ความเห็น |
โดยปราศจากข้อเคลือบแคลงสงสัย ฉากในหนังของจอห์น บัวร์แมนเรื่อง Deliverance (1972) ที่ได้รับการโจษขานและกล่าวขวัญถึงมากที่สุด รวมทั้งในเวลาต่อมา ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ชมอย่างไม่รู้ลืม (สามารถพิสูจน์ได้จากจำนวนของผู้ที่เข้าไปเยี่ยมชมคลิปของฉากดังกล่าวใน เว็บไซท์ยูทูปที่มีมากถึงเกือบสามล้านครั้ง) ก็คือเหตุการณ์ในช่วงต้นเรื่องที่ได้รับการขนานนามว่า ?Duelling Banjos? หรือการประชันฝีไม้ลายมือระหว่างชายหนุ่มนักกีตาร์โปร่งกับเด็กชายท่าทาง ปัญญาอ่อนที่ทักษะในการเล่นแบนโจของเขาเรียกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอก จากบอกว่าเป็นความน่าอัศจรรย์ขั้นเทพ
กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ควรได้รับการระบุควบคู่ไปด้วยก็คือ มันเป็นฉากที่ ?ดูเหมือน? ว่าไม่ได้สะท้อนภาพ, ความหมายหรือเนื้อหาที่แท้จริง หรืออาจถึงขั้นก่อให้เกิดความไขว้เขวกับผู้ชม-เมื่อคำนึงถึงเรื่องราวที่ กำลังถูกบอกเล่าในช่วงถัดมา
![]() | |
มันเริ่มต้นจากหนุ่มเมืองกรุงกำลังตั้งเสียงกีตาร์ของตัวเอง แล้วจู่ๆ เด็กชายปัญญาอ่อนที่โผล่จากไหนก็ไม่รู้-ก็ทักทายด้วยเสียงแบนโจ เครื่องดนตรีคู่กาย-จากบนเฉลียงของตัวบ้าน หลังจากนั้น การ ?พูดคุย? กันระหว่างเสียงกีตาร์กับเสียงแบนโจก็เริ่มต้นขึ้น ก่อนที่ชายหนุ่มจะชักชวนให้ฝ่ายหลังร่วม ?แจม? ในท่วงทำนองของเพลงคันทรี่ย์สไตล์บลูแกรสส์ที่กระฉับกระเฉงและเปี่ยมล้นไป ด้วยชีวิตชีวา และผู้ชมถึงกับได้เห็นคนท้องถิ่นที่ร่วมดื่มด่ำเสียงเพลงไม่ใกล้ไม่ ไกล-กระโดดโลดเต้นอย่างเข้าถึงในอารมณ์ หรืออันที่จริง ในห้วงระยะเวลาสั้นๆของการเผชิญหน้าแบบตัวต่อตัวระหว่างเสียงกีตาร์กับเสียง แบนโจที่หยอกเย้ายั่วล้อกันอย่างสอดประสานกลมกลืน สนุกสนานและครื้นเครง ทุกคนที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นต่างพากันปลดปล่อยและผ่อนคลายอิริ ยบถของตัวเอง และอยู่ในมู้ดของความหรรษาเบิกบาน ทั้งๆที่ในช่วงก่อนหน้า ผู้ชมรู้สึกและสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ตลอดจนความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างพวกชาวบ้านกับสี่หนุ่มจากตัวเมือง
ฉากดวลเพลงอันสุดแสนเมามันนี้จบลงด้วยหนุ่มเมืองกรุงไล่เสียงกีตาร์ของ
ตัวเองไม่ทันเสียงแบนโจ
และจำต้องปล่อยให้คู่ต่อกรของเขา-วิ่งแซงเข้าเส้นชัย
ส่วนที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความไม่ชอบมาพากลอยู่หลังจากนี้เอง กล่าวคือ
แทนที่เสียงดนตรีจะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักดนตรีมือสมัครเล่น
ทั้งสองคน
เด็กชายปัญญาอ่อนกลับปฏิเสธที่จะจับมือกับชายหนุ่มที่แสดงออกอย่างไม่ปิดบัง
ว่านับถือและชื่นชมในฝีมืออันฉกาจฉกรรจ์ เจ้าหนูไม่แม้กระทั่งพูดจาอะไร
(หรืออาจเป็นเพราะเขาพูดไม่ได้) และคลับคล้ายว่า
เขารีบผผลันกลับคืนสู่โลกส่วนตัวอย่างไม่รั้งรอ
ไม่ว่าจะอย่างไร มันเป็นฉากที่ให้ความรู้สึก ?สว่างไสว? ที่สุดของหนัง และมันชวนให้ทึกทักไปได้ถึงขั้นที่ว่า มันน่าจะถือเป็นฤกษ์หามยามดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็น ?การตัดสินใจที่ถูกต้อง? เหลือเกินสำหรับสี่หนุ่มจากเมืองใหญ่อย่างแอตแลนต้า-ที่ในสุดสัปดาห์นี้ พวกเขาเลือกที่จะไม่เล่นกอล์ฟ และเปลี่ยนรูปแบบสันทนาการเป็นการพายเรือคานูล่องไปตามเกาะแก่งของแม่น้ำที่ ชื่อ ?คาฮูลาวาซี่? ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขากลางป่าลึกทางตอนเหนือของมลรัฐจอร์เจีย ซึ่งจากคำบอกเล่าของลูอิส (เบิร์ต เรย์โนลด์) โต้โผและหัวเรือใหญ่ของการท่องเที่ยวกึ่งผจญภัยครั้งนี้ ระบุตั้งแต่ในช่วงเปิดเรื่องที่เป็นเสียงพูดคุยกับเพื่อนๆของเขา-ว่า แม่น้ำคาฮูลาวาซี่นี้ไม่เพียงแต่จะเป็นแม่น้ำสายสุดท้ายทางตอนใต้ ของอเมริกา-ที่ยังคงบริสุทธิ์ผุดผ่องทั้งจากมลภาวะและการเข้ามายุ่มย่ามหรือ ปู้ยี้ปู้ยำของน้ำมือมนุษย์ หากทว่าในอีกไม่ช้าไม่นาน หุบเขาทั้งหมดในแถบนี้ (นั่นรวมถึงแม่น้ำสายดังกล่าวและชุมชนของชาวบ้านหลายแห่ง) ก็จะจมอยู่ใต้ผืนน้ำเนื่องจากมันจะกลายเป็นทะเลสาบที่ถูกใช้เพื่อผลิตกระแส ไฟฟ้าป้อนให้กับพวกที่มีอันจะกินในเมืองได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย
หรืออ้างอิงจากถ้อยคำที่ลูอิสเลือกใช้อย่างเจตนาว่า การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำทับลงไป-ก็ไม่แตกต่างจากการ ?ข่มขืน? ดินแดนแถบนี้ ซึ่งในระหว่างที่ผู้ชมถูกกำหนดให้ได้ยิน ?เสียงสนทนา? ที่โต้ตอบไปมา หนังก็เผยให้ผู้ชมได้เห็นภาพของการข่มขืนพื้นที่ทางธรรมชาติที่ดำเนินไป อย่าง ?หื่นกระหาย?, อึกทึกครึกโครมและเอิกเกริกใหญ่โต
ข้อมูลที่ผู้ชมควรได้รับการแจกแจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวลูอิส-ก็คือ เขาเป็นแบบฉบับของชายชาตรีที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ชื่นชอบความเสี่ยงและการผจญภัย (ผู้ชมถึงกับได้ยินเจ้าตัวคุยโตโอ้อวดทำนองว่าเขาไปไหนมาไหน-ไม่เคยหลงทาง) รวมทั้งมีบุคลิกของความเป็นผู้นำ หมายความว่า ลูอิสเป็นคนประเภทที่ไม่ว่าจะประสบกับภาวะคับขันหรือความยากลำบากแค่ไหน เขาก็ย่อมจะต้องมีวิธีแก้ไขหรือสามารถหนทางในการรับมือ (การเลือกเบิร์ต เรย์โนลด์มาสวมบทบาทนี้-ถือว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เพราะภาพพจน์ที่ผู้ชมสามารถจำแนกได้อย่างไม่มีทางผิดพลาด-ก็คือ พระเอกหนังแอ็คชั่นที่มักจะต้องได้บทโลดโผนโจนทะยานเป็นประจำ หรือถ้าหากจะเปรียบให้นักดูหนังรุ่นหลังได้นึกภาพตามอย่างชัดเจนก็ต้องบอก ว่า เขาคือบรูซ วิลลิสของทศวรรษที่ 1970 นั่นเอง) และดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว ทริปนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้น-ถ้าหากไม่ได้คนอย่างลูอิสเป็นตัวตั้งตัวตี
ปัญหาก็คือ เพื่อนๆอีกสามคนของเขา อันประกอบไปด้วยเอ็ด (จอน วอยท์), บ็อบบี้ (เน็ด เบ็ตตี้) และดรูว์ (รอนนี่ ค็อกซ์) ไม่ได้ยึดถือในลัทธิหรืออุดมการณ์เดียวกันกับลูอิส และอันที่จริง พวกเขาไม่มีทั้งความพร้อมในทางร่างกายและสภาพจิตใจ ตลอดจนความกระเหี้ยนกระหือรือ และเหตุผลเดียวที่พวกเขาพาตัวเองมาร่วมอยู่ในอยู่ในกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของตัวเองโดยไม่จำเป็น-ก็เพราะถูกฝ่ายแรกเกลี้ย กล่อมและคะยั้นคะยอ
แน่นอนว่าคนที่ไม่มีความเหมาะสมกว่าเพื่อน-ก็คือบ็อบบี้ นักขายประกันที่เป็นชายหนุ่มรูปร่างอุ้ยอ้ายและรักความสะดวกสบาย อีกทั้งไม่ชอบให้ใครมาคอยออกคำสั่งหรือบงการ และนั่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ในระหว่างการล่องเรือคานูไปตามสายน้ำอัน เชี่ยวกรากและไม่เมตตาปรานี ความไม่ชอบขี้หน้าระหว่างเขากับลูอิส ซึ่งก่อนหน้านี้ ต่างฝ่ายต่างรู้จักกันเพียงแค่ผิวเผิน-จะค่อยๆเพิ่มพูน
ดรูว์ก็ไม่แตกต่างไปจากบ็อบบี้ตรงที่เขาไม่ได้ฝึกฝนตัวเองให้เป็นนักผจญ ภัย อาชีพของเขาตามที่ถูกระบุไว้ในเทรลเลอร์หรือหนังตัวอย่าง-ก็คือ ผู้บริหารฝ่ายขายของบริษัทน้ำอัดลม และทักษะเพียงอย่างเดียวที่ตัวละครผู้มีสรีระค่อนข้างเก้งก้าง-โชว์ให้ทุกคน ได้แลเห็นตอนต้นเรื่อง ก็คือความช่ำชองในการเล่นกีตาร์ที่เข้าขั้นจัดจ้าน หากทว่าความคุณสมบัติพิเศษดังกล่าวนี้ก็เกือบจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้สำหรับ การดำรงชีวิตในท่ามกลางป่าดงพงไพร
และนั่นเหลือเอ็ดผู้ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของลูอิส และเปรียบเสมือน ?นักบินที่สอง? ของการเดินทาง ดังที่ผู้ชมสามารถสังเกตได้เหมือนกัน เขาคือตัวละครที่หนังให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาที่ผ่านพ้นไป รวมทั้งเป็นคนเดียวที่ผู้ชมได้รับอนุญาตให้ก้าวล่วงเข้าไปรับรู้ตื้นลึกหนา บาง ตลอดจนห้วงคิดคำนึงของตัวละคร
ข้อมูลเบื้องต้นที่สามารถสรุปได้เกี่ยวกับตัวเอ็ด-ปรากฏอยู่ในคำพูดของลู อิสนั่นเองที่ตั้งคำถามกับเพื่อนรักของเขาอย่างตรงไปตรงมาว่า ด้วยเหตุผลอะไรที่นำพาให้เขาร่วมอยู่ในการผจญภัยที่มีความเสี่ยงครั้ง นี้-ทั้งๆที่เขา ?มีอาชีพการงานที่ดี มีบ้านที่สมฐานะ และมีครอบครัวที่ประกอบไปด้วยเมียและลูกน้อยที่อบอุ่นและเปี่ยมสุข? ซึ่งปรากฏว่า ชายหนุ่มได้แต่อ้ำอึ้งและยอมรับว่าตัวเขาก็นึกสงสัยในข้อนี้เหมือนกัน (แต่กล่าวให้ครบถ้วนจริงๆ คำถามดังกล่าวของลูอิสไม่ได้ถึงกับเป็นปริศนาโดยสิ้นเชิง และแม้ว่าหนังอาจไม่ได้เปิดเผยตรงๆ แต่ผู้ชมก็สามารถสันนิษฐานได้ไม่ยากว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองแฝงนัย ของโฮโมเซ็กฌ่วลหรือรักร่วมเพศอย่างเจือจาง และนั่นอธิบายว่า ด้วยเหตุใด-เอ็ดถึงยอมละทิ้งความสุขสบาย-มาใช้ชีวิตแบบนอนกลางดินกินกลาง ทรายในช่วงวีคเอนด์นี้กับเพื่อนรัก หรืออีกนัยหนึ่ง คนรักของตน)ประเมินในแง่ของกายภาพแล้ว เอ็ดเป็นชายหนุ่มที่เรือนร่างของเขากำยำล่ำสันกว่าบ็อบบี้และดรูว์ แต่ถึงกระนั้น ก็เทียบเคียงไม่ได้กับลูอิส-ที่มีภาพลักษณ์ของความเป็นคนที่กร้าวแกร่งและ สมบุกสมบัน และนั่นรวมถึงทักษะในการใช้ชีวิตกลางแจ้งของตัวละคร อันอาจหมายรวมถึงสัญชาติญาณของการอยู่รอด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิญญาณเพชรฆาต
ฉากที่ตอกย้ำให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงความแตกต่างดังกล่าวนี้อย่างแจ้ง ชัด-ได้แก่ตอนที่ลูอิสสาธิตให้เอ็ดได้เห็นถึงการจับปลาด้วยลูกธนูที่นอกจาก ดูแคล่วคล่องว่องไวและทะมัดทะแมง ยังไม่มีวี่แววของความพะวักพะวน สะทกสะท้านหรือตื่นกลัว (เป็นไปได้ว่าหลายคนอาจจะนึกโต้แย้งว่า การยิงปลาในแม่น้ำไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรงหรือต้องอาศัยความ กล้าหาญซักเท่าใด แต่ข้อที่จำเป็นต้องระบุไว้ ณ ที่นี้ก็คือ ผู้ชมได้เห็นตัวละครนี้ยิงธนูสองครั้งและเหยื่อเคราะห์ร้ายในครั้งหลังของ เขา-ไม่ใช่แม้แต่สิงสาราสัตว์ทั่วไป แต่ได้แก่มนุษย์ด้วยกัน อีกทั้งประโยครำพึงรำพันของดรูว์ในช่วงไล่เลี่ยกันที่เอ่ยขึ้นว่า เขาไม่เข้าใจว่าคนเราสามารถยิงสัตว์เป็นๆได้อย่างไร-ก็น่าจะเป็นการเน้นย้ำ กลายๆว่า ความเป็นนักฆ่าอาจจะไม่ได้เป็นคุณสมบัติที่ถูก ?ติดตั้ง? อยู่ในมนุษย์ทุกคน) ซึ่งนั่นเป็นอากัปกิริยาที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับของเอ็ดในเช้าวันถัดมา ที่เขาคว้าคันธนูเข้าไปในป่าลึกด้วยหวังว่าจะสามารถ ?ฆ่า? อะไรซักอย่างเหมือนกับเพื่อนรัก จนกระทั่งได้เผชิญหน้ากับกวางตัวเขื่องที่กำลังเล็มหญ้าอย่างสบายอารมณ์
หนังเผยให้ผู้ชมเห็นว่าชายหนุ่มได้แต่ง้างคันธนูค้างไว้ ก่อนที่ร่างกายของเขาจะสั่นสะท้านจนไม่อาจควบคุม และปล่อยให้ลูกศรหลุดมือซึ่งมันพุ่งห่างจากเป้าหมายไปไกล ไม่ว่าเจตนารมณ์ของผู้สร้างต้องการจะบอกอะไร อย่างหนึ่งที่แน่ๆ นับจนถึงตอนนั้น เอ็ดยังไม่มีหรืออย่างน้อย ยังค้นไม่เจอ ?ความเป็นนักฆ่า? ในตัวเอง และสมมติว่าทริปนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่มีเหตุการณ์ที่มีนัยยะสำคัญเกิดขึ้น เรื่องเล็กๆที่มีเพียงแค่เขากับผู้ชมร่วมรับรู้นี้-ก็คงถูกลืม แต่แน่นอนว่า บัวร์แมนคงไม่ใส่ฉากที่ไม่เกี่ยวพันกับเนื้อหาหลักของเรื่องเข้ามาโดยไร้จุด มุ่งหมายปลายทาง และว่าไปแล้ว ผู้ชมก็จะรับรู้ได้เองในอีกไม่นาน
จุดประทุของเรื่องเริ่มมาจากเหตุการณ์ที่เอ็ดกับบ็อบบี้ซึ่งพายเรือคา
นูของพวกเขาล่วงหน้าไปก่อนลูอิสและดรูว์-หยุดแวะข้างทาง
ทั้งสองได้พบกับคนแปลกหน้าที่หน้าตาท่าทางตลอดจนการแต่งเนื้อแต่งตัว-ไม่ได้
แตกต่างไปจากพวก ?หลังเขา? ที่เพิ่งได้พบเจอเมื่อวันวาน
และสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถสรุปอย่างย่นย่อได้ดังนี้
เอ็ดถูกจับมัดไว้กับต้นไม้ บ็อบบี้โดน ?ข่มขืน? ทางประตูหลัง
(นอกเหนือจากถูกบังคับให้ส่งเสียงร้องครวญครางโหยหวนเหมือนหมูที่กำลังโดน
เชือด) และก่อนที่เอ็ดจะตกเป็นเหยื่อรายต่อไป
ลูอิสผู้ซึ่งเรือคานูของเขากับดรูว์เคลื่อนผ่านมาพอดี-ก็เด็ดชีพหนึ่งในสอง
ด้วยลูกธนู
ขณะที่อีกหนึ่ง-วิ่งหายเข้าไปในความระเกะระกะของต้นไม้อย่างรวดเร็ว
ข้อที่ควรหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างถึงอย่างจำเพาะเจาะจงก็คือ พวกหลังเขาทั้งสองไม่ได้ต้องการปล้นหรือมุ่งหวังทรัพย์สินเงินทองจากเอ็ดและ บ็อบบี้ (ที่ฝ่ายหลังพยายามอาศัยเป็นเครื่องต่อรอง) เพราะเป็นเรื่องที่สามารถอนุมานได้ว่า ในโลกที่อยู่ซ่อนตัวเองอยู่ห่างไกลจากความเจริญทางวัตถุและอารยธรรม สิ่งเหล่านี้ไม่อาจใช้เพื่อการยังชีพ (มีดพกของเอ็ดยังมีประโยชน์ยิ่งกว่า เพราะอย่างน้อย มันก็ใช้โกนหนวดหรือล่าสัตว์) และสามารถกล่าวได้ความมุ่งหวังของพวกเขา-เชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกได้ว่า สันดานดิบ หรือความปรารถนาที่แฝงเร้นอยู่ในเบื้องลึกของความเป็นมนุษย์นั่นเอง
ไม่มากไม่น้อย ความเข้าใจที่ว่าหนึ่งในประเด็นหลักของ Deliverance พูดถึงเรื่องของมนุษย์ทำลายความงดงามทางธรรมชาติตลอดจนสมดุลของสิ่งแวดล้อม ก็ต้องบอกว่ามันคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายที่ผู้สร้าง อันหมายถึงจอห์น บัวร์แมน ผู้กำกับ และเจมส์ ดิคกี้ย์ ในฐานะคนเขียนบทหนังและเจ้าของบทประพันธ์ดั้งเดิม-ต้องการนำเสนอไกลโขที เดียว เพราะพินิจพิเคราะห์อย่างรอบด้านแล้ว ความงดงามทาง ?ธรรมชาติ? ตามที่ถูกนำเสนอในหนังเรื่องนี้-นอกจากจะเป็นภาพลวงตา รวมทั้งไม่ได้มีสถานะของการเป็น ?ผู้ถูกกระทำ? เพียงฝ่ายเดียวแล้ว มันยังแฝงไว้ด้วยความ ?ดิบเถื่อน? และทารุณโหดเหี้ยม อันเนื่องมาจากสภาพทางกายภาพของมัน-ซึ่งในอีกไม่ช้าไม่นาน ตัวละครทั้งสี่คนก็จะถูกทำให้ตระหนักในข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างถ้วนทั่วกัน หรือพูดให้ชัดๆก็คือ ถูกธรรมชาติเล่นงานอย่างชนิดสะบักสะบอม (หรือถ้าจะใช้คำที่หนักหนาสาหัสกว่านั้น-ว่า ถูก ?กระทำชำเรา? ก็ไม่น่าจะผิดความหมายแต่อย่างใด)
อีกทั้งด้วยความที่มันเป็นดินแดนที่ถูกตัดขาดจากความศิวิไลซ์ มันจึงก่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่าความไม่ศิวิไลซ์หรืออนารยะขึ้นมา และนั่นหมายความว่า กฎ กติกาและมารยาทตามที่อารยชนทั้งหลายยอมรับ-ถูกยกเลิกชั่วคราว และมันมีสภาพเป็นเหมือน ?ฟรีโซน? ที่ใครนึกจะทำอะไรตามสัญชาติญาณพื้นฐานหรือสันดานสัตว์ป่าของแต่ละคนก็ย่อม ได้ตามอำเภอใจ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่านั่นเป็นเงื่อนไขที่ยุยงให้สองหนุ่มหลังเขา-เลือก ?วิธี? ฉกฉวยประโยชน์จากสองหนุ่มเมืองกรุงอย่างที่ปรากฏให้แก่สายตาของผู้ชม และฉากที่ยิ่งตอกย้ำว่า อารยธรรมไม่มีหมายความสำหรับพื้นที่รกร้างแถบนี้โดยสิ้นเชิง-ก็ได้แก่ เหตุการณ์ภายหลังจากที่ลูอิสยิงลูกธนูปักทะลุอกของหนึ่งในสองหนุ่มหลังเขา และทั้งสี่หนุ่มปรึกษา(หรือโต้เถียง)กัน-ว่าจะจัดการอย่างไรกับร่างไร้ วิญญาณ
ดรูว์เป็นต้นเสียงที่แข็งขันให้นำศพของหมอนี่ไปมอบให้กับฝ่ายตำรวจและบอก ความจริง แต่ลูอิสและบ็อบบี้ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องที่เกิดขึ้นโดยตรง-ไม่ เห็นด้วยอย่างรุนแรง
หมายความว่าลูอิสเป็นคนลงมือฆ่า เพราะฉะนั้น แนวโน้มที่เขาจะเผชิญกับความยุ่งยากในทางกฎหมาย-ก็เป็นอะไรที่มองเห็นได้แต่ ไกล และนั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงความไม่น่าจะเที่ยงตรงของกระบวนการพิจารณาคดีที่ ชายหนุ่มเชื่อว่า ผู้คนในชุมชนละแวกนี้ล้วนเกี่ยวดองเชื่อมโยง และนั่นทำให้มีโอกาสสูงมากที่คณะลูกขุนอาจเป็นลุงป้าน้าอาของผู้ตาย ส่วนบ็อบบี้เองที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ-ก็ไม่ต้องการให้เรื่องบัดสีสำหรับตัว เขาเองแพร่งพร่ายออกไป และปรารถนาที่จะให้มันถูกฝังพร้อมกับคนที่โจมตีประตูหลังเขานั่นเอง
กลายเป็นเอ็ดที่ถูกกำหนดให้ต้องเลือกว่าเขาจะเทคะแนนเสียงไปทางใดตาม ?ระบอบประชาธิปไตย? (ซึ่งจริงๆแล้ว ควรจะเรียกว่า ?กฎหมู่? มากกว่า) และเหตุการณ์ดังกล่าวตอกย้ำให้ผู้ชมได้ตระหนักอีกครั้งหนึ่งว่า นี่คือหนังที่พูดถึงการสัญจรทางจิตวิญญาณของเอ็ด จากสภาวะที่มีกรอบของกฎหมาย ตลอดจนศีลธรรมและอารยธรรม-เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและค้ำจุน ไปสู่ก้นบึ้งแห่งความมืดมิดที่เขาไม่เคยรับรู้ว่ามันซุกซ่อนอยู่ในตัวเอง รวมทั้งมันเป็น ?อาณาบริเวณ? ที่ความถูกต้องดีงาม-ปราศจากคุณค่าและความหมายโดยสิ้นเชิง
ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ชมจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเอ็ด จากชายหนุ่มที่ในตอนเริ่มแรก ไม่สามารถบังคับตัวเองให้ปล่อยลูกดอกปลิดชีวิตกวาง ไปสู่ฉากที่เขาลุ้นระทึกให้ลูอิส เพื่อนรัก-ลงมือฆ่าหนึ่งในสองอันธพาลก่อนที่ตัวเขาจะตกเป็นเหยื่อทางเพศ เหมือนกับบ็อบบี้ไปอีกคน ตามมาด้วยการโหวตสนับสนุนให้ฝังกลบหนุ่มหลังเขาในป่าลึก และแน่นอน ห้วงเวลาที่บอกให้รู้ว่า ?ด้านมืด? หรือบางที อาจจะเรียกว่าวิญญาณนักฆ่าในตัวชายหนุ่ม-เข้าครอบงำอย่างสมบูรณ์ ก็ได้แก่ตอนที่ประวัติศาสตร์หวนกลับมาซ้ำรอยเดิมเมื่อสถานการณ์บีบบังคับให้ เขาต้องยิงธนูใส่สิ่งมีชีวิตที่อยู่เบื้องหน้า ซึ่งคราวนี้ มันไม่ใช่สรรพสัตว์ตามสุมทุมพุ่มไม้เหมือนในตอนแรก หากได้แก่ใครบางคนที่เขาเชื่อว่าเป็นหนุ่มหลังเขาอีกคนที่วิ่งหนีหายไปใน ช่วงชุลมุน และถูกสันนิษฐานว่าเป็นคนลอบยิงดรูว์ ประการสำคัญ เอ็ดไม่มีเวลาให้ตรึกตรองมากนัก เพราะฝ่ายตรงข้ามซึ่งหันมาเห็นเขาพอดิบพอดี-ก็กำลังยกปืนลูกซองขึ้นพร้อม เหนี่ยวไก
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในตลอดช่วงเวลาเหล่านี้ โรคเก่าของเอ็ดทำท่าว่าจะกำเริบ-เมื่อเขาเริ่มมีอาการสั่นเทิ้มและไม่สามารถ ควบคุมตัวเอง แต่จนแล้วจนรอด เขาก็ปล่อยลูกศรออกไป และในขณะที่ผู้ชมถูกทำให้เข้าใจว่ามันพลาดเป้า ปรากฏว่ามันปักทะลุกลางอกของไอ้หนุ่มหลังเขาเต็มๆ
นับจนกระทั่งถึงตอนนี้ ไม่ว่าเอ็ดจะตระหนักได้หรือไม่ก็ตาม เขาได้พาตัวเองมาอยู่ใน ?เกม? ที่ลูอิสเอ่ยถึงก่อนหน้าอย่างเต็มตัว มันเป็นเกมที่เก่าแก่และดึกดำบรรพ์ที่สุดในโลกที่เรียกว่าการอยู่รอด และกฎและกติกาง่ายๆมีอยู่เพียงข้อหรือสองข้อ นั่นก็คือ การดิ้นรนทุกหนทางไม่ให้ถูกฆ่า และข้อสำคัญ ถ้าหากจะมีความตายเกิดขึ้น มันก็ควรจะต้องเป็นของคนอื่นมากกว่าตัวเอง
ไม่ว่าจะอย่างไร ส่วนที่อาจกล่าวได้ว่าน่าครุ่นคิดยิ่งกว่าเรื่องร้ายๆที่เกิดขึ้นในระหว่าง ล่องคานูไปบนสายน้ำอันแสนหฤโหด-ก็คือผลสะเทือนไหวภายหลังจากที่เอ็ดและ เพื่อนๆหวนกลับคืนสู่ความศิวิไลซ์ ซึ่งอาจจะประมวลมูลค่าความเสียหายของการเดินทางเข้าไปสัมผัสกับ ?ธรรมชาติ? อย่างย่นย่อได้ดังต่อไปนี้
ดรูว์จบชีวิตโดยไม่มีใครรู้ว่าเขาถูกยิงจริงๆหรือไม่ และร่างไร้วิญญาณของเขาก็ถูกถ่วงไว้ด้วยก้อนหินให้จมดิ่งลงสู่ก้นแม่น้ำ (ส่วนที่เย้ยหยันก็คือการจมน้ำในลักษณะเหมือนถูกยิงของดรูว์เป็นต้นเหตุให้ เพื่อนๆพากันสติแตก และขยับขยายให้เรื่องยิ่งบานปลาย เป็นไปได้หรือไม่ว่านั่นเป็นผลพวงจากความไม่ชอบมาพากลของสภาพแวดล้อม จนกระทั่งจิตใต้สำนึกของแต่ละคนทำงานกันเกินเลย) ขณะที่ลูอิสประสบอุบัติเหตุขาหัก และไม่เหลือคราบของชายชาตรี กระทั่งอยู่ในสภาพของคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อย่างน่าสมเพชเวทนา เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ หมอบอกว่าเขาอาจจะต้องถูกตัดขาทิ้ง ซึ่งนั้นย่อมหมายความว่า ชีวิตโลดโผนโจนทะยานของเขาคงต้องรูดม่านปิดฉากไปโดยปริยาย
ส่วนบ็อบบี้ปรารถนาที่จะลืมทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ประโยคทิ้งท้ายที่เขาเอ่ยกับเอ็ดที่บอกว่า ?ฉันคิดว่าหลังจากนี้ เราคงจะไม่ได้เจอกันอีกนาน? แทบจะไม่ต้องแปลความหมายของมันเลยว่า เขาไม่ต้องการให้เรื่องอันแสนอัปลักษณ์นี้-ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาโดยไม่จำเป็น แต่กล่าวให้ครอบคลุมแล้ว เอ็ดก็คงไม่แตกต่างกัน
จากที่หนังให้เห็น เขาอาจจะสามารถผ่านบททดสอบอันแสนสาหัสนี้ไปได้ (หรืออีกนัยหนึ่ง ค้นพบด้านมืดที่เจ้าตัวไม่เคยรู้ว่ามีอยู่ตั้งแต่ต้น) แต่ก็อยู่ในสภาพที่ ?บอบช้ำและบุบสลาย? ทั้งในทางร่างกายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิญญาณ รวมทั้งสูญเสียช่องทางในการเชื่อมโยงติดต่อกับความถูกต้องดีงาม ดังจะเห็นได้จากการที่เขากลายเป็นหัวโจกให้บ็อบบี้และลูอิสร่วมกันโกหกหลอก ลวงและปกปิดความจริงจากนายอำเภอ (รับบทโดยเจมส์ ดิคกี้ย์ เจ้าของบทประพันธ์) ซึ่งเกี่ยวพันกับความตายของคนสามคน และสองในจำนวนนั้น-อาจถูกกฎหมายตีความว่าเป็นการฆาตกรรม และเอาตัวรอดไปได้-แม้ว่าจะค่อนข้างทุลักทุเล
แต่หนังก็บอกให้รู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างล่องแก่งไม่เคยเลือน หายไปจากจิตใต้สำนึกของตัวละคร และยังคงตามหลอกหลอนเขาในรูปของฝันร้าย-ซึ่งน่าเชื่อว่า มันจะไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แย่ไปกว่านั้นก็คือ ไม่มีใครบอกได้ว่าอาฟเตอร์ช็อคของมันจะกินระยะเวลาไปอีกยาวนานเพียงใด
กล่าวในท้ายที่สุดอย่างกำปั้นทุบดิน เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ชอบหาเรื่องใส่ตัว และประเมินความอำมหิตและเหี้ยมโหดของ ?ธรรมชาติ? ต่ำกว่าความเป็นจริง สมมติเล่นๆว่าวีคเอนด์นั้น สี่หนุ่มจากเมืองใหญ่เลือกเล่นกอล์ฟ จนป่านนี้-พวกเขาก็คงจะได้กลับบ้านไปหาลูกหาเมียด้วยความปลอดภัย และนอนหลับสบายโดยไม่ต้องมีเรื่องบ้าบอคอแตกมาคอยรังควาญ รวมทั้งไม่ต้องคอยรับมือกับ ?ปิศาจร้ายในจิตใจ? ที่เมื่อถูกปลดปล่อยออกมาอาละวาดแล้ว การจะต้อนให้มันกลับไปสงบนิ่งเหมือนก่อนหน้า-ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดาย
DELIVERANCE (1972)
กำกับ, อำนวยการสร้าง-จอห์น บัวร์แมน/บทภาพยนตร์-เจมส์ ดิคกี้ย์ จากนิยายชื่อเดียวกันของเขาเอง/กำกับภาพ-วิลมอส ซิกมอนด์/ลำดับภาพ-ทอม พรีสลี่ย์/ดนตรี-เอริค ไวส์เบิร์ก/กำกับศิลป์-เฟรด ฮาร์พแมน/สเปเชี่ยลเอฟเฟ็คท์-มาเซล เวอร์คูเทียร์/เครื่องแต่งกาย-บัคกี้ เราส์/ผู้แสดง-จอน วอยท์, เบิร์ต เรย์โนลด์, เน็ด เบ็ตตี้, รอนนี่ ค็อกซ์, บิลลี่ แม็คคินลี่ย์, เจมส์ ดิคกี้ย์, ฯลฯ/สี/ความ 109 นาที
ขอขอบคุณบทวิจารณ์ของคุณประวิทย์ แต่งอักษร มาณ.ที่นี้ด้วยครับโดนพาดพิง ...
งั้นผมขอเปลี่ยนจากนั่งรถทัวร์ไปอุดร เป็นนั่งเครื่องบินแทนครับท่านอาจารย์ ... ออกตั๋วให้ผมด้วยนะครับ วิ้วววว
![]() | |