่ ในกำมือเรียบร้อย ต่างพากันดีใจ หัวร่อร่า ตีปีกพั่บๆ โรงที่สอง-หน้าซีดยังหานักพากย์เกรดเอ มาประกบไม่ได้  "เอ...ทำไงดีหว่า โรงเราหาคนพากย์ขนานสูสีไม่ได้เลย ตาย...ตายแน่ๆ เทียวนี้มีหวังแพ้ขาดลอยร้อยเปอร์เซ็นต์"

                  ในที่สุด...เมื่อจวนตัวเข้า เพราะถึงเวลาที่ต้องฉายแล้ว จำเป็นต้องเสี่ยงเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจำเป็นจำใจไปดึงเอานักพากย์ประเภทเฮฮาเข้ามาขัดตาทัพ เพราะจนปัญญา-หานักพากย์ที่ดีกว่าอีกโรงไม่ได้ แต่ที่ไหนได้...กลับตาลปัตรโดยสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่าพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเสียอีก โรงที่นักพากย์เฮฮา ซึ่งพากย์โดยไม่เอาบท-ไม่เอาเนื้อเรื่อง-เอาแต่ฮาลูกเดียว...กลับพลิกล็อค มีคนดูแน่นขนัดยัดทะนานทุกรอบ ที่นั่งเสริมแล้วเสริมอีก ขนเก้าอี้กันไม่ทัน คนดูฮากันโครมๆแทบโรงแตก

                   พอหนังเลิก-กลับถึงบ้านเพื่อนถามว่า "เป็นไง...หนังที่ไปดูมา เรื่องมันเป็นยังไง? เล่าให้ฟังมั่งซิ" คนดูตอบว่า "เล่าไม่ถูกว่ะ เรื่องเป็นยังไง-กูบ่ฮู้...ไม่รู้จริงๆ-ว่าเรื่องไปยังไงมายังไงแต่กูหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง-จนปวดหน้าท้อง เมียกูหนักขึ้นไปอีกกลับถึงบ้าน-ยังหัวเราะไม่เลิก" ผลปรากฏว่า โรงที่นักพากย์-พากย์โดยเอาสนุกเข้าว่า เอาฮาเป็นหลัก เป็นฝ่ายชนะอย่างขาดลอย

                    แบบนี้..จะไปว่านักพากย์-พากย์เหลวไหลก็คงไม่ได้ เพราะคนดูเขาชอบให้พากย์แบบนั้น เขาเสียเงินไปซื้อความบันเทิง เขาต้องการเข้าไปนั่งฮา-ไม่ใช่เข้าไปนั่งหลับ มันก็สิทธิ์อันชอบธรรมของเขาไม่ใช่หรือ ? นี้คือมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของการพากย์หนัง

                 นักพากย์บางคนหนักข้อยิ่งไปกว่านั้น ชอบพากย์แขวะนักการเมืองอย่างเอร็ดอร่อย ยกเอาเรื่องกินดิน-กินหิน-กินทรายมายัดใส่ปากฝรั่งในหนัง-ให้มันพูดภาษาไทย ด่า ส.ส.ผู้แทนราษฎรเรียกเสียงฮาได้สนั่นลั่นโรง เพราะพากย์ไปตรงกับใจคนดู-ที่พร่ำสวดตามร้านกาแฟอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

                  นักพากย์คนหนึ่ง ตระเวนพากย์หนังทั่วเกาะภูเก็ต ตอนนั้น-โรงหนังตาม      ชนบท ยังเป็นหน่วยเร่ หนังที่เอามาฉายเป็นหนังฟิล์มเล็ก ขนาด ๑๖ มิล. หนังทุกโปรแกรมที่นักพากย์ผู้นี้พากย์จะออกนอกเรื่องแขวะนักการเมืองเป็นประจำ ด่าผู้แทน   ราษฎรกินไอ้โน่น-กินไอ้นี่-กินทุกอย่างที่ขวางหน้า ครั้นเมื่อถึงสมัยเลือกตั้งผู้แทนราษฎรภูเก็ต เขาตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย จากการที่เขาอาศัยปากฝรั่งในฟิล์ม ด่า ส.ส.ไทยที่กินโกงคอรัปชั่น คนดูหนังทั่วเกาะภูเก็ตเทคะแนนให้เขาอย่างท่วมท้น เขาจึงได้รับเลือกเป็น ส.ส. ภูเก็ต

                 นักพากย์คนหนึ่งชื่อ "คำนึง" เห็นหรือยัง? นี่แหละอิทธิพลของหนักพากย์หนังละ ไม่ธรรมดาเหมือนกันนะ

                 ยังมีอีกคู่หนึ่ง เขาดังที่สุดทั่วภาคใต้ในแบบฉบับการด่านักการเมืองคอรัปชั่น เขาเคยถูกตำรวจเชิญตัวขึ้นโรงพักนับครั้งไม่ถ้วน มีบางจังหวัด...แฟนคนดูที่ศรัทธาเฮโลกันไปช่วยเขาถึงโรงพักก็มี  นักพากย์คู่นี้ชื่อ "จุทามาศ-นภาพรรณ"

                 นักพากย์บางคน-เจ้าบทเจ้ากลอน พากย์เป็นคำสัมผัสไพเราะเพราะพริ้ง ฟังแล้วระรื่นหู-ชื่นใจ แฟนหนังฟังเขาพากย์แล้วอารมณ์สุนทรีไปอีกแบบหนึ่ง เขาละ... "เทพปฏิพร"

                 นักพากย์บางคน-คนดูชื่นชอบมาก พอได้ยินประกาศทางรถโฆษณาว่า นักพากย์ที่ตัวชอบคนหนึ่ง จะมาพากย์ที่นี่คืนนี้ผู้คนจะรีบกินข้าวกินปลาแต่หัววัน รีบไปจองตั๋วก่อนคนอื่น ไม่ยอมพลาดโอกาส เพราะติดรสชาติสุนทรีทางใจที่จะได้รับจากนักพากย์เจ้าประจำคนนี้

               นี่คือ... อิทธิพลของนักพากย์ที่มีต่อคนดูในสมัยนั้น เพราะคนดูคิดว่า หนังเรื่องอะไรไม่ค่อยสำคัญ จุดสำคัญขึ้นอยู่กับนักพากย์  เพราะนักพากย์ช่วยแบ่งเบาความเครียดประจำวันของเขาลงไปได้ เพราะนักพากย์ที่เขาชื่นชอบ จะประเคนความสุขให้แก่เขาคุ้มค่ากว่าเงินที่เขาจ่ายเป็นค่าดู นักพากย์จึงกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่เขาต้องใช้สอยอยู่เป็นประจำ นอกเหนือไปจากอาหารและเครื่องดื่มอีกทั้ง เขาเชื่อว่า นักพากย์คนโปรดของเขา คงต้องคัดเลือกหนังดีๆมาพากย์เป็นแน่ และมั่นใจว่าคนฟังคนนี้พากย์แล้วเขาจะไม่ผิดหวัง ส่วนหนังจะเป็นเรื่องอะไรนั้น เป็นดันดับรอง อันดับหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับคนพากย์

                 ยี่ห้อนักพากย์ จึงเป็นสิ่งดึงดูดเรียกคนดูดังจะเห็นได้ว่า ชื่อของนักพากย์บางคน-บนป้ายโรงหนัง-และบนป้ายรถโฆษณา ตัวจะโตกว่าชื่อหนัง ทั้งนี้เพราะชื่อนักพากย์ขายได้ และมีราคาดีกว่าชื่อหนังนั่นเอง

                                ก็เป็นธรรมดา โรงหนังอยากได้เงินเป็นกอบเป็นกำ คนดูอยากได้ความบันเทิงที่เขามั่นใจว่าจะคุ้มค่า และนักพากย์ก็อยากได้ค่าคัวสูง ซึ่งในบางขณะ-นักพากย์มีค่าตัวถึงวันละหนึ่งพันบาท-ก็เคยมี




(ID:69822)

...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์

           นักพากย์ไดโนเสาร์

           คุยเรื่อง...นักพากย์ ตอนที่

                 ก่อนโน้น.. สมัยเริ่มแรก นักพากย์จะพากย์เพียงคนเดียว พูดแทนตัวแสดงทุกตัวในจอ นับแต่พระเอก-พระรอง-ตัวโกง-นางเอก-และนางอะไรๆทุกนาง รวมทั้งตัวแม่ด้วย ในเรื่องนั้นๆจะมีตัวแสดงกี่สิบกี่ร้อย ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง นักพากย์ผู้ชายเพียงคนเดียวรับเหมาพากย์ทั้งหมด ไม่น่าเชื่อ..แต่ก็ต้องเชื่อ อย่าง "รุจิรา" ท่านประกาศฉายาว่าท่านเป็นมนุษย์ ๖ เสียง และฉายานี้แหละที่ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยโด่งดังไปทั่วโลก

                                "รุจิรา" ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นอันดับหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา

                                     อันดับหนึ่งใน ๗๐ ประเทศ

ม.ล.รุจิรา

ได้รับเชิญให้ไปประกวดการพากย์ภาพยนตร์

ที่ฮอลลีวู๊ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

การประกวดครั้งนั้นได้มีประเทศต่าง ๆส่งเข้าประกวดถึง ๗๐ ประเทศ

ม.ล.รุจิรา

ได้รับการตัดสินให้ชนะเลิศการประกวด เป็นที่ ๑

ทำความปลาบปลื้มให้กับคนไทยทั้งประเทศ

จนประเทศสหรัฐอเมริกายกให้เป็น

มนุษย์มหัศจรรย์ของอเมริกาเป็นคนแรก

เพราะ ม.ล.รุจิรา ทำได้ถึง ๖ เสียง

บุคคลผู้ทรงเกียรติที่ร่วมเดินทางไปครั้งนั้น

-คือ-

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ

และ หม่อมอุบล ยุคล

                       เห็นไหมครับ...นักพากย์หนังก็ทำให้ประเทศชาติของเราได้หน้าเหมือนกัน "รุจิรา" ท่านเป็นหม่อมหลวงนะครับ

                                ต่อมา "เทพา" เอาบ้าง ประกาศขึ้นมาอีกคนว่า เป็น "มนุษย์ ๘ เสียง" ก็เป็นเทคนิคทางการค้าอีกอย่างหนึ่ง ก็ได้ผลดี

               นักพากย์เดี่ยว ก็ต้องพากย์เดี่ยวคนเดียวพากย์กันสดสดตลอดชั่วโมงครึ่ง-ถึง-สองชั่วโมง และสมัยดึกดำบรรพ์นั้น-โรงหนังฉายเพียงรอบเดียวคือรอบกลางคืน-สองทุ่ม ซึ่งคงจะเนื่องจากโรงหนังสมัยนั้นเป็นโรงไม่-มีรูรั่วทั่วทั้งโรง ไม่มืดพอที่จะฉายกลางวันได้ แอร์ทำความเย็นก็ยังไม่มีใช้ แม้กระทั้งพัดลมก็ยังไม่มีเลย ต่อมา..ค่อยพัฒนาสร้างเป็นตึก มีพัดลมเล็กๆพัดแกว่งไปมา จึงเพิ่มรอบกลางวันขึ้น นักพากย์ต้องทำงานหนัก โดยพากย์เพิ่มอีกหนึ่งรอบคือ...กลางวันพากย์รอบเที่ยง กลางคืนพากย์สองทุ่ม

                ครั้นยิ่งเจริญมา ผู้คนดูหนังกันมากขึ้นฉายสองรอบเจ้าของโรงว่าน้อยไป จึงเพิ่มเป็นสามรอบกลางคืนฉายสองรอบ-ทุ่มครึ่งกับสามทุ่มครึ่ง กลางวันรอบเที่ยงหนึ่งรอบ นักพากย์ก็คงพากย์คนเดียวเดี่ยวๆตามเคย

                เท่านั้นยังไม่หนำแก่ใจ โรงหนังเพิ่มรอบอีก วันเสาร์-อาทิตย์เพิ่มรอบเช้าสิบโมงอีกหนึ่งรอบ รอบกลางวันเที่ยงครึ่งแถมบางที่มีรอบบ่ายสองโมงครึ่งอีกรอบกลางคืนยังคงสองรอบตามเดิม...รวมเป็นวันละสี่-ห้ารอบ แต่นักพากย์ก็ยังคงคอพากย์คนเดียวอยู่นั้นเอง พากย์กันสดๆวันละเกือบ๑๐ชั่วโมง คอหอยแทบพังทลาย

                 ยิ่งไปกว่านั้นอีก...ในวันเทศกาลต่างๆ ตรุษจีนเอย...สงกรานต์เอย...ปีใหม่เอย...ยี่เป็งเอย ต้องพากย์กันสว่างคาตา พากย์กันจนเสียงผู้หญิงที่ดัดให้เหมือนผู้หญิง กลายสภาพเป็นเสียงกะเทยไปฉิบ นักพากย์จำต้องขอโทษขออภัยท่านผู้ชม คนดูเขาก็ไม่ว่าอะไร ต่างเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน

                 การพากย์ต้องว่ากันสดๆ เพราะสมัยนั้นระบบเทปยังไม่เกิด นักพากย์ต้องเอาไมโครโฟนมาจ่อปาก พากย์สดกันทุกรอบไม่มีการหยุดพัก ไม่ว่าจะปวดท้องหนักท้องเบา-ก็ต้องทนเอาบางครั้งก็ต้องพึ่งพากระโถนในห้องพากย์ ถึงจะเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรก็ต้องไปนั่งสั้นงกๆเป็นเจ้าเข้า ต้องพากย์ไปจนจบเรื่องให้ได้ทรมาทรกรรมพอสมควร พูดถึง การพากย์เดี่ยวคนเดียวในสมัยโน้นนับได้ว่า เป็นความสามารถพิเศษ ที่ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะทำได้ ลองพิจารณาดูเถอะ ตัวแสดงนับสิบทั้งหญิงทั้งชาย นักพากย์ผู้ชายเพียงคนเดียวรับเหมาพูดแทนหมดทุกตัวด้วยเสียงที่แตกต่างกัน-ไม่ซ้ำกันเลยและต้องยืนเสียงตัวแสดงนั้นๆไปจนจบเรื่องด้วย ตัวโกงต้องใช้เสียงนั้นพระเอกนางเอกต้องเสียงนั้น จะเปลี่ยนให้ผิดแปลกไปไม่ได้แบบนี้น่าจะเรียกว่าเป็นพรสวรรค์อันมหัศจรรย์ของคนไทย-ก็แทบจะว่าได้

                 คิดว่า...การพากย์หนังเดี่ยว-คนเดียว น่าจะยกให้เป็น "เอกลักษณ์ประจำชาติไทย" ที่น่าจาลึกและยกย่องเชิดชูด้วยซ้ำไป




(ID:69823)

...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์

              นักพากย์ไดโนเสาร์

              คุยเรื่อง...นักพากย์ ตอนที่ ๔

                    ผู้ที่นักพากย์ทุกคนเทิดทูนให้เป็นปรมาจารย์ของการพากย์เดี่ยว ก็คือ...ท่านอาจารย์ "ทิดเขียว"

                 แม้กระทั่ง "พรานบูรพ์" ปรมาจารย์ของการละคร ก็เคยพากย์เดี่ยวคนเดียว ด้วยการพากย์หนังไทย ซึ่งสมัยนั้นสร้างเป็นหนังเงียบ และใช้เสียงพากย์แทนเสียงในฟิล์ม

                 แต่ยังมีนักสร้างผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งที่สร้างหนังใหญ่เสมอ อาทิเช่น "เล็บครุฑ" "ประกาศิตจางซูหลียง" ยังลังเลไม่ค่อยมั่นใจว่า สร้างหนังเสียงในฟิล์มให้ทันสมัยดี หรือสร้างหนังเงียบใช้คนพากย์จะดีกว่า...ท่านคือ...                                       คุณสุพรรณ พราหมณ์พรรณ

                คืนหนึ่ง...ดึกแล้ว... สี่ทุ่มกว่า...ผมหลับไปแล้ววันนี้ผมมากรุงเทพฯ พักที่โรงแรมมิราม่า อยู่ใกล้ๆวังบูรพาซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานบริษัทหนังฝรั่ง...สมัยนั้นอยู่ที่นั้น

                 เพื่อนชาวใต้มาเคาะประตูเรียกบอกว่า คุณสุพรรณอยากพบ ผมก็งง             "เอ...ผมไม่เคยท่าน ท่านจะพบผมเรื่องอะไรกัน?" แต่ไม่อยากขัดผู้ใหญ่ ผมก็ไปพบท่านโดยดี ท่านถามผมว่า "ชัยเจริญ...สร้างหนังเสียงพูดในฟิล์ม กับสร้างหนังเงียบแล้วใช้การพากย์....อย่างไหนจะทำเงินได้มากกว่ากัน" ผมก็ถึงบางอ้อ คิดอยู่แป๊บหนึ่งก็ตอบท่านไปว่า "ตามความคิดของผม ถ้าเป็นต่างจังหวัดละก็ ใช้วิธีพากย์จะสบอารมณ์มากกว่า เพราะคนพากย์อาจพริกแพลงบทพูดให้สนุกขึ้นไปทุกวัน ไม่ซ้ำซากจำเจเหมือนหนังในฟิล์ม

                ก็ไม่ทราบว่าท่านเชื่อผมหรือเปล่า ?

                มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าประหลาดใจและนึกไม่ถึงคุณเชื่อไหมว่ามีนักประพันธ์เอกคนหนึ่งของเมืองไทย เคยเป็นนักพากย์กับเขาด้วย ท่านคือ... "ป.อินทรปาลิต"

                การพากย์ที่แปลกแหวกแนว ไม่ค่อยจะเหมือนเพื่อนฝูงนักพากย์ทั้งหลาย ก็คือ-พากย์ "ดำน้ำ" ซึ่งเป็นการพากย์ที่อยากมาก และทำกันได้ไม่กี่คนนัก

                 "ดำน้ำ" หมายถึงการพากย์ที่ไม่มีบทพากย์ที่จะให้อาศัยเป็นหลักเลย นักพากย์จะไม่เคยรู้เรื่องของหนังเรื่องนั้นมาก่อน เพราะไม่เคยมีโอกาสได้ดูหนัง พระเอก-นางเอกชื่ออะไรก็ไม่รู้ขึ้นต้นว่าอย่างไร-ตอนจบเป็นอย่างไร ? คนพากย์ไม่มีสิทธ์รู้ทั้งสิ้นหนังก็ไม่เคยได้ผ่านสายตามาก่อน คล้ายกับว่า...ถูกจับมัดให้นั่งพากย์โดยไม่รู้อะไรเลยสักอย่างเดียว

                การพากย์ "ดำน้ำ" จึงเป็นการพากย์เดาสุ่มหรือไม่ก็ต้องแต่งเรื่องขึ้นมาเอง ตัวแสดงอ้าปากพูด-เราก็พูด แต่จะพูดว่าอะไรต้องตัดสินใจเอาเอง จะขึ้นเขาลงห้วย หรือออกทะเล...ก็ว่าไปเอง ขอแต่เพียงอย่างเดียวคือ พูด-พูด-พูดให้จบเรื่อง และจะต้องให้เป็นเรื่องเป็นราวอีกด้วย แต่ข้อสำคัญต้องลากไปให้จบให้จงได้-ไม่ใช่ล่มกลางคันซึ่งเรียกกันว่า "ดำไม่โผล่" บางที-โชคช่วยนิดหน่อย คือใบเซ็นเซอร์ที่ติด มากับหนัง-อาจเป็นตัวช่วย กล่าวคือ-ในใบเซ็นเซอร์จะมีเรื่องย่อเขียนไว้ราวๆ ๒-๓ บรรทัด บอกสั้นๆเช่นว่า...

                "พระเอกเป็นผัวนางเอก นางเอกเป็นตำรวจเอฟบีไอ ตามจับผู้ก็การร้าย ผู้ก่อการร้ายจับตัวผัวนางเอกไว้เป็นตัวประกัน นางเอกจึงซ้อนกลช่วยผัวออกมาได้ ปราบผู้ก่อการร้ายไดหมดก๊ก"

                ด้วยข้อความสั้นๆแค่นี้ นับว่าโชคดีมากแล้วที่ยังพอรู้เค้าเรื่องบ้าง จึงพออาศัย "ดำน้ำ" ไปน้ำขุ่นๆได้อย่างสบาย แต่ถ้าหากว่า...ใบเซ็นเซอร์ก็ไม่มี จะเป็นเพราะลืมเอามา-หรือหาย-หรือเป็นหนังเถื่อนที่ไม่ได้ผ่านการเซ็นเซอร์... ก็สุดแล้วแต่ นักพากย์ดำน้ำ ก็ต้องดำให้จบให้ได้ ถึงแม้หนังจะไม่เคยดู-บทพากย์ก็ไม่มี ทั้งยังไม่รู้ว่าเป็นหนังบู๊-หนังโรแมนติค-หนังผี รู้เพียงอย่างเดียวว่า จะต้องใช้วิชาเดาพากย์เอาเองตามอำเภอใจ

                นี่แหละ...คือภาระหน้าที่-ที่จะต้อง "ดำน้ำ" เพื่อทำการเนรมิตจินตนาการขึ้นมาให้ได้ โดยสมมุติทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาเองทั้งสิ้น...

                นางเอกในเรื่องชื่ออะไร-ก็ช่าง เราตั้งของเราขึ้นมาใหม่ เอาชื่อง่ายๆที่คุ้นหู เช่น เจน-แมรี่-อลิซาเบท ถ้าหากเป็นนางร้ายให้ชื่อว่าเฮเลนก็แล้วกัน ส่วนพระเอกมักใช้ จอน-ทอม-ยอร์ช เป็นหลัก

                แต่นักพากย์บางคนต้องการชื่อแปลกใหม่ก็จำต้องสอดสายตาหาสิ่งใกล้ตัว เช่นปากกา-บุหรี่-วิทยุ มาตั้งเป็นชื่อดังนั้น บางคืนพระเอกจึงชื่อ ชาร์ปบ้าง..ฟิลลิปบ้าง..วินสตันบ้าง..อะไรๆเทือกนี้




(ID:69824)

...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์

            นักพากย์ไดโนเสาร์

            คุยเรื่อง...นักพากย์ ตอนที่ ๕

                   วันหนึ่ง...หรือจะเรียกให้ถูกต้อง  ก็ต้องว่าคืนหนึ่ง ในจอปรากฏชื่อผู้ร้ายอำมหิต โผล่ออกมาจากหนังคาวบอยอย่างกะทันหัน นักพากย์นึกชื่ออะไรไม่ทัน พลันเหลือบไปเห็นเสื้อเชิร์ตยี่ห้อดอว์สัน ปากก็โพล่งออกไปทางไมโครโฟนเสียงดังกังวานไปทั่วบริเวณวัด

                "มึง...มึง...ไอ้ดอสั้น" เรียกเสียงเฮดังสนั่นหวั่นไหวจากคนดูนับร้อยรอบจอกลางแปลง เพราะนึกว่าคนพากย์พูดสองแง่สองง่าม เล่นเอาคนดูสตรีอายม้วนต้วนไปตามๆกัน...อย่างนี้ก็มี ขอแถมให้สักนิดเรื่อง "ดำน้ำ" คือ...มีเรื่องเล่ากันว่า

                ในยุคกลาง...เกิดมีนักพากย์อัจฉริยะขึ้นมาคนหนึ่ง คือ พากย์ หนังโดยไม่ต้องมีบทพากย์และไม่ต้องดูหนังมาก่อนเลยเรียกกันว่าพากย์ "ดำน้ำ"

                 "ดาวนคร" เป็นนักพากย์ประเภทลูกทุ่ง เขาไม่รู้ภาษาอังกฤษเลย แต่สามารถพากย์หนังฝรั่งจบเรื่องได้ ด้วยวิธีดำน้ำ ดังนั้นเขาจึงเป็นที่ต้องการสำหรับบริการจำหน่ายหนังเล็กๆที่มีหนังแต่ไม่มีบท และไม่อยากนำหนังมาฉายดูก่อนพากย์-ให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่าย

                คืนหนึ่งเขาได้รับหน้าที่พากย์หนังดำน้ำ สมมุติว่าเรื่อง "ชู้รักอมตะ" คืนนั้นมีเพื่อนนักพากย์เข้ามานั่งในห้องพากย์ด้วย

                พอหนังหมดไตเติล ก็ปรากฏภาพตึกรามบ้านช่องอาคารสูงตระหง่านฟ้า "ดาวนคร" ก็เริ่มบรรยายทันที

                 "แมรี่คนสวยของเรา..." คำว่า "แมรี่" เป็นชื่อนาวเอก ชึ่งแทบจะทุกเรื่องนางเอกของเขามักจะชื่อแมรี่เสมอ จนคนดูชอบขัดคอเขาทุกที เช่นในหนังมีผู้ชายถามผู้หญิงว่า "คุณชื่ออะไรครับ ?" คนดูจะตะโกนดักหน้าว่า "แมรี่" ...ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง

                 เอาละ เล่าต่อ...

                 จากภาพในจอ...ตึกรามบ้านช่องใหญ่โต "ดาวนคร" บรรยายว่า "แมรี่คนสวยของเรา มีนิวาสสถานอยู่ในกรุงลอนดอน-มหานครเมืองผู้ดี ที่นี่-เธอมีความสุขกับการออกงานสังคม" ในจอ...ปรากฏตัวหนังสือภาษาอังกฤษขึ้นมาตัวใหญ่โต PARIS-

                  เพื่อนนักพากย์ที่นั่งข้างๆสะดุ้งโหยง รีบกระซิบที่ข้างหู "ดาวนคร" "เฮ้ย...ปารีส ไม่ใช่ลอนดอน" "ดาวนคร" ไม่สะทกสะท้าน ไม่ตระหนกตกใจยังคงพากย์ต่อไปอย่างใจเย็น

                 "แต่แมรี่อยู่ลอนดอนได้ไม่นาน เธอก็จำใจย้ายจากลอนดอนไปอยู่ปารีส เพราะเธอทนต่อความเป็น "เมืองผู้ดี" ของที่นั่นไม่ค่อยไหว" นี่แหละ...ราชาดำน้ำคนหนึ่งละ

                แต่ถึงอย่างไร นักพากย์ "ดำน้ำ"ต้องจัดเป็นบุคคลพิเศษสุด ที่มีสมองเลื่อนไหลเป็นเลิศ สามารถจับแพะชนแกะได้จนจบเรื่อง จึงน่าสงสัยว่าบุคคลประเภทนี้ คงจะมีไอคิวสูงกว่า ๑๘๐ เป็นแน่ ก็จะทำอย่างไรได้ เขาจำเป็นต้องหาเงินเข้าบ้านให้ได้ แม้จะเป็นเพียงห้าสิบบาท-ร้อยกว่าบาท-ก็ตามที เพราะพรุ่งนี้เช้าลูกรอเงินค้าขนมไปโรงเรียน แม่บ้านรอค่ากับข้าวประจำวัน จึงต้องทนไปดำน้ำให้โพล่ ตามหน้าที่ๆพึงกระทำ

                แต่จะอย่างไรก็ตาม นักพากย์ "ดำน้ำ" นับได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถยอดเยี่ยม เฉพาะบุคคล ก็ต้อง...นับถือ...นับถือ

                นักพากย์อีกแบบหนึ่ง ก็ไม่เหมือนใครอีกเหมือนกัน เพราะมีพฤติกรรมที่ไม่ธรรมดา นักพากย์คนอื่นๆเขาเปิดไฟสว่าง-อ่านบทไป-แล้วก็พากย์ออกเสียงไปตามบทนั้นๆ แต่นักพากย์คู่นี้กับปิดไฟมืดสนิท แม้ว่าจะมีบทพากย์วางอยู่ตรงหน้าก็จริง แต่เขาทั้งคู่ไม่เปิดดู-เพราะปิดไฟมืด

                พอหนังฉาย-ตัวแสดงอ้าปากพูด ท่านทั้งสองก็ช่วยกันพากย์ ตรงกับปากตัวแสดงในจอทุกคำ จะว่าท่านดำน้ำก็ไม่ใช่เพาระว่า-ได้เรื่องตรงตามบทพากย์ที่วางไว้ตรงหน้าทุกถ้อยคำไม่ผิดเพี้ยนนักพากย์คู่นี้มีนามว่า "ลักษณเย็น-วรรณสาร"

                 ได้ความรู้มาว่า ท่านทั้งสองใช้วิธีท่องจำส่วนจำแบบไหน-ใช้ปฏิภาณอย่างไร ย่องเป็นความสามารถเฉพาะตัวคงจะบอกและสอนกันไม่ได้

                  พูดถึงนักพากย์โรงแล้ว ขอนำคุณแวะไปเยี่ยมนักพากย์หน่วยเร่กันบ้าง คุณประยูร วงศ์ชื่น ได้เล่าไว้อย่างน่าตื่นเต้นและน่าเห็นใจอย่างยิ่ง

                  "เมื่อมาถึงบ้านเจ้าของงาน นักพากย์วางกระเป่าเครื่องฉาย-ถุงจอ-กระเป๋าฟิล์ม เสร็จแล้วก็ขอไม้ไผ่ ๒ ลำ-ลำตรงๆหน่อย กับขอแขนงไม้สองอัน หลาวให้แหลมเอาไว้ขึงเชือกผูกจอ โต๊ะเขียนหนังสือ ๑ ตัว ไว้ตั้งเครื่องฉายกับวางบทพากย์ เก้าอี้หนึ่งตัวไว้นั่ง หลอดไฟแสงสว่าง ๒๕ วัตต์ เอาไว้ดูบทพากย์...

                  ตกค่ำมืด...มีคนดูมานั่งรอที่หน้าจอเต็มไปหมด ดึกหน่อย-คนเริ่มมาก เบียดเสียดกันแทบจะเหยียบนักพากย์ตาย...

                  นักพากย์ต้องทำหน้าที่ฉายหนังไปด้วยและพากย์ไปด้วย พากย์เป็นเสียงพระเอก-นางเอก-ผู้ร้าย-นางร้าย เรียกว่า...พากย์สารพัดเสียงในภาพที่ปรากฏบนจอ...

                   ถ้าเป็นหนังไทยต้องเพิ่มหน้าที่วางเพลงประกอบด้วยแผ่นเสียง บางครั้งรีบร้อนเปลี่ยนแผ่น-ไม่ทันมอง เข็มแผ่นเสียงตำนิ้วเลือดไหล ทั้งยังต้องทำเสียงเอฟเฟ็ค เสียงชกต่อย-เสียงปืน-เสียงรถ-เสียงเรือ-เสียงสิงห์สาราสัตว์...เหมาหมดคนเดียว

                  

                ถ้าพากย์ไม่ถูกใจคนดู...ก็ถูกโห่ ถ้าฟิล์มหนังเก่า ฉายขาดบ่อยๆ เจ้าของงานพาลพาโลจ่ายเงินให้ไม่ครบ กลับมาถึงบริการ เจ้าของหักค่าแรง จาก ๕๐ บาทเหลือ ๓๐ แถมยังโดนตำหนิว่า... "พากย์ไม่ดีน่ะซิ เขาจึงตัดเงิน..."

                 เห็นไหมครับ...นักพากย์หน่วยเร่ช่างน่าสงสารเพียงไร ต้องพากย์ด้วย-ฉายหนังด้วย-เปิดแผ่นเสียงด้วย แถมยังต้องส่งเสียงประกอบ ไม่ว่าเสียงอะไรๆที่ปรากฏในจอ แต่ได้ค่าแรงเพียงวันละ ๕๐ บาท ดีไม่ดี ถูกตัดลงเหลือแค่ ๓๐ บาทก็ยังมี




(ID:69825)

...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์

            นักพากย์ไดโนเสาร์

           คุยเรื่อง...นักพากย์ ตอนที่

                การพากย์คู่ ชาย-หญิง เกิดขึ้นหลังจากการพากย์เดี่ยวไม่นาน เป็นการสอดประสานผสมกันไป มีพากย์เดี่ยวบ้าง-พากย์คู่บ้าง ทำให้คนดูได้รับอรรถรสไปคนละแบบ นักพากย์คู่ในภาคใต้ระยะแรกๆก็มี "รุจิรา-มารศรี" "เพ็ญ-ศรี ปัญญาพล" "อุดม-ละม่อม" "ลักษณเย็น-วรรณสาร" "ทิดทอง-วรรณรัตน์" "ปลัดแหยม-เสนาะ" "ดาวธง-เทียมจันทร์"ฯลฯ

                สำหรับนักพากย์เดี่ยว ส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงของท่านอาจารย์ "ทิดเขียว"ซึ่งท่านได้ตั้งคณะนักพากย์ขึ้นมา ใช้นามว่า "คณะทิดเขียว"

                 คนสำคัญในคณะทิดเขียวก็คือ "พันคำ" ซึ่งเป็นลูกชายของอาจารย์เอง "พันคำ" เป็นคนทำบทพากย์เพื่อให้นักพากย์ในคณะได้ใช้เครื่องมือในการพากย์ ต่อมา "พันคำ" ก็ผันไปเป็น นักพากย์ตามคุณพ่อไปอีกคน

                 นักพากย์ "คณะทิดเขียว" ทุกคน ต้องพากย์ตามบท-ไม่มีการดำน้ำ เพราะท่านอาจารย์ได้เขียนกลอนติดไว้หน้าประตูทางเข้าออก นักพากย์ทุกคนจะต้องพบเห็นคำกลอนนี้เป็นประจำ ท่านเขียนไว้ว่า...

                              

อันหนังดี              พากย์ดี         ก็มีชื่อ

คนเขาลือ            ว่าเก่ง                 นักเลงหนัง

ไม่ดูบท               พากย์มันเลย        เฮ้ย..กูดัง

ชื่อเสียงพัง          คนฮาป่า              หน้าเหมือนลิง

    อันหนังดี        พากย์ดี                ย่อมมีชื่อ

คนเขาลือ            ว่าพากย์เก่ง          นักเลงหนัง

หนังไม่ดี             พากย์ไม่ดี             มีคนชัง

จะเอาตังค์            ใครเล่า   เขาไม่แล

      ลงแบบนี้ ลูกศิษย์ทั้งหลายจึงไม่มีใครกล้าละเมิดคำสั่งของท่านอาจารย์ ใน "คณะทิดเขียว" มีนักพากย์ชื่อดังอยู่ด้วยกันหลายคนซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนดูทั่วภาคใต้ เป็นต้นว่า...พันคำ-ดาวบูรพา-พลายแก้ว-จิตรคุปต์-สุขจิตร ศุภลักษณ์-ชวาลา-ชัชวาล บุศราพันธ์-จันทร์เพ็ญ-วรเทพ ฯลฯ ท่านเหล่านี้ ล้วนแต่พากย์เดี่ยวทั้งสิ้น "คณะทิดเขียว" จึงเป็นยี่ห้อที่ประกันคุณภาพของการพากย์

                การโฆษณาประจำวันของหนังสมัยนั้น ก็คือเขียนป้ายสังกะสีไปตั้งไว้ตามเสาไฟฟ้า ในป้ายจะเขียนด้วยซิงค์อ็อคไซด์สีขาว บางโรงเอาสีต่างๆผสมลงไปด้วยเพื่อความสวยงาม  เช่นเขียนว่า.....

                                                ชวาลา คณะ ทิดเขียว

                                                                -พากย์-

                                                      เศรษฐีขอทาน

                 ชาวบ้านเมื่อเห็นชื่อนักพากย์ในคณะทิดเขียวเดินทางจากกรุงเทพฯมาพากย์ ก็มีความตั้งใจว่า คืนนี้ย่อมไม่ผิดหวังแน่นอน

                ชื่อ "คณะทิดเขียว" จึงเป็นยี่ห้อ เรียกคนดูผู้ชมได้เป็นอย่างดีเสมอมา นักพากย์คณะทิดเขียวจึงไดรับความนิยมอย่างมากใน ระยะนั้น และคนดูไม่เคยผิดหวังกับนักพากย์ของท่านอาจารย์สักคนเดียว




(ID:69831)

...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์ 

             นักพากย์ไดโนเสาร์

               คุยเรื่อง...บทพากย์ ตอนที่ ๑  

                        นักรบออกศึก...จักต้องถือดาบเป็นอาวุธ

                  ขืนเดินทื่อๆมือเปล่า ก็เท่ากับเดินไปหาความตาย

                        ...นักพากย์ก็เช่นเดียวกัน

                   บทพากย์เป็นอาวุธ ที่จะต้องพกติดตัว

                        เพื่อเข้าไปพิชิตดาราในจอ

                  สิ่งสำคัญสุดยอดของนักพากย์ ก็คือ...บทพากย์เพราะ-เราไม่ใช่นักพากย์ดำน้ำ เราจึงต้องอาศัยบทพากย์เป็นเครื่องนำทาง หากไม่มีบท-ก็พากย์ไม่ได้ ถ้าบทพากย์หาย-ก็ต้องหยุดการพากย์ โดยปกติ...บทพากย์ฉบับที่แปลจากไดอะล็อคภาษาอังกฤษของภาพยนตร์ทุกเรื่อง จะต้องมาพร้อมกับหนังด้วย โดยบริษัทหนังจัดให้ แต่ก็คิดค่าทำบท ส่วนมาก-บุ๊คเกอร์บริษัทหนังเป็นผู้จัดทำบท แต่ในสมัยโน้น...สมัยสงครามเมื่อ ๖๐ ปีก่อนสมัยผู้เขียนเริ่มหัดพากย์ หนังบางเรื่องไม่มีบทพากย์มากับหนัง เพราะเป็นหนังที่อยู่นอกสังกัดบ้าง-เป็นหนังเอกชนบ้าง ซึ่งมีทั้งหนังพูดและหนังเงียบ ถ้าเราริจะทำบทพากย์จากหนังพูด เราต้องฟังภาษาฝรั่งออกจึงจะรู้เรื่องและทำบทพากย์ได้ ส่วนหลังเงียบนั้น-ต้องอาศัยคำบรรยายภาษาฝรั่ง ที่คั่นอยู่เป็นตอนๆ โดยเราตัดฟิล์มที่เป็นคำบรรยายออก-นำมาแปลเป็นไทย อันจะทำให้เราพอรู้เค้าเรื่องไดบ้างว่า-ไปอย่างไรมาอย่างไร-ใครเป็นพระเอก-ใครเป็นนางเอก-ใครเป็นผู้ร้าย

                   ทั้งสองประเภทนี้-ยากพอกัน เพราะถ้าไม่มีไดอะล๊อคภาษาอังกฤษให้เรานำมาเปลี่ยนเป็นภาษาไทย เหมือนอย่างที่ท่านนักทำบทพากย์ทั้งหลายใช้ปฏิบัติกัน เราก็ต้องใช้วิชามาร...คือเดาเอา

                   เมื่อจำเป็นจะต้องทำ...ก็ต้องทำให้ได้ จึงได้กำเนิดการ "ทำบทจากภาพฉาย" ขึ้นมา ซึ้งดีกว่าการ "ดำน้ำ" หน่อยก็ตรงที่มีการฉายหนังให้ดูก่อน เราจึงพอรู้เรื่องเป็นเค้าบ้าง แล้วจึงแต่งบทขึ้นมาให้ตรงกับจังหวะคำพูดในหนัง จากนั้น-ซ้อมพากย์อีกครั้งหรือสองครั้ง จึงพอจะนับได้ว่าเป็นการพากย์ที่มีบทพากย์ครบถ้วนตามกติกาเหมือนกัน แต่ทว่า...การทำบท-เป็นคนละแนวทาง

                  สมัยเมื่อ "บ้านดอนภาพยนตร์" กำลังเฟื่องฟู ผู้ที่รับหน้าที่ทำบทจากภาพฉาย คือ...ดาวบูรพา ผู้เขียนก็เคยมีส่วนร่วมได้ไปช่วยท่านทำอีกแรงหนึ่งด้วย

                   ดาวบูรพา รู้ภาษาอังกฤษ-ฟังหนังรู้เรื่อง จึงค่อนข้างสะดวกสบายในการทำ วิธีทำ ดูๆก็ไม่ยาก...แต่ไม่ง่ายเลย เพราะ...เราต้องใช้อวัยวะสามอย่างพร้อมกัน คือตา-และมือ-และหูพร้อมๆกันไปในเวลาเดียว

                   ฝรั่งพูดประโยคยาว-ก็ขีดเส้นยาว ฝรั่งพูดประโยคสั้น-ก็ขีดเส้นสั้น ฝรั่งพูดคำเดียว-เช่นเยสหรือโน-ก็ใช้จุดฝรั่งพูดมีใจความว่ากะไร ก็บันทึกข้อความสั้นๆพอเข้าใจ-ไว้ตรงบรรทัดนั้น ตรงนี้แหละที่ยากที่สุด เพราะบางที่มันพูดกันไม่ยอมหยุด-หาจังหวะบันทึกไม่ได้เลย ลงแบบนี้-จำเป็นต้องใช้สมองช่วยจดจำแทนสัญลักษณ์

                   นอกจากบันทึกสัญลักษณ์แล้ว ยังจะต้องมีเครื่องหมายกำกับอีกด้วย เช่น ตัวแสดงพูดเห็นหน้าชัดๆ-ก็ใช้เครื่องหมาย (น.) ถ้าหันข้างว่าซ้ายหรือขวา-ใช้เครื่องหมาย (ข) ถ้าหันหลังไม่เห็นหน้าใช้เครื่องหมาย (ล) หรือถ้าไม่เห็นตัวนักแสดง แต่มีเสียงพูดดังอยู่-ใช้เครื่องหมาย (ส) ...แถมยังมี (ใกล้)-(ไกล)...เหล่า นี้เป็นต้นถ้ามีการหัวเราะ-ร้องไห้-ตวาด หรือว่ามีอิริยาบถใดๆ ก็บันทึกเอาไว้ตรงนั้นด้วย

                  เห็นไหม ? ไม่ธรรมดา กว่าจะทำเสร็จแต่ละเรื่อง สมองปั่นป่วนน่าดู การทำบทจากภาพฉายนั้น เขามักทำงานกันตอนที่หนังรอบปกติเลิกฉายแล้ง คือ-ประมาณห้าทุ่ม ซึ้งกว่าจะทำกันเสร็จเรื่องก็ประมาณตีสองตีสามของวันใหม่ และหากจะให้บทถูกต้องเรียบร้อย ก็ต้องทำงานต่อกันเลยทันที เรียกว่าไม่ต้องนอนกันละลงมือทำการถ่ายทอดสัญลักษณ์ และเครื่องหมายเหล่านั้น-ออกมาเป็นทำพูด เพราะว่า...สมองที่บันทึกภาพและคำพูดยังคงวนเวียนอยู่ครบถ้วน ถ้าหากปล่อยให้เรื้อไปจนวันรุ่งขึ้น เราอาจจะเบลอและจดจำรายละเอียดไม่ได้

                เวลาทำบทจากภาพฉาย ดาวบูรพา...จะถ่ายทอดสัญลักษณ์นั้นๆออกมาเป็นคำพูด ส่วนผู้เขียน-รับหน้าที่เป็นคนจดข้อความตามคำบอกจนจบเรื่อง แล้วจึงนำไปพิมพ์ดีดอีกที่หนึ่งเพื่อให้เป็นบทพากย์ การทำแบบนี้-เรียกกันในสมัยนั้นว่า "เรียบเรียงบทจากภาพฉาย" จากนั้นก็นำบทพากย์ที่พิมพ์เสร็จ ไปซ้อมกับหน้าหนัง คือ...ฉายหนังไป-เราก็พูดตามตัวอักษรไป เพื่อให้รู้ว่าบทที่ทำไว้นั้นตรงกับในหนังหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่า-ย่อมจะไม่ตรงร้อยเปอร์เซ็นต์ ย่อมต้องมีผิดเพี้ยนไปบ้างเป็นธรรมดา ผิดตรงไหน-จัดการแก้ไขเสียให้ถูกต้องเรียบร้อย จากนั้น...ก็จะเป็นบทพากย์ที่สมบูรณ์ แต่ก็-สมบูรณ์เฉพาะบทพากย์เท่านั้นเอง เพราะยังมีอีกขั้นตอนหนึ่ง คือการซ้อมพากย์ถ้าไม่ซ้อม คนที่พากย์ก็จะไม่รู้ว่า บทพากย์นั้นๆ ใช้ได้หรือไม่ เพราะคนทำบทกับคนพากย์ อาจเป็นคนละคนกัน

               นี่คือการ "ทำบทจากภาพฉาย"ซึ่งสมัยนี้ไม่มีให้เห็นกันอีกแล้ว




(ID:69845)

        ...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์ 

               นักพากย์ไดโนเสาร์

                คุยเรื่อง...บทพากย์ ตอนที่ ๒

                 การทำบทพากย์อีกวิธีหนึ่ง ก็คือ การแปลจากไดอะล็อคภาษาอังกฤษที่มีมาพร้อมกับหนังทุกเรื่อง ผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษแตกฉานสามารถทำบทพากย์แบบนี้ได้ทุกคน แต่น้อยคนนักจะทำบทพากย์ได้ถูกใจนักพากย์

               ทั้งนี้เพราะ...ภาษาอังกฤษกับภาษาไทย มีคำที่ยาวสั้นไม่เท่ากัน เมื่อแปลอังกฤษเป็นไทยแล้ว ภาษาไทยจะมีคำที่ยาวกว่าหลายคำ ถ้าผู้ทำบทใช้วิธีแปลไปตามตัวอักษร คนพากย์จะพากย์ไม่ได้เลย เพราะข้อความภาษาไทยจะยาวกว่าภาษาอังกฤษที่ตัวแสดงอ้าปากพูด

                ดันนั้น...คนทำบทพากย์เก่งๆ จึงต้องสามารถแปลและย่อความเป็นภาษาไทย ให้มีจำนวนคำใกล้เคียงกับประโยคในภาษาอังกฤษ ซึ่งความสามารถพิเศษนี้-มีอยู่ไม่กี่คน ส่วนใหญ่มักจะแปลไปตามตัวอักษรเพราะง่ายดี-ไม่เสียเวลาด้วย และถึงแปลแบบไหนก็ได้เงินเท่ากันอยู่แล้ว บทที่ออกมาแบบนี้ นักพากย์จึงต้องนำมาบริหารจัดการใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็มีเหมือนกันที่ท่านผู้เชี่ยวชาญพิเศษยอมเสียเวลาไม่สักแต่แปลอย่างเดียว ท่านแปลแล้วยังเรียบเรียงถ้อยคำให้พอดีกับคำพากย์อีกด้วย ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่ท่าน จะมี-คุณชากร วิทยา-คนหนึ่งละ ที่ได้รับคำชม เพราะท่านทำได้ใกล้เคียงมาก บทพากย์แบบนี้ จึงไม่ใช่การแปลเฉยๆ หากแต่เป็นการแปลด้วยและเรียบเรียงด้วย สมัยนั้นจึงใช้คำว่า "เรียบเรียงบท" ผู้ที่เรียบเรียงบทเป็นเลิศในสมัยท่านอาจารย์ "ทิดเขียง" ก็คือ... "พันคำ" คุณพร้อมสิน สีบุญเรื่อง

                  นอกจากจะเรียบเรียงบทให้สั้น และกระชับกะทัดรัด ให้คำภาษาไทยเท่ากับคำในภาษานั้นๆ-ประโยคต่อประโยคแล้วถ้อยคำภาษาไทย-แม้คำแปลจะไม่ค่อยตรงกับภาษาดั้งเดิมเท่าใดนักแต่ผู้คำบทสรรเอาคำไทยๆที่มีความหมายคล้ายคลึงกันมาใช้แทน อาจทำให้คนดูซาบซึ้ง ได้รับอรรถรสยิ่งกว่าคำในภาษาเดิมเสียอีก

                  ทั้งนี้เพราะว่า...บทขำๆของฝรั่ง-หรือจีน-หรือแขกนั้น คนไทยอาจไม่ขำด้วย แต่ถ้าเปลี่ยนไปใช้สำนวนไทย อาจทำให้คนดูฮากันทั้งโรงก็ได้ ผู้ที่เรียบเรียงบทเก่งๆ จึงมักใส่บทตลกลงไปในบทพากย์นั้นด้วย นักพากย์จึงได้รับอานิสงส์ไปโดยปริยาย

                  นั่นเป็นแค่บทพากย์ ที่เรียกกันว่า "เรียบเรียงบท" แต่เมื่อลงมือพากย์จริง นักพากย์มักจะเพิ่มเติมมุขของตนลงไปอีกมากมาย ตามจังหวะของหนังที่เอื้ออำนวยให้ มีตัวอย่างจากหนังไทยเรื่อง "พ่อปลาไหล" สมัยนั้นหนังไทยยังมีซาวด์ในฟิล์มเหมือนในสมัยนี้ จึงสร้างกันแบบหนังเงียบ แล้วใช้คนพากย์ๆสดกันทุกรอบ คุณ เชิด ทรงศรี ได้เขียนเล่าเอาไว้ว่า

                                    "พ่อปลาไหล...ฉายที่โรงคาเธ่ย์

                                      มหัศจรรย์บันเทิงได้เกิดขึ้น

                                             โรงแทบแตก

                      ความยาวหนัง ๑๘๐ นาที นับเสียงหัวเราะได้ ๑๒๒ ครืน 

                     ขอบอกว่า...หัวเราะแบบกระทืบมือกระทืบเท้าเลย-คุณเอ๋ย

                     ความจริง-บทหนังที่เขียนนั้น เป็นเพียงพิมพ์เขียวเท่านั้นแหละ

                                    ถ้าพากย์ตามบท-คงไม่ฮาเท่าไหร่

                     แต่โดยที่ผู้พากย์เจนเวที พากย์มุขนี้ไม่ฮา ท่านก็เปลี่ยนมุขใหม่

                      เปลี่ยนไป...วัดความชอบไม่ชอบของคนดูไป...รอบต่อรอบ

                                        ผลที่ออกมาจึงฉมังนัก

                                              ผมจึงถือว่า

                                      -นักพากย์มี มีอภินิหาร-"

                  มุขของคนพากย์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการพากย์หนัง ไม่ว่าจะเป็นหนังไทยหรือหนังฝรั่ง แต่มีนักพากย์บางคนสนุกยิ่งไปกว่านั้น ขนเอามุขของตัวใส่ลงไปแทนหมดทั้งเรื่อง จนกลายเป็นหนังคนละเรื่องไปเลย...แบบนี้ก็มีเหมือนกัน

                  สำหรับผู้เขียน ต้องขอสารภาพว่าเป็นนักที่เกาะติดกับบทอย่างเหนียวแน่น  ถ้าหากหนังเรื่องใดไม่มีบทก็เป็นอันยกเลิกไม่รับพากย์  เพราะพากไม่ได้จริง  ยิ่งเรื่อง "ดำน้ำ" ด้วยแล้วไม่ต้องพูดถึง รับรองได้เลยว่า "ดำไม้โผล่" แน่นอน

                  ในสมัยแรกที่ผู้เขียนเริ่มพากย์  บังเอิญไปเจอหนังที่ไม่มีบทพากย์สองเรื่องซ้อน  เมื่อมีความจำเป็นจะต้องพากย์เพราะไม่มีทางเลือก  ก็จำเป็นต้องลงมือทำบทเอาเอง-ทำไปแบบงูๆปลาๆแต่ด้วยความมานะ ผู้เขียนทำไปจนสำเร็จ  แล้วก็พากย์จนได้เหมือนกันนับได้ว่า  เป็นการพากย์ที่มีบทบาทกับเขาเหมือนกัน...ก็จากบทงูๆปลาๆนั่นแหละ  ท่านอาจารย์ "ทิดเขียว" เคยพูดถึงบทบาทไว้ว่า  "นักพากย์ที่ดี อย่าทิ้งบทพากย์เป็นอันขาดถึงแม้พากย์จนกระทั่งจำบทได้ ก็อย่าทิ้งบท ควรเปิดบทตามไปเรื่อยๆ เพราะไม่แน่ว่าช่วงใด-เวลาใด เกิดเผลอขึ้นมาจะได้คว้าบททัน"

                   นักพากย์  "คณะทิดเขียว" ทุกกคนจึงไม่เคยทิ้งบทพากย์เลยแม้แต่คนเดียว อาจจะเป็นเพราะ "คำสั่ง" ที่ท่านเขียวติดไว้หน้าประตู ซึ่งทุกคนต้องคนต้องอ่านทุกครั้งที่เดินเข้าเดินออก




(ID:69846)

...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์ 

              นักพากย์ไดโนเสาร์

               คุยเรื่อง...บทพากย์ ตอนที่ ๓

                  คุณมารศรี อิศรางกูร ณ. อยุธยาศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง  แต่ท่านก็เป็นนักพากย์ พากย์คู่กับ "รุจิรา" ท่านได้พูดถึงบทพากย์ไว้อย่างน่าเลื่อมใส

                   "ประการสำคัญที่สุดที่นักพากย์จะต้องยึดถือคือบทพากย์ บทพากย์ของภาพยนตร์ทุกเรื่อง ต้องเคารพกราบไว้ ทั้งก่อนและหลังพากย์จบแล้ว เพราะบทพากย์เป็นเสมือนตำรับตำรา เช่นเดียวกับนักเรียนทั่วไป

                   อย่าข้ามบทพากย์ และอย่าเหยียบย่ำบทพากย์เด็ดขาด  นักพากย์คนใดไม่เคารพบทพากย์-ดูหมิ่นดูแคลนเชื่อว่า-คงหากินไม่เจริญ  บั้นปลายชีวิตต้องประสบความลำบากอย่างแสนเข็ญ เป็นเพราะดูถูกอาชีพของตัวเอง"

                   เมื่อพูดถึงเรื่องบทพากย์ ผู้เขียนอดที่จะแว้งไปถึงบทบรรยายในฟิล์มภาพยนตร์ไม่ได้ เพราะในสมัยกลางก็มีการทำคำบรรยายในฟิล์มกันแล้ว และทำดีกว่าสมัยนี้เสียอีก

                   การทำบทบรรยายในฟิล์มภาพยนตร์ ในสมัยกลาง ผมขอยกให้คุณอวบ สานะเสน แห่งบริษัทภาพยนตร์พาราเมาท์เป็นยอด เพราะท่านไม่แปลจากอังกฤษเป็นไทยอย่างเดียว แต่ท่านได้เรียบเรียงคำพูดประโยคนั้นให้สั้นกะทัดรัด และได้ความหมาย  เราเขียนคำบรรยายไปด้วยดูหนังไปด้วย-รู้เรื่องอีกด้วย

                   คำบรรยายไม่ใช่คำแปล เพราะคำแปลอย่างตรง ไปตรงมาตามตัวอักษรจะยืดยาวมาก ยาวจนคนดูอ่านไม่ทัน

                  ตัวอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ คือ คำบรรยายในเคเบิลทีวี ท่านแปลของท่านเต็มตามที่มีอยู่ในบทไดอะล็อค ฝรั่งพูดอย่างไรท่านแปลหมดทุกคำ คำบรรยายจึงเต็มไปทั้งจอ อ่านประโยคนี้ยังไม่ทันหมดประโยคใหม่ขึ้นมาอีกแล้ว เลยไม่ต้องดูหนังกัน ตั้งหน้าตั้งตาอ่านแต่คำบรรยายตลอดเวลา ทำให้เสียอรรถรสเป็นอย่างยิ่ง

                 คนที่ทำบทบรรยายเก่งๆ เขาจะรู้ถึงความต้องการของคนดู ว่าคนดูส่วนใหญ่ต้องการเพียงรู้เรื่องเท่านั้นเอง ไม่ได้ปรารถนาจะเรียนภาษาอังกฤษ เขาต้องการดูหนังไปด้วย-อ่านคำบรรยายสั้นๆไปด้วยได้เห็นหน้าเห็นตาพระเอกนางเอกบ้าง ไม่ใช่ห็นแต่ตัวหนังสือบนจอเพียงอย่างเดียวจนดูหนังจบแล้ว-จำหน้าพระเอกนางเอกไม่ได้เลย จำได้แต่ตัวบรรยาย

                 เพราะฉะนั้น การทำบทบรรยายจึงต้องใช้คนที่มีความสามารถพิเศษ ไม่ใช่คนที่เก่งแต่แปลอังกฤษเป็นไทยอย่างเดียวต้องเก่งในการตัดคำให้สั้น-ให้มีความหมาย-ให้อ่านง่ายเข้าใจง่ายอีกด้วยช่วยแก้ไขกันเสียทีเถอะครับ พระคุณท่าน




(ID:69860)

...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์  

             นักพากย์ไดโนเสาร์

    คุยเรื่อง...ก่อนพากย์หนัง ตอนที่ ๑

                 น่าขำ... สมัยโน้น...ก่อนพากย์หนัง นักพากย์ จะต้องร้องเพลง ให้คนดูฟังด้วย

                 ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ก่อนจะประเดิมเริ่มพากย์หนังของคืนนั้นๆ สมัยเมื่อ ๖๐ ปีก่อนโน้น ในวงการของนักพากย์ได้มีปฏิบัติการสืบต่อกันจนเป็นประเพณีสิงอย่างด้วยกัน

                                            หนึ่ง...แอนนาวส์ 

                                            สอง...ร้องเพลง

                 แอนนาวส์  คืออะไร ? พูดกันอย่างไทยๆ ก็ต้องว่า  เป็นการทักทายปราศรัยกับคนดู  หรือแนะนำตัวเอง...อะไรทำนองนั้นบางคนก็ถือโอกาส  คุยเรื่องอะไรต่อมิอะไรให้คนดูฟัง  เพราะในระยะสงครามนั้น  แทบเป็นการตัดขาดการสื่อสารกันเลย  คนบ้านนอกมักจะไม่รู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวของคนในกรุง  นักพากย์ซึ่งเพิ่งออกมาจากกรุงเทพฯ  จึงมักนำเอาสิ่งละอันพันละน้อยมาเล่าสู่กันฟังยกตัวอย่าง...

                 สมมติว่า-เป็นขณะปัจจุบันนี้  นักพากย์จะแอนนาวย์ก่อนเริ่มพากย์หนังดังนี้

                 "สวัสดีครับ...ท่านผู้ชมที่เคารพ วันนี้ขึ้นปีใหม่แล้ว ขออวยพรให้ท่านผู้ชมทุกท่านจงประสบแต่ความสุขปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ คิดสิ่งใด ขอให้ได้สิ่งนั้นตลอดทั้งปี

                  มื่อวานนี้...ผมได้ไปนั่งรถไฟฟ้ามหานครมา  ก็รถลอยฟ้าลอยเมฆอะไรนั่นละ  ก็ดีเหมือนกันแฮะได้เห็นทิวทัศน์ของกรุงเทพฯในอีกแง่มุมหนึ่ง

                  ถ้าพูดถึงว่า-ขึ้นไปนั่งทัศนาจรละก็ คุ้มเกินคุ้มเสียเงินแค่ ๔๐ บาท ถูกกว่านั่งแท็กซี่ไม่รู้กี่เท่า  ได้มองเห็นทิวทัศน์ถนัดนัยน์ตากว่าด้วย

                  แต่ถ้า-นั่งไปทำงานไปกลับ  เสียเงินวันละเกือบร้อย  เดือนละ ๒๐๐๐ กว่า ก็ต้องคิดกันหน่อย

                  เออ...เกือบลืมไป  อุตุ-เขาเตือนว่าอีก ๒-๓ วัน จะมีลมหนาวพัดมาอีกระลอก  จึงควรตระเตรียมเสื้อผ้าไว้ให้พร้อมนะครับ  ไอ้ที่เก็บใส่ตู้ไว้  ก็เอาออกมาตากแดดผึ่งลมเสียบ้างก็จะดี

                  เอาละครับ...ชมหนังกันดีกว่า  ผม..."วัยชรา" ขอขอบพระคุณ"

                นี่ละครับ..  คือตัวอย่างของการแอนนาวส์ ที่นักพากย์ในสมัยไดโนเสาร์ถือปฏิบัติกันมายาวนานพอสมควร  จึงเป็นที่รู้กันระหว่างคนดูและคนพากย์

               การร้องเพลง...

                  อันนี้ก็แปลกจังเลยใครเป็นต้นคิด  เห็นเขาประพฤติปฏิบัติกันมานานแสนนาน  นักพากย์หนุ่มๆเสียงดีๆมักร้องเพลงให้คนดูได้ฟังคนละเพลง-ก่อนหนังฉาย บางคน-ร้องสองเพลงก็ยังมี คนดูไม่เห็นว่าอะไร กลับชอบใจไปเสียอีก เพราะได้ดูหนัง แล้วนักพากย์ยังแถมร้องเพลงให้ฟังอีกต่างหาก เงินค่าดูก็ไม่เสียเพิ่ม จึงถือได้ว่าเป็นกำไรของผู้ชม

                แต่ยังมีทีเด็ดยิ่งไปกว่านั้น มีนักพากย์คนหนึ่ง-ไม่หนุ่มหรอก ค่อนข้างจะแก่เสียด้วยซ้ำ ท่านชื่อ "ประภาส สวนขวัญ" อันที่จริง...ท่านเป็นถึงครูบาอาจารย์ คือเป็นครูสอนดนตรีที่กรุงเทพฯ เปิดร้านของท่านเองอยู่แถวบางลำพู มีลูกศิษย์ลูกหาไม่น้อย ท่านมาพากย์หนังกะเขาด้วยและร้องเพลงกะเขาเหมือนกับ อาศัยที่เป็นนักดนตรี ท่านไม่เพียงแต่ครวญเพลงอย่างเดียว ท่านสีไวโอลินคลอไปด้วย จึงมีเสียงดนตรีประกอบเสียงร้องของท่าน จึงนับได้ว่า ท่านมาแปลกแหวกแนว-ก้าวหน้ายิ่งกว่าคนอื่นเขา แม้ว่าเสียงของท่านค่อนข้างจะ "แก่" ไปนิด แต่ของฟรีนี่ครับ ถือเสียว่า...เป็น "น้ำจิ้ม" ก็ดีโขแล้ว

                เรื่องแบบนี้...ผู้เขียนก็เอากะเขาด้วยเหมือนกันคือตอนที่เริ่มพากย์หนังใหม่ๆ-ยังหนุ่มอยู่ เห็นเขาร้อง-ก็พลอยร้องไปกับเขาบ้าง ยิ่งเห็นครูประภาสร้องเพลงคลอไวโอลน ก็อยากจะเลียนแบบนั้นด้วย

                วันหนึ่ง-ที่ภูเก็ต มีเพื่อนที่นั่งสีไวโอลินได้ ผู้เขียนจึงชวนให้เขามาช่วยสีคลอเสียงเพลงให้หน่อย ก็ได้ผลดีพอสมควรคือดีกว่าร้องโหยหวนปากเปล่าไปคนเดียว

                นี่แหละ พฤติกรรมก่อนการพากย์ในสมัยโน้นมีทั้งแอนนาวส์และร้องเพลง คนดูสมัยนั้นเขาก็ไม่ว่าอะไร-ยอมรับกันได้แต่ถ้านำมาใช้สมัยนี้ สงสัยว่า-จะโดนโห่เสียมากกว่า...




(ID:69861)

          ...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์ 

                นักพากย์ไดโนเสาร์

                   คุยเรื่อง...ก่อนพากย์หนัง ตอนที่ 

                การพากย์หนัง... ถ้าพากย์ในโรงภาพยนตร์ ก็ต้องมีห้องพากย์และมีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในห้องครบครัน เป็นต้นว่ามีไมโครโฟนสำหรับรับเสียงมีสวิทช์ตัดเสียงซาวด์-เพื่อตัดเสียงฝรั่งหรือจีนที่กำลังพูดอยู่ แล้วใส่เสียงภาษาไทยของเราเข้าไปแทน เมื่อเราพูดจบก็สับสวิทช์ให้เสียงซาวด์ในฟิล์มดังออกมา ไม่ว่าจะเป็นเสียงปืน-เสียงรถ-เสียงระเบิด นอกจากนั้นยังมีสะแตนสำหรับตั้งบทพากย์ ซึ่งเหมือนๆกับสะแตนตั้งโน้ตเพลงของนักดนตรี ด้านบนของสะแตนที่ตั้งบท มีหลอดไฟส่องสว่างลงมายังบทพากย์ กับมีกริ่งสัญญาณอีกอันหนึ่ง เพื่อกดบอกไปยังห้องฉาย เผื่อมีเหตุฉุกเฉินต่างๆเกิดขึ้น เช่นไฟที่ดูบทเกิดดับ-หรือเสียงซาวด์ไม่ดัง-หรือฉายหนังผิดม้วน...อะไรทำนองนี้และสิ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือ-น้ำ ต้องมีน้ำและแก้วมาตั้งเอาไว้ด้วย-เผื่อคอแห้ง จะได้กลั้วคอหอย อ้อ...ลืมไปอีกอย่าง...กระโถน อันนี้สำคัญ นับเป็นของใช้สารพัดประโยชน์ ใช้บ้วนน้ำลายก็ได้ ใช้รับน้ำล้างหน้า เวลาง่วงก็ได้และบางที-ขอโทษ-บางทีใช้รับฉี่ด้วยถ้าจำเป็นสุดกลั้น   หากว่า..เป็นหนังกลางแปลง คนพากย์จะนั่งพากย์กลางคนดูนั่นเอง

                     คุณเสถียร ศรีวุฒิชาญ เคยเล่าว่า

                 "สมัยโน้น เวลาหนังขายยาเอาหนังมาฉายผมจะต้องไปยืนอยู่ใกล้กับเครื่องฉายและคนพากย์ ผมไม่ได้ดูหนังหรอกแต่ผมดูคนพากย์...ดูเขาให้เสียงพากย์...ดูเขาออกท่าทางเวลาพากย์...สนุกกว่าดูหนังเสียอีก"

               คนดูจะเลือกดูหนังหรือดูคนพากย์ ก็เลือกเอาตามอัธยาศัย ตัวใครตัวมัน

                  อันที่จริง...ห้องพากย์ในโรงควรจะอยู่ติดกับห้องฉาย เผื่อว่ามีเหตุขัดข้องอะไรขึ้นมา  คนพากย์สามารถวิ่งเข้าห้องฉายไปบอกคนฉายได้ทันท่วงที  แต่ก็แปลกอีกนั่นแหละ  คนออกแบบสร้างโรงหนัง คงไม่รู้ว่าจะมีการพากย์และต้องมีห้องพากย์อยู่ด้วย  ดังนั้น..ท่านจึงมักแต่จะเขียนเฉพาะห้องฉายอย่างเดียว  จึงจำต้องมาต่อเติมเสริมแต่ง สร้างกันเอาเองภายหลังทั้งสิ้น ห้องพากย์แทบจะทุกโรง  จึงมักจะอยู่หากจากห้องฉาย ห่างมากบ้าง-ห่างน้อยบ้าง บางโรงก็แปะไว้ข้างห้องฉายเล็กนิดเดียว

                 อย่างเช่นโรง "บ้านดอนภาพยนตร์"ห้องพากย์ดันซุกอยู่ใต้ห้องฉาย คนพากย์ต้องโผล่ออกมาปีนบันไดขึ้นไปหลายขั้นค่อนข้างวุ่นวายเอาการอยู่ ห้องที่ใช้พากย์ห้องนั้น คิดว่า-ดังเดิมคงจะเป็นห้องเก็บของ แล้วมาดัดแปลงให้เป็นห้องพากย์ จึงค่อนข้างอับและอึดอัดพอ สมควร

               ยิ่ง "หาดใหญ่ภาพยนตร์" แล้วยิ่งไปกันใหญ่เลย เพราะไปสร้างห้องพากย์เป็นพิเศษในบริเวณคนดู โดยกั้นเป็นห้องเล็กๆ อยู่ติดริมกำแพงชั้นบน ห่างจากห้องฉายไปคนละโยชน์ ถ้าจำเป็นจะไปห้องฉาย ต้องเดินฝ่าคนดูออกไปจากประตูชั้นบน เดินอ้อมไป แล้วขึ้นบันไดไปอีกหลายขั้น-กว่าจะขึ้นถึงห้องฉาย เมื่อมีเหตุฉุกเฉินทีไร-วุ่นวายทุกที

                ดังนั้น...กริ่งสัญญาณจึงออกจะมีความหมายไม่ใช่เล่น เช่นว่า-คนฉายเกิดนั่งหลับ-ปล่อยให้เตาถ่านดับ คนพากย์ก็ใช้กริ่งนี่แหละกดเป็นสัญญาณปลุก หรือภาพในจอเหลื่อม เห็นภาพข้างล่างครึ่งหนึ่ง ข้างบนขึ้นหนึ่ง มิหนำซ้ำ-หัวของตัวแสดงดันมาห้อยอยู่ข้างล่าง ตีนกลับตาลปัตรขึ้นไปลอยเขว้งอยู่ข้างบน เหล่านี้...นักพากย์ต้องกดกริ่งเตือนเป็นประจำ

                 แต่ถ้าหากว่า...เกิดฉายผิดม้วน-เอาม้วนจบขึ้นมาฉายก่อน คนพากย์ต้องรีบกดกริ่งเป็นระยะยาวนาน แล้วเผ่นออกจากห้องพากย์ วิ่งฝ่าคนดูไปบอกห้องฉาย แล้วช่วยกันค้นหาหนังม้วนที่ถูกต้องกัน ชุลมุน เสร็จแล้วคนพากย์ต้องวิ่งย้อนมาแหวกคนดูกลับเข้าห้องพากย์ใหม่...สนุกดีไม่หยอก

                 พูดเรื่องห้องพากย์ อดที่จะพูดถึงห้องฉายสมัยนั้นไม่ได้

               ก่อนอื่น-ต้องรู้เสียก่อนว่า ฟิล์มที่ใช้ในการฉายในสมัยโน้นไม่เหมือนสมัยนี้ ฟิล์มรุ่นโน้นไวไฟเป็นอย่างยิ่ง พอกระทบไฟหรือความร้อนจัดๆก็จะลุกพรึ่บขึ้นทันทีและจะลามอย่างรวดเร็วเพียงแค่วูบเดียว-ไหม้หมดทั้งม้วนเลย

               คนฉายจึงต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา เพราะการใช้แสงผ่านฟิล์มซึ่งเล็กเท่าหัวแม่มือ ให้ขยายไปปรากฏบนจอซึ่งใหญ่โตมโหฬารไม่รู้กี่แสนเท่านั้น จำต้องใช้แสงแรงกล้าอย่างยิ่ง จึงสามารถขยายภาพเช่นนั้นได้ สมันโน้นใช้เตาถ่าน คือ...ใช้ถ่านตัวผู้กับถ่านตัวเมียจ่อกับให้ห่างพอสมควรโดยใช้ไฟบากกับไฟลบคนละข้างจึงบังเกิดการ ประทุขึ้นเป็นแสงสว่าง คล้ายกับเครื่องเชื่อมโลหะยังไงยังงั้น แต่ในเตาถ่านจะสว่างเท่ากันตลอดเวลาไม่วูบๆวาบๆเหมือนการเชื่อมซึ่งคนฉายจะต้องรักษาระยะของถ่านตัวผู้กับถ่านตัวเมีย ให้อยู่ในระยะกำหนดคงที่ โดยคอยเลื่อนถ่านให้ได้ระยะนั้นๆตลอดเวลา หากถ้าห่างเกินไปหรือชิดเกินไปแสงก็จะดับ จำต้องเริ่มต้นจัดการใหม่อีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากภาพในจอเกิดวูบหายไปชั่วระยะหนึ่ง

               แสงสว่างนี้ร้อนมาก ถ้าเป็นฟิล์มสมัยก่อนโดนแสงซึ่งร้อนจัดนี้เข้า-จะลุกไหม้ทันที ดังนั้น...จึงต้องให้เครื่องฉายเดินฟิล์มจากข้างบนลงล่างตามจังหวะ-หยุดไม่ได้เด็ดขาด ขืนสะดุดหยุดเมื่อไร-ฟิล์มจะไหม้ทันที และจะไม่ไหม้เฉพาะตรงนั้น แต่จะลามอย่างรวดเร็ว ขึ้นไปยังสะปูนใส่ฟิล์มข้างบนและสะปูนที่รองรับฟิล์มด้านล่าง

              คนฉายบางคนนั่งหลับ เพราะขี้เกียจดูหนังที่ฉายซ้ำๆซากนับรอบไม่ถ้วน จึงถือโอกาสพักสายตา แต่พอหนังเกิดสะดุดรอยต่อ หยุดคาประตูเครื่องฉายเสียงดัง "ปั๊บ" เครื่องฉายสะดุดหยุดเดินทันที วินาทีนั้น... ฟิล์มกำลังจะลุกไหม้ คนฉายที่ตายังหลับจะยกมือขึ้นปัดคันบังคับหน้าเตาถ่าน-เสียงดัง "ปัง" เพื่อปิดแสงร้อนจ้าไม่ให้ส่องลอดออกมาจากเตา จากนั้น...ก็ลืมตาขึ้นอย่างเร็ว ตาลีตาลานเปิดประตูเครื่องฉาย เลื่อนฟิล์มให้พ้นรอยต่อที่สะดุด จัดฟิล์มเข้ารูหนามเตย แล้วจึงเดินเครื่องใหม่ ฉายต่อไปตามปกติ...แล้วก็หลับตาต่อไป

              แต่...บางทีก็มีพลาดเหมือนกัน คือช้าไปเพียงเส้นยาแดงผ่าแปด อาจเป็นเพราะประสาทช้าไปนิด-หรือหลับลึกไปหน่อย หรือฟิล์มอาจชราเต็มที ไฟจึงติดวูบขึ้นทันควัน

              ถ้าเป็นเราๆท่านๆ เมื่อเห็นไฟวูบขึ้นมา ก็เห็นจะเผ่นพรวด วิ่งออกจากห้องฉายแทบไม่ทัน แต่...คนฉายสมัยนั้นเก่งประสบการณ์สูงมาก เขามีความสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงทีเขาไม่ตื่นเต้นตกใจ นัยน์ตาจะลืมขึ้นทันที-แม้ไฟจะลุกพรึ่บขึ้นแล้วก็ตามมือทั้งสองข้างจะเอื้อมขึ้นไปฉีกฟิล์มข้างบนออกอย่างรวดเร็ว "แคว่ก" เอื้อมมือลงมาด้านล่างอีก "แคว่ก" แล้วเปิดประตูเครื่องฉายดึงฟิล์มส่วนที่กำลังลุกไหม้ออก-รวดเร็วอย่างนึกไม่ถึง

               ขณะเดียวกันนั้น...ในจอที่คนดูกำลังดูอยู่ ก็จะเห็นไฟแวบหนึ่งเหมือนกัน-เพียงแวบเดียวเองแต่ไม่มีใครตกอกตกใจเพราะว่าเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นเสมอในสมัยนั้น เห็นจะต้องยกย่องชมเชย คนฉายสมัยดึกดำบรรพ์ ท่านเหล่านี้ เพราะห้องฉายสมัยโน้นเล็กนิดเดียว-ร้อนไม่ผิดกับเตาอบ เขายังอุตส่าห์นั่งหลับฉายหนังและแก้ไขสถานการณ์ได้ทันอกทันใจ

              ไม่เหมือนห้องฉายสมัยนี้ ติดแอร์เสียเย็นฉ่ำฟิล์มก็ไหม้ไฟอยากกว่ากันเป็นกอง มิหนำซ้ำเครื่องฉายยังทันสมัยใช้หลอดมีน้ำหล่อเลี้ยง คนฉายสบายกว่ากันเยอะเลย




(ID:69862)

...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์ 

               นักพากย์ไดโนเสาร์

               คุยเรื่อง...ก่อนพากย์หนัง ตอนที่ 

          มีอีกเรื่องหนึ่งที่แปลก-พิสดาร...คนฉายหนังแขนเดียว...ก็มี แทบไม่น่าเชื่องานฉายหนังไม่ใช่เบาๆ เพราะต้องยกหนังขึ้นใส่สะปูนบนเครื่องฉาย-ซึ่งสูงท่วมหัว สมัยไดโนเสาร์-ฉายกันทีละม้วนค่อยพอทำเนา สมัยต่อมา-ควบรวมสองม้วนเข้าด้วยกันเป็นม้วนใหญ่ยิ่งหนักขึ้นไปอีกเป็นสองเท่าคนแขนยังออกแรงยกไม่ค่อยไหวก็แล้วคนที่มีแขนเดียวเล่า จะต้องลำบากลำบนขนาดไหน ?

                 ที่ "หาดใหญ่ภาพยนตร์" มีคนฉายอยู่คนหนึ่งรูปร่างผอมบาง-ตัวเล็ก เขาสามารถใช้มือข้างเดียวยกหนังใส่สะปูน ที่สูงกว่าศีรษะได้อย่างคล่องแคล่ว จากนั้น-เขาใช้มือข้างเดียวนั่นเอง เปิดล็อกประตูเครื่อง ดึงฟิล์มลงมาใส่ลงในร่องหนามเตย-ตัวบน-ตัวกลาง-ตัวล่าง ให้ฟิล์มม้วนไปตามทางเดิน แล้วจึงใช้มือข้างเดียวนั้น จับปลายฟิล์มสอดลงในร่องสะปูน หมุนจนกระทั่งฟิล์มตึง ทั้งหมดนี้-เขาทำด้วยแขนเพียงข้างเดียวด้วยความว่องไวอย่างเหลือเชื่อ

                ต่อจากนั้น...เขาก็ใช้มือข้างเดียวของเขานั้นเอื้อมไปสป๊าร์คถ่านในเตาที่อยู่หลังเครื่องฉาย-สว่างวูบขึ้นมา แล้วจึงเปิดสวิทช์เดินเครื่อง เปิดประตูเตาให้แสงส่องผ่านฟิล์ม-ผ่านเล็นไปยังจองานทุกอย่างเสร็จสรรพด้วยมือข้างเดียวของเขานั้นเอง ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ

                เขาเป็นคนสุภาพเรียบร้อยพูดจามีสัมมาคารวะผิวขาวสะอาด ชอบใส่เสื้อสีขาวเป็นประจำ และเป็นเสื้อแขนยาวด้วย

                เหตุของการมีแขนข้างเดียวนี้ น่าระทึกใจยิ่งเล่ากันว่า เขาเคยทำงานอยู่ที่โรงรีดยางแห่งหนึ่งในหาดใหญ่ อยู่มาวันหนึ่ง-ขณะที่เครื่องจักรกำลังหมุนล้อเหล็กรีดเนื้อยางให้บางและเรียบเขาเผลอตัว-ยั้งมือที่จับยางยื่นเข้าไปไม่ทัน มือข้างนั้นจึงตามแผ่นยางเลื่อนเข้าไปในระหว่างล้อเหล็กที่กำลังหมุนอยู่ ล้อเหล็กทั้งคู่จึงบดทั้งเนื้อยางและบดทั้งเนื้อมือ-เนื้อแขน-รวมทั้งกระดูกด้วย... แหลกละเอียดอยู่ในนั้น

                มือข้างนั้น จึงต้องถูกตัดออกจนเกือบเสมอไหล่ เขาจึงชอบใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดแขนขาดข้างนั้นไว้

               แม้จะพิการเหลือแขนเพียงข้างเดียว แต่เขามิได้ท้อถอยเลย กลับมานะพยายามใช้แขนข้างเดียวที่เหลืออยู่ให้เป็นประโยชน์ เขาทำงานได้ดีเทียบเท่าคนที่มีแขนครบสองข้าง หรืออาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ เขาไม่เคยกังวลต่อความพิการ-ยิ้มแย้มแจ่มใส่-และมีมารยาทเรียบร้อย

              ไหนๆ ก็คุยออกนอกลู่นอกทางแล้ว ก็อยากพาไปพบกับเรื่องน่ารู้-น่าสนใจอีกสักเล็กน้อย

              การเป็นนักพากย์สมัยโน้น ไม่สะดวกสบายเท่าใดนัก ไม่ใช่ว่า-พอถึงเวลาก็เดินขึ้นห้องพากย์ แล้วส่งเสียงผ่านไมโครโฟนไป ออกหน้าจอได้เลย...ม่ายหรอก

              สมัยนั้น...นักพากย์จะต้องหอบหิ้วหนังที่ตัวเองต้องพากย์ติดตัวไปด้วย ต้องขนหนังไปเที่ยวละสองเรื่องเป็นอย่างน้อยบางคนควงถึงสามก็ยังมี

              ทั้งนี้เป็นเพราะว่า การเดินทางในระหว่างสงคราม ไม่สะดวกอย่างยิ่ง ระยะเดินทางก็ไกล ไปพากย์กันทีก็ต้องรอนแรมกันเป็นเดือนๆ รถยนต์รถไฟก็ใช่ว่าจะพึ่งพาได้สะดวก มรบางครั้งที่รถไฟทำพิษ เช่นตามเวลาจะต้องถึงบ่ายโมง กลับโอ้เอ้ศาลารายตลอดทางจึงมาถึงเอาห้าทุ่มสองยามของอีกวันก็ยังมี

              ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหอบหิ้วหนังไปทีละหลายๆเรื่อง เพราะบางครั้งต้องนั่งรอนอนรอเป็นอาทิตย์ กว่าเจ้าของโรงทานจะเมตตาบรรจุเข้าโปรแกรมฉาย บางทีต้องนอนรอเข้าฉายสลับโปรแกรมกับนักพากย์คนอื่น ให้เขาฉายเรื่องหนึ่ง-เราฉายเรื่องหนึ่งแล้วรอไปอีกอาทิตย์กว่าจะได้ฉายอีกเรื่องหนึ่ง สลับกันไปสลับกันมา

              ยิ่งกว่านั้น บางจังหวะจะต้องไปปักหลังรอนาน ถึง ๑๐ วันหรือสองอาทิตย์ก็มี โดยเฉพาะโรงหนังใหญ่ๆอย่างเช่นหาดใหญ่-ภูเก็ต-บ้านดอน เมื่อเป็นเช่นนี้-การหิ้วหนังไปทีละหลายเรื่องจึงมีความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

             ภาชนะ สำหรับใส่กระเป๋าหนังของนักพากย์สมัยนั้น ไม่ใช่กระเป๋าหนังมีหูหิ้วเรียบร้อยเหมือนอย่างสมัยนี้หรอก แต่เป็นถุงกระสอบป่านที่ภาษาปักษ์ใต้เรียกกันว่า "สอบ-ยู่หนี" ซึ่งใช้บรรจุข้าวสารนั่งเอง ถุงหนึ่งบรรจุได้ 2-3 เรื่อง สุดแต่ว่า-จำนวนม้วนของแต่ละเรื่องจะมากน้อยเท่าใด และตอนบนของถุงจะต้องให้เหลือชายกระสอบไว้ให้พอขมวดได้ แล้วจึงใช้เชือกมัดอีกที ที่ชายกระสอบตรงนั้น-ใช้เป็นที่หิ้ว

             น้ำหนักของถุง เมื่อใส่กระป๋องหนังครบแล้วสำหรับคนที่ไม่เคยเป็นจับกังมาก่อน-ย่อมหนักเอาการอยู่ แต่นักพากย์ทุกคนต้องแบกได้... แบกไม่ไหวก็ยกเอา...ยกไม่ไหวก็ต้องลาก

             ครั้งหนึ่ง...โดนเข้ากับตัวผู้เขียนเอง เนื่องจากว่าสะพานรถไฟขาด-ระหว่างสถานีตรัง กับสถานีชุมทางทุ่งสง รถผ่านไม่ได้จำเป็นต้องถ่ายรถ ทางทุ่งสงจัดรถมารับขบวนหนึ่งพร้อมกับนำผู้โดยสารจากทุ่งสงที่จะเดินทางไปตรัง-มาส่งด้วย ทางตรังก็จัดรถมารับและส่งอีกขบวนหนึ่ง ผู้เขียนโดยสารมากับขบวนรถตรัง จะไปพากย์ที่โรงหนังทุ่งสงภาพยนตร์ของคุณยุคุน สุวรรณเดช

                อันที่จริง...ไม่รู้หรอกว่าสะพานขาด จะต้องถ่ายรถ มารู้เอาเมื่อถึงบริเวณนั้นแล้ว  รถสองขบวนจดห่างกันราวๆ ๒๐๐ เมตร คนละฝากสะพาน ผู้โดยสารทั้งสองขบวนต่างพากันหอบหิ้วข้าวของ-ขนย้ายกันชุลมุนวุ่นวาย  ที่มีข้าวของมามาก-ก็แบกหามกันอีรุงตุงนัง

                ผู้เขียนแทบเป็นลม  มีทั้งกระเป๋าเดินทางอีกทั้งมีถุงหนังมาด้วย  จำต้องขนไปให้ถึงขบวนข้างหน้าให้จงได้หนังก็หนักมาก  จะแบกก็ไม่ไหว-ทำได้อย่าเดียวคือลากเอา  มือหนึ่งก็หิ้วกระเป่า  อีกมือหนึ่งก็ลากถุงหนัง  รถไฟก็ช่างใจร้ายเปิดหวูด "วู๊น-วู๊น" เหมือนจะบอกว่า "เร็วเข้าหน่อยโว้ย อั๊วจะไปแล้ว"

               ผู้เขียนหอบแล้วหอบอีก ลากกระสอบหนังกับกระเป๋าเสื้อผ้า วิ่งแข่งกับยายแก่ที่แบกกระสอบหมากทุลักทุเลกระสอบของยายหนักกว่าหนังของเราอีก แต่ยายแกแบกตัวปลิวส่วนเราต้องลากวิ่งโขยกเขยกตามหลังยาย...หอบแฮ่กๆ กว่าจะลากไปถึงขบวนรถก็หน้าเขียว หัวใจแทบวาย เหนื่อยใจจะขาด ก็-จะทำอย่างไรได้นักพากย์สมัยนั้นก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ...ทนลูกเดียว




(ID:69863)

            ...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์ 

                นักพากย์ไดโนเสาร์

                 คุยเรื่อง...ก่อนพากย์หนัง ตอนที่ 

                มีอีกเรื่องหนึ่ง ที่น่าจะคุยให้ฟัง คือเรื่อง...สามล้อ ตอนนั้นสามล้อเป็นพาหนะดีที่สุดของนักพากย์ เพราะรถยนต์-หายากและแพงด้วย รถเมล์ก็ไม่มี จึงทีแต่รถสมาล้อเต็มไปหมดทั้งเมือง สารถีสมาล้อ-จะมารอรับผู้โดยสารอยู่ตามสถานีรถไฟแน่นขนัด

                นักพากย์บางคนมีสามล้อประจำตัวด้วย โดยสารถีเหล่านี้พยายามคบหานักพากย์ที่ตัวชอบ-คอยรับคอยส่งกับเป็นประจำ วิธีที่รู้ว่า-นักพากย์คนนั้นจะมาเมื่อไหร่ ก็ต้องคอยสังเกตดูป้ายโฆษณาหนัง ที่เป็นแผ่นสังกะสี ซึ่งทางโรงจะนำไปตั้งไว้ตามเสาไฟฟ้าเมื่อรู้ว่านักพากย์ขาประจำของตัวเองจะมาถึงวันนี้ ก็ไปสอบถามจากเด็กโรงหนังว่านักพากย์คนนั้นมาจากจังหวัดไหน-มารถขบวนอะไร เพื่อจะได้ไปรอรับ แต่ส่วนมากคนโรงหนังนั้นแหละ ถีบสามล้อเสียเอง และมารอรับทั้งนักพากย์และหนังพร้อมกันด้วย

                เมื่อสารถีรู้ว่า นักพากย์ขาประจำของตัวจะเดินทางมาวันนี้ ก็จะนำสามล้อมารอหน้าสถานี ผู้โดยสารอื่นจะเรียกใช้ก็ไม่ยอมให้บริการ จะรอรับแต่แฟนประจำของตัวเท่านั้น และเมื่อนำตัวนักพากย์ไปส่งที่โรงแรมแล้ว ก็ยังรับหน้าที่นำกระเป๋าหนังไปส่งที่โรงหนังให้อีกด้วย เสร็จแล้ว-ก็นำสามล้อมาจอดรอบริการอยู่ที่หน้าโรงแรม นักพากย์จะเรียกหาใช้สอยอะไรอีกก็ได้ตามสะดวก

                หน้าที่สารถีประจำตัว ก็คือ...คอยรับไปส่งที่โรงหนังตอนจะพากย์ หนังเลิกก็คอยรับกลับมาที่โรงแรม จะไหว้วานไปซื้อหาอะไรก็ได้ทุกอย่าง ว่างๆก็เป็นมัคคุเทศก์-พานักพากย์ไปเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ และแม้กระทั้งบริการพิเศษ ช่วยเลือกเฟ้นหาอีตัวเจ๋งๆ ส่งให้ถึงห้องเสร็จสรรพ-หากต้องการ จึงนับได้ว่า...เป็นทั้งคนขับรถ-เป็นมัคคุเทศก์-เป็นเลขาส่วนตัว-เป็นบ๋อยประจำตัว และเป็นแทบทุกอย่าง

               แต่ว่า...ค่าตอบแทนก็ต้องพอสมน้ำสมเนื้อเช่นกัน เพราะไม่ใช่ของฟรี และสารถีสามล้อก็มีครอบครัวต้องเลี้ยงดูเหมือนกัน

                ขอแถมอีกนิด...สำหรับเรื่องที่เกี่ยวพันถึงนักพากย์ จะว่าเป็นเรื่องสำคัญ-ก็สำคัญไม่เบาเลย นั่นคือเรื่องของการโฆษณาประชาสัมพันธ์

                การที่เราจะก้าวขึ้นบันไดไต่เต่าไปเป็นนักพากย์มีชื่อเสียงได้นั้น จำเป็นเหลือเกินที่เราจะต้องพึ่งพาพนักงานโรงหนังเกือบทุกแผนก-ไม่เว้นแม้กระทั้งคนฉาย เพราะหากไม่ถูกอัธยาศัยกับคนฉายเขาละก็ โดนพี่แกหรี่เสียงพากย์ให้เบาไว้ เราก็ต้องโก่งคอตะโกนพากย์ จนเสียงแหบเสียงแห้ง พากย์เพียงรอบเดียว-เสียงก็เจ๋ง ต้องไปให้หมอช่วยฟื้นฟูลำคอเสียเงินเสียทองโดยใช่เหตุ

                 แต่...ที่สำคัญที่สุด ย่อมหนีไม่พ้น-คนเขียนป้ายและคนโฆษณา เพราะเขาจะเป็นผู้ส่งเสริมให้เราก้าวขึ้นอันดับได้อย่างรวดเร็วทันอกทันใจ

                 คนเขียนป้ายที่รักใคร่ชอบพอกับนักพากย์คนใดก็มักจะเขียนชื่อนักพากย์คนนั้น-สวย-ใหญ่-เห็นชัดถนัดตา

                 เรื่องโฆษณาแบ่งออกเป็นสองสมัย

                 สมัยดึกดำบรรพ์-อย่างที่บอกไว้แต่ต้น เขาเขียนป้ายสังกะสีไปตั้งไว้ตามเสาไฟฟ้า

                 ส่วนการแห่โฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนได้รับรู้นั้น เขาใช้สามล้อเป็นพาหนะ โดยเอาป้ายสังกะสีมาติดไว้ที่ท้ายรถหนึ่งแผ่น เอากลองไปตั้งบนรถสามล้อ ให้เด็กนั่งตีกลองไปตลอดทาง เด็กคนนี้มีสิทธ์ได้ดูหนังฟรีสำหรับคืนนั้น คนขี่สามล้อรถแห่มักเป็นคนงานประจำตอนเช้านำป้ายไปวางทั่งเมือง ตอนเย็น-เก็บป้ายกับไปล้าง รอให้ช่างเขียนเขียนโปรแกรมใหม่ บางเมืองสนุกกว่านั้นเช่นที่บ้านดอนภาพยนตร์ จะโฆษณาด้วยการใช้รถสามล้อสามสี่คันบรรทุกกลองและคนตี-หนึ่งคัน คนเป่าทรัมเป็ต-หนึ่งคัน คนเป่าคาริเนต-หนึ่งคัน ช่วยกันเป่าแตรตีกลองแห่แหนไปรอบเมือง ทั้งตลาดบนตลาดล่าง-เป็นประจำทุกวัน

                 สมัยต่อมา บ้านเมืองเจริญขึ้น จึงมีอุปกรณ์โฆษณา เกิดขึ้นหลายอย่าง การโฆษณาจึงปรับปรุงให้ทันสมัยยิ่งขึ้นไปอีก

                 การเขียนป้าย...ก็เลิกเขียนป้ายสังกะสีไปติดตั้งตามเสาไฟฟ้า เปลี่ยนมาเป็นเขียนภาพบนผืนผ้า-ตีกรอบขนาดใหญ่นำไปติดตั้งตามสี่แยก ส่วนที่หน้าโรงก็เปลี่ยนจากเขียนด้วยสีฝุ่นบนสังกะสีแผ่นใหญ่ เปลี่ยนเป็นป้ายพลาสติก นำตัวหนังสือขึ้นไปห้อยไว้เป็นตัวๆ ยกเว้นชื่อคนพากย์ ยังคงใช้ไม้อัดเขียนตัวโตๆ นำไปแขวนไว้แทนตัวหนังสือพลาสติก เพราะชื่อคนพากย์เป็นเครื่องหมายการค้าที่จะดึงดูดผู้ชม จำเป็นต้องให้เด่นเป็นพิเศษเข้าไว้

                  การประกาศโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ชมได้รับรู้ ก็เปลี่ยนให้ทันสมันขึ้น เพราะเริ่มมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กเข้ามาจำหน่ายแล้วจึงนำรถปิกอับมาปรับปรุงให้เป็นรถแห่แทนสามล้อโดยเขียนป้ายชื่อและรูปของหนังเรื่องนั้นๆติดไว้สองข้างรถ แล้วติดหลอดไฟฟ้าประดับไว้โดยรอบตัวป้ายและตัวรถ เพื่อแห่โฆษณาไปในตอนกลางคืนอีกด้วย แต่กลางคืนไม่ใช้เสียง มีแต่แสงไฟอย่างเดียวจากนั้น...นำลำโพงฮอน ติดไว้บนหลังคารถด้านหน้า นำเครื่องขยายเสียงตั้งไว้ในตัวรถ...เป็นอันเสร็จพิธี

                ตอนแรกๆ ยังไม่มีการผลิตเครื่องเทปมาขาย จึงต้องใช้โฆษกพูดใส่ไมโครโฟน ป่าวประกาศสรรพคุณของภาพยนตร์ที่จะฉาย-ผู้แสดง-บริษัทที่สร้าง และจุดสำคัญก็คือ-นักพากย์โฆษกต้องโม้เก่ง พูดฉอดๆเป็นน้ำไหลไฟดับ พยายามโน้มน้าวให้คนดูตื่นเต้นเร้าใจจนทนไม่ไหว เกิดความกระสันอยากจะดูภาพยนตร์เรื่องนั้นและอายกฟังนักพากย์คนนั้นพากย์-ใจจะขาดรอนๆ

               แต่ถ้าหากว่า ท่านโฆษกเกิดไม่กินเส้นกับนักพากย์คนนั้นละก็...ซวยเละเลย เพราะ...พี่แกจะแอบจอดรถตามซอยลึกที่ไม่มีคนสังเกตพบเห็น หยุดการโฆษณาชั่วคราว-แล้วนอนหลับพักผ่อนเก็บแรงไว้ใช้ในกิจการอื่น...แบบนี้ก็มีเหมือนกัน

              ฉะนั้น...จึงมีความจำเป็นที่นักพากย์จะต้องหมั่นคบหาสมาคมพนักงานโรงหนังเป็นมิตรไว้เสมอ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก้ตัว เองในอันที่จะก้าวขึ้นไปสู่การมีชื่อเสียง เผื่อจะมีโอกาสได้ครองอันดับต้นๆ ของบรรดานักพากย์ทั้งหลาย

              นี่เป็น "รถแห่"อีกแบบหนึ่ง ทำได้เก๋มาก ลงทุนสร้างเป็นบ้านหลังย่อมๆ นำขึ้นไปวางคร่อมบนรถปิกอับ แถมยังเขียนภาพดาราให้โผล่หน้าออกมาจากหน้าต่างซะด้วย นับเป็นการโฆษณาที่ออกจะแปลกแหวกแนว ซึ่งนานๆจะได้เจอสักครั้ง

              อ้อ...ลืมบุคคลสำคัญไปอีกรายหนึ่ง คนนี้ก็มีสำคัญไม่เบาเหมือนกัน เขาคือเจ้าของ-ผู้จัดการสายหนัง หรือที่เราเรียกกันว่า "บริการหนัง" นักพากย์วันใดจะรุ่งหรือจะร่วง ย่อมขึ้นอยู่กับคนนี้แน่นอน กล่าวคือ...หากว่าท่านเจ้าของบริการจ่ายหนังดีเด่นชั้นหนึ่งให้เราพากย์สักสองสามเรื่อง ไม่ช้าไม่นาน-เราจะเป็นที่รู้จักมักคุ้นของคนดูทั่วทุกจังหวัดเป็นอย่างดี

                แต่...ตรงกันข้าม ถ้าหากกะเกณฑ์ให้เราพากย์แต่หนังห่วยๆ-ชนิดที่ไม่เอาอ่าว-ไม่มีคนนิยมชมชอบ ไปพากย์เมืองไหนมีแต่คนดูส่ายหน้าหาคนดูไม่เจอ ย่อมเป็นที่แน่นอนอย่างยิ่งว่า เราต้องติดอันดับนักพากย์บ๊วยอยู่ตลอดการเช่นนั้น

               ดันนั้น...การจีบ-การเอาอกเอาใจ และการเดินตามก้นผู้จัดการต้อยๆ จึงมีให้เห็นกับเป็นประจำ




(ID:69867)

...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์ 

              นักพากย์ไดโนเสาร์

              คุยเรื่อง...การพากย์ ตอนที่ ๑

                 ถ้าจะให้เล่าถึงเรื่องการพากย์หนัง ในสมัยไดโนเสาร์ละก็...เรื่องมันยาว น่าจะเก็บเอาไว้พูดกันตอนหลังจะเข้าทีกว่า

                สำหลับตอนนี้ จะขอเล่าถึงการพากย์หนังในสมัยนี้เสียก่อน-เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ ท่านคงทราบแล้ว ในสมัยโบราณ เขาพากย์เดี่ยวคนเดียว แล้วสมัยต่อมาก็มีพากย์คู่-สองคน เป็นชายหนึ่ง-หญิงหนึ่ง แต่สมัยนี้ เขาพากย์กันเป็นคณะ-เป็นทีมๆ ละ๕-๖คน แบ่งตัวกันรับผิดชอบ-คนต่อคน หรือถ้าบางคนมีบทน้อยก็ให้พากย์ตัวประกอบเพิ่มอีกต่างหาก ด้วยความสนใจใคร่รู้ ผู้เขียนจึงแอบไปถามท่านผู้รู้ว่า สมัยนี้เขาพากย์กันอย่างไรก็ได้รับคำตอบดังนี้...

 การซ้อมหนังเขาทำกันอย่างไร ?

                 -ไม่มี ไม่มีการซ้อมเพราะเสียเวลามาก สมัยนี้ เวลาเป็นเงินเป็นทอง แต่ละคนมีกิจกรรมของตน เวลาจึงมีจำกัดมาถึงก็ลงมือกันเลย

อ่านบทมาล่วงหน้าก่อนหรือเปล่า ?

                  -ไม่ต้องดูหรอก มาถึงก็รับบทที่นี่ บางคนก็อ่านบ้าง ระหว่างที่คอยเพื่อน บางคนไม่ต้องอ่านเลย ไปอ่านเอาตอนลงเสียงพากย์ อ่านไป ออกเสียงไป

หนังเรื่องที่จะบันทึกเสียง ต้องดูก่อนหรือเปล่า ?

                -ไม่ต้องดูหรอกเวลามีจำกัด

มาพร้อม ก็พากย์เลยหรือ ?

                 -ใช่

เมื่ออัดแล้ว เกิดพูดผิดล่ะไม่เสียหายทั้งเรื่องหรือ ?

                -ไม่หรอก ผิดตรงไหนก็หยุดเทป-ย้อนกลับแล้ว "ให้เสียง" อัดเข้าใหม่ แก้เฉพาะตอนที่ผิดเท่านั้นง่ายมาก-ช่างอัดเขาชำนาญ

เวลาอัดเสียงลงเทป เขาทำยังไงมั่ง ?

                -ก็...แต่ละคน เอาหูฟังสวมหู-คนละชุด ซึ่งในหูฟังจะมีเสียงซาวด์จากในฟิล์ม หนังฝรั่ง หนังจีนก็เสียงจีน

จะต้องฟังเสียงฝรั่งเสียงจีนไปทำไมด้วย ?

                  -ก็เพื่อสะดวกในการให้เสียงไงเล่า คือ-เสียงที่ปรากฏในหูฟังนั้น จะออกมาเร็วกว่าตัวแสดงอ้าปากนิดหนึ่ง เพื่อเตือนผู้ให้เสียงรู้ล่วงหน้าว่า ตัวแสดงจะพูดแล้วนะ ผู้ให้เสียงก็จะออกเสียงไปทันทีซึ่งจะพอดีกับจังหวะที่ผู้แสดงในห้องอ้าปากพูด การให้เสียงก็จะง่ายเข้า และตรงกับปากตัวแสดงพูดด้วย

งั้น...เสียงพูดในหูฟังประโยคนั้นก็จะหยุดก่อนปากตัวแสดงอ้า-นิดหนึ่งใช่ไหม ?

                  -ใช่...ก็เป็นสัญญาณบอกให้ผู้ให้เสียง หยุดคำพูดประโยคนั้นได้แล้วไม่เช่นนั้นจะยั้งคำพูดไว้ไม่ทัน เสียงพูก็จะเกินเลยไป

อัดเสียง เรื่องละกี่ชั่วโมง ?

                  -ราวสองชั่วโมง-ถ้าไม่แก้ไขมาก แต่ถ้าผิดแยะอาจจะยืดไปถึงสามชั่วโมง แต่บางที-จะแกไขเฉพาะคนที่ผิดเท่านั้น คนอื่นกลับบ้านได้

                 ฟังเขาเล่าถึงการให้เสียงลงฟิล์มสมัยนี้แล้วพวกนักพากย์ไดโนเสาร์หน้าซีด-ตกใจกลัว เพราะพฤติกรรมที่ตัวเองเคยปฏิบัติในสมัยโน้น ตรงกันข้ามกันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

                 เอาไว้ตอนหลังๆ จะเล่าให้ฟังว่า นักพากย์ไดโนเสาร์ทั้งหลายเขาพากย์กันอย่างไร ? แต่ตอนนี้...จะขอเล่าถึงความน่าพิศวงของ "ผู้ให้เสียง" สมัยปัจจุบันนี้ก่อน ว่าเขามีปฏิบัติการที่ทันสมัยอย่างไรบ้าง ? ก็...อย่างที่บอกไว้แล้วว่า ผู้ให้เสียงที่มีชื่อเสียงแต่ละคนมีเวลาว่างไม่พร้อมกัน จึงได้คิดหาวิธีอัดเสียงแบบใหม่ ที่ผู้ให้เสียงแต่ละคน ไม่ต้องมานั่งให้เสียงพร้อมกัน-ก็สามารถทำได้ ใครมีเวลาว่างตอนไหนพร้อมที่จะมาอัดเสียงเฉพาะบทของตัวเอาไว้ก่อน-ก็ทำได้หากมีการผิดพลาดตรงไหนก็แก้ไขกันเดี่ยวนั้นเลย-แก้เฉพาะบทที่ตัวเองให้เสียงขณะนั้น ซึ่งจะแก้ไขซ้ำไปซ้ำมาสักกี่หนก็ย่อมได้ แก้ไปจนกว่าจะเรียบร้อย

                    แบบนี้ ก็เป็นวิธีการที่ดีเหมือนกันประการแรก ก็คือ คนอื่นไม่ต้องเสียเวลานั่งคอยให้คนที่ให้เสียงผิด-แก้ไขที่ผิดพลาด ประการที่สอง...มีเวลาว่างเมื่อไหรก็นัดช่างอัดเสียง แล้วมาอัดบทของตัวเองในวันนั้นเวลานั้น พออัดเสร็จก็กลับบ้านได้เลย เรียกกันตรงๆว่า...ตัวใครตัวมัน

                    นี่ละ...การให้เสียงอัดเทปในสมัยปัจจุบันนี้ซึ่งแสนสะดวกสบายง่ายดายผิดกับสมัยโน้นลิบลับ-ยิ่งกว่าฟ้ากับดิน

                    อยากขอทำความเข้าใจ เรื่องศัพท์ที่ใช้เรียกการพากย์หรือการให้เสียงเสียก่อน คนอื่นจะเข้าใจอย่างใดก็สุดแท้แต่ ส่วนความเข้าใจของผู้เขียน ขอแยกแยะความหมาย ดังต่อไปนี้




(ID:69868)

           ...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์ 

              นักพากย์ไดโนเสาร์

               คุยเรื่อง...การพากย์ ตอนที่ ๒

                  อยากขอทำความเข้าใจ เรื่องศัพท์ที่ใช้เรียกการพากย์หรือการให้เสียงเสียก่อน คนอื่นจะเข้าใจอย่างใดก็สุดแท้แต่ ส่วนความเข้าใจของผู้เขียน ขอแยกแยะความหมาย ดังต่อไปนี้

                 "การให้เสียง" คือ...การออกเสียงแทนตัวแสดงในฟิล์มอย่างตรงไปตรงมา ตัวแสดงในฟิล์มอ้าปากพูดเมื่อใดผู้ให้เสียงก็ออกเสียงไปตามปากที่พูดเมื่อนั้น โดยผู้ให้เสียงไม่ต้องแสดงความคิดเห็นใดๆเพิ่มเติมอีกเลย ถ้าตัวแสดงไม่พูด-ผู้ให้เสียงก็ไม่พูดเช่นกัน

                  "การพากย์" คือ การเล่าเรื่องราวหนังเรื่องนั้นๆ ให้คนดูฟัง-เหมือนๆกับการเล่านิทาน โดยนักพากย์จะพูดแทนตัวแสดงในหนัง พร้อมทั้งบรรยายเรื่องประกอบไปด้วย แถมบรรยายถึงความรู้สึกของตัวแสดง ว่าตรงนั้นคิดอย่างไร-ตรงนี้ทำทำไม ? ซึ่งอาจบรรยายด้วยคำพูด หรือบรรยายด้วยบทกลอน เป็นต้นว่า-ขับเสภาประกอบภาพ...

                  การพากย์...จึงเป็นเทคนิคพิเศษ นอกเหนือไปจากการให้เสียงไปตามปากผู้แสดง เป็นการ "เพิ่ม"ความบันเทิงแก่คนดูมากขึ้น เพราะการพากย์เปรียบเสมือนการเล่าเรื่องให้ฟัง คอยอธิบายให้คนดูได้เข้าใจเรื่องที่ดำเนินอยู่อย่างชัดเจน แบบว่า-พอดูหนังจบ ก็รู้เรื่องตลอดทั้งเรื่อง ผิดกับการ "ให้เสียง"ในสมัยนี้ ซึ้งดูหนังไปจนจบเรื่องแล้วยังไม่ค่อยจะรู้เรื่องสักเท่าไร

                  น่าเสียดาย บัดนี้-การพากย์แบบเก่า-แบบเล่าเรื่องเล่านิทาน ได้หายสาบสูญไปจากวงการหมดแล้ว จะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็แต่ผลงานเก่าๆ ของนักพากย์ไดโนเสาร์ทั้งหลาย ด้วยการบันทึกเสียงลงวีดีโอเก็บเอาไว้  และเป็นที่น่ายินดีที่ทราบว่า "ก้องฟ้า" นักพากย์เก่าผู้หนึ่งซึ่งบัดนี้เป็นเจ้าของห้องอัดเสียง และเป็นนักพากย์นำทีมได้รวบรวมผลงานของนักพากย์ไดโนเสาร์ไว้เป็นจำนวนมาก โดยรวบรวมจากนักพากย์ทุกภาคเท่าที่จะเสาะหามาได้ และคิดจะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นในอนาคตด้วย

                "ศุภชัย" ก็อีกราย ได้ไปเสาะหาเสียงพากย์ของผู้เขียน แล้วก่อตั้ง "ขัยเจริญแฟนคลับ" สำหรับท่านที่ยังสนใจเสียงพากย์ดั้งเดิม เพื่อเป็นการอนุรักษ์เสียงพากย์สมัยนั้นเอาไว้ไม่ให้สูญหายแล้วยังนัดพบปะสนทนากันถึงความหลังเมื่อครั้งกระโน้นเป็นที่สนุกสนาน นอกเรื่องไปหน่อยแล้ว ขอกลับเข้าที่เดิม

                ผู้เขียนจะขอเล่าถึงแต่เฉพาะการ "พากย์หนัง" ตามความหมายข้างต้นเพียงอย่างเดียว เพราะอย่างอื่นไม่สันทัด

                เริ่มแรกเดิมที การพากย์หนังในสมัยดึกดำบรรพ์ เท่าที่ได้ทราบมา มิได้ใช้อุปกรณ์ขยายเสียงสะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ หรือสมัยไหนกล่าวคือไม่ได้พูดผ่านไมโครโฟน-ผ่านเครื่องขยายเสียง-ไปออกลำโพงอย่างเช่นที่เราเห็นกันอยู่ หากแต่ว่า...ท่านพากย์ให้คนดูฟังโดยอาศัย...

                 -โทรโข่ง-ดังมีคำบันทึกไว้ถึงการริเริ่มพากย์หนังเป็นครั้งแรกในประเทศไทยว่า...

                 "ระยะนั้น...มีชาวฮินดูนำหนังแขกเข้ามาคือ เรื่อง "รามเกียรติ์" และได้นำเสนอให้บริษัทสยามซินิมาฉายที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร

                 ที่ประชุมของบริษัทได้ปรึกษาหารือกัน ตกลงที่จะฉายเรื่อง "รามเกียรติ์" มีคนเสนอในที่ประชุมว่า ควรจะให้มีการให้เสียงพากย์เป็นภาษาไทยด้วย เพื่อคนดูจะได้รู้เรื่อง

                การพากย์ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน และไม่ใช่ของง่าย จึงมองหาตัวผู้ที่จะรับทำหน้าที่ๆแปลกและใหม่นี้ มีผู้เสนอว่า นายสิน สีบุญเรือง น่าจะรับทำหน้าที่นี้ได้ เนื่องจากนายสินเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับงานหนังและละคร มีอารมณ์ตลกคะนอง-ร้องรำทำเพลง ซึ้งไม่มีใครในบริษัททำแบบนั้นได้ ที่ประชุมจึงตกลงให้ นายสิน สีบุญเรือง รับหน้าที่นี้ ซึ่งเป็นจังหวะที่นายสินนำคณะละครเร่ กลับสู่พระนครพอดีจึงมีการประเดิมเริ่มแรก ของงาน... "พากย์หนัง" ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หนังที่พากย์คือ "รามเกียรติ์ ตอน ศึกไมยราพณ์" พากย์โดย "ทิดเขียว" ฉายที่โรงภาพยนตร์ "พัฒนากร" สามแยก การพากย์ภาพยนตร์เบิกโรงของ "ทิดเขียว" เป็นการพากย์สดแบบพากย์โขนโดยใช้เสียงพูดเข้าไปใน "โทงโข่ง" ตะโกนไปยังคนดู

                ด้วยจุดกำเนิด "การพากย์" ของ "ทิดเขียว" ในครั้งกระนั้น จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาไม่ว่าหนังแขก-หนังจีน-หนังฝรั่ง จะนำพากย์โดย "ทิดเขียว" ผู้คนก็แห่กันมาดูเนืองแน่น หนังเรื่องที่ "ทิดเขียว" พากย์เหนื่อยที่สุด คือ เรื่อง "อาบูหะซัน"เพราะมีมากมายหลายรสทั้งบทรัก-บทโศก ร้องไห้บ้าง-หัวเราะบ้าง บางตอนก็ดุดันเกรี้ยวกราด พอพากย์จบโปรแกรม "ทิดเขียว" ก็ล้มเจ็บต้องนอนพักฟื้นอยู่หลายวัน เห็นไหมครับ...การพากย์หนังในครั้งดึกดำบรรพ์ สุดแสนจะทารุณสาหัสสากรรจ์เพียงไร ?

               คนพากย์ต้องไปยืนถือโทรโข่ง ส่งเสียงโวยวายอยู่ข้างจอหนัง จะพูดเบาๆกระซิบกระซาบก็ไม่ได้ เพราะโรงหนังไม่ใช่เล็กๆ และคนดูก็ไม่ใช่น้อยๆ ก็ต้องแหกปากพากย์กันนั่นแหละจึงจะได้ยินทั่วถึงกัน แต่ยังนับว่าเป็นบุญอยู่บ้าง ที่สมัยนั้นมีการฉายเพียงรอบกลางคือเพียงรอบเดียว ถ้าขืนฉายวันละ๑๐รอบเหมือนทุกวันนี้พากย์แค่วันเดียวก็หามไปวัดได้เลย




(ID:69869)

       ...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์ 

                นักพากย์ไดโนเสาร์

                 คุยเรื่อง...การพากย์ ตอนที่ ๓

                การพากย์สมัยเริ่มแรกด้วยโทรโข่ง พอจะทราบกันไปแล้ว คราวนี้-ก็ถึงวาระของการพากย์ในสมัยต่อมา ซึ่งได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ

                   ก็อย่างที่ว่าไว้...การพากย์หนังก็เหมือนกับการเล่านิทาน แต่คนเล่าจะต้องรู้เรื่องมากกว่าคนฟัง และคนเล่าจะต้องพยายามเล่าให้คนฟังรู้เรื่อง และเข้าใจเรื่องได้ด้วย...นี่คือหลักการ

                    การที่คนเล่าจะรู้เรื่องละเอียดลออได้นั้น ก็เห็นจะมีเพียงวิธีเดียว คือได้ดูหนังเรื่องนั้นๆเสียก่อน และการที่จะเล่าให้ถูกต้องกันทุกรอบ-ทุกคืน ก็จำต้องมีบทพากย์ไว้ใช้เป็นมาตรฐาน

                 บทพากย์ที่มีมาพร้อมกับหนัง ส่วนใหญ่มีสำนวนเป็นฝรั่ง นักพากย์ส่วนใหญ่จึงต้องนำบทพากย์สำนวนฝรั่งมาดัดแปลงให้เป็นสำนวนไทยๆ แล้วเสริมด้วยสำนวนท้องถิ่นอีกต่างหากพากย์ที่อีสานก็เพิ่มสำนวนอีสาน พากย์ที่ปักษ์ใต้-ปักษ์เหนือก็เพิ่มสำนวนท้องถิ่นนั้นๆเข้าไปด้วย นอกเหนือจากคำพูดที่ตัวแสดงเจรจากันแล้วยังจะต้องเพิ่มการบรรยายความ-เสริมเข้าไปอีก เพื่อให้คนดูรู้เรื่องปะติดปะต่อและเข้าใจเนื้อเรื่องได้อย่างถ่องแท้

                 การบรรยายจึงนับเป็นส่วนหนึ่งของการพากย์ที่มีความสำคัญไม่น้อย นอกจากการบรรยายด้วยคำพูดแล้ว ในบางสมัยยังมีการขับเสภาเสริมเข้าไปอีก เพื่อบรรยายความรู้สึกของผู้แสดงให้ผู้ชมได้ประทับใจยิ่งขึ้น การขับเสภามักใช้กับหนังโศก ซึ่งโดยมากจะเป็นหนังจีน คนพากย์ที่ขับเสภาได้ไพเราะ จะทำให้คนดูน้ำตาไหลได้ง่ายๆ

                ดังนั้น...การพากย์จึงไม่ใช่เพียงการ "ให้เสียง" เพียงอย่างเดียว ต้องพูดแทนตัวแสดง ต้องอธิบายเหตุการณ์ ต้องขับเสภา ต้องบรรยายความรู้สึกตัวแสดง... อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นการพากย์ฉบับสมบูรณ์

                การดัดแปลงบทและเสริมคำบรรยาย ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันง่ายๆ สำหรับผู้เขียน-เมื่อทราบว่าจะได้พากย์หนังเรื่องใดก็จะ ต้องสืบเสาะหาเรื่องนั้นๆมาอ่านให้เข้าใจเสียก่อน เช่นพากย์เรื่อง "ซูสีไทเฮา" ก็ต้องอ่านหนังสือของหม่อมคึกฤทธิ์ พากย์เรื่อง "คานธี" ก็เสาะหาหนังสือเรื่องท่านคานธีมาอ่านเพื่อจะได้เข้าใจเนื้อแท้ของคานธี แล้วนำความเข้าใจนั้นมาบรรยายภาพเป็นจังหวะๆ เพื่อให้คนดูรู้ซึ้งถึงแก่นของเรื่อง ยิ่งจะพากย์หนังเกี่ยวกับศาสนา อาทิเช่น...เรื่อง "บัญญัติสิบประการ"-"เบนเฮอร์"-"อภินิหารเสื้อคลุม" อะไรๆเทือกนี้ ผู้เขียนต้องกลับไปหาครูบาอาจารย์จากโรงเรียนคริสต์-ที่ผู้เขียนเข้าไปร่ำเรียน เพื่อจะถามไถ่ให้ได้เบื้องลึก นามดัดแปลงบทเดิม และเพิ่มคำบรรยายเข้าไปด้วย

                 ดังนั้น...การทำบทพากย์ของผู้เขียนจึงหนักและเหนื่อยยิ่งกว่าการพากย์เสียอีก แต่ก็จำเป็นต้องทำ ถ้าเราอยากจะได้งานที่ออกมาสมบูรณ์แบบ

                 เมื่อได้ดัดแปลงบทและคำบรรยายที่เข้าใจว่าดีแล้ว แต่นั่น...ก็เป็นเพียงความเข้าใจของเราการที่จะทำให้การพากย์เป็นที่เรียบร้อยไม่ผิดพลาดหรือให้ผิดพลาดน้อยที่สุด ก็ต้องซ้อมบทไปกับหนังที่ฉาย และการซ้อมก็ไม่ใช่เพียงครั้งเดียวพอ แต่จะต้อง...

                ซ้อมหนแรก จับหน้าหนัง เพื่อให้รู้ว่า คำพูดที่ออกจากปากตัวแสดง ตรงกับในบทที่เราทำหรือไม่ ถ้าสั้นไป-ก็เติมคำเพิ่มอีก ถ้ายาวไปก็ตัดให้สั้นลง ตัวแสดงพูดใกล้ไกล เห็นตัวหรือได้ยิน แต่เสียงก็ทำเครื่องหมายลงไป ตรงไหนมีช่องว่างที่ตัวแสดงไม่เจรจากันก็ถือโอกาสจับเวลาช่วงนั้น หนึ่งนาทีหรือ ๒-๓ นาที เพื่อกลับไปเขียนคำบรรยายลงตรงนั้น เพื่อเล่าให้คนดูเข้าใจเรื่องอย่างแจ่มแจ้ง

               ซ้อมหนังเสร็จ-กลับไปถึงโรงแรม ใช่ว่าจะได้พักยังต้องใช้เวลานั้น แก้ไขความผิดที่บันทึกไว้ และเขียนคำบรรยายตามช่วงเวลาที่จับเอาไว้

                ซ้อมหนที่สอง...คราวนี้เริ่มพูดตามบทพากย์ใส่เสียงเข้าไมโครโฟนเบาๆ เพื่อจับจังหวะที่แก้ไขไว้นั้นเรียบร้อยลงตัวหรือไม่ ซึ่งย่อมต้องมีบกพร่องอยู่อีกบ้างเป็นธรรมดา ก็แก้ไขเพิ่มเติมไปอีก

                ซ้อมหนที่สาม...ซ้อมใหญ่ก็เหมือนกับการออกโรงจริง-พากย์จริง เพื่อจับเสียงตัวเองว่า ที่ออกเสียงไปนั้นเหมาะกับตัวแสดงแต่ละตัวที่ตั้งใจไว้หรือไม่ เสียงพระเอกต้องยืนเสียงนี้ทั้งเรื่อง จะผิดเพี้ยนไปไม่ได้ เสียงตัวโกง.เสียงพ่อ.เสียงแม่ ก็ต้องแยกแยะไม่ให้คล้ายคลึงกัน

                การจะพากย์ให้ได้ผลดี ย่อมต้องทำเช่นนี้ทุกครั้งไป ต้องอดทนซ้อมหนัง-ซ้อมเรื่องละสมาสี่ครั้ง ซึ่งทางโรงก็ยินดีให้การสนับสนุนเต็มที่ไม่บ่น-ไม่ว่า ถึงแม้ว่า...เขาจะต้องเสียเบี้ยเลี้ยงให้คนงานห้องฉาย ต้องเสียค่าถ่านฉายเพิ่มขึ้น และเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยก็ตามเพราะเขาแน่ใจว่า ถ้าเราพากย์ออกมาดีที่สุด เขาก็โกยเงินมากที่สุดเช่นกัน

              เริ่มการซ้อมหนัง นักพากย์แต่ละคนซ้อมไม่เหมือนกันคุณอุดม  สุนทรจามร เคยเล่าเอาไว้ว่า...

              "วันหนึ่ง...ผมพบกับพี่เสนาะ ศรีพยัคฆ์ ซึ่งสามีเป็นนักหนังสือพิมพ์          ชื่อหอม นิลรัตน์ นามปากกาว่า "คุณฉิม" คิดจะเอาหนังฝรั่งมาทำบทพากย์ไทย นักพากย์ผู้หญิงมีพี่เหนาะผู้เป็นภรรยาอยู่แล้ว ยังขาดนักพากย์ผู้ชาย ลุงหอมเลยจับผมมาหัดพากย์ด้วย การบังคับผมก็เลยต้องจำยอม ขึ้นพากย์ครั้งแรกในชีวิต คือเฉลิมกรุง หนังฝรั่งเรื่องนั้นชื่อไทยว่า "ศาตราจารย์รัก" ตอนนั้นเป็นยามสงครามสมัยที่ญี่ปุ่นบุกไทย ไม่มีหนังฝรั่งเข้ามาต้องคัดเลือกหนังที่มีอยู่มาทำบทพากย์ไทย ผมซ้อมหนังเรื่องนั้นอยู่เกือบสิบวัน..."

                การพากย์ครั้งแรกในชีวิต นักพากย์ทุกคนมักจะเป็นอย่างนี้เสมอ คือต้องซ้อมแล้วซ้อมอีกจนมั่นใจว่าจะไม่ผิดพลาดซึ่งย่อมหมายถึงอนาคตของตัวเอง-จะรุ่งหรือจะร่วง นอกจากการพากย์แล้ว ผู้เขียนคิดว่า คำบรรยายมีส่วนสำคัญที่จะเน้นให้หนังเรื่องนั้นๆมีคุณค่าเพิ่มขึ้น

                คำบรรยายจะช่วยให้ผู้ชม ไม่ต้องใช้สมองคิดมากเพราะ คนพากย์จะชี้แจงให้เข้าใจเรื่องราวเป็นขั้นเป็นตอนไปจนจบเรื่อง




(ID:69872)

...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์ 

              นักพากย์ไดโนเสาร์

                คุยเรื่อง...การพากย์ ตอนที่ ๔

                     จะขอยกตัวอย่างให้ทราบว่า คำบรรยายมีอิทธิพลต่อหนังอย่างไรบ้าง ?

                    ต่อจากนี้เป็นตัวอย่างคำบรรยายจากเรื่อง

                                       "เอลซิด"

                เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า...

                พระเอกยกทับไปปราบพวกมัวร์ได้สำเร็จนำชัยชนะกลับมา พระราชาจึงยกนางเอกให้เป็นรางวัลแก่พระเอก

                พ่อนางเอกประณามพระเอก ต่อหน้าพระราชาว่าเป็น "ไอ้กบฏ" เพราะปล่อยพวกมัวร์ไป ๕ คนพ่อพระเอกโต้กลับว่า "ไอ้โกหก" พ่อนางเอกโมโหจึงตบหน้าพ่อพระเอกกลางท้องพระโรงพระเอกวิงวอนขอร้อง ขอให้พ่อนางเอกเอ่ยปาก "ขอโทษ" เพียงคำเดียวเรื่อก็จะเลิกแล้วกันไป แต่พ่อนางเอกกลับตอบว่า "ข้าพูดไม่ได้ และข้าจะไม่พูด" พระเอกจึงธำรงศักดิ์ศรีของพ่อ ท้าว่า "เกิดเป็นชายหากไร้เกียรติ จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ?" ทั้งคู่จึงดวนมีดกันเพื่อศักดิ์ศรีของตระกูล พ่อนางเอกพลาดท่า ถูกพระเอกแทงตาย ก่อนตาย...พ่อนางเอกบอกลูกสาวว่า "แก้แค้นแทนพ่อ จงล้างแค้นแทนพ่อเยี่ยงลูกชาย...ล้างแค้นแทนพ่อสาบานซี" แต่พิธีสมรส ได้จัดขึ้นตามรับสั่งไม่เปลี่ยนแปลง นางเอกจึงต้องแต่งงานเป็นเมียพระเอก ในงานเลี้ยงมีคำบรรยายขำๆว่า

                              เพื่อนฝูงต่างพากัน...กินเป็ดกินไก่

                      แต่เจ้าสาวมองเจ้าบ่าวเหมือนจะ...กินเลือดกินเนื้อ

                 ต่อมา-มีตอนหนึ่งนางเอกทรุดตัวลงร้องไห้สะอึกสะอื้นเป็นวรรคเป็นเวร-เป็นเวลานาน จึงเป็นช่วงเวลาเหมาะแก่การใส่คำบรรยาย ซึ่งต้องพูดให้มีฟิลลิ่งปนกับเสียงสะอื้น... แค้นก็สุดแค้นรักก็แสนรัก

                  หัวใจทุกท้องเต็มอัดไปด้วย ความรักที่เก็บสะสมไว้แรมปีแต่ความแค้นก็อุตส่าห์เบียด-แทรก เข้าไปเต็มอยู่ทุกห้องหัวใจคำสาบานที่ให้ไว้ต่อพ่อ เป็นเสมือนขวากหนามที่มากั้นกลางระหว่างความรักกับความแค้น

แต่เมื่อสิ้นความแค้นแล้ว ยังจะมีเอลซิดให้เรารักละหรือ ?

พ่อจ๋า...ลูกสร้างกรรมอันไดไว้ ? พ่อจึงกะเกณฑ์ให้ลูกรับกรรมเช่นนี้ ลูกเป็นเมียเขาแล้ว เป็นเมียของคนที่ลูกแสนรัก

แต่พ่อ เจาะจงให้ลูกฆ่าผัวเพื่อพ่อ...ฆ่าผัวเพื่อล้างแค้นแทนพ่อ

                การบรรยายที่ดี ไม่ใช่การอ่านเฉยๆแต่  จะต้องเน้นถ้อยเน้นคำ ทำเสียงเครือ สะอึกสะอื้นไปกับนางเอก บางตอนก็กระแทกเสียงหนักๆ เช่นตอน

"แต่พ่อเจาะจงให้ลูกฆ่าผัวเพื่อพ่อ...ฆ่าผัวเพื่อล้างแค้นแทนพ่อ"

                ถ้าได้จังหวะดีๆ คนดูจะสะเทือนใจไม่น้อย

                การพากย์ของผู้เขียนจึงเน้นการบรรยายเป็นสำคัญ ก็จะทำให้ผู้ชมซาบซึ้ง..เข้าใจความรู้สึกของตัวแสดงได้ชัดเจนและการบรรยาย  เป็นการเล่าเรื่องให้ผู้ชมได้เข้าใจเรื่องได้อย่างปะติดปะต่อ  ดูหนังจบเรื่องก็เข้าใจเรื่องโดยตลอด

                เอาตัวอย่างอีกสักเรื่อง

                "เบนเฮอร์"

  เบนเฮอร์กับเมสรา เป็นเพื่อนรักกันมาก  เบนเฮอร์เป็นพ่อค้าในตระกูลร่ำรวย  เมสรามีเป้าหมายจะแต่งงานกับน้องสาวของเบนเฮอร์ จึงเทียวไล้เทียวขื่อที่คฤหาสน์ของเบนเฮอร์เป็นประจำแต่ผลประโยชน์ขัดกันต้องบรรลัย ในเมื่อเบนเฮอร์ ไม่ยอมทำตามคำขอร้องของเมสรา ที่จะผลักดันให้ตัวเขาก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งยิ่งใหญ่ในราชการ ด้วยการให้เบนเฮอร์ทรยศต่อชนเชื้อชาติของตัว

                ประโยคสุดท้ายของการเจรจาต่อรอง เมสราบอกกับเบนเฮอร์ว่า  ถ้าไม่ยอมทำตามคำขอของเขา ก็ให้เบนเฮอร์เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการเป็นมิตร-กับการ-เป็นศัตรู เบนเฮอร์ตอบว่า....

                "ข้าทรยศเชื้อชาติข้าไม่ได้หรอก และ..ถ้าจะบังคับให้ข้าเลือก ข้าขอเลือกเป็น..ศัตรู"

                จากนั้น...เพื่อนชี้ก็กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตเมสราจับเบนเฮอร์ล่ามโซ่  ให้เดินข้ามทะเลทรายไปกับกองคาราวานนักโทษ และไม่เพียงแค่นั้น เมสรายังจองล้างจองผลาญอย่างโหดอำมหิตโดยจับแม่และน้องสาวของเบนเฮอร์ เอาไปยัดไว้ในคุกใต้ดินที่แสนจะสกปรกโสโครก

                เบนเฮอร์รอดกลับมาได้  เพราะได้มีโอกาสช่วยแม่ทัพเรือให้รอดชีวิต  บุญคุณครั้งนั้นใหญ่หลวงนัก แม่ทัพเรือจึงรับเบนเฮอร์เป็นลูกบุญธรรม...เป็นลูกของแม่ทัพโรมันผู้ยิ่งใหญ่

                เบนเฮอร์รีบกลับมาเยี่ยมแม่และน้องสาว จึงได้รับข่าวร้าย แม่และน้องสาวถูกเมสราจับขังคุกใต้ดิน

                เบนเฮอร์แค้นสุดขีด เดินมายืนเกาะที่ประตูบ้านตรงที่มีสัญลักษณ์ของตระกูลติดอยู่ ทั้งแค้นเมสรา-ทั้งสะเทือนใจที่แม่และน้องได้รับการทรมาน เบนเฮอร์ยืนอยู่ตรงนั้นนานมาก...

                ผู้พากย์บรรยายด้วยสำเนียงเจ็บซ้ำน้ำใจ และด้วยเสียงสั่นเครือว่า......

                "ไอ้เมสรา....เอ็งจับข้าล่ามโซ่-ขังคุก   จับข้าไปตีกรรเชียงเรือ  .ทรมาทรกรรมข้าเป็นเดือนเป็นปี จนข้าต้องผจญกับความทุกยาก เลือดตาแทบกระเด็น...

                เท่านั้นยังไม่พอ เอ็งยังจับแม่ข้า-น้องสาวข้าขังคุกใต้ดิน..คุกที่แสนจะโสโครก..คุกที่ไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันเอ็งมันใจดำอำมหิตผิดมนุษย์...

                ไอ้เมสรา...เอ็งทำกับข้า เพราะโกรธข้า เกลียดข้า..ข้ายังพอรับได้  แต่แม่ข้า-น้องข้าไปทำอะไรให้เอ็งเจ็บซ้ำน้ำใจด้วยเล่าทำไมเอ็งต้องทำกับแม่ข้า-น้องข้าถึงขนาดนี้.....

                ไอ้เมสรา เอ็งมันไม่ใช่คน  เอ็งมันเป็นสัตว์...

                สัตว์เดรัจฉาน....

(นิ่งไปครู่หนึ่ง ภาพ-เบนเฮอร์เงยหน้าขึ้น น้ำตานองหน้าผู้พากย์ตะโกนเสียงดังลั่น)

               "ไอ้เมสรา....

                มึง-กับ-กู เจอกันที่สนามแข่งม้า"

(บนจอ ขึ้นตัวอักษร "อินเตอร์มิชชั่น"

     ผู้พากย์พูดด้วยเสียงอ่อนระโหยโรยแรง)

                "จบครึ่งแรก.....หยุดพัก ๑o นาที...




(ID:69873)

...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์

                นักพากย์ไดโนเสาร์

                คุยเรื่อง...เดินทางไปพากย์ ตอนที่ ๑

                ผมเห็นจะต้องนำเรื่องสนุกๆ มาเล่าสู่กันฟังบ้าง เพราะได้บันทึกเอาไว้แยะ  ครั้นจะเก็บไว้อ่านคนเดียวก็ดูกระไรอยู่ถ้าหากท่านอยากจะรู้ว่า  ในสมัยสงครามโลกเมื่อ๖๐ ปีก่อนโน้น นักพากย์เขาเดินทางไปพากย์หนังกันอย่างไร ผู้เขียนก็จะเล่าให้ฟัง

                ก็อย่างว่าอะไรๆก็ขาดแคลนไปเสียทั้งนั้นแม้กระทั่งการเดินทาง  ไม่ว่าจะโดยสารรถยนต์-รถไฟ-หรือเรือ ก็ต้องผจญภัยกันทั่วหน้า

                รถยนต์สมัยสงครามนั้น  ขาดแคลนน้ำมันขนาดหนัก แต่คนไทยก็ไม่ย่อท้อ นำแก๊สมาใช้แทนน้ำมันได้เหมือนกันแก๊สที่ว่านี้ ไม่ใช่แก๊สแบบที่ใช้กันในปัจจุบัน  แต่เขานำถ่านไม้มาเผาให้กลายเป็นแก๊สสดๆ ต่อท่อไปยังเครื่องยนต์ด้านหน้า แล้วใช้ขับเคลื่อนรถยนต์ไปได้อย่างน่าอัศจรรย์

                ถนนหนทาง รัฐบาลท่านไม่มีสตางค์ซ่อมกระมัง จึงปล่อยให้เป็นถนนดินลูกรังเขรอะอยู่อย่างนั้น พอฝนตกก็แฉะเป็นโคลน รถราจะผ่านไม่สะดวก แต่พี่ไทยก็มีทางแก้อีกน่ะแหละ คือ...พอรถติดหล่ม ก็นำโซ่เหล็กมาพักไว้กับล้อรถ เพื่อช่วยให้ขับผ่านโคลนตมไปได้ ก็พอแก้ขัดในยามขัดสน

                การเดินทางไปพากย์หนัง จึงแสนจะทุกลักทุเล หนทางที่รถแล่นได้ด้วยเวลาสามสี่ชั่วโมงในปัจจุบัน ในสมัยนั้นต้องใช้เวลาถึงหนึ่งวันเต็มๆ บางทีวันเดียวไม่ถึง ต้องค้างคืนกลางทางกลางป่ากลางดง-ก็มี เว้นแต่โชคดี-ดวงดี ให้บังเอิญมีรถผ่านมาทางนั้น ก็จะช่วยเหลือลากรถพาเข้าเมืองได้ โดยไม่ต้องนอนระแวงเสืออยู่ในป่า

                รถไฟยิ่งสนุกใหญ่ ผู้โดยสารแน่นขนัดยัดเยียดทุกขบวนขบวน เพราะรถเดินไม่ปกติ เดินบ้าง-หยุดบ้าง บางขบวนกำหนดมาถึงเที่ยงวัน มีอันเป็นไป-ต้องเลื่อนเวลา-มาถึงเอาตอนเที่ยงคืนหรืออาจ จะมาถึงเช้าวันรุ่งขึ้น...ก็เป็นปกติธรรมดาของรถไฟ

                จะขอนำบันทึกที่ผู้เขียนไดจดบันทึกไว้ในสมัยนั้น นำมาให้ท่านลองอ่านดู จะได้รับรู้บ่างว่าการเดินทางรถไฟระยะนั้น โหดและทรหดเพียงไร

                 "รถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สุดแสนจะย่ำแย่ แถมยังทุเรศอีกต่างหาก เรื่องกำหนดเวลาถึงปลายทางนั้น ไม่ต้องพูดถึง สมกับคำล้อเลียนของชาวบ้านที่ว่า "ถึงก็ชั่ง ไม่ถึงก็ช่าง" ซึ่งคงจะเก็บเอามาจากเสียงหัวรถจักรสมัยนั้น ที่ส่งเสียดัง "ชึ่งกะชั่ง-ชึ่งกะชั่ง"นั่นเอง

                 อันที่จริงก็น่าเห็นใจกรมการรถไฟ (ตอนนั้นยังเป็นกรมการรถไฟอยู่) เพราะในยามสงคราม อะไรมันขาดแคลนไปหมดยิ่งเมืองไทยยังไม่เคยผลิตรถไฟกะเขาเลย ตั้งหน้าตั้งตาซื้อเขาลูกเดียวแม้กระทั่งอะไหล่ก็ยังต้องซื้อจากนอก เมื่ออะไหล่หมดสต็อค อันไหนซ่อมได้ก็ซ่อมเอา พอช่วยให้รถแล่นต่อไปได้วันๆ แต่ก็ต้องประคับประคองไม่ให้มันพังซ้ำอีก ก็น่าเห็นใจอยู่เหมือนกัน ส่วนที่ซ่อมไม่ได้ก็ต้องจอดในโกดัง รอชิ้นส่วนอะไหล่จนกว่าจะหาได้  จึงจำต้องปลงว่าโบกี้ที่มีเหลืออยู่ให้นั่งโดยสารเหล่านี้ นับเป็นบุญกุศลเหลือหลายแล้วจะเอาอะไรกันนักกันหนา ยังดีกว่านั่งเกวียนให้ควายลากเป็นไหนๆ

                สภาพของรถไฟสมัยนั้น  โบกี้ที่นั่งแสนคร่ำคร่าซ่อมแล้วซ่อมอีก จนไม่รู้จะซ่อมยังไงแล้ว บางแห่งมีรูโหว่ที่ผนังแมลงสาปเข้าไปทำรังไต่เข้าไต่ออกกันสนุกสนาน  บางวันหากโชคดี จะมีโอกาสได้เห็นหนูวิ่งไล่หยอกเอินเป็นของแถมด้วย

                ห้องน้ำ-ห้องส้วม เห็นจะต้องยกให้เป็นที่สุดยอดแห่งความโสโครก  ขณะเข้าไปใช้บริการ จมูกจะได้รับกลิ่นฉุนตลอดเวลา ด้วยว่า กลิ่นเหล่านี้ได้แทรกซึมเข้าไปเนื้อไม้เป็นเดือนเป็นปีจนแยกไม่ออกว่า กลิ่นไหนเป็นชาย-กลิ่นไหนเป็นหญิง แต่กลิ่นที่หนักหนาสาหัสที่สุด เห็นจะเป็นกลิ่น.กลิ่นที่สกัดจาก....สะตอ

                อย่าว่าแต่เข้าไปใช้บริการในนั้นเลย แม้กระทั่งคนที่ถูกหวย บังเอิญได้ที่นั่งติดกับห้องส้วมละก็ ซวยจมูกไปหลายวันทีเดียวเพราะต้องดมกลิ่นหอมนั้นไปตลอดทั้งวัน..บางทีแถมทั้งคืนอีกด้วย

                และนอกจากกลิ่นจากห้องส้วมแล้ว  ยังต้องผจญกับกลิ่นตัวของผู้โดยสารกันเองที่อัดแน่นราวกับปลากระป๋องเพราะต้องยืนห้อยโหนติดกันตลอดทั้งวันทั้งคืน  จนกระทั่งกลิ่นตัวสำลักออก จากร่าง กระจัดกระจายเข้าจมูกคนที่ยืนอยู่ข้างๆ...."

                นั่นคือ....สภาพแออัดของรถไฟ  ที่นักพากย์จำเป็นต้องโดยสารโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  และนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีของแถมให้ต้องผจญภัยเพิ่มอีกต่างหาก....

                "หัวรถจักรในสมันนั้นใช้ไอน้ำ ซึ่งพ.ข.รและผู้ชวยจะโยนฟืนเข้าเตาเพื่อต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอ นำไอมาขับเคลื่อนรถ ท่อนฟืนที่โยนเข้าไปก็ใหญ่โตเอาการ  ฟืนบางครั้งก็เปียก  จึงเกิดควันโขมงลอยขึ้นมาตามปล่อง  ในตอนที่ พ.ข.ร.เร่งเครื่องเสียงดังพั่บ-พั่บตามจังหวะ ควันก็จะพวยพุ่งขึ้นมา เสียงดังพึ่บ-พึ่บ พัดพาเอาควันสีดำทมิฬเข้ามาในตัวรถ ถึงไม่อยากจะดมก็ต้องสูดเข้าไปเพราะไม่รู้จะขยับไปไหน

                บางครั้งฟืนแห้งสนิท แทนที่จะเป็นควันดำลอยมาหาเรา กลับเปลี่ยนเป็นสะเก็ดลูกไฟลูกเล็กๆ จำนวนนับหมื่นนับแสนกระจายไปทั่วทั้งหัวขบวน-ท้ายขบวน  และก่อนที่สะเก็ดไฟจะดับสลายไปนั้น หากว่า-มันปลิวไปเกาะที่เสื้อผ้าใครเข้าละก็ จะไหม้เป็นจุดเป็นดวงหรือถ้าหากเป็นลูกไฟโตหน่อย  เกิดหล่นลงไปบนกระสอบบรรจุของของใครเข้าละก็ จะลุกไหม้ควันโขมงขึ้น แม้แต่กระสอบใส่หนังของพวกเราก็ไม่ได้รับการยกเว้น เผลอๆลุกพึ่บขึ้นมาต้องรีบดับกันโกลาหล"

                นี่เป็นเหตูการณ์ปกติธรรมดา ที่ประสบพบ เห็นทุกเมื่อเชื่อวัน   แต่ก็มีเหมือนกัน-ที่บางวันไม่ค่อยจะปกติธรรมดาอย่างเช่น....

                "รถบรรทุกสัตว์  ผมก็เคยโดยสารมาแล้วต้นทางคือ สถานีบางกอกน้อย-ธนบุรี เพื่อเดินทางไปชุมพร  ตอนนั้น-ชุมพรเป็นสถานที่พักค้างคืน  รถไฟทุกขบวนที่ไปใต้ จะต้องมาจอดให้ผู้โดยสารค้างคืน-ทั้งขาขึ้นและขาล่อง บางขบวนมาถึงค่ำบ้าง-ดึกบ้างการมาถึงตีหนึ่งตีสองนับเป็นปกติธรรมดา เพราะบางขบวนมาถึงเอาอรุณรุ่งก็มีบ่อยๆ

                วันนั้นผมมีหนังติดมาด้วยหนึ่งหีบใหญ่บรรจุมา ๓ เรื่อง ผมหาทางที่จะขึ้นโบกี้ ยังไงๆก็ไม่สำเร็จ เพราะแม้แต่บนชานบันไดทางขึ้น ก็มีคนจับจองยืนแน่นไปหมด จะมีเหลืออยู่บ้างก็บนหลังคา  แต่ผมก็จนปัญญาที่จะหิ้วหนังหีบใหญ่ขึ้นไปบนหลังคารถได้ เพราะหีบหนังใบนั้นหนักกว่าตัวผมเสียอีก  อีกทั้งหีบหนังยังเสี่ยงต่อการลื่นไถลกลิ้งลงจากหลังคารถในยามที่หัวรถจักรเกิดเบรกอย่างกะทันหัน

                เมื่อหมดหนทางเข้าจริงๆ ผมต้องกลั้นใจทำใจดีสู้เสือ ขนหีบหนังหนักอึ้งใบนั้น ไปขึ้นรถบรรทุกสัตว์ที่ท้ายขบวน

                ยังนับว่าโชคดีมากๆ ที่โบกี้สัตว์ขณะนั้นว่างจากสัตว์  เพราะเป็นรถตู้ว่างเปล่า ล่องลงไปรับสัตว์จากภาคใต้ ขึ้นมาเชือดที่กรุงเทพฯ  แต่กระนั้นก็เถอะ..ถึงจะไม่มีสัตว์ แต่อุจาระสัตว์และกลิ่นต่างๆของสัตว์ ยังคงอบอวลหอมหวนอยู่ แถมยังปะปนสับสนผสมกันอยู่หลายกลิ่น มีทั้งกลิ่นวัว-ควาย-หมู-เป็ด-ไก่...สารพัดกลิ่นทีเดียวละ

                ก็นับว่าผมยังไม่โชคร้ายเพียงคนเดียว เพราะยังมีผู้สมัครใจร่วมอาศัยดมกลิ่นกับผมอีกหลายคน-ทั้งผู้ชายและผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงสวยๆที่ไม่กล้าขึ้นไปนั่งบนหลังคา  ก็ขึ้นมายืนยิ้มอายๆอยู่หลายคนเหมือนกัน ยืนตลอดทางนะครับ ไม่มีที่ให้นั่งหรอก

                แล้วอย่านึกเชียวนะ เมื่อเรากลั้นอกกลั้นใจมาทนโดยสารรถบรรทุกสัตว์แล้ว  เราจะปลอดจาก พ.ร.ร.ที่มาตรวจตั๋วโดยสาร...เปล่าเลย  พอขบวนรถแล่นไปได้สักพักใหญ่ๆ ท่านก็อุตส่าห์ปีนป่ายเข้ามาหาเราจนได้  คนไหนไม่ซื้อตั๋ว-โดยนึกว่าจะชักดาบได้-รับรองว่าคิดผิดจำต้องจ่ายเงินให้ท่านแต่โดยดี  พร้อมกับได้รับใบเสร็จใบหนาๆสีน้ำตาลเป็นหลักฐาน แต่ก็มีเหมือนกันที่ท่านไม่ยอมออกหลักฐานให้ โดยเก็บเงินจำนวนนั้นเข้ากระเป๋าตัวเองอย่างหน้าตาเฉย... .เราก็ได้แต่ทำเฉย กลืนน้ำลาย  ขืนโวยวาย กลัวท่านจะไล่ลงกลางทาง."

                ความทุกข์ทรมานที่นั่งและยืนในโบกี้รถไฟนับได้ว่าเป็นยอดของโชคแล้ว  เพราะ..ส่วนใหญ่ต้องยืนขาแข็งอยู่นอกตัวรถ แถมบางคนยังห้อยโตงเตงอยู่บันไดทางขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นบางส่วนยังต้องเผ่นขึ้นไปนั่งบนชั้นพิเศษ คือหลังคา ซึ่งผู้เขียนก็เคยมีประสบการณ์มาแล้ว

                "ผมเองได้มีวาสนาขึ้นไปนั่งบนหลังคารถไฟได้มีโอกาสนิ่งกินลมชมวิวอย่างสง่าผ่าเผย  จำได้ว่าเป็นรถขบวนสุไหงโกลก หาดใหญ่ ซึ่งมีผู้โดยสารแน่นขนัดทุกขบวน  เพราะมีพวกลักลอบนำสินค้าหนีภาษีขึ้นรถไปหาดใหญ่เป็นจำนวนมาก

                อันที่จริง...ถ้าได้ขึ้นไปนั่งบนหลังคาจนชินแล้วจะไม่สนุกหยอก ถ้าไม่เชื่อคุณๆ จะขึ้นไปลองนั่งดูบ้าง-ก็ยังได้ แหม....ลมงี้-พัดโกรกเย็นสบายไปทั่วสรรพางค์กาย  สายตาทั้งสองข้างได้ยลวิวทิวทัศน์รอบทิศทาง ๓๖๐ องศา ไม่มีฝาผนังมาบดบังให้เสียบรรยากาศเลย  มองไปเบื้องหน้าจะเห็นควันสีดำทะมึน  ลอยขึ้นจากปล่องไฟหัวรถจักร มองเห็นหัวขบวนกำลังไต่ขึ้นเนินเขาลูกน้อยๆ ไต่ขึ้นไป...ไต่ขึ้นไป.  เสียงรถจักรเร่งเครื่องดัง ชึ่ก..ชึ่ก...ชึ่ก..เร่งถี่ๆ  จากนั้นเสียงชึ่กๆค่อยๆผ่อนช้าลง จนเป็นเสียง ชึ่ก...ชึ่ก...ชึ่ก... ครั้นแล้วเสียงชึ่กก็พลันหยุดหายเงียบไป กลับมามีเสียงซี้...ยาวๆขึ้นมาแทนที่

                คราวนี้รถหยุดทั้งขบวนเพราะไต่เขาไม่ขึ้น คงเนื่องจากสะตีมตกไม่มีแรงลากจูงซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าบรรทุกผู้คนโดยสารมากเกินไป หรือบรรทุกสินค้าเกินอัตรา หลังจากนั้นรถไฟขบวนยาวเหยียด ก็ค่อยๆเลื่อนไหลลงจากเนินเขา เสียงเบรกดังเอี๊ยดอ๊าดเพื่อประคองขบวนรถถอยหลัง  ให้แล่นกลับไปตั้งหลักใหม่ ไกลไปจากเนินเขา

                ที่ตรงนั้น...ขบวนรถจอดนิ่ง พนักงานที่หัวรถจักรใส่ฟืน เร่งสะตีมใหม่ เพื่อจะไต่กลับขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง ก็แปลกแทนที่ผู้โดยสารชั้นพิเศษบนหลังคา จะวิตกทุกข์ร้อน-จากเหตุการณ์ที่เขาเห็นโดยตลอด เปล่าเลย.. พวกบนหลังคากลับตบมือตีตีน เป่าปากกันเปี้ยวป้าวจากทุกหลังคา  โบกี้ทุกหลังพากันเฮฮาไชโยโห่ฮิ้วอย่างสนุกสนาน หลังจากขบวนรถอันยาวเหยียดเร่งสตีมเสริมกำลังจนเต็มอัตราศึก ซึ่ง..ค่อนข้างนานโขอยู่  ประมาณสักสิบห้านาทีเห็นจะได้หัวรถจักก็เปิดหวูด-วู๊น-วู๊น คล้ายจะบอกผู้โดยสารว่า "ได้การแล้วฉันจะเริ่มสำแดงพลังไต่เขาอีกครั้งละนะ"

                เสียงหัวรถจักรเร่งเครื่องก็ดังขึ้น

              พวกชั้นพิเศษเริ่มคึกคักกันอีกครั้ง เสียงเชียร์ดังกระหึ่มขึ้นมาทันที เชียร์ให้ พ.ข.ร.นำขบวนรถไต่ขึ้นเนินให้สำเร็จให้ได้ มีเสียงอี๊ด-อ๊าดดังขึ้นด้วยการบดเสียดสีระหว่างล้อกับราง พร้อมๆกับเสียงชึ่ก-ชั่กดังมาจากหัวรถจักรืจากจังหวะ-วอลท์ เปลี่ยนเป็นจังหวะ-แซมบ้าเร็วขึ้น ๆ ๆ ๆ

                พวกกลาสีหลังคารถก็พร้อมใจกันโห่รับ ตามจังหวะชึ่ก-ชั่ก ๆ ๆ แล้วโยกตัวตามขบวนรถที่ค่อยๆขยับเคลื่อนไต่ขึ้นเนินอีกครั้ง

                คราวนี้..สำเร็จจนได้ รถขบวนนั้นไต่ขึ้นเนินเขาได้เรียบร้อย เสียงไชโยโห่ฮิ้ว จึงดังสนั่นลั่นไปทั้งป่า ราวกับว่า เจสสีเจมส์กับแฟรงก์เจมส์จอมโจรสองพี่น้อง  พาลูกสมุนปล้นขบวนรถไฟในหนังยังไงยังงั้น สนุกกันเหลือหลาย

                แต่ก็มีบ่อยครั้งเหมือนกันที่ไต่ไม่รอดสันดอนหมดแรงข้าวต้มเสียก่อน จำต้องถอยกลับไปนับหนึ่งกันใหม่อีก คราวนี้อัศวินบนหลังคา เปลี่ยนจากเสียงไชโย เป็นโห่ฮาป่า เย้ว... เย้ว... ดังขึ้นมาแทนที่

                ช่างสนุกสนาน-บ้าบอคอแตก  หาที่ไหนไม่ได้ง่ายๆ ...มันส์จริงๆ




(ID:69874)

...คุยเฟื่อง...เรื่องนักพากย์

               นักพากย์ไดโนเสาร์

                คุยเรื่อง...เดินทางไปพากย์ ตอนที่ ๒

               มีคนเขาเล่ากันว่าเท็จจริงอย่างไร-ไม่ขอยืนยัน..เขาว่า ถ้าจะให้รถแล่นขึ้นเนินตลอดรอดฝั่ง-ไม่ไหลกลับครั้งแล้วครั้งเล่าก็พอมีหนทางอยู่ ฮะแอ้ม...เครื่องจักรยังต้องหยอดน้ำมัน  มนุษย์ก็ต้องกินต้องใช้  ในเมื่อหยอดน้ำมันให้เครื่องจักรได้  ไฉนจึงละเลยไม่หยอดให้แก่มนุษย์บ้างเล่า เขาว่ากันอย่างนั้น

                การเหาะขึ้นไปนั่งบนหลังคานั้น มีทั้งผลดีและไม่ดีคละกันไป ที่ว่าดีก็เพราะไม่ต้องไปยืนเบียดเสียดเยียดยัดในโบกี้ไม่ต้องทนดมกลิ่นมนุษย์และกลิ่นส้วม แถมกลิ่นสินค้านานาชนิดส่วน ข้างบนหลังคาสบายกว่ากันเยอะเลย รถแล่นฉิว-ลมโกรก แถมไร้มลพิษทั้งหลายทั้งปวงอีกต่างหาก

                ที่ไม่ดีก็มีเหมือนกัน คือ ต้องคอยระวังสะพานรถไฟ  แล่นผ่านสะพานเหล็กทีไรต้องรีบก้มหัวลง  ให้ถือคติว่า"ปลอดภัยไว้ก่อน" เป็นที่สุด เพราะสะพานบางแห่งมีช่องว่างเพียงนิดเดียว ถ้าเราเผลอนั่งยืดคอ-อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะเคยมีประวัติมาแล้ว คุณ พ.ร.ร. ขึ้นไปตรวจตั๋วบนหลังคา เผลอยืนหันหลังให้สะพาน โดนฟาดตกลงมาตาย เป็นข่าวหน้าหนึ่งของ น.ส.พ.พิมพ์ไทยในสมัยนั้น พ.ร.ร. ยามสงครามก็น่าเห็นใจเหมืนกันนะ เพราะท่านต้องปีนป่ายขึ้นไปตรวจตั๋วทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นรถขนสัตว์หรือกระทั่งบนหลังคา"

                เรื่องรถไฟคงจะเอาไว้แค่นี้ก่อน คราวนี้จะขอนำท่านไปเที่ยวทางเรือดูบ้าง ผู้เขียนบันทึกไว้ในสมัยโน้น ดังนี้...

                "ผมเริ่มพากย์หนัง ด้วยหนังฝรั่งเรื่อง "สวรรค์คนยาก" หนังมีไม่ครบเรื่อง ขาดหายตรงกลางเรื่องไปสองม้วน เหลืออยู่เพียงสี่ม้วนเท่านั้น แต่ก็ยังพอรู้เรื่องและเป็นหนังสนุกดีด้วย จะไม่เอาก็ไม่ได้ เพราะไม่มีให้เลือก เรื่องที่สองเป็นหนังจีนเงียบ ตั้งชื่อเสียงไพเราะเพราะพริ้งว่า "ผึ้งหวงไม่ห่างรัง"

                การเดินทางไปพากย์สมัยสงครามนั้น หิ้วหนังไปเรื่องเดียวไม่ได้จำต้องมีไม่น้อยกว่าสองเรื่อง โรงที่จะไปพากย์เที่ยวแรกนี้ คือภูเก็ต

                เริ่มต้น...ขึ้นรถไฟจากนครศรีธรรมราช ไปลงที่ชุมชนทางเขาชุมทอง ต่อรถไฟอีกขบวนไปลงที่ชุมทางทุ่งสง จากนั้นต่ออีกขบวนผ่านสถานีทับเที่ยง จังหวัดตรังไปสุดท้ายปลายทางที่สถานีกันตังรวมเดินทางหนึ่งวันเต็ม

                 กันตังเป็นท่าเรือไปออกทะเล จะไปภูเก็ตก็จะได้ไปกระบี่-ระนอง-สตูลก็ได้

                 ลงรถไฟขึ้นสามล้อ ขนหนังหาโรงแรมพักเสร็จแล้ว รีบแวะไปที่ท่าเรือ สอบถามคนแถวนั้น ถึงเรื่อที่จะเดินทางไปภูเก็ตเขาผู้นั้นชี้มือไปที่เรือลำหนึ่ง แล้วว่า

                  "เฮ...ลำฮั้นแหละ ไป้ตอฉ่าว..."

                  ซึ่งหมายความว่าเรือลำนั้น จะออกเดินทางในเช้าวันพรุ่งนี้

                  พอเห็นรูปพรรณสัณฐานเรือที่จะเดินทางไปผมก็ตกตะลึง เพราะสิ่งนั้นไม่น่าจะใช่พาหนะ มันน่าจะเป็นภาชนะเสียมากกว่า เพาระดูจะเป็นอ่างใบโตๆลอยน้ำได้ นี่น่ะคือภาชนะที่จะนำผมฝ่าคลื่นลมจากกันตังไปยังเกาะภูเก็ต

                   พอเห็นสภาพเรือ ผมแทบเข่าอ่อน อยากจะหิ้วหนังกลับบ้าน...ไม่ปงไม่ไปมันแล้วภูเก็ต

                   ก็รู้อยู่เต็มอกว่า การเล่นเรือไปยังเกาะภูเก็ตนั้น จำต้องเฉียดมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งถ้าจะเรียกให้เต็มยศหน่อยก็ต้องเรียกว่า "พญามหาสมุทร" เพราะที่บริเวณนั้น-มีคลื่นใหญ่โตมโหฬารขนาดภูเขาเลากาก็ว่าได้

                   แต่เรือที่ผมจะโดยสารลำนี้ มีสภาพคล้ายๆกระป๋องลอยน้ำ

                   ทำไงได้...ไม่มีทางเลือก เพราะไม่มีทางรถยนต์ไม่มีทางรถไฟ และไม่มีแม้กระทั่งเรือบิน แต่ถึงแม้จะมีเรือบิน ผมก็ไม่มีปัญญาเสียสตางค์เหาะไป ผมจึงไม่มีทางเลือก ไม่อยากไป...ก็ต้องไป"

                   นั่นเป็นสภาพของเรือที่ผมจะต้องโดยสารผจญเวรผจญกรรมเดินทาง ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ต้องอดทนอ่านกันต่อไป ไม่รู้ว่าจะไปถึงภูเก็ตหรือเปล่า

                "รุ่งเช้า...รีบอาบน้ำอาบท่า กินอาหารรองท้องเรียบร้อง จัดการหิ้วกระสอบหนังสองเรื่อง-สิบม้วน ขึ้นรถสามล้อไปขึ้นเรือไททานิค เอ้ย เรือกระจอกลำจ้อย อ้าว เรือยังออกไม่ได้ ยังขนสินค้าไม่เสร็จกะว่าท่านจะถอนสมอออกจากท่าเรือ ราวๆบ่ายสามโมง ในที่สุด...ผมก็ได้โดยสารเรือออกจากท่าเลยเวลาที่กำหนดนิดหน่อย แล่นผ่านแม่น้ำกังตังไปออกปากอ่าว

                  ตอนเย็นวันนั้น เรือก็แล่นมาจอดทอดสมอที่ปากอ่าวเพื่อกินข้าวกินปลากัน ก่อนที่จะออกไปผจญภัยในทะเลอันดามัน

                  ภูมิทัศน์ที่ตรงนั้น ส๊วย-สวย สวยอย่าบอกใครน้ำบริเวณนั้นนิ่งสงบเหมือนเรือลอยอยู่ในอ่าง  น้ำใสแจ่วสีเขียวอมเหลืองมองเห็นฝั่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล มีภูเขาลูกย่อมๆ ผุดโผล่ขึ้นมาลอยเหนือพื้นน้ำ มองดูระเกะระกะเป็นหย่อมๆ เบื้องหน้าไกลโพ้น-ประดับประดาไปด้วยหาดทรายขาวปานสำลี ประหนึ่งว่า-เทพยดายกกระดาษสีขาวมาวางทาบไว้ใกล้ขอบน้ำ ที่ปลายสุดขอบสายตามีแมกไม้เขียวชอุ่มซุกตัวเบียดกระชับอยู่ใต้ภูเขาลูกเล็กดอยน้อย แกว่งไกวกิ่งใบไปตามกระแสลมที่พัดผ่านมาเอื่อยๆ ก็เขียนบรรยายได้คลื่นไส้พอสมควร

           เสียงใต้ก๋งเรียกให้ไปกินข้าว อาหารมื้อนั้นเป็นมื้อพิเศษ-แถมฟรี-ไม่คิดเงิน หรืออาจจะคิดรวมไปกับค่าโดยสารแล้วก็เป็นได้ ผู้โดยสารเที่ยวนั้นมีจำนวนหนึ่งคนคือผม

                 ผมได้รับเกียรติ ได้กินข้าวพร้อมกับใต้ก๋งและลูกเรือ ซึ่งดูคล้ายๆกับเด็กวัดล้อมวงกินข้าว มีเสื่อเก่าๆ ผืนหนึ่งปูรองนั่ง ท่านใต้ก๋งและลูกเรือนั่งขัดสมาธิ ลูกเรือคนหนึ่งเป็นจับกังอีกคนเป็นพ่อครัวด้วยและเป็นจับกังด้วย-ควบสองตำแหน่ง ผมก็ไม่ขัดความปรารถนาดี รีบถลาเข้าไปนั่งสมทบอีกคน เพราะท้องเริ่มร้องจ๊อกๆแล้ว

                 อาหารมื้อนั้น มีแกงส้ม-ใส่ปลาอะไรก็ไม่รู้ แต่คงไม่ใช่ปลาฉลาม แล้วมีปลาเค็มอยู่จานหนึ่งก็พอได้อาศัยรองท้องไว้บ้าง ย่อมดีกว่าปล่อยให้ท้องร้องโหยหวนครวญครางในยามวิการ             




เลือกหน้า
[1] [2] [3] [4]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 60

กลับขึ้นข้างบน / กลับหน้าแรก

ค้นกระดานข่าว:


ถูกเปิด: ถูกคลิ๊กแล้ว: 116947759 ตอนนี้มีผู้เข้าชม : 1 ล่าสุด :ProlBlask , Robbsf , Jamesfap , RobertMIGH , LavillKer , Maciedetpailt , BobbyHOm , Sallycgriet , CarolyncJuh , แสบ chumphon ,