ละครร้อง “จันทร์เจ้าขา” ปี 2490
แสดงที่ทับเที่ยงภาพยนตร์และโรงหนังกันตัง
ตอนเปิดตำนานคณะละครจันทโรภาสอันลือลั่น
คณะจันทโรภาสเป็นละครของนายจวงจันทร์ จันทร์คณาเริ่มแสดงที่โรงหนังพัฒนากรกรุงเทพฯได้รับความนิยมสูงมาก อ.พรานบูรพ์ ท่านแต่งเรื่องเอง กำกับเอง แต่งเพลงเอง เป็นเจ้าของคณะ ใช้ผู้แสดงเป็นหญิงส่วนใหญ่ แสดงดำเนินเรื่องด้วยบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่จากไทยเดิมปรับเป็นสากล ใช้ท่าทางเป็นธรรมชาติในการร้องประกอบบทเพลง จัดฉากสวยงาม บรรเลงสดๆ ด้วยวงดนตรีสากล ผู้แสดงต้องมีความรู้สามารถสูง
สมัย 70 ปีที่แล้ว พรานบูรพ์นำคณะละครจันทโรภาสออกตระเวนแสดงตามโรงหนังทั่วประเทศทุกภาคของประเทศไทย ทั้งใต้ อีสาน เหนือ และภาคกลาง แต่ยังไม่มีใครบันทึกเรื่องไว้ ผมนายวิวัย จิตต์แจ้ง เห็นถึงความสำคัญตำนานของครูพรานบูรพ์ที่เคยเปิดโรงหนังจัดแสดงละครร้องทั่วประเทศ จึงไปปรึกษากับอาจารย์สุนทรี สังข์อยุทธ์ อดีตหัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯตรัง ท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ นักจดหมายเหตุ ให้อาจารย์ ช่วยค้นคว้าสืบหาเรื่องราวคณะจันทโรภาสและภาพถ่ายที่ตรังเพื่อมาเป็นหลักฐานจดหมายเหตุย้อนเวลาในอดีต อาจารย์หาได้มาหนึ่งภาพ เป็นรูปขาวดำถ่ายที่ตรังปี 2490 โดยร้านหยื่นก่าม คือรูป จุรี โอศิริ ในคณะจันทโรภาสที่มาแสดงที่ตรังด้วย
แม่ยิ่ง จิตต์แจ้ง เจ้าของโรงหนังทับเที่ยงภาพยนตร์ ท่านรักประทับใจเรื่อง “จันทร์เจ้าขา” มาก เล่าให้ลูกฟังตั้งแต่เด็กๆ ว่า พ่อโกวิทต้องปิดโรงหนังอยู่สองวันเพื่อจัดตกแต่งเนรมิตฉากบนเวทีให้สวย การแสดงที่ยิ่งใหญ่พร้อมวงดนตรีวงใหญ่แสดงร้องสดทุกรอบ ใช้ระบบแสงสีเสียงที่ดีที่สุดในสมัยนั้น มีนักดนตรีและนักแสดงกว่า 50 ชีวิตของคณะจันทโรภาส นำโดยครูพรานบูรพ์ ท่านสมกับเป็นบรมครูเพลงละครไทยที่ยิ่งใหญ่จริงๆ
การแสดงสุดประทับใจ มีแม่ประทุม ประทีปเสน แสดงเป็นนางเอกชื่อเจียม และแม่ปรุง ฤทธิไกร แสดงเป็นพระเอกชื่อ จิต ในบทเข้าพระเข้านาง ใช้บทเพลงอ่อนหวานน่ารักในฉากแสงสีรักหวานท่ามกลางแสงจันทร์ ชวนให้ผู้ชมจินตนาการตามด้วยความสุขบทเพลงว่า.
. จันทร์เจ้าขา ให้เจียมบอกข้าสักที หวานล้ำฉ่ำทวี คำพี่รักน้อง อย่ามองดิฉันซิคะ “จันทร์เจ้าขา “ เราจะกระซิกกระซี้ ระริกกระรี้ ชื่นใจ เอียงมาซิ น้องจะกระซิบเบาๆ อู๊ย..ไม่เอา ไม่เอา จันทร์เจ้าคอยจ้อง..
เพลง จันทร์เจ้าขา อ.ยุทธนา มุกดาสนิทได้กํากับเพลงเป็นละครใส่ในหนังเรื่อง คู่กรรม ของแกรมมี่ เพื่อย้อยรอยตำนานของพรานบูรพ์ด้วย
พี่วิสุทธิ์ โกสร้างพี่คนโตขณะนี้ 84 ปี พี่เล่าให้ฟังว่าตอนอายุ 14 ปี คณะจันทโรภาสมาเปิดการแสดงที่ตรัง มีดาราดังๆ ระดับประเทศมาแสดงมากมาย ทั้งแม่ยิ่งและพี่บันทึกไว้ว่ามีคนดังที่จำได้มากับคณะจันทโรภาส 12 ท่านมีชื่อดังนี้
1) สีนวล แก้วบัวสาย
2) เพ็ญแข บุณยเกียรติ
3) ปรีชา บุณยเกียรติ
4) มณี แพ่งสุภา
5) ประทุม ประทีปเสน
6) ปรุง ฤทธิไกร
7) สุคนธ์ คิ้วเหลียม
8) พยงค์ มุกดา แม่เล่าให้ฟังว่าตอนมาแสดงที่ตรังครั้งนั้นท่านป๋วยไอปอดอักเสบต้องไปหาหมอ แต่ครูพยงค์ยังออกแสดงจนได้ อันนี้เขียนตามที่แม่ยิ่งบอกมา
9) ทักษิน แจ่มผล ดาราชื่อดัง
10) อุบล วงศ์เกษม นักรำนักแสดงตัวเด่น
11) พิมพ์ พวงนาค หัวหน้าวงดนตรีคณะจันทโรภาส
12) แม่เขียน หัวหน้าคณะ
พี่วิสุทธิ์บอกว่า เกือบทั้งหมดพักโรงแรม แต่ส่วนใหญ่พักที่โรงหนังทับเที่ยงและตึกข้างโรงหนัง แสดงอยู่ประมาณ 20 วัน แล้วย้ายไปแสดงต่อที่กันตัง
เมื่อไปแสดงที่โรงหนังกันตัง อาจารย์สุนทรีมีข้อมูลว่าไว้ดังนี้
“คุณครูเครือวัลย์ เสกธีระ ผู้เติบโตมาในบ้านพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี(คอซิมบี๊) ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว เคยเล่าไว้ว่าหม่อมแคล้วภรรยาพระยารัษฎาฯ เป็นประธานของบ้านต่อมา ตอนที่คณะละครจันทโรภาสมาแสดงที่โรงภาพยนตร์กันตัง มีคนในคณะมาพักที่บ้านนี้ และทาบทามขอให้หลานสาวซึ่งเกิดจากบุตรสาวของพระยารัษฎาฯ กับหม่อมแคล้วไปแสดงละคร แต่หม่อมแคล้วไม่เห็นชอบ นอกจากนี้ยังมีเพลงที่คณะละครนำมาขับร้องเนื้อหาเริ่มต้นว่า “กันตังเมืองทองของไทย ถิ่นใต้เคยได้ชื่อมา อุดมสมบูรณ์นานา สมเป็นเมืองท่าเมืองทองของไทย....
” สอดคล้องกับที่เล่ากันว่าท่าเรือกันตังหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เจริญมาก มีเรือต่างประเทศเข้าเทียบท่าเป็นจำนวนมากทั้งกลางวันกลางคืน จนกันตังได้ชื่อในยุคนั้นว่าเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับ ส่วนบทเพลงนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นผลงานของพรานบูรพ์ เพราะท่านเป็นนักแต่งเพลงเจ้าของคณะละคร ภายหลังเพลงนี้มีผู้นำไปปรับเนื้อร้องตอนต้นเป็น “เมืองตรังเมืองทองของไทย.... ” ใช้ร้องกันทั่วไปในฐานะเพลงประจำเมืองตรัง "
อันที่จริงในเอกสารจดหมายเหตุชุดจังหวัดภูเก็ตกล่าวถึงคณะจันทโรภาสมาแสดงที่ภูเก็ตภาพยนตร์ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2489 มีละครเกือบ 20 เรื่อง รวมทั้ง “จันทร์เจ้าขา” เข้าใจว่าหลังจากแสดงที่ภูเก็ตแล้วก็มาเปิดการแสดงที่จังหวัดตรังต่อ เพราะในช่วงเวลานั้นทางฝั่งทะเลตะวันตกมีเรือโดยสารไปมากันตลอดตั้งแต่ระนองถึงปีนัง และตรังกับภูเก็ตเท่านั้นที่มีโรงภาพยนตร์
ส่วนภาพที่มีผู้บอกว่าเป็นคุณจุรี โอศิริ นั้นได้จากร้านชาวอลแตร์ อำเภอห้วยยอด เจ้าของให้ถ่ายสำเนามา เป็นภาพโปสการ์ดที่ร้านถ่ายรูปทำจำหน่าย”
ปี 2530 วิวัยพบหนังสืออนุสรณ์ของครูพรานบูรพ์วางอยู่ริมทางที่บางนาจึงซื้อมาราคา 25 บาท ในเล่มมีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้ครับ
ครูพรานบูรพ์ชื่อเดิม จวงจันทร์ จันทร์คณา บุตรของหลวงราชสมบัติ (จันทร์) และนางสร้อย เกิด ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ จังหวัดเพชรบุรี บิดาเป็นข้าราชการซึ่งต้องโยกย้ายไปจังหวัดต่างๆ ถึงวัยที่จะต้องรับการศึกษา บิดาได้ย้ายมาจังหวัดราชบุรี ด.ช.จวงจันทร์ได้เข้าเรียนที่วัดสัตนาถ เรียนอยู่ได้ไม่นานบิดาก็ถึงแก่กรรม ขณะนั้นอายุได้ ๗ ปี มารดาได้พาไปอยู่ที่สุราษฎร์ธานี เรียนหนังสือต่อจนอายุ 11 ปี จึงเข้ามาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ที่สวนกุหลาบฯนั้น สามารถเล่นไวโอลินได้ดี เมื่อจบได้เรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์ แต่เรียนไม่จบเพราะสนใจการประพันธ์และดนตรีมากกว่า
จึงไปสมัครที่คณะละครชาตรีพัฒนา เริ่มชีวิตละครด้วยการบอกบทอยู่หลังฉาก ขณะเดียวกันก็เริ่มบทกวีในนาม “อำแดงขำ” มีนามปากกา “รักร้อย” และนามปากกา “ศรี จันทร์งาม” ในหนังสือ “เนตรนารี” ต่อมาได้แต่งบทละครหลายเรื่อง และได้รับความสำเร็จ จนได้เป็นผู้แต่งบทละครเอง กำกับการแสดงเอง และได้ใช้นามปากกา “พรานบูรพ์” เป็นครั้งแรกเมื่อเขียนเรื่อง “เหยี่ยวทะเล”
บทละครของพรานบูรพ์เป็นที่นิยมมาก พรานบูรพ์จึงได้ดัดแปลงเพลงไทยเดิมที่มีลูกคู่ร้องรับมาสู่แบบสากล โดยที่ทำนองเพลงที่ใช้กับละครร้องยุคนั้น ใช้ดนตรีคลอบรรเลงได้รับความนิยมสูง เพลงที่ท่านแต่งไว้เช่นเพลง นัดพบ อยากจะรักสักครั้ง ขวัญกับเรียม กุหลาบร่วง ฯลฯ
เมื่อคณะละครราตรีพัฒนายุบคณะลง พรานบูรพ์ได้ทำงานหนังสือพิมพ์เดลิเมล์รายวัน และเขียนเรื่องสั้น เรื่องยาว
ต่อมาได้จัดตั้งละครขึ้นคณะหนึ่งชื่อว่า“จันทโรภาส” ละครที่ได้รับความนิยมที่สุดคือเรื่อง “จันทร์เจ้าขา”
ด้านภาพยนตร์ ท่านได้สร้างบทภาพยนตร์ให้แก่บริษัท “ศรีกรุง” เช่น ในสวนรักอ้ายค่อม ค่ายบางระจัน และเขียนบทภาพยนตร์ สนิมในใจ สามหัวใจ แผลเก่า ให้แก่บูรพาศิลป์ภาพยนตร์ ต่อมาได้สร้างภาพยนตร์เอง เช่น วังหลวง-วังหลัง
ชีวิตครอบครัว ได้สมรสกับนางศรี จันทร์คณา มีบุตรธิดา 4 คน และมีบุตรที่เกิดจากนางเทียมน้อย นวโชติ อีก 1 คนคือ นายจงรัก จันทร์คณา
เมื่อภรรยา (ศรี จันทร์คณา) ถึงแก่กรรม สุขภาพก็ทรุดโทรมลง ยังพยายามเขียนบทละครเรื่อง “ขวัญใจโจร” ให้คณะละครคณะหนึ่งที่มาขอไว้เพื่อจะนำไปแสดงทางโทรทัศน์
ปิดตำนานพรานบูรพ์ เมื่อถึงแก่กรรมด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2519 อายุได้ 74 ปี
บทความเขียนเรียบเรียงโดย วิวัย จิตต์แจ้ง อ.สุนทรี สังข์อยุทธ์
![]() | ![]() |
![]() | ![]() |
ความเห็น |