เอเยนซี- เว็บไซต์ china.org เปิดโผ 10 อันดับภาพยนตร์จีนอมตะ ที่คับแน่นด้วยเนื้อหา และเปี่ยมล้นด้วยเทคนิคถ่ายทำ โดยผ่านการรับประกันคุณภาพจากทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ศักยภาพการแข่งขันภาพยนตร์จีนสูงขึ้นอย่างต่อ ในฐานะสื่อสะท้อนสังคมจีนตลอดระยะเวลา 107 ปีที่ผ่านมา จีนมีประวัติการสร้างภาพยนตร์ที่น่าภูมิใจ ภาพยนตร์จีนเริ่มสร้างครั้งแรกในปี 1905 หลังการเกิดภาพยนตร์ในฝรั่งเศสเพียง 10 ปี ในช่วง 20ปี ให้หลังมานี้ ภาพยนตร์จีนได้รับการยอมรับมากขึ้น ในขณะที่ตามหัวเมืองใหญ่ของจีนเต็มไปด้วยบริษัทผู้สร้างมากกว่าร้อยแห่ง และเซี่ยงไฮ้ก็เป็นหนึ่งในนั้น ในทศวรรษที่ 30 และ 40 แม้ว่าจีนจะเข้าสู่ยุคความวุ่นวายทางการเมือง แต่วงการภาพยนตร์จีนก็มิได้หยุดเติบโต ช่วงเวลานั้นผู้สร้างต่างมีมุมมองในการผลิตไปในทางประจักษ์นิยมและเริ่มสร้างภาพยนตร์ในแนวทางวิพากษ์สังคม โดยมีเมืองเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการสร้างสรรค์งาน ภาพยนตร์ในตำนานหลายเรื่องถูกสร้าง ณ เมืองท่าแห่งนี้ อาทิ Crossroads (1937), Angles on the road (1937), A spring river flows east(1947). ยุค 50 ฮ่องกงและไต้หวันเริ่มมีบทบาทในวงการมากยิ่งขึ้น เวลาต่อมาฮ่องกงกลายเป็นเมืองหลวงของวงการภาพยนตร์จีน หลายฝ่ายต่างกล่าวขานว่าฮ่องกงเป็น “ฮอลลีวูดแห่งโลกตะวันออก” เข้าสู่ยุคทศวรรษที่ 70 ถึงกลางทศวรรษที่ 90 ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางของวงการภาพยนตร์รองจากฮอลลีวูด ว่ากันว่าหนังฮ่องกงพบได้ทุกมุมโลกที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่ กลับกันวงการภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่ยุค 50 การจัดสร้างและตลาดภาพยนตร์ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดโดยรัฐ จนถึงปลายยุค 70 การสนับสนุนวงการภาพยนตร์โดยรัฐบาลได้ยุติลง ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปและเปิดกว้าง ผู้สร้างต่างหันมาสู่รูปแบบการพาณิชย์มากกว่าก่อน ประชาชนทั่วไปกลับสู่โรงภาพยนตร์อีกครั้ง ในปี 2011 ภาพยนตร์กว่า 560 เรื่องสร้างขึ้นบนจีนแผ่นดินใหญ่ มีรายได้มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่ามาตรฐานคุณภาพยังไม่ค่อยน่าพอใจนัก อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์ยาวนานของวงการภาพยนตร์จีนได้สร้างผู้กำกับชั้นครูไว้หลายท่าน พวกเค้าสร้างพลงานที่มีคุณค่าเหนือกาลเวลา เช่นสิบอมตะภาพยนตร์ที่เวบไซต์ของทางการจีนจัดอันดับไว้ ดังต่อไปนี้ อันดับ 10 วีรบุรุษ (Hero/英雄) | |||
จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม จางอี้โหมว กลายเป็นบุคคลที่ต้องพูดถึงทุกครั้งที่สนทนาถึงภาพยนตร์จีน จาง สร้างวีรบุรุษ ซึ่งเป็นภาพยนตร์กำลังภายในเรื่องแรกของเขาภายใต้กระบวนการผลิตแบบฮอลลีวูด ทุ่มทุนสร้างกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ กลายเป็นหนังจีนที่ใช้ทุนสร้างมากสุดในเวลานั้น และเป็นแรงฉุดตลาดภาพยนตร์จีนให้กลับมาคึกคักในระดับนานาชาติ ทันทีที่เข้าฉายในปี 2002 วีรบุรุษก็ได้รับการตอบรับอย่างสวยงาม นักวิจารณ์และผู้จัดมั่นใจในศักยภาพของหนังว่าสามารถทำเงินได้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่สามารถเปิดตัวเป็นอันดับหนึ่งในอเมริกาเหนือ มีรายรับกว่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้ถูกวิจารณ์ว่าไม่ใคร่ใส่ใจในส่วนของการ “เล่าเรื่อง” เท่าที่ควร แม้ว่าจะคว้าถึง 14 รางวัลจากภาพยนตร์ทองคำฮ่องกงในปี 2003 ก็ตาม อันดับที่ 9 ไซอิ๋ว ศึกเทพอสูรสะท้านฟ้า (大话西游หรือ A Chinese Odyssey Duology) | |||
เมื่อครั้งเปิดตัวในปี 1995 ไม่มีใครคาดคิดว่าหนังเรื่องนี้จะกลายเป็นภาพยนตร์อมตะเหนือการเวลา แต่เพราะจุดเด่นในการนำความรัก การเดินทาง และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ภายหลังเปิดตัวได้ 3-5 ปี หนังเรื่องนี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในหมู่วัยรุ่น สำนวนและรูปประโยคที่ตัวละครใช้ได้ถูกหยิบยืมมาใช้อย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่นักวิชาการเริ่มจัดหนังเรื่องนี้เป็นงานชิ้นเอกของ “การถอดรื้อหลังสมัยใหม่” (Post-modern deconstructionist classics) ทว่า เมื่อมองจากยุคปัจจุบันหลายคนอาจตำหนิในเรื่องเทคนิคการถ่ายทำที่ดูล้าสมัย แต่กระนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามันน่าตื่นตาเพียงไรในยุคที่ยังไม่สามารถดาว์นโหลดหนังได้ทางอินเตอร์เนต อันดับที่ 8 สองคนสองคม (无间道หรือ Infernal Affairs) | |||
ด้วยเรื่องราวที่คลาสสิคหักมุม ทำให้ผู้ชมต้องประหลาดใจครั้งแล้วครั้งเล่า อีกทั้ง คับคั่งไปด้วยนักแสดงคุณภาพ ส่งผลให้ สองคนสองคม เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในฮ่องกงและทุกประเทศที่เข้าฉาย รวมทั้งประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาด้วย โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์มาเฟียฮ่องกงที่ดีที่สุด มีชั้นเชิงที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี นับจาก โหด เลว ดี (A Better Tomorrow ) หนังเรื่องนี้ได้รับประกันคุณภาพอย่างมากมาย อาทิ 4 รางวัลชนะเลิศ จากภาพยนตร์ฮ่องกงยอดเยี่ยมครั้งที่ 22 6 รางวัลชนะเลิศจากม้าทองคำครั้งที่ 40 5 รางวัลชนะเลิศจากดอกชงโคทองคำ ครั้งที่ 8 นอกจากนี้ เพราะบทอาชญากรที่ชาญฉลาดทำให้ ฮอลลีวูดต้องนำมาทำซ้ำในรูปของ “The Departed” กำกับโดยมาร์ติน เสกาตส์ ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลวิช่วลแอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม และรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากออสการ์ ในปี 2007 อันดับที่ 7 เสือซุ่ม มังกรซ่อน (卧虎藏龙 หรือ Crouching Tiger, Hidden Dragon) | |||
นับแต่เข้าฉายในปี 2000 เสือซุ่ม มังกรซ่อน กวาดรายได้จากตั๋วที่ขายในอเมริกาเหนือมีมากกว่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐ และดันจางจึหยี “โกอินเตอร์” ทั้งได้รับการรับประกันคุณภาพจากตะวันตกด้วย 4 รางวัลออสการ์ในปี 2001 ในทางประเทศจีนนั้น ผลงานกำกับของหลี่อัน นอกจากจะได้รับการยกย่องเรื่องเสื้อผ้า การแต่งกาย เทคนิคถ่ายทำ และเพลงประกอบแล้ว การทำประเด็นถวิลหาความสันโดษของจอมยุทธ์ให้ชัดขึ้น ยังเป็นจุดเด่นของเขาอีกด้วย แม้บางส่วนจะมองว่าทักษะการแสดงและการใช้ภาษาที่ยังไม่ตรงใจเท่าที่ควรเมื่อเทียบชั้นกับเจ้าพ่อวงการกำลังภายในอย่างเหลียงหยูเชิงหรือจินยงก็ตาม อันดับที่ 6 วันที่หัวใจรักกล้าตัดขอบฟ้า (阿飞正传หรือ Days of Being Wild) | |||
ความแปลกแยกของเนื้อหา การเจาะเน้นเรื่องราว ของผู้คนยุคปัจจุบัน ที่อยู่ด้วยความสับสน และเปลี่ยวเหงา ภาวะจิตใจ ที่ไร้การยึดเหนี่ยวและการค้นหาตัวตน คือจุดเด่นของหว่องกาไว จึงทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลอาทิ นักแสดงยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากการประกาศรางวัลภาพยนตร์ฮ่องกง ครั้งที่10 ในปี 1991 และถูกจัดให้เป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของฮ่องกงหลายครั้ง นอกจากนี้ การกำกับการแสดงของเขา ผสมฝีมือการกับภาพของคริสโตเฟอร์ ดอยล์ เป็นเอกลักษณ์ที่พบในภาพยนตร์ของเค้าทั้งคู่อีกหลายเรื่องต่อมาไม่ว่าจะเป็น Chungking Express, Ashes of Time, Fallen Angels , Happy Together , In the Mood for Love และ "2046" ที่มีธงไชย แมคอินไตย์ ร่วมแสดงด้วย อันดับที่ 5 อาดูรแห่งแผ่นดิน (悲情城市หรือ A City of Sadness) | |||
นักวิเคราะห์หนังเจอรี่ ไวท์ กล่าวว่า จุดเด่นของหนังเรื่องนี้ คือ เทคนิคการเสกโศกนาฏกรรมจากความว่างเปล่า อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของโหวเซี่ยวเสียน เขาใช้การส่งสัญญาณ บอกใบ้ แก่คนดูผ่านฝีภาพยาว (long take) บ้าง ภาพวิถีไกล (long shot) ของตัวเมืองรกร้างบ้าง เพื่อแสดงความวิปโยคของภาวะสงครามกลางเมืองแทนที่เสียงกระสุนหรือกองเลือด ทำให้คนดูอาจขาดอารมณ์ร่วม และถูกจัดวางในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่นิ่งสุขุมเท่านั้นภาพยนตร์เรื่องนี้กวาดรางวัลสิงโตทองคำ (The Golden Lion) พร้อมกับรับรางวัล UNESCO จากงานเทศกาลหนังนานาชาติเวนิส ( Venice International Film Festival) ในปี 1989 นับเป็นภาพยนตร์ภาษาจีนเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้ อันดับ 4 หนึ่งหนึ่ง (一一หรือ A One and a Two) | |||
การใช้ตัวหนังบอกเล่าทัศนคติของตัวเองที่มีต่อผู้คนด้วยความเป็นกลาง ไม่พิพากษาตัดสิน ส่งผลให้ยาง ได้รับรางวัลมากมายจากทั่วโลก อาทิ รางวัลกำกับยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังคานส์ ในปี 2000 รางวัลภาพยนตร์ต่างชาติยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ฝรั่งเศส ในปี 2001 รางวัลจากสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ลอสแองเจลิส ในปี 2000 และรางวัลจากวงการณ์วิจารณ์ภาพยนตร์นิวยอร์ค ในปี 2000 และนอกจากจะถูกจัดอันดับเป็นหนัง 1 ใน 10 ภาพและเสียงยอดเยี่ยมในรอบ 25 ปีแล้ว หนึ่งหนึ่งยังได้รับการกล่าวขานในฐานะภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2001 จากหลายสำนักพิมพ์ อาทิ USA Today, the New York Times, Newsweek and Film Commentและ the British Film Institute's magazine ในปี 2002 อันดับ 3 หลายแผ่นดิน แม้สิ้นใจ ก็ไม่ลืม (霸王别姬หรือ Farewell My Concubine) | |||
นอกจากการนำเสนอห้วงวันเวลาที่อลหม่านของสังคมและการเมืองระหว่างปี 1920 ถึง1970 นับแต่ยุคสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง การพ่ายแพ้ของกองทัพญี่ปุ่น การโค่นล้มพรรคก๊กมินตั๋งโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผ่านยุคการปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่งิ้วกลายเป็นสิ่งต้องห้าม จนมาถึงยุคปัจจุบัน เรื่องราวความรักที่ผิดจารีตประเพณีซึ่งหาได้ยากยิ่ง ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นทั้งเพชรยอดมงกุฎของวงการหนังจีน และเป็นภาพยนตร์ภาษาจีนเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 1993 นับเป็นความภาคภูมิใจของผู้กำกับชื่อก้อง เฉินข่ายเก๋อ อันดับ 2 รอวันรัก…3 หัวใจ (小城之春หรือ Spring in a Small Town) | |||
ภาพยนตร์ได้รับรางวัลทั้งในและต่างประเทศ เช่น ได้รับยกย่องว่าเป็นหนังอมตะตลอดกาล จากคณะกรรมการภาพยนตร์จีน ได้รับยกย่องว่าเป็นหนังจีนที่ดีที่สุดที่เคยสร้างมา จากสมาคมจัดอันดับภาพยนตร์ฮ่องกง ในปี 2005 ถูกจัดเป็น 1 ใน 10 สุดยอดหนังจีนจากหนังสือพิมพ์แคนนาดา Winnipeg Free Press ในปี 2012 หรือแม้แต่ผู้กำกับชื่อก้อง จางอี้โหมวก็ยังกล่าวว่าเป็นหนังที่เค้าชื่อชอบที่สุด อันดับ 1 แม่น้ำฤดูใบไม้ผลิไหลสู่ทิศตะวันออก (江春水向东流หรือ A Spring River Flows East) | |||
ด้วยศิลปะในการผสมผสานเรื่องราวทางประวัติศาสตร์กับการถ่ายทอดโศกนาฏกรรมจากชีวิตจริง ผ่านการพรักพรากที่ปวดร้าวและกระแสคอรัปชั่นขายชาติในช่วงสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ณ เมืองเซี่องไฮ้ในยุคทศวรรษ 30 และ 40 ทำให้ภาพยนตร์ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและฉายอยู่นานกว่า 3 เดือนทันทีที่ออกฉาย ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ กล่าวกันว่ามีผู้ชมมากว่า 700,000 คน และ เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเมือง |
ความเห็น |