ความเห็น |
ดอกฟ้าในมือมาร (อังกฤษ: Mysterious Object at Noon) เป็นภาพยนตร์สารคดี แนวทดลอง ที่กำกับโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในปี พ.ศ. 2543 เล่าเรื่องราวโดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า "Exquisite corpse" เล่าเรื่องราวของ "ครูดอกฟ้า" แบบบอกต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยทีมงานตระเวนถ่ายทำจากภาคเหนือสู่ภาคใต้และภาคอีสาน สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ [1] ภาพยนตร์ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาวดำ 16 ม.ม. โดยไม่มีบทภาพยนตร์ แล้วขยายเป็น 35 ม.ม.[2][3]
ภาพยนตร์ออกฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแวนคูเวอร์ แคนาดา ในปี พ.ศ. 2543 และได้รับรางวัล Dragons and Tigers Award ได้รับรางวัล Woosuk Award จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติจีอุนจู เกาหลีใต้ ได้รางวัล NETPAC Special Mention Prize จากเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติยามางาตะ ญี่ปุ่น และไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ลอนดอน ฮ่องกง และสิงคโปร์ และได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ดีเด่นประจำปี 2000 โดยนิตยสาร Film Comment และ Village Voice [4]
ดอกฟ้าในมือมาร ได้รับการสนับสนุนทุนสร้างจาก Hubert Bals Fund เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ [3]
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (ชื่อเล่น "เจ้ย" ต่างประเทศเรียก "Joe") เกิดวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2513 ณ กรุงเทพมหานคร เติบโตในจังหวัดขอนแก่น โดยเป็นบุตรชายของ นายสุวัฒน์ วีระเศรษฐกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโท ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาพยนตร์ จากสถาบันศิลปะชิคาโก (Art Institute of Chicago) เริ่มต้นผลิตภาพยนตร์และวิดีโอตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2533 เป็นหนึ่งในผู้ผลิตภาพยนตร์ไม่กี่คนในประเทศไทยที่ทำงานนอกระบบสตูดิโอ อภิชาติพงศ์มักทดลองโดยยึดหลักโครงเรื่องที่อิงมาจากละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ การ์ตูน และภาพยนตร์เก่า ๆ มักได้แรงบันดาลใจมาจากเมืองเล็ก ๆ มักใช้นักแสดงที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่ใช่มืออาชีพ และใช้บทสนทนาสด
พ.ศ. 2543 ภาพยนตร์สารคดีเรื่องยาวเรื่องแรกของเขา ดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon) ได้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมากมาย และได้รับคำวิจารณ์พร้อมรางวัล 4 รางวัล และเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในปี 2543 โดยนักวิจารณ์นิตยสาร The village voice อภิชาติพงศ์เปิดบริษัทภาพยนตร์ Kick the Machine โดยผลิตภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) ได้รับรางวัล Un Certain Regard ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ประจำปี พ.ศ. 2545 ณ ประเทศฝรั่งเศส ถูกจัดเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่คานส์โดยนิตยสาร Le Cahiers du Cinema พ.ศ. 2547 ภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) ซึ่งร่วมกับบริษัท Anna Sanders Films ประเทศฝรั่งเศส ได้รับรางวัล Jury Prize และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับเข้าเลือกในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพ ยนตร์เมืองคานส์...