Mobile Version / สำหรับโทรศัพท์มือถือ ยินดีต้อนรับท่านผู้มาเยือน www.peoplecine.com ท่านยังไม่ได้ log in นะครับ เข้าใช้งานระบบ / สมัครสมาชิก/ ลืมรหัสผ่าน

ประธานกรรมการ :ปวีณ เขื่อนแก้ว
เวบมาสเตอร์:อนุกูล วิมูลศักดิ์ 084-819-7374,095-308-6840


= ภายใน24ชั่วโมง , = ภายใน 3 วัน = ทั่วไป , = คลาส2 , = คลาส3 ,
รูป
ตำนานนักพากย์ผู้ยิ่งใหญ่เจ้าของ อ่าน ตอบ ผู้ตอบหลังสุด
-พันธมิตร ปะทะ อินทรี ในช่วงดันดารา ตีสิบ52728.. 23/10/2553 22:20
-เยี่ยมบ้านใหม่ของนักพากย์ศุภชัย 10 ตค.5350842.. 12/10/2553 17:52
-บทบาทของสมาคมที่เกี่ยวข้องกับนักพากย์ฯ47881.. 3/10/2553 6:02
-สัมภาษณ์นักพากย์หนัง พี่ต๋อง - แก่นจัง52123.. 22/9/2553 13:18
-ใครเป็นใครใน "พันธมิตร"1051821.. 1/9/2553 11:41
-เปิดรับสมัครอบรม "เทคนิคการใช้เสียงและลีลาในการทำงานบันเทิง"54261.. 31/8/2553 1:18
-ก่อนทีมอินทรีย์ สหมงคลใช้ทีมพากย์ไหนคับ 59621.. 11/8/2553 15:40
-Sub. เกรดสูง / พากย์เกรดต่ำ53146.. 3/8/2553 15:04
-ควานหานักพากย์หนังกลางแปลงที่อยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ตอนนี้838331.. 18/7/2553 13:57
-นักพากย์การ์ตูนทางโทรทัศน์1987648.. 13/7/2553 17:09
-หนังพากย์มีเสน่ห์อยู่มากมาย51192.. 12/7/2553 11:53
-นักพากย์รับงานพากย์หนังเรื่องระเท่าไหร่ครับ51664.. 12/7/2553 11:35
-ทีมพากย์ อินทรีหายไปใหน55549.. 4/3/2553 13:43
-โอ๊ต จักรกฤษณ์ หาญวิชัย96732.. 2/2/2553 19:27
-หนังสือตำนานนักพากย์ผู้ยิ่งใหญ่602615.. 13/1/2553 9:14
-"คุยเฟื่องเรื่องนักพากย์" โดย "ชัยเจริญ"1136237.. 25/11/2552 9:01
เลือกหน้า
[<<] [15] [16] [17]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 265

(ID:3349) "คุยเฟื่องเรื่องนักพากย์" โดย "ชัยเจริญ"






 



"คุยเฟื่องเรื่องนักพากย์" 



เป็นบทความที่เขียนโดย "ชัยเจริญ" (หรือ ชัยเจริญ ดวงพัตรา)



โดยเริ่มตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก"    เมื่อวันเสาร์ที่  17  มกราคม  พ.ศ. 2547



 



ทาง "สมาคมนักพากย์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย"  ได้รับอนุญาตจาก  "ชัยเจริญ"



ให้นำเนื้อหาของ "คุยเฟื่องเรื่องนักพากย์"  มาบันทึกไว้ใน  www.thaicine.com     ในหัวข้อ "ตำนานนักพากย์ผู้ยิ่งใหญ่"



จึงขอเชิญท่านที่สนใจ ติดตามเรื่อง "คุยเฟื่องเรื่องนักพากย์"  ได้ในเว็บไซต์นี้.



 



ขอได้รับความขอบคุณจาก...



"สมาคมนักพ (ร) า กย์ ผู้เยาว์แห่งสหประชาชาติ"



โดย...ชลิดา นภาพิพัฒน์.


 



ความเห็น

[1] [2] [3]


(ID:31614)

 

"ชัยเจริญ"  หรือ  "ชัยเจริญ ดวงพัตรา"  ผู้เขียน "คุยเฟื่องเรื่องนักพากย์"

เป็นผู้กำกับภาพยนตร์  นักหนังสือพิมพ์  เจ้าของโรงหนัง  นักเขียน  นักพากย์ภาพยนตร์  และเป็นอีกหลายอาชีพ

 

นี่เป็นบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เมื่อ  50  ปีก่อน  จะอ่านเล่นสนุก ๆ  ก็สนุกดี  จะเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ก็สมควร

เนื่องจากมีบางเรื่องที่คนสมัยนี้ไม่ค่อยรู้กัน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนักพากย์  เรื่องโรงหนัง  เรื่องการสร้างหนังสมัยโน้น

ล้วนแต่มีประโยชน์แก่ความบันเทิงและการศึกษาหาความรู้.

 

 

 

( คัดลอกจาก ... คอลัมน์ "คุยเฟื่องเรื่องนักพากย์"  

ในหนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก"   ฉบับวันเสาร์ที่  17  มกราคม  พ.ศ. 2547 )

 

 




(ID:31629)

 

คุยเฟื่องเรื่องนักพากย์

โดย

ชัยเจริญ

(เริ่มตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก"   ในวันเสาร์ที่  17  มกราคม  2547)

 

 

เกริ่นนำ

มีคนอยากเป็นนักพากย์กันมาก  เพราะนึกว่าเป็นแล้วโก้  ร่ำรวย  และสนุก 

จะจริงเท็จแค่ไหน  ก็ลองอ่านเรื่องนี้ดู  แล้วจะรู้ว่าจริงอย่างที่นึกหรือเปล่า

เรื่อง  "คุยเฟื่องเรื่องนักพากย์"  นี้  แบ่งออกเป็นสองภาค  :

 

ภาคที่หนึ่ง  -  "ไดโนเสาร์พากย์หนัง"  

คุยเรื่องการพากย์หนังสมัยเริ่มแรกรุ่นคุณปู่   การพากย์  การทำบทพากย์  การเดินทางไปพากย์ ฯลฯ

 

 

ภาคที่สอง  -  "สัพเพเหระ"  "ขำขันนักพากย์"

คุยกันสนุก ๆ หลาย ๆ เรื่องที่เกี่ยวกับนักพากย์ 

บันทึกนี้เหมือนคุยกันในวงสนทนา นึกอะไรขึ้นมาได้ก็หยิบยกขึ้นมาคุยกันสนุก ๆ 

จึงอาจจะมีการกระโดดข้ามไปข้ามมาอยู่บ่อย ๆ  และถ้อยคำที่เขียนก็เป็นสำนวนพูดคุย ไม่เชิงข้อเขียน

 

 

ผมขอขอบคุณเพื่อนฝูงและท่านผู้ใหญ่ที่ได้ให้ความคิดเห็นและบอกเล่าเรื่องต่าง ๆ

ซึ่งได้ใช้เวลาเขียน - ค้นคว้า - และแก้ไขเป็นเวลากว่า  50  ปี.

 




(ID:31630)

(1)

 

นักพากย์

สงครามโลกครั้งที่  2  พ.ศ. 2480

 

เมื่อ  60  ปีก่อนโน้น  เมื่อมีสงคราม  อะไร ๆ ก็ขาดแคลนไปหมด

เสื้อผ้า  ยารักษาโรค  และรวมไปถึงภาพยนตร์ด้วย  ไม่ว่าภาพยนตร์ที่ฉายในกรุงเทพฯ หรือตามต่างจังหวัดต่าง ๆ

ภาพยนตร์...นับเป็นสิ่งบันเทิงราคาย่อมเยาว์ที่สุดในกระบวนความบันเทิงทั้งหลาย

เพราะได้รับความสนุกสนานติดต่อกัน  2  ชั่วโมงเต็ม  หรือบางที บางเรื่อง - ยาวนานถึงสามชั่วโมงก็ยังมี

ดูกันด้วยสนนราคาที่ต่ำที่สุดเพียงยี่สิบถึงสามสิบสตางค์ในสมัยโน้น

แล้วจากราคาไม่ถึงหนึ่งบาท  ขยับขึ้นมาเป็นยี่สิบถึงสามสิบบาทในสมัยต่อมา  และร้อยกว่าบาทในปัจจุบัน

 

 

(ต่อด้วย..."ในระหว่างสงคราม")

 




(ID:31631)

 

(2)

 

ในระหว่างสงคราม...

 

โรงภาพยนตร์ยังคงมีอยู่  แต่ภาพยนตร์ที่จะนำมาฉายกลับไม่มี

ภาพยนตร์ฝรั่งใหม่ ๆ เลิกพูดถึงกันเลย  จะมีก็แต่ภาพยนตร์ในเอเชีย  เช่น  ญี่ปุ่นและจีน  ซึ่งไม่ค่อยนิยมดูกันนัก

เมื่อไม่มีของใหม่ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องไปขุดเอาของเก่า ๆ ออกมาปัดฝุ่นนำมาฉายใหม่ 

ก็เลือกเอาที่ยังพอฉายได้  ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีสภาพที่พออาศัย 

ส่วนจำพวกที่ฟิล์มชำรุด  รูหนามเตยบกพร่อง  คนไทยเราก็เก่งทายาด

ไปตัดเอารูหนามเตยจากฟิล์มที่ทิ้งแล้ว เอามาปะติดกับฟิล์มดี ๆ ที่หนามเตยชำรุด 

นำมาซ่อมกันจนพอประคับประคองให้หนังดี ๆ เรื่องนั้น ๆ ฉายต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง

 

 

นักดูหนังสมัยสงครามยังนับว่าโชคดีที่   บริษัทสหซินิมา   

ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายภาพยนตร์ฝรั่งเกือบทุกบริษัท ยังมีสต็อกภาพยนตร์ที่ฉายแล้วอยู่มาก

แม้จะไม่มีภาพยนตร์ใหม่เข้ามาเลย  แต่ภาพยนตร์กลางเก่ากลางใหม่ยังมีอยู่นับร้อยเรื่อง 

ภาพยนตร์เหล่านี้ย่อมเป็นที่ปรารถนาของโรงฉายและตัวแทนจำหน่ายทั่วทั้งราชอาณาจักร

 

 

นอกจาก   บริษัทสหซินิมา   แล้ว   ยังมีตัวแทนจำหน่ายภาพยนตร์เก่า ๆ

เป็นหนังจีน  หนังอินเดีย  หนังฝรั่งของบริษัทย่อย  ซึ่งมีทั้งหนังพูดในฟิล์ม  หนังเงียบที่มีคำบรรยาย

มีอยู่ด้วยกันหลายบริษัท 

แต่ที่ขึ้นชื่อที่สุดก็เห็นจะเป็นบริษัทเอเชียฟิล์มของ  คุณหิรัญ เงยไพบูลย์ 

หรือที่ชาวหนังเรียกกันว่า   "คุณเฮี้ยง" หนังกระป๋องแดง

ที่เรียกว่า "หนังกระป๋องแดง"  ก็เพราะว่ากระดาษที่ปิดฝากระป๋องหนังทุกม้วน

จะมีชื่อภาพยนตร์  มีลำดับม้วนที่เท่าใด  และมีจำนวนกี่ม้วน ...  เป็นกระดาษที่พิมพ์ด้วยสีแดง

 

ส่วนบริษัทอื่น ล้วแต่พิมพ์ด้วยสีน้ำเงินหรือสีดำ

 

 

 

(ต่อด้วย ... "ช่วงเวลานั้น")




(ID:31632)

 

(3)

 

ช่วงเวลานั้น...

 

การพากย์ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  อาจเป็นเพราะคนไทยสมัยนั้นไม่คุ้นกับภาษาต่างประเทศ

หรือว่าอาจเป็นเพราะการพากย์ช่วยทำให้ได้รับอรรถรสสนุกสนานเต็มอัตรา

หรืออาจเป็นเพราะยังไม่มีการประดิษฐ์คิดค้นการพิมพ์คำบรรยายลงบนฟิล์ม

หรือว่าอาจเป็นเพราะคนไทยรักภาษาพ่อ ภาษาแม่ของตนเองมากกว่าภาษาต่างชาติ ... ก็ไม่อาจทราบได้

ยิ่งในต่างจังหวัดด้วยแล้ว การดูหนังพากย์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประเภทหนึ่ง

เพราะการพากย์ในสมัยนั้นสนุกจริง ๆ เรียกได้ว่า   "มัน"   ในอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง

เนื่องจากว่า...ไม่ใช่เพียงแต่พากย์ไปตามคำแปลจากภาษาดั้งเดิมในฟิล์มเท่านั้น

แต่นักพากย์จะใช้สำนวนโวหารที่ได้ร้อยกรองขึ้นมาเองตามอัธยาศัยใส่เข้าไปแทนที่

ไม่ว่าฝรั่ง  แขก  หรือจีน  ญี่ปุ่น  ในฟิล์มเขาจะพูดว่าอย่างไรก็ช่างเขา 

แต่นักพากย์ไทยจะพูดตามใจ...ตามปากของตัวเองให้คนดูคนไทยฟัง

 

 

ยิ่งไปกว่านั้น นักพากย์บางคนพากย์เอาสนุกเข้าว่า - เอาฮาเข้าไว้  โดยไม่อาศัยเนื้อหาของเรื่องเลย

แต่จะประดิษฐ์ประดอยถ้อยคำของตนเอง  เอาเรื่องสนุก ๆ ใส่เข้าไปแทน

เพื่อจะปรนเปรอผู้ชมที่เสียเงินเข้าไปดู ให้สนุกครึกครื้นตามทำนองไทย ๆ

 

 

แต่...การพากย์ที่เอาเนื้อหาครบถ้วนกระบวนความ 

ซึ่งพากย์ไปตามบทพากย์ที่เรียบเรียงขึ้นมาโดยแปลจาก  "ไดอะล็อก" บทภาพยนตร์ 

หรือเรียบเรียงขึ้นด้วยการเขียนบทจากภาพฉาย ก็มีเหมือนกัน

และมีเป็นส่วนใหญ่ของนักพากย์ทั้งหมด 

จึงสุดแต่เอกลักษณ์ของนักพากย์แต่ละคนจะพึงมี  และมีอยู่มากมายหลายชนิด หลายประเภท

 

 

"นักพากย์บางคน - เกาะเนื้อเรื่องในฟิล์มอย่างเคร่งครัด  ไม่ออกนอกลู่นอกทาง 

จะมีการแทรกความสนุกสนานนอกบทเพิ่มเข้าไปบ้างก็เพียงเล็กน้อย  -  พอสมควร

ถือเอามาตรฐานของเนื้อเรื่องเป็นสำคัญ  ในกลุ่มนี้ - มีผู้เขียนร่วมสังกัดอยู่ด้วยคนหนึ่ง

 

 

นักพากย์บางคน - พากย์เอาแต่ฮาลูกเดียว  ฝรั่งพูดว่าอย่างไรช่างหัวมัน  ฝรั่งไม่เกี่ยว

เพราะเราพากย์ให้คนไทยดูเอาสนุก  ไม่ได้พากย์ให้ฝรั่งดู (นี่หว่า) 

คนดูก็หัวเราะกันกลิ้ง แทบจะตกเก้าอี้ ฮากันทั้งเรื่องไม่มีหยุด

 

 

ถ้าหากว่า ... ลองเปิดเสียงในฟิล์มเปรียบเทียบกับการพากย์ของท่านผู้นั้น คงจะตกตะลึงไปตาม ๆ กัน

เพราะฝรั่งในหนังไม่ได้พูดอย่างนั้นแม้สักคำเดียว 

คนพากย์เสกสรรปั้นแต่งเอาเองตามใจชอบ  พูดเอามัน  พากย์เอาฮา ... ได้อารมณ์เฮฮาสนุกสนานกันไปทั้งโรง

จะไปตำหนินักพากย์ก็เห็นจะไม่ได้ เพราะคนดูชอบของเขาอย่างนั้น 

เขารู้ตั้งแต่ก่อนซื้อตั๋วว่านักพากย์ผู้นี้จะพากย์แบบนี้  เขาต้องการเข้าไปหาความสำราญ - เข้าไปนั่งฮา

 

 

ในภาคอีสาน ... นักพากย์ชื่อ    "โกญจนาท"    โด่งดังที่สุดในกระบวนการพากย์ประเภทนี้

 

 

 

คุณมนตรี  เจนอักษร     ได้พรรณนาถึงนักพากย์อีสานไว้อย่างน่าทึ่ง...

 

"นักพากย์ต่างจังหวัดนั้นยิ่งใหญ่จริง ๆ  หนังจะได้ตังค์หรือไม่ได้ตังค์  ขึ้นอยู่กับพวกเขาเหล่านี้ล่ะครับ

นักพากย์อย่าง     โกญจนาท - ดาราพร - เหมราช - พงษ์พิทักษ์   ฯลฯ 

ถ้ามีโปรแกรมฉายเมื่อไร  รถแทบไม่มีวิ่ง  สามล้อแทบไม่มีให้นั่ง เพราะพวกสามล้อจะพร้อมใจกันไปดูหนังหมด

ชื่อของนักพากย์บนป้ายโฆษณา ใหญ่กว่าชื่อหนังเป็นเท่าตัวเลยครับ

 

โกญจนาท    เคยพากย์เอาไว้ตอนไตเติ้ลของหนัง  ที่ผมฟังแล้วประทับใจและฮึกเหิมมาก

เค้าพากย์ด้วยเสียงทุ้มห้าว  แต่แฝงไว้ด้วยความยียวนและอหังการว่า  "วันนี้โกญจนาท บังคับให้ฝรั่งพูดไทย"

 

 

 

( ต่อด้วย ... "มีเรื่องเล่ากันว่า")




(ID:31685)

 

(4)

 

มีเรื่องเล่ากันว่า...

ที่เชียงใหม่ - เทศกาลยี่เป็ง ทางโรงแย่งกันฉายหนังใหญ่แข่งกัน  โรงโน้นจะเอาเรื่องนี้ - โรงนั้นจะเอาเรื่องนี้

ก็...หนังเรื่องเดียวกันนั่นเอง  ต่างโรงต่างอยากได้ฉายหนังใหญ่เรื่องนี้  แต่ทว่า ... หนังเรื่องนี้มีฟิล์มอยู่ชุดเดียว...แล้วจะทำอย่างไร ?

ก็ต้องฉายสองโรงพร้อมกัน โดยอาศัยการวิ่งรอกกันทีละม้วน โรงนี้ฉายเสร็จหนึ่งม้วน ก็ขี่มอเตอร์ไซค์บึ่งไปให้อีกโรง

พอฉายจบเรื่อง  โรงที่มีฟิล์มอยู่ครบทุกม้วนก็ได้ฉายก่อน  เป็นอันตกลงกันตามนี้ 

แต่ว่า...นักพากย์ต้องเป็นคนละคน ต่างโรงต่างหานักพากย์กันเอาเอง 

เพราะนักพากย์คนเดียวจะแบ่งภาค เหาะมาพากย์สองโรงพร้อม ๆ กันได้อย่างไร ?

สมัยนั้น...เทปอัดเสียงก็ยังไม่มี  เจ้าของโรงต่างปวดหัวตัวร้อน จำจะต้องเลือกนักพากย์ชั้นเอกมาพากย์โรงของตัวให้จงได้

ไม่เช่นนั้นต้องแพ้เขา อายเขาด้วย  แถมไม่ได้เงินอีกต่างหาก

 

โรงที่หนึ่ง...เงินหนา ได้นักพากย์ฝีปากเอกไปอยู่ในกำมือเรียบร้อย  ต่างพากันดีใจ หัวร่อร่า ตีปีกพั่บ ๆ

โรงที่สอง...หน้าซีด  ยังหานักพากย์เกรดเอมาประกบไม่ได้ 

"เอ...ทำไงดีหว่า โรงเราหาคนพากย์ขนาดสูสีไม่ได้เลย ตาย...ตายแน่ ๆ  เที่ยวนี้มีหวังแพ้ขาดลอยร้อยเปอร์เซ็นต์"

 

ในที่สุด...เมื่อจวนตัวเข้า เพราะถึงเวลาที่จะต้องฉายแล้ว จำเป็นต้องเสี่ยงเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง

จึงจำเป็นจำใจไปดึงเอานักพากย์ประเภทเฮฮาเข้ามาขัดตาทัพ  เพราะจนปัญญา หานักพากย์ที่ดีกว่าอีกโรงไม่ได้

แต่ที่ไหนได้...กลับตาลปัตรโดยสิ้นเชิง  ยิ่งไปกว่าพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเสียอีก 

โรงที่นักพากย์เฮฮา ซึ่งพากย์โดยไม่เอาบท ไม่เอาเนื้อเรื่อง  เอาแต่ฮาลูกเดียว...กลับพลิกล็อกมีคนดูแน่นขนัดยัดทะนานทุกรอบ

ที่นั่งเสริมแล้วเสริมอีก  ขนเก้าอี้กันไม่ทัน  คนดูก็ฮากันโครม ๆ แทบโรงแตก

 

พอหนังเลิก - กลับถึงบ้าน  เพื่อนถามว่า "เป็นไง...หนังที่ไปดูมา  เรื่องมันเป็นยังไง ?  เล่าให้ฟั่งมั่งซิ"

คนดูตอบว่า  "เล่าไม่ถูกว่ะ  เรื่องเป็นยังไง - กูหารู้ไม่  ไม่รู้จริง ๆ  - ว่าเรื่องไปยังไงมายังไง  แต่กูหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง - จนปวดหน้าท้อง

เมียกูกลับถึงบ้าน - ยังหัวเราะไม่เลิก"

 

ผลปรากฎว่า โรงที่นักพากย์ - พากย์โดยเอาสนุกเข้าว่า เอาฮาเป็นหลัก  เป็นฝ่ายชนะอย่างขาดลอย

 

แบบนี้...จะไปว่านักพากย์ - พากย์เหลวไหลก็คงไม่ได้  เพราะคนดูเขาชอบให้พากย์แบบนั้น  เขาเสียเงินไปซื้อความบันเทิง

เขาต้องการเข้าไปนั่งฮา - ไม่ใช่เข้าไปนั่งหลับ  มันก็สิทธิอันชอบธรรมของเขาไม่ใช่หรือ ?  นี่คือมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของการพากย์หนัง

 

 

(ต่อด้วย..."นักพากย์บางคน")

 




(ID:31698)

 

(5)

 

นักพากย์บางคนหนักข้อยิ่งไปกว่านั้น  ชอบพากย์แขวะนักการเมืองอย่างเอร็ดอร่อย 

ยกเอาเรื่องกินดิน - กินหิน - กินทราย  มายัดใส่ปากฝรั่งในหนัง - ให้มันพูดภาษาไทย ด่า ส.ส. ผู้แทนราษฎร

เรียกเสียงฮาได้สนั่นลั่นโรงเพราะพากย์ไปตรงกับใจคนดูที่พร่ำสวดตามร้านกาแฟอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

นักพากย์คนหนึ่ง ตระเวนพากย์หนังทั่วเกาะภูเก็ต  ตอนนั้นโรงหนังตามชนบทยังเป็นหน่วยเร่

หนังที่เอามาฉายเป็นหนังฟิล์มเล็กขนาด 16 มิล 

หนังทุกโปรแกรมที่นักพากย์ผู้นี้พากย์ จะออกนอกเรื่องแขวะนักการเมืองเป็นประจำ

ด่าผู้แทนราษฎรกินไอ้โน่น - กินไอ้นี่ - กินทุกอย่างที่ขวางหน้า

 

ครั้นเมื่องถึงสมัยเลือกตั้งผู้แทนราษฎรภูเก็ต  เขาตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย 

จากการที่เขาอาศัยปากฝรั่งในฟิล์มด่า ส.ส. ไทย  ที่โกงกินคอร์รัปชั่น  คนดูหนังทั่วเกาะภูเก็ตเทคะแนนให้เขาอย่างท่วมท้น

เขาจึงได้รับเลือกเป็น ส.ส.ภูเก็ต  นักพากย์ผู้นี้ชื่อ   "คำนึง"

 

เห็นหรือยัง ?  นี่แหละอิทธิพลของนักพากย์หนังล่ะ  ไม่ธรรมดาเหมือนกันนะ

 

ยังมีอีกคู่หนึ่ง  เขาดังที่สุดทั่วภาคใต้ในแบบฉบับการด่านักการเมืองคอร์รัปชั่น

เขาเคยถูกตำรวจเชิญตัวขึ้นโรงพักนับครั้งไม่ถ้วน  มีบางจังหวัด แฟนคนดูที่ศรัทธาแห่กันไปช่วยเขาถึงโรงพักก็มี

นักพากย์คู่นี้ชื่อ    "จุทามาศ,   นภาพรรณ"

 

นักพากย์บางคน - เจ้าบทเจ้ากลอน  พากย์เป็นคำสัมผัสไพเราะเพราะพริ้ง  ฟังแล้วระรื่นหู - ชื่นใจ

แฟนหนังฟังเขาพากย์แล้วมีความสุขไปอีกแบบหนึ่ง    เขาล่ะ..."เทพปฏิพร"

 

นักพากย์บางคน - คนดูชื่นชมมาก  พอได้ยินประกาศทางรถโฆษณาว่า  นักพากย์ที่ตัวชอบคนนี้จะมาพากย์ที่นี่คืนนี้

ผู้คนจะรีบกินข้าวกินปลาแต่หัววัน  รีบไปจองตั๋วก่อนคนอื่น  ไม่ยอมพลาดโอกาส 

เพราะติดรสชาติสุนทรีย์ทางใจที่จะได้รับจากนักพากย์เจ้าประจำคนนี้

 

นี่คือ...อิทธิพลของนักพากย์ที่มีต่อคนดูในสมัยนั้น  เพราะคนดูคิดว่าหนังเรื่องอะไรไม่ค่อยสำคัญ

จุดสำคัญขึ้นอยู่กับนักพากย์ เพราะนักพากย์ช่วยแบ่งเบาความเครียดประจำวันของเขาลงไปได้

เพราะนักพากย์ที่เขาชื่นชอบจะประเคนความสุขให้แก่เขาคุ้มค่ากว่าเงินที่เขาจ่ายเป็นค่าดู

นักพากย์จึงกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ที่เขาต้องใช้สอยอยู่เป็นประจำ นอกเหนือไปจากอาหารและเครื่องดื่ม

อีกทั้ง...เขาเชื่อว่านักพากย์คนโปรดของเขาคงต้องคัดเลือกหนังดี ๆ มาพากย์เป็นแน่ 

และมั่นใจว่าฟังคนนี้พากย์แล้ว เขาจะไม่ผิดหวัง 

ส่วนหนังจะเป็นเรื่องอะไรนั้นเป็นอันดับรอง  อันดับหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับ   คนพากย์

 

ยี่ห้อนักพากย์จึงเป็นสิ่งดึงดูดเรียกคนดู 

ดังจะเห็นได้ว่า  ชื่อของนักพากย์บางคน - บนป้ายหน้าโรง - และบนป้ายรถโฆษณา ตัวจะโตกว่าชื่อหนัง

ทั้งนี้เพราะชื่อนักพากย์ขายได้  และมีราคาดีกว่าชื่อหนังนั่นเอง  ก็เป็นธรรมดา  โรงหนังอยากได้เงินเป็นกอบเป็นกำ

คนดูอยากได้ความบันเทิงที่เขามั่นใจว่าจะคุ้มค่า  และนักพากย์ก็อยากได้ค่าตัวสูง 

ซึ่งในบางขณะ - นักพากย์มีค่าตัวถึงวันละหนึ่งพันบาท - ก็เคยมี

 

 

 

(ต่อด้วย..."ก่อนโน้น สมัยเริ่มแรก")

 




(ID:31703)

 

(6)

 

ก่อนโน้น...สมัยเริ่มแรก  นักพากย์จะพากย์เพียงคนเดียว  พูดแทนตัวแสดงทุกตัวในจอ 

นับตั้งแต่ พระเอก  พระรอง  ตัวโกง  นางเอก  และนางอะไร ๆ ทุกนาง  รวมทั้งตัวแม่ด้วย

ในเรื่องนั้น ๆ จะมีตัวแสดงกี่สิบกี่ร้อย ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง 

นักพากย์ผู้ชายเพียงคนเดียวรับเหมาพากย์ทั้งหมด  ไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ  อย่าง   "รุจิรา"

 

 

ท่านประกาศฉายาว่า ท่านเป็นมนุษย์  6  เสียง  และฉายานี้แหละ ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยโด่งดังไปทั่วโลก

 

อันดับหนึ่งใน  70  ประเทศ

 

 

ม.ล.รุจิรา     ได้รับการตัดสินให้ชนะเลิศการประกวดเป็นที่  1

ทำความปลาบปลื้มให้กับคนไทยทั้งประเทศ  จนสหรัฐอเมริกายกให้เป็นมนุษย์มหัศจรรย์ของอเมริกาเป็นคนแรก

เพราะ  ม.ล.รุจิรา   ทำได้ถึง  6  เสียง

 

 

บุคคลผู้ทรงเกียรติที่ร่วมเดินทางไปครั้งนั้นคือ...

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ 

และ  

หม่อมอุบล ยุคล  

 

 

เห็นไหมครับ ... นักพากย์หนังก็ทำให้ประเทศชาติของเราได้หน้าเหมือนกัน  

"รุจิรา"   ท่านเป็นหม่อมหลวงนะครับ

 

 

ต่อมา   "เทพา"   เอาบ้าง  ประกาศขึ้นมาอีกคนว่าเป็น  "มนุษย์  8  เสียง"

ก็เป็นเทคนิคทางการค้าอีกอย่างหนึ่ง  ก็ได้ผลดี

 

 

 

(ต่อด้วย  "นักพากย์เดี่ยว")

 

 

 




(ID:31704)

 

(7)

 

นักพากย์เดี่ยว ก็ต้องพากย์เดียวคนเดียว  พากย์กันสด ๆ ตลอดเวลาชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง

สมัยโน้นดึกดำบรรพ์โรงหนังฉายเพียงรอบเดียวคือ รอบกลางคืน...สองทุ่ม

คงจะเนื่องจากโรงหนังสมัยนั้นเป็นโรงไม้  มีรูรั่วทั่วทั้งโรง  ไม่มืดพอที่จะฉายกลางวันได้

แอร์ทำความเย็นก็ยังไม่มีใช้  แม้กระทั่งพัดลมก็ยังไม่มีเลย

 

ต่อมา...ค่อยพัฒนาสร้างเป็นโรงตึก  มีพัดลมเล็ก ๆ พัดแกว่งไปมา  จึงเพิ่มรอบกลางวันขึ้น

นักพากย์ต้องทำงานหนัก  โดยพากย์เพิ่มอีกหนึ่งรอบคือ กลางวันพากย์รอบเที่ยง  กลางคืนพากย์สองทุ่ม

 

 

ครั้นยิ่งเจริญมาก ผู้คนดูหนังกันมากขึ้น  ฉายสองรอบ เจ้าของโรงว่าน้อยไป จึงเพิ่มเป็นสามรอบ

กลางคืนฉายสองรอบ ... ทุ่มครึ่งกับสามทุ่มครึ่ง 

กลางวันรอบเที่ยงหนึ่งรอบ

นักพากย์ก็ยังคงพากย์คนเดียวเดี่ยว ๆ ตามเคย

 

 

เท่านั้นยังไม่หนำแก่ใจ โรงหนังเพิ่มรอบอีก  วันเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบเช้าสิบโมงอีกหนึ่งรอบ

รอบกลางวันเที่ยงครึ่ง   แถมบางทีมีรอบบ่ายสองโมงครึ่งอีกรอบ

กลางคืนยังคงสองรอบตามเดิม   รวมเป็นวันละสี่ถึงห้ารอบ  แต่นักพากย์ก็ยังโก่งคอพากย์คนเดียวอยู่นั่นเอง

พากย์กันสด ๆ วันละเกือบ  10  ชั่วโมง  คอหอยแทบพังทลาย

 

 

 

(ต่อด้วย  "ยิ่งไปกว่านั้นอีก")

 




(ID:31765)

 

(8)

 

ยิ่งไปกว่านั้นอีก...

ในวันเทศกาลต่าง ๆ  ตรุษจีนเอย   สงกรานต์เอย   ปีใหม่เอย   ยี่เป็งเอย

ต้องพากย์กันสว่างคาตา  พากย์จนเสียงผู้หญิงที่ดัดให้เหมือนผู้หญิง  กลายสภาพเป็นกะเทยไปฉิบ

นักพากย์จำต้องขอโทษขออภัยท่านผู้ชมคนดู  เขาก็ไม่ว่าอะไร  ต่างเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน

 

การพากย์ ต้องว่ากันสด ๆ  เพราะสมัยนั้นระบบเทปยังไม่เกิด  นักพากย์ต้องเอาไมโครโฟนมาจ่อปาก

พากย์สดกันทุกรอบ ไม่มีการหยุดพัก  ไม่ว่าจะปวดท้องหนัก  ท้องเบา  ก็ต้องทนเอา

บางครั้งก็ต้องพึ่งพากระโถนในห้องพากย์ ถึงจะเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไร ก็ต้องนั่งสั่นงก ๆ เป็นเจ้าเข้า

ต้องพากย์ไปจนจบเรื่องให้ได้  ทรมานทรกรรมพอสมควร

 

พูดถึงการพากย์เดี่ยวคนเดียวในสมัยโน้น นับได้ว่าเป็นความสามารถพิเศษที่ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะทำได้

ลองพิจารณาดูเถอะ นักแสดงนับสิบทั้งหญิงทั้งชาย  นักพากย์ผู้ชายเพียงคนเดียวรับเหมาพูดแทนหมดทุกตัว

ด้วยเสียงที่แตกต่างกัน ไม่ซ้ำกันเลย  และต้องยืนเสียงตัวแสดงนั้น ๆ ไปจนจบเรื่องด้วย

ตัวโกงต้องเสียงนั้น  พระเอก นางเอกต้องเสียงนั้น  จะเปลี่ยนให้ผิดแปลกไปไม่ได้ 

แบบนี้น่าจะเรียกว่าเป็นพรสวรรค์อันมหัศจรรย์ของคนไทย - ก็แทบจะว่าได้

 

คิดว่า ... การพากย์หนังเดี่ยว - คนเดียว 

น่าจะยกให้เป็น  "เอกลักษณ์ประจำชาติไทย"   ที่น่าจารึกและยกย่องเชิดชูด้วยซ้ำไป

 

ผู้ที่นักพากย์ทุกคนเทิดทูนให้เป็นปรมาจารย์ของการพากย์เดี่ยวคนเดีย ก็คือ  ท่านอาจารย์ "ทิดเขียว"

 

แม้กระทั่ง  "พรานบูรพ์"  ปรมาจารย์ของการละคร ก็เคยพากย์เดี่ยว คนเดียวเหมือนกัน

ด้วยการพากย์หนังไทยซึ่งสมัยนั้นสร้างเป็นหนังเงียบ  และใช้การพากย์แทนเสียงในฟิล์ม

และที่น่าประหลาดใจยิ่งขึ้นไปอีก  

นักประพันธ์เอกคนหนึ่งของเมืองไทยก็เคยเป็นนักพากย์กับเขาด้วยเหมือนกัน

ท่านคือ   "ป. อินทรปาลิต"

 

 

(ต่อด้วย..."การพากย์ที่แปลกแหวกแนว")

 




(ID:31771)

 

(9)

การพากย์ที่แปลกแหวกแนว ไม่ค่อยจะเหมือนเพื่อนฝูงนักพากย์ทั้งหลายก็คือ  พากย์ "ดำน้ำ"

ซึ่งเป็นการพากย์ที่ยากมาก และทำกันได้ไม่กี่คน

"ดำน้ำ"  หมายถึงการพากย์ที่ไม่มีบทพากย์ที่จะให้อาศัยเป็นหลักเลย

นักพากย์จะไม่เคยรู้เรื่องของหนังเรื่องนั้นมาก่อน เพราะไม่เคยมีโอกาสได้ดูหนัง

พระเอก นางเอกชื่ออะไรก็ไม่รู้  ขึ้นต้นว่าอย่างไร  ตอนจบเป็นอย่างไร  คนพากย์ไม่มีสิทธิ์รู้ทั้งสิ้น

หนังก็ไม่เคยได้ผ่านสายตามาก่อน  คล้ายกับว่า ... ถูกจับมัดให้นั่งพากย์โดยไม่รู้อะไรเลยสักอย่างเดียว

 

การพากย์  "ดำน้ำ"  จึงเป็นการพากย์เดาสุ่ม  หรือไม่ก็ต้องแต่งเรื่องขึ้นมาเอง

ตัวแสดงอ้าปากพูด เราก็พูด    แต่จะพูดว่าอะไรต้องตัดสินใจเอาเอง  จะขึ้นเขา ลงห้วย หรือออกทะเล ก็ว่าไปเอง

ขอแต่เพียงอย่างเดียวคือ พูด-พูด-พูด ให้จบเรื่อง  และจะต้องให้เป็นเรื่องเป็นราวด้วย 

ข้อสำคัญจะต้องลากไปให้จบให้จงได้  ไม่ใช่ล่มกลางคัน  ซึ่งเรียกกันว่า  "ดำไม่โผล่"

บางทีโชคช่วยนิดหน่อย  คือใบเซ็นเซอร์ที่ติดมากับหนังอาจเป็นตัวช่วย 

กล่าวคือ - ในใบเซ็นเซอร์จะมีเรื่องย่อเขียนไว้ราว ๆ 2 - 3 บรรทัด  บอกสั้น ๆ  เช่นว่า...

 

"พระเอกเป็นผัวนางเอก  นางเอกเป็นตำรวจเอฟบีไอ  ตามจับผู้ก่อการร้าย

ผู้ก่อการร้ายจับตัวผัวพระเอกไว้เป็นตัวประกัน  นางเอกจึงซ้อนกลช่วยผัวออกมาได้

ปราบผู้ก่อการร้ายได้หมดทั้งก๊ก"

 

 

ด้วยข้อความสั้น ๆ แค่นี้  นับว่าโชคดีมากที่ยังพอรู้เค้าเรื่องบ้าง  จึงพออาศัย  "ดำน้ำ"  ไปน้ำขุ่น ๆ ได้อย่างสบาย

 

แต่ถ้าหากว่า...ใบเซ็นเซอร์ก็ไม่มี  จะเป็นเพราะลืมเอามา  หรือหาย  หรือเป็นหนังเถื่อนที่ไม่ได้ผ่านการเซ็นเซอร์...ก็สุดแล้วแต่

นักพากย์ดำน้ำก็ต้องดำให้จบให้ได้ ถึงแม้หนังจะยังไม่เคยดู  บทพากย์ก็ไม่มี 

ทั้งยังไม่รู้ว่าเป็นหนังบู๊   หนังโรแมนติก    หนังผี    รู้เพียงอย่างเดียวว่าจะต้องใช้วิชาเดา พากย์เอาเองตามอำเภอใจ

 

นี่แหละ...คือภาะหน้าที่ที่จะต้อง   "ดำน้ำ"   เพื่อทการเนรมิตจินตนาการขึ้นมาให้จงได้

โดยสมมติทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาเองทั้งสิ้น

 

นางเอกในเรื่องชื่ออะไร - ก็ช่าง   เราตั้งของเราขึ้นมาใหม่  เอาชื่อง่าย ๆ ที่คุ้นหู

เช่น  เจน   แมรี   อลิซาเบ็ธ      ถ้าหากเป็นนางผู้ร้าย ให้ชื่อว่าเฮเลนก็แล้วกัน  

ส่วนพระเอกมักใช้   จอห์น    ทอม     ยอร์ช   เป็นหลัก

 

แต่นักพากย์บางคนต้องการชื่อแปลกใหม่ก็จำต้องสอดส่ายสายตาหาสิ่งของใกล้ตัว  เช่น

ปากกา    บุหรี่    วิทยุ   มาตั้งเป็นชื่อ 

ดังนั้น บางคืนพระเอกจึงชื่อ  ชาร์ป บ้าง     ฟิลิปส์ บ้าง    วินสตัน บ้าง   อะไร ๆ เทือกนี้

 

 

 

(ต่อด้วย  "วันหนึ่ง")




(ID:31836)

 

(10)

 

วันหนึ่ง...

หรือจะเรียกให้ถูกต้องก็ต้องว่า  คืนหนึ่งในจอ  ปรากฏผู้ร้ายอำมหิตโผล่ออกมาจากหนังคาวบอยกะทันหัน

นักพากย์นึกชื่ออะไรไม่ทัน เหลือบไปเห็นเสื้อเชิ้ตยี่ห้อ  "ดอว์สัน" 

ปากก็โพล่งออกไปทางไมโครโฟนดังกังวานไปทั่วบริเวณวัด...

 

"มึง...มึง...ไอ้ดอสั้น"

 

เรียกเสียงเฮดังสนั่นหวั่นไหวจากคนดูนับร้อยรอบจอกลางแปลง เพราะนึกว่าคนพากย์พูดสองแง่สองง่าม

เล่นเอาคนดูสตรีอายม้วนต้วนไปตาม ๆ กัน  ... อย่างนี้ก็มี

 

 

ขอแถมให้อีกสักนิดเรื่อง  "ดำน้ำ"   อีกนิด  มีเรื่องเล่ากันว่า

ในยุคกลาง...เกิดมีนักพากย์อัจฉริยะขึ้นมาคนหนึ่ง  คือพากย์หนังโดยไม่ต้องมีบทพากย์  และไม่ต้องดูหนังมาก่อนเลย

เรียกกันว่าพากย์  "ดำน้ำ"

 

 

"ดาวนคร"    เป็นนักพากย์ประเภทลูกทุ่ง  เขาไม่รู้ภาษาอังกฤษเลย

แต่สามารถพากย์หนังฝรั่งจบเรื่องได้ด้วยวิธีดำน้ำ 

ดังนั้น...เขาจึงเป็นที่ต้องการสำหรับบริการจำหน่ายหนังเล็ก ๆ ที่มีหนัง  แต่ไม่มีบท 

และไม่อยากนำหนังมาฉายดูก่อนพากย์ให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่าย

 

 

คืนหนึ่ง เขาได้รับหน้าที่พากย์หนังดำน้ำ   สมมติว่าเรื่อง  "ชู้รักอมตะ"

คืนนั้นมีเพื่อนนักพากย์เข้ามานั่งในห้องพากย์ด้วย

 

 

พอหนังหมดไตเติ้ล  ก็ปรากฏภาพตึกรามบ้านช่องอาคารสูงตระหง่านฟ้า

"ดาวนคร"   ก็เริ่มบรรยายทันที

 

"แมรีคนสวยของเรา..."

 

คำว่า  "แมรี"   เป็นชื่อนางเอก  ซึ่งแทบทุกเรื่อง  นางเอกของเขามักจะชื่อแมรีเสมอ

จนคนดูชอบขัดคอเขาทุกที  เช่นในหนังมีผู้ชายถามผู้หญิงว่า  "คุณชื่ออะไร ?"

คนดูจะตะโกนดักหน้าว่า  "แมรี"  ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง   เอาละ  เล่าต่อ...

 

 

 

(ต่อด้วย..."จากภาพในจอ")

 

 

ที่มีหนัง

 




(ID:31851)

 

(11)

 

จากภาพในจอ  ตึกรามบ้านช่องใหญ่โต    "ดาวนคร"   บรรยายว่า

 

"แมรีคนสวยของเรา มีนิวาสสถานอยู่ในกรุงลอนดอน มหานครเมืองผู้ดี 

ที่นี่ เธอมีความสุขกับการออกงานสังคม"

 

 

ในจอ...ปรากฏตัวหนังสือภาษาอังกฤษขึ้นมา  ตัวใหญ่โต      

 

- PARIS -

 

เพื่อนนักพากย์ที่นั่งข้าง ๆ สะดุ้งโหยง  รีบกระซิบที่ข้างหู   "ดาวนคร"

 

 

"เฮ้ย...ปารีส  ไม่ใช่ลอนดอน"

 

 

"ดาวนคร"   ไม่สะทกสะท้าน  ไม่ตระหนกตกใจ   ยังคงพากย์ต่อไปอย่างใจเย็น

 

 

"แต่แมรีอยู่ลอนดอนได้ไม่นาน  เธอก็จำใจย้ายจากลอนดอนไปอยู่ปารีส   /  

เพราะเธอทนต่อความเป็น   "เมืองผู้ดี"   ของที่นั่นไม่ค่อยไหว"

 

 

นี่แหละ...ราชาดำน้ำคนหนึ่ง

 

 

แต่ถึงอย่างไร...นักพากย์  "ดำน้ำ"   ต้องจัดเป็นบุคคลพิเศษสุดที่มีสมองเลื่อนไหลเป็นเลิศ

สามารถจับแพะชนแกะได้จนจบเรื่อง  จึงน่าสงสัยว่า  บุคคลประเภทนี้คงจะมีไอคิวสูงกว่า  180  เป็นแน่

 

 

ก็จะทำอย่างไรได้  เขาจำเป็นต้องหาเงินเข้าบ้านให้ได้  แม้จะเป็นเพียงห้าสิบบาท  ร้อยกว่าบาท ก็ตามที

เพราะพรุ่งนี้เช้า  ลูกรอเงินค่าขนมไปโรงเรียน  แม่บ้านรอค่ากับข้าวประจำวัน

จึงต้องทนไปดำน้ำให้โผล่ ตามหน้าที่ที่พึงกระทำ

 

 

แต่จะอย่างไรก็ตาม   นักพากย์   "ดำน้ำ"   นับได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถยอดเยี่ยมเฉพาะบุคคล  ก็ต้อง...นับถือ...นับถือ

 

 

นักพากย์อีกแบบหนึ่ง  ก็ไม่เหมือนใครอีกเหมือนกัน  เพราะมีพฤติกรรมที่ไม่ธรรมดา

 

นักพากย์คนอื่น ๆ เขาเปิดไฟสว่าง   อ่านบทไป   แล้วก็พากย์ออกเสียงไปตามบทนั้น ๆ

 

แต่นักพากย์คู่นี้กลับปิดไฟมืดสินท  แม้ว่าจะมีบทพากย์วางไว้ตรงหน้าก็จริง

แต่เขาทั้งคู่ไม่เปิดดู  จะว่าท่าน  "ดำน้ำ"  ก็ไม่ใช่ 

เพราะว่าได้เรื่องตรงตามบทพากย์ที่วางไว้ตรงหน้าทุกถ้อยคำ ไม่ผิดเพี้ยน

 

 

นักพากย์คู่นี้มีนามว่า   "ลักษณเย็น,   วรรณสาร"   ได้ความรู้มาว่า

ท่านทั้งสองใช้วิธีท่องจำ ส่วนจะจำแบบไหน ใช้ปฏิภาณอย่างไร  ย่อมเป็นความสามารถเฉพาะตัว

คงจะบอกและสอนกันไม่ได้

 

 

 

(ต่อด้วย..."พูดถึงนักพากย์โรงแล้ว  ขอนำคุณ")

 

 




(ID:31854)

 

(12)

 

พูดถึงนักพากย์ดรงแล้ว  ขอนำคุณแวะไปเยี่ยมนักพากย์หน่วยเร่กันบ้าง

 

คุณประยูร วงศ์ชื่น    ได้เล่าไว้อย่างน่าตื่นเต้นและน่าเห็นใจว่า

 

"เมื่อมาถึงบ้านเจ้าของงาน  นักพากย์วางกระเป๋าเครื่องฉาย  ถุงจอ  กระเป๋าฟิล์ม

เสร็จแล้วก็ขอไม้ไผ่  2  ลำ  ตรง ๆ หน่อย  กับขอแขนงไม้สองอัน  หลาวให้แหลมเอาไว้ขึงเชือกผูกจอ

โต๊ะเขียนหนังสือ  1  ตัว  ไว้ตั้งเครื่องฉายกับวางบทพากย์

เก้าอี้  1  ตัว เอาไว้นั่ง

หลอดไฟส่องสว่าง  25  วัตต์  เอาไว้ดูบทพากย์...

 

ตกค่ำมืด...มีคนดูมานั่งรอที่หน้าจอเต็มไปหมด  ดึกหน่อยคนเริ่มมาก  เบียดเสียดกันแทบจะเหยียบนักพากย์ตาย...

 

นักพากย์ต้องทำหน้าที่ฉายหนังไปด้วยและพากย์ไปด้วย  พากย์เป็นเสียงพระเอก  นางเอก  ผู้ร้าย  นางร้าย

เรียกว่า...พากย์สารพัดเสียงในภาพที่ปรากฏบนจอ...

 

ถ้าเป็นหนังไทย ต้องเพิ่มหน้าที่วางเพลงประกอบด้วยแผ่นเสียง  บางครั้งรีบร้อนเปลี่ยนแผ่นไม่ทันมอง

เข็มแผ่นเสียงตำนิ้วเลือดไหล  ทั้งยังต้องทำเสียงเอฟเฟคท์ 

เสียงชกต่อย 

เสียงปืน 

เสียงรถ  

เสียงเรือ

เสียงสิงห์สาราสัตว์   ...  เหมาหมดคนเดียว

 

 

ถ้าพากย์ไม่ถูกใจคนดู ก็ถูกโห่   ถ้าฟิล์มหนังเก่า  ฉายขาดบ่อย ๆ   เจ้าของงานพาลพาโลจ่ายเงินให้ไม่ครบ

กลับมาถึงเจ้าของหักค่าแรงจาก  50  บาท  เหลือ  30  บาท   แถมยังโดนตำหนิว่า...

 

"พากย์ไม่ดีนะซิ  เขาจึงตัดเงิน..."

 

เห็นไหมครับ...นักพากย์หน่วยเร่ช่างน่าสงสารเพียงไร  ต้องพากย์ด้วย  ฉายหนังด้วย  เปิดแผ่นเสียงด้วย

แถมยังต้องส่งเสียงประกอบ  ไม่ว่าเสียงอะไร ๆ ที่ปรากฏในจอ 

แต่ได้ค่าแรงเพียงวันละ  50  บาท  ดีไม่ดี ถูกตัดลงเหลือแค่  30  บาท ก็ยังมี

 

 

 

(ต่อด้วย..."การพากย์คู่ชาย - หญิง เกิดขึ้นหลังจาก")

 




(ID:31861)

 

(13)

 

การพากย์คู่ชาย - หญิง  เกิดขึ้นหลังจากการพากย์เดี่ยวไม่นาน  เป็นการสอดประสานผสมกันไป

มีพากย์เดี่ยวบ้าง  พากย์คู่บ้าง  ทำให้คนดูได้รับอรรถรสไปคนละแบบ

 

 

นักพากย์คู่ ในภาคใต้ระยะแรก ๆ  ก็มี ...

 

"รุจิรา,  มารศรี"

"เพ็ญ,  ศรีปัญญาพล"

"อุดม,  ละม่อม"

"ลักษณเย็น,  วรรณสาร"

"ทิดทอง,  วรรณรัตน์"

"ปลัดแหยม,  เสนาะ"

"ดาวธง,  เทียมจันทร์"

ฯลฯ

 

สำหรับนักพากย์เดี่ยว  ส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงของท่านอาจารย์  "ทิดเขียว"

ซึ่งท่านได้ตั้งคณะนักพากย์ขึ้น  ใช้นามว่า   "คณะทิดเขียว"

 

 

คนสำคัญในคณะทิดเขียว  ก็คือ   "พันคำ"   ซึ่งเป็นลูกชายของท่านอาจารย์เอง

"พันคำ"   เป็นคนทำบทพากย์เพื่อให้นักพากย์ในคณะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการพากย์

ต่อมา   "พันคำ"  ก็ผันไปเป็นนักพากย์อีกคน

 

 

 

 

(ต่อด้วย  "นักพากย์ คณะทิดเขียว")




(ID:31923)

 

(14)

 

นักพากย์  "คณะทิดเขียว"   ทุกคน  ต้องพากย์ตามบท  ไม่มีการดำน้ำ

เพราะท่านอาจารย์ได้เขียนกลอนติดไว้หน้าประตูทางเข้าออก  นักพากย์ทุกคนจะต้องพบเห็นคำกลอนนี้เป็นประจำ

ท่านเขียนไว้ว่า...

 

อันหนังดี      พากย์ดี            ก็มีชื่อ

คนเขาลือ     ว่าเก่ง              นักเลงหนัง

ไม่ดูบท        พากย์มันเลย    เฮ้ย...กูดัง

ชื่อเสียงพัง   คนฮาป่า         หน้าเหมือนลิง

อันหนังดี      พากย์ดี           ย่อมมีชื่อ

คนเขาลือ      ว่าพากย์เก่ง   นักเลงหนัง

หนังไม่ดี      พากย์ไม่ดี       มีคนชัง

จะเอาตังค์    ใครเล่า           เขาไม่แล

 

 

ลงแบบนี้  ลูกศิษย์ทั้งหลายจึงไม่มีใครกล้าละเมิดคำสั่งของท่านอาจารย์

 

 

 

ใน  "คณะทิดเขียว"   มีนักพากย์ชื่อดังอยู่ด้วยกันหลายคน

ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนดูทั่วภาคใต้   เป็นต้นว่า...

 

พันคำ

ดาวบูรพา

พลายแก้ว

จิตรคุปต์

สุขจิตร

ศุภลักษณ์

ชวาลา

ชัชวาล

บุศราพันธ์

จันทร์เพ็ญ

วรเทพ

ฯลฯ

 

ท่านเหล่านี้ล้วนแต่พากย์เดี่ยวทั้งสิ้น

 

 

 

"คณะทิดเขียว"   จึงเป็นยี่ห้อที่ประกันคุณภาพของการพากย์

 

 

การโฆษณาประจำวันของโรงหนังสมัยนั้น  ก็คือ

เขียนป้ายสังกะสีไปตั้งไว้ตามเสาไฟฟ้า  ในป้ายก็จะเขียนด้วยซิงค์ออคไซด์สีขาว

บางโรง เอาสีต่าง ๆ ผสมลงไปด้วย  เพื่อความสวยงาม   เช่นเขียนว่า...

 

ชวาลา    -   คณะทิดเขียว  -   พากย์  -  เศรษฐีขอทาน

 

 

ชาวบ้านเมื่อเห็นชื่อนักพากย์ใน    คณะทิดเขียว  เดินทางจากกรุงเทพฯ มาพากย์

ก็มีความมั่นใจว่าคืนนี้ย่อมไม่ผิดหวังแน่นอน

 

 

ชื่อ   "คณะทิดเขียว"   จึงเป็นยี่ห้อเรียกคนดูผู้ชมได้เป็นอย่างดีเสมอมา

นักพากย์  คณะทิดเขียว   จึงได้รับความนิยมอย่างมากในระยะนั้น  

และคนดูไม่เคยผิดหวังกับนักพากย์ของท่านอาจารย์สักคนเดียว

 

 

 

(ขึ้นตอนใหม่ว่า     "ก่อนพากย์หนัง")




(ID:31924)

 

(15)

 

ก่อนพากย์หนัง

 

ไม่เชื่อ ก็ต้องเชื่อ  ก่อนจะประเดิมเริ่มพากย์หนังของคืนนั้น  สมัยเมื่อ  60  ปีก่อนโน้น

ในวงการของนักพากย์ได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันจนเป็นประเพณีสองอย่างด้วยกัน

 

หนึ่ง...แอนนาวส์ (Announce)    

สอง...ร้องเพลง

 

 

แอนนาวส์  คืออะไร ?   พูดกันอย่างไทย ๆ ก็ต้องว่าเป็นการทักทายปราศรัยกับคนดู  หรือแนะนำตัวเอง...อะไรทำนองนั้น

บางคนก็ถือโอกาสคุยเรื่องอะไรต่อมิอะไรให้คนดูฟัง  เพราะในระยะสงครามนั้น  แทบเป็นการตัดขาดการสื่อสารกันเลย

คนบ้านนอกมักจะไม่ค่อยรู้ข่าวสาร  ความเคลื่อนไหวของคนในกรุง

นักพากย์ซึ่งเพิ่งออกมาจากกรุงเทพฯ จึงมักนำเอาสิ่งละอันพันละน้อยมาเล่าสู่กันฟัง

 

ยกตัวอย่าง...สมมติว่า เป็นขณะปัจจุบันนี้   นักพากย์จะแอนนาวส์ก่อนเริ่มพากย์หนังดังนี้...

 

"สวัสดีครับ...ท่านผู้ชมที่เคารพ  วันนี้ขึ้นปีใหม่แล้ว  ขออวยพรให้ท่านผู้ชมทุกท่าน

จงประสบแต่ความสุขปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ  คิดสิ่งใดขอให้ได้สิ่งนั้นตลอดทั้งปี

เมื่อวานนี้ ผมได้ไปนั่งรถไฟฟ้ามหานครมา  ก็รถลอยฟ้าลอยเมฆอะไรนั่นละ  ก็ดีเหมือนกันแฮะ

ได้เห็นทิวทัศน์ของกรุงเทพฯ ในอีกแง่มุมหนึ่ง

 

ถ้าพูดถึงว่า  ขึ้นไปนั่งทัศนาจรล่ะก็  คุ้มเกินคุ้ม  เสียเงินแค่  40  บาท

ถูกกว่านั่งแท็กซี่ไม่รู้กี่เท่า  ได้มองเห็นทิวทัศน์ถนัดนัยน์ตากว่าด้วย

แต่ถ้านั่งไปทำงานไปกลับ  เสียเงินวันละเกือบร้อย  เดือนละ  2,000  กว่า ก็ต้องคิดกันหน่อยละ

เออ...เกือบลืมไป  อุตุ เขาเตือนว่า  อีก 2 -3 วัน  จะมีลมหนาวพัดมาอีกระลอก  จึงควรตระเตรียมเสื้อผ้าไว้ให้พร้อมนะครับ

ไอ้ที่เก็บใส่ตู้ไว้ ก็เอาออกมาตากแดดผึ่งลมเสียบ้างก็จะดี  เอาล่ะครับ...ชมหนังกันดีกว่า

 

ผม..."วัยชรา"  ขอกราบขอบพระคุณ"

 

 

นี่ล่ะครับ  คือตัวอย่างของ  การแอนนาวส์  ที่นักพากย์ในสมัยไดโนเสาร์ถือปฏิบัติกันมายาวนานพอสมควร

จนเป็นที่รู้กันระหว่างคนดูและคนพากย์

 

 

 

(ต่อด้วย  "การร้องเพลง")

 




(ID:31975)

 

(16)

 

การร้องเพลง...

 

อันนี้ก็แปลกจังเลย ไม่รู้ใครเป็นต้นคิด  แต่เห็นเขาประพฤติปฏิบัติกันมานานแสนนาน

 

นักพากย์หนุ่ม ๆ เสียงดี  ๆ มักร้องเพลงให้คนดูได้ฟังคนละเพลงก่อนหนังแย

บางคนร้องสองเพลงก็ยังมี  คนดูไม่เห็นว่าอะไร  กลับชอบใจไปเสียอกี

เพราะได้ดูหนังแล้ว  นักพากย์ยังแถมร้องเพลงให้ฟังอีกต่างหาก  เงินค่าดูก็ไม่เสียเพิ่ม จึงถือได้ว่าเป็นกำไรของผู้ชม

 

 

แต่ยังมีทีเด็ดยิ่งไปกว่านั้นอีก  มีนักพากย์คนหนึ่ง ไม่หนุ่มหรอก  ค่อนข้างจะแก่เสียด้วยซ้ำ

ท่านชื่อ   "ประภาส สวนขวัญ"  อันที่จริง...ท่านเป็นถึงครูบาอาจารย์

คือเป็นครูสอนดนตรีที่กรุงเทพฯ  เปิดร้านของท่านเองอยู่แถวบางลำพู  มีลูกศิษย์ลูกหาไม่น้อย

ท่านมาพากย์หนังกะเขาด้วย  และร้องเพลงกะเขาเหมือนกัน  อาศัยที่เป็นนักดนตรี

ท่านไม่เพียงแต่ครวญเพลงอย่างเดียว  ท่านสีไวโอลินคลอไปด้วย  จึงมีเสียงดนตรีประกอบเสียงร้องของท่าน

จึงนับได้ว่าท่านมาแปลกแหวกแนว  ก้าวหน้ากว่าคนอื่นเขา

แม้ว่าเสียงของท่านค่อนข้างจะ  "แก่"  ไปนิด  แต่ของฟรีนี่ครับ ถือเสียว่าเป็น "น้ำจิ้ม" ก็ดีโขแล้ว

 

 

(ต่อด้วย "เรื่องแบบนี้")

 




เลือกหน้า
[1] [2] [3]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 37

กลับขึ้นข้างบน / กลับหน้าแรก

ค้นกระดานข่าว:


ถูกเปิด: ถูกคลิ๊กแล้ว: 116947464 ตอนนี้มีผู้เข้าชม : 1 ล่าสุด :RobertMIGH , LavillKer , Maciedetpailt , BobbyHOm , Sallycgriet , CarolyncJuh , แสบ chumphon , LouieTub , rudgoodcomua , AdamLR ,