ความเห็น |
Krrish เป็นเรื่องราวของ โสณิยา เมรา (เรขา) หญิงวัยกลางคนที่พบว่า กฤษณะ หลานชายตัวน้อยของเธอมีความสามารถเกินเด็กธรรมดาทั่วไป เมรารู้ดีว่านั่นเป็นเพราะพลังพิเศษที่กฤษณะได้รับตกทอดมาจาก โรฮิต (หฤติก โรชาน) ลูกชายของเธอซึ่งเป็นพ่อของกฤษณะ โรฮิตได้รับพลังนี้จาก จาดู มนุษย์ต่างดาวที่มาเยือนบนโลกและได้เป็นเพื่อนกับโรฮิต ทำให้โรฮิตกลายเป็นคนที่ฉลาดเกินวัย และได้รับการไหว้วานจาก ดร.อารียา (นสีรุดดิน ชาห์) นักวิทยาศาสตร์ที่ขอให้โรฮิตช่วยใช้พลังพิเศษในการสร้างคอมพิวเตอร์ที่ สามารถมองเห็นอนาคตได้ แต่แล้วโรฮิตก็โดน ดร.อารียาหักหลังในวันที่ ณิชา (ปรีตี้ ซินตา) ภรรยาของโรฮิตคลอดกฤษณะพอดี และโรฮิตก็ไม่ได้กลับมาอีก ทำให้ณิชาตรอมใจตาย ทิ้งให้เมราต้องเลี้ยงดูหลานชายตามลำพัง เมราเกรงว่าความพิเศษของกฤษณะจะทำให้มีผู้ไม่หวังดีมาหลอกใช้เขาเช่นเดียว กับพ่ออีก เธอจึงตัดสินใจพากฤษณะไปเลี้ยงดูในแถบชนบทแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยป่าเขา กฤษณะเติบโตมาพร้อมกับพลังพิเศษทางกายที่เหนือกว่าคนทั่วไปหลายเท่า ตัว กระทั่งวันหนึ่ง กฤษณะในวัยหนุ่ม (หฤติก โรชาน) ได้พบกับ ปรียา (ปรียังคะ โชปุระ) พิธีกรสาวที่มาพักร้อนกับเพื่อนในละแวกบ้านของกฤษณะ และกฤษณะก็หลงรักปรียาเข้าให้
หลังจากปรียากลับไปทำงานที่สิงคโปร์ เธอก็โดนบอสเฉ่งโทษฐานที่หายไปหลายวัน ด้วยความกลัวว่าจะโดนไล่ออกจากงาน ฮันนี่ (มณีนิ มิศรา) เพื่อนสาวของปรียาแนะนำให้ปรียาหาทางให้กฤษณะมาที่สิงคโปร์เพื่อใช้ความ พิเศษของเขาในการเรียกเรตติ้งเพื่อไม่ให้ตกงาน ปรียาจำใจต้องโกหกกฤษณะว่าเธอกำลังจะถูกบังคับให้แต่งงาน จึงต้องให้กฤษณะมาที่สิงคโปร์ กฤษณะขออนุญาติเมราผู้เป็นย่า แม้เมราจะห่วงกฤษณะแค่ไหน แต่เธอก็ต้องแพ้ใจให้กับความตั้งใจของหลาน โดยก่อนไปเธอได้เล่าเรื่องของโรฮิตให้กฤษณะฟัง และเตือนให้กฤษณะระวังตัวให้ดี อย่าให้ใครหลอกใช้เอาได้ กฤษณะไปถึงสิงคโปร์และได้พบกับปรียา ในที่สุดเขาและเธอก็ได้คบหากันเป็นแฟน กระทั่งวันหนึ่งเกิดเหตุไฟไหม้คณะละครสัตว์ที่กฤษณะกับปรียาไปเที่ยวด้วยกัน ผู้คนมากมายได้รับความเดือดร้อน กฤษณะจำต้องปลอมตัวในคราบของ กฤษ เพื่อช่วยเหลือผู้คน ความเก่งกาจของกฤษทำให้เขาโด่งดังไปทั่วสิงคโปร์ ปรียาเองก็เริ่มระแคะระคายว่า กฤษณะ กับ กฤษ อาจเป็นคนคนเดียวกัน แต่ในขณะที่เรื่องราวของกฤษยังคลุมเครือ ก็ปรากฏชายวัยกลางคนนาม วิกรม (ศารัท ศักเสนา) ผู้มาบอกกล่าวถึงความลับบางอย่างของ โรฮิต และวิกรมผู้นี้คือกุญแจสำคัญที่จะไขเรื่องราวทุกอย่างให้กระจ่าง
โสณิยา เมรา (เรขา) หญิงชราผู้มีศักดิ์เป็นย่าของกฤษณะ เธอเป็นห่วงกฤษณะมาก กลัวว่าจะโดนหลอกใช้อย่างที่ โรฮิต ผู้เป็นพ่อเคยโดนมาแล้ว จึงไม่อยากให้กฤษณะไปไหนไกลๆ
ดร.อารียา (นสีรุดดิน ชาห์) หน้าฉากเขาคือนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะที่คนทั่วไปยกย่อง หลังฉากเขาคือจอมวายร้ายที่ทะเยอทะยานหมายจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่บนโลกให้ได้ ด้วยคอมพิวเตอร์ที่มองเห็นอนาคตได้..
Krrish เป็นหนังที่ดูง่ายก็จริง แต่ก็ไม่ถึงกับว่าจะต้องถูกใจผู้ชมไปเสียหมด ทำให้ได้คะแนนใน imdb ประมาณ 6.1/10 ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ ก็อาจเป็นเพราะความเป็น “อินเดีย” มันไม่ได้ “อินเตอร์” ไปซะหมด เพราะเนื้อเรื่องดูง่ายเกินไป ไม่ใช่หนังเจ๋งอย่าง Iron Man หรือ The Dark Knight ที่เน้นขายความเป็นคาแรคเตอร์และแนวคิดมากกว่าจะขายความบันเทิงอย่าง Krrish สำหรับ Krrish เองแม้จะออกตัวว่าเป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ บู๊ๆ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าในหนังจะต้องบู๊กระจายอย่างนั้น เพราะเมื่อดูจริงๆแล้วจะเห็นฉากบู๊แค่เพียง 2-3 ฉาก จากความยาวทั้งหมดเกือบสามชั่วโมง! คือถ้าไม่ได้การเดินเรื่องที่น่าติดตามแล้ว มันคงจะกลายเป็นหนังสุดเซ็งไปในทันที ก็ต้องขอชื่นชมคนเขียนบทที่หาสถานการณ์มาสอดแทรกให้ตื่นเต้นกันได้ตลอด ปกติหนังอินเดียจะบู๊น้อยอยู่แล้ว แต่พอเวลาบู๊ทีนี่แทบจะเป็นกำลังภายในก็ว่าได้ และเหมือนทีมสร้างจะรู้ว่าหนังอินเดียบู๊เหมือนหนังกำลังภายใน พี่แกเลยจัดผู้กำกับคิวบู๊อิมพอร์ตมาจากฮ่องกงกันเลย และชื่อของเขาก็คือ โทนี่ เฉิง หรือ เฉิงเสี่ยวตง นั่นเอง
พูดถึง เฉิงเสี่ยวตง ผู้กำกับคิวบู๊คนนี้ เราอาจไม่ได้รู้จักเขาดีเท่ากับ หยวนหวูผิง หรือ ดอนนี่ เยน เท่าไรนัก แต่ถ้าคุณเคยดูหนังของ จางอี้โหมว อย่าง Hero , Flying Daggers แล้วล่ะก็ เขานี่แหละครับ คือผู้กำกับคิวบู๊ในหนังเหล่านั้น อาจเป็นเพราะต้องการความแปลกใหม่หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่เพราะในหนังมีอยู่ฉากหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของกฤษณะ ในการจดจำสิ่งต่างๆที่อยู่ตรงหน้าแล้วเอามาเลียนแบบได้ นั่นคือตอนที่กฤษณะเดินทางไปสิงคโปร์ และได้พบกับชายชาวจีนคนหนึ่งรำมวยจีนอยู่ กฤษณะได้จดจำและเอาท่วงท่าเหล่านั้นมาใช้ในการต่อสู้นั่นเอง แต่จะว่าไปคิวบู๊ในเรื่องก็ไม่ถึงกับว่าดีมากนะครับ ตามมาตรฐานหนังอินเดียก็อาจจะพอกล้อมแกล้มไปได้ แต่ถ้าตามมาตรฐานของ เฉิงเสี่ยวตงแล้ว ถือว่างั้นๆนะครับ แถมคิวบู๊ยังต้องอาศัยบลูสกรีนมาเสริมอีกต่างหาก ก็ดูไม่เนียนกันไปตามสไตล์หนังอินเดียเค้าน่ะแหละ แต่การตัดต่ออะไรก็ทำให้ออกมาสนุกดี โดยเฉพาะคิวบู๊ตอนสุดท้ายที่ลูกน้องกรูกันเข้ามาอย่างไม่มีเหตุผล จนนึกไม่ออกว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์คนนึง ต้องจ้างลูกน้องไว้เยอะขนาดนี้ด้วย(ฟระ)
แต่ถึงลูกน้องจะบานตะไทแค่ไหนก็เสร็จพี่กฤษณะแกทุกราย ที่น่าเสียดายก็คือ ในเรื่องไม่มีคู่ต่อสู้ประเภทที่ความสามารถสูสีกับ Krrish เลย ส่วนมากจะเป็นลูกกระจ๊อกรุมเอาซะมากกว่า ก็หวังว่าภาค 2 จะมีมาให้นะครับ ส่วนตัวแล้วผมมองว่า หฤติก เหมาะมากนะครับกับบทกฤษณะ ด้วยรูปร่างที่สูงล่ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หน้าตาคมเข้มและแววตาขี้สงสารอะไรมันใช่หมดเลยครับ จึงไม่น่าแปลกใจที่ฉากดราม่าบางฉากของกฤษณะจะทำให้เราหลั่งน้ำตาได้ อีกท้ังเรื่องการออกลีลาคิวบู๊อะไรนี่ไม่ต้องห่วงครับ เพราะแต่ละกระบวนท่าของพี่ติ๊ก(เรียกตามแบบที่แฟนคลับสาวๆในไทยเรียก กัน)นั้น หนักแน่นดุดันจนดอนนี่ เยน ยังต้องมีหนาวเลยทีเดียว แถมหุ่นพี่แกนี่เรียกว่า ทำผมนอนอิจฉาไปหลายวันเลย อยากจะมีหุ่นอย่างพี่เค้ามั่ง ต้องทำยังไงดีเนี่ย ส่วนน้องพีค เอ๊ย ปรียังคะของเรา (เห็นปากเจ่อเหมือนกันเลยเรียกผิดซะงั้น) ก็เล่นได้ดีครับ ดูเป็นสาวบ๊องๆดี แต่ที่เอาใจไปเลยต้อง ป้าเรขา ที่เล่นเป็นย่าของกฤษณะ คนนี้นี่ระดับเทพของแท้ สมกับที่ฝากฝีไม้ลายมือในวงการมากว่า 40 ปีจริงๆ เรียกว่าฉากไหนที่พี่ติ๊กมาป๊ะหน้ากับป้าเรขาแล้วล่ะก็ ใครที่รู้ตัวว่าอ่อนไหวง่ายก็ขอให้เตรียมทิชชู่หรือผ้าเช็ดน้ำตาไว้ให้ดีก็ แล้วกัน
ไหนจะดนตรีประกอบที่โหมกระหน่ำคอยกระตุ้นหัวใจผู้ชมตลอดเวลาอีก เรียกว่างานเบื้องหลังนี่ก็ใช่ย่อยเหมือนกัน เพราะเรื่องของเพลงเป็นเสน่ห์ของหนังอินเดียอยู่แล้วครับ โดยเฉพาะเพลงในฉากบู๊ทำมาได้ถึงใจทีเดียว พอพูดถึงฉากบู๊แล้ว ก็อย่างที่บอกแหละครับว่าเรื่องนี้บู๊น้อยมาก โดยเฉพาะพาร์ทแรก (หนังอินเดียส่วนใหญ่แบ่งเรื่องเป็นสองพาร์ท)นี่ ไม่มีให้เห็นแม้แต่หมัดเดียว เพิ่งจะมามีในพาร์ทสอง คือตอนที่กฤษณะมาสิงคโปร์แล้ว และถ้าใครที่อยากเห็นหนังบู๊แบบ ระเบิดอาคาร ผลาญถนน คนเลือดสาด ขอให้ผ่านไปเลยครับ เพราะฉากบู๊ในเรื่องค่อนข้างจะซอฟท์เอามากๆ เนื่องจากกฤษณะนั้นเป็นคนค่อนข้างมีเมตตา ไม่ได้โหดอะไรมากมาย แม้บุคลิกและหน้าตาตอนอยู่ในชุดยูนิฟอร์มจะดูโหดเอามากๆก็ตาม แต่ก็ดีไปอีกแบบครับ หนูๆน้องๆจะได้ดูกันได้ เพราะไม่โหดมาก และคาแรคเตอร์น่ารักๆของกฤษณะก็เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนได้ เรียกได้ว่าเป็นหนังบู๊ที่ดูกันได้ทุกวัย และทุกเพศแน่ๆ...
ถ้าตัดเรื่องความสมเหตุสมผลออกไป แล้วมองกันที่ตัวคาแรคเตอร์และการดำเนินเรื่องแล้ว Krrish ก็ถือเป็นหนังอีกเรื่องที่ดูได้สนุก ประทับใจพอสมควร ผมดูจบแล้วยังชอบเลย โดยเฉพาะบทสรุปของเรื่องที่ทำออกมาได้อบอุ่นมาก แม้กระทั่งจะอยู่ในฉากที่ต่อสู้กันอยู่ก็ตาม ไปจนกระทั่งฉากจบของเรื่อง ตั้งแต่ดูหนังมายังไม่เคยเห็นหนังบู๊เรื่องไหนที่ทำช่วงท้ายได้อบอุ่นหัวใจ เท่าเรื่องนี้มาก่อน จนแม้แต่ผมเองก็ยังอดเสียน้ำตาไม่ได้เลย ก็ต้องชื่นชมคนเขียนบทและนักแสดงทุกท่านที่ทำหน้าที่ได้อย่างดี ที่สำคัญคือบทของแต่ละคนมีความเด่นในตัวเอง แม้กระทั่งบทเล็กๆอย่าง วิกรม ที่ออกมานิดเดียวแต่ก็มีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องเป็นอย่างมาก น่าเสียดายที่ยังไม่ได้ดู Koi… Mil Gaya มาก่อน ไม่อย่างนั้นคงดู Krrish ได้อย่างถึงอรรถรสมากกว่านี้ แต่ถ้าถามว่าถ้าไม่เคยดู Koi… Mil Gaya มาก่อนแล้วมาดู Krrish จะรู้เรื่องมั้ย บอกได้เลยว่า รู้เรื่องครับ เพราะมันจะเท้าความให้ และไม่สปอยล์ภาคแรกอีกต่างหาก ถึงตอนนี้ผมก็คงต้องขอตัวไปหา Koi… Mil Gaya มาดูก่อนล่ะครับ แล้วถ้าโอกาสอำนวยเมื่อไหร่จะเอามารีวิวกันอีกที
หากใครที่เบื่อกับบทพระเอกซุปเปอร์ฮีโร่สุดเก๊กตามสไตล์ฮอลลีวู้ดแล้วล่ะ ก็ ลองแวะมาลิ้มรสซุปเปอร์ฮีโร่พันธุ์โรตีอย่าง Krrish กันดูบ้าง แม้ตัวหนังจะไม่ได้ขายความครีเอท ทางแนวคิดเหมือนฮอลลีวู้ด แต่ก็เป็นหนังที่ดูง่าย สนุก น่าติดตาม ความสมเหตุสมผลอาจมีไม่มาก แต่ก็ได้แง่คิดและความประทับใจมาทดแทน ถือได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ไม่ชอบอะไรที่จำเจ หรืออยากจะลองอะไรที่มันแหวกแนวดูบ้าง Krrish ก็เป็นอีกหนึ่งช้อยส์ที่ส่วนตัวแล้วแนะนำให้หามาดูกันดีกว่า ลองมาเปิดใจดูหนังอินเดียซักเรื่อง สำหรับ Krrish ก็เป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ที่บ่งบอกความเป็นอินเดียในหลายๆด้าน ตั้งแต่เครื่องแต่งกาย ยันไปถึงสูตรสำเร็จอย่างเพลง คิวบู๊เว่อร์ๆ ฉากบอกรักสุดเลี่ยน แม้จะเป็นสิ่งที่หลายคนเอียน แต่ก็ต้องยอมรับได้ว่า เพราะฉากเหล่านี้แหละ ที่ทำให้หนังอินเดียเติบโตมาจนทุกวันนี้ เอาเป็นว่าแค่หนังเรื่องนี้เป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่อินเดียที่หาดูได้ยาก พระเอกสุดบึ้กพอๆกับ Captain America และรายได้ที่ฮิตถล่มทลายในอินเดีย คงมากพอที่จะทำให้หลายๆท่านอยากจะสรรหามาชมกันนะครับ