ความเห็น |
หมายเหตุผู้เขียน-The Deer Hunter เป็นหนังที่ยกกองถ่ายทำเข้ามาในเมืองไทยช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึง พฤศจิกายน ปี 1977 และหนึ่งในเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่ร่วมงานอย่างขยันขันแข็งจนเป็นที่ยอมรับใน ฝีไม้ลายมือ-ของทีมงานชาวอเมริกันก็คือสมพล สังขะเวส
จากเครดิตของการได้ทำงานในกองถ่ายหนังที่คว้ารางวัลออสการ์อย่าง The Deer Hunter ก็ทำให้สมพล-ได้รับหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับให้กับหนังต่างประเทศที่ยกทีมงาน มาถ่ายทำในเมืองไทยแทบทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง The Killing Fields ของโรแลนด์ จอฟเฟ่, Good Morning Vietnam ของแบร์รี่ เลวินสัน, Casualties of War ของไบรอัน เดอพัลม่า, Air America กับ Tomorrow Never Dies ของโรเจอร์ สป็อททิสวู้ด และ Heaven And Earth ของโอลิเวอร์ สโตน
แทบจะเรียกได้ว่าเขาคือเบอร์หนึ่งสำหรับงานด้านนี้ เพราะฉะนั้น การเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนของสมพล สังขะเวส หรือ’พี่แซม’ของน้องๆในชมรมวิจารณ์บันเทิงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา-จึงเป็นทั้งเหตุเศร้าสลดอย่างคาดไม่ถึง และความสูญเสียครั้งใหญ่หลวง
เพื่อร่วมไว้อาลัยแด่การจากไปอย่างไม่หวนคืน ขออุทิศข้อเขียนชิ้นนี้-สำหรับการรำลึกถึงผลงานที่ทำให้ชื่อของสมพล สังขะเวส-เป็นที่รู้จักและจะถูกจดจำตลอดไป
ฉากหลังคือเหตุการณ์ช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ชายหนุ่มสามคนจากโรงงานถลุงเหล็กในเมืองเล็กๆที่ชื่อแคลร์ตั้น มลรัฐเพนซิลเวเนีย-ตัดสินใจสมัครเป็นทหารไปรบในสมรภูมิเวียดนาม ดูเหมือนพวกเขาจะไม่มีเหตุผลสลับซับซ้อน-มากไปกว่าต้องการทำอะไรสักอย่าง เพื่อประเทศชาติ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ทั้งไมเคิล, นิค และสตีเว่น-แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศเล็กๆที่ตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของซีก โลก เวียดนามในความนึกคิดของคนทั้งสาม-หมายถึงการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นสนุกสนาน เป็นเสมือนบททดสอบศักยภาพและความกล้าหาญเยี่ยงลูกผู้ชาย
ในระหว่างงานเลี้ยงล่ำลาที่บรรดาญาติสนิทมิตรสหายจัดให้ ทั้งสามได้เจอกับทหารกรีนเบเร่ต์-คนหนึ่งที่เพิ่งจะกลับมาจากสงคราม ไมเคิลอดไม่ได้ที่จะบอกเป็นเชิงอวดอ้างว่าเขากับเพื่อนๆกำลังจะไปเวียดนาม พร้อมกันนั้นก็ถามด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าสภาพการณ์ของที่นั่นเป็นอย่าง ไร
คำตอบของทหารคนนั้นกลับกลายเป็นคำสบถที่ถูกย้ำสองสามครั้ง “Fuck it.” นิคกับสตีเว่นพากันงงกับพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตร ขณะที่ไมเคิลแสดงออกอย่างเดือดดาลและหวุดหวิดจะมีเรื่อง
สิ่งที่ทั้งหมดนึกไม่ถึง-ก็คือ นั่นอาจเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่พวกเขาอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเวียดนาม-ที่ รวบรัดและได้ใจความมากที่สุด รวมทั้งไม่ได้เจือปนท่าทีก้าวร้าวอย่างที่สามคนอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน
เป็นเรื่องที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่า-สงครามเวียดนามคือเหตุการณ์ที่ สร้างความอัปยศอดสูให้กับคนอเมริกันทั้งประเทศ เพราะไม่เพียงผลลัพธ์จะลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ต่อชาติเล็กๆโดยปราศจากเงื่อนไข และไม่มีใครคาดถึง-ในปี 1973 ยอดความสูญเสียของบรรดาทหาร-ก็พุ่งสูงถึงเกือบหกหมื่นคน บาดเจ็บหรือทุพพลภาพอีกเรือนแสน ทั้งหมดนี้ยังไม่ต้องเอ่ยถึงผลกระทบทางสังคมและสภาพจิตใจของผู้คนที่ประเมิน มูลค่าเป็นตัวเลขไม่ได้
นอกจากสงครามเวียดนามจะจบไม่สวยเหมือนสงครามโลกครั้งที่สอง มันยังกลายเป็นฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากนึกถึง เพราะเหตุนี้เอง นับตั้งแต่อเมริกาก้าวเข้าสู่สงครามอย่างเต็มตัวในปี 1965 จนถึงอีกทศวรรษเศษๆหลังจากนั้น ฮอลลีวู้ดแทบไม่ได้สร้างหนังที่บอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในการสู้รบครั้งนี้ ว่ากันว่า ผู้คนยังต้องการเวลาอีกสักพักสำหรับเยียวยาบาดแผลที่ฝังลึก
The Deer Hunter ออกฉายหลังจากสงครามสิ้นสุดไปแล้วประมาณห้าปี และถือกันว่านี่คือหนังเรื่องแรกๆที่หาญกล้า-นำเสนอประเด็นที่เปราะบางและ อ่อนไหวต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในเวลานั้น
แต่ถ้าหากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ หนังของไมเคิล ชิมิโนเรื่องนี้-ก็ยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นตามข้อ เท็จจริงที่ถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เนื้อแท้ๆของหนัง-เป็นเพียงการสะท้อนความโหดร้ายของสงครามผ่านเหตุการณ์ สมมติที่ผูกขึ้นมารองรับ ข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์ถูกใช้เพื่อประกอบให้ดูน่าเชื่อถือ แต่บางครั้งก็ถูกนำไปดัดแปลงตามอำเภอใจของคนทำหนัง-เพียงเพื่อให้เรื่องเดิน ตรงไปสู่จุดมุ่งหมาย
ด้วยเหตุนี้ หนังของชิมิโน-จึงถูกนักประวัติศาสตร์โจมตีอย่างหนักหน่วงด้วยข้อกล่าวหาบิด เบือน และนำเสนอในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเล่นเกมรัสเชี่ยนรูเล็ทท์-ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของหนังทั้งเรื่อง เป็นที่แน่ชัดและยอมรับกันทั่วไปแล้วว่านี่คือส่วนของ ‘fiction’ หรือเรื่องที่คนทำหนังเสกสรรปั้นแต่งขึ้น ไม่ใช่ ‘fact’ หรือสิ่งที่เกิดในสงครามครั้งนี้ ขณะเดียวกัน ฉากในตอนท้ายที่ไมเคิลตัดสินใจกลับไปตามหาเพื่อนรักในกรุงไซ่ง่อนที่ใกล้จะ แตก-ก็ถูกโต้แย้งว่าเป็นไปไม่ได้ในแง่ของความจริง
แต่ส่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงก็คือการให้ภาพในทางลบกับตัวละคร ที่เป็นเอเชีย ตั้งแต่เวียดกงที่โหดเหี้ยมทารุณและคลั่งไคล้ความรุนแรง, ผู้คนและบ้านเมืองในไซ่ง่อนที่เสื่อมโทรม, ตกต่ำในทางศีลธรรมและเต็มไปด้วยการฉ้อฉล การตอกย้ำสิ่งเหล่านี้ให้ได้เห็นหลายต่อหลายครั้ง-ทำให้อดรู้สึกไม่ได้ว่า มันไม่ใช่แค่ความบังเอิญ แต่เป็นทัศนะเหยียดผิวและเชื้อชาติของคนทำหนัง
ไม่ว่าจะอย่างไร ถ้าหากจะกล่าวเฉพาะในของเขตของการเล่าเรื่อง ต้องยอมรับว่าไมเคิล ชิมิโนประสพความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง-ในการทำให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงความน่า สะพรึงกลัวของสงคราม และเกมรัสเชี่ยนรูเล็ทท์-คือหนึ่งในองค์ประกอบหลักที่ขับเคลื่อนให้เรื่อง ทั้งหมดเดินไปอย่างเต็มไปด้วยพลังแห่งการชักจูงโน้มน้าว แต่ก่อนที่หนังจะพาผู้ชมไปถึงจุดๆนั้นจริงๆ รายละเอียดที่สำคัญหลายส่วนถูกปูพื้นให้ได้รับรู้-อย่างพิถีพิถัน
หนังเปิดเรื่องในวันสุดท้ายก่อนที่ไมเคิล(โรเบิร์ต เดอนีโร), นิค(คริสโตเฟอร์ วอลเก้น)และสตีเว่น(จอห์น ซาเวจ)จะไปเวียดนาม สองสามเหตการณ์ในระหว่างนี้ถูกนำมาเรียงต่อกัน-เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ทำ ความรู้จักตัวละคร ตลอดจนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเล็กๆที่อบอุ่นแน่นแฟ้น
สตีเว่นกำลังจะเข้าพิธีแต่งงานกับแอนเจล่า(รูทันย่า อัลด้า) สาเหตุที่ต้องรีบร้อนก็เพราะฝ่ายหญิงตั้งท้องและเขากำลังจะไปรบ เวียดนาม-ซึ่งหมายความว่าอาจจะไม่ได้กลับมาอีก สิ่งที่หนังเน้นให้ผู้ชมมองเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ-ก็คือความเป็นคนอ่อนแอของ สตีเว่น ฉากที่แม่มาลากตัวเขาออกจากร้านเหล้าเพื่อให้ไปเตรียมตัวสำหรับพิธีการเป็น ส่วนหนึ่ง แต่นั่นยังไม่กระจ่างเท่ากับที่หนังบอกให้ผู้ชมได้รู้ว่าสตีเว่นยอมแต่งงาน กับแอนเจล่า-ทั้งที่ไม่เคยนอนกับเธอ และไม่รู้ว่าใครคือพ่อตัวจริงของเด็กในท้อง
รายละเอียดเหล่านี้อธิบายตัวมันเองมากขึ้นเมื่อสตีเว่นไปรบและถูกพวก เวียดกงจับให้เล่นเกมรัสเชี่ยนรูเล็ทท์ เขาควบคุมตัวเองให้เผชิญกับภาวะบีบคั้นไม่ได้ และแสดงอารมณ์ออกมาอย่างคนคลุ้มคลั่ง กล่าวอย่างไม่อ้อมค้อม สตีเว่นคงไม่มีทางรอดชีวิตมาได้-ถ้าหากไม่ใช่เป็นเพราะไมเคิลช่วยเหลือเอา ไว้ ถึงอย่างนั้น เขาก็ต้องสูญเสียขาทั้งสองข้าง รวมถึงความเชื่อมั่นที่จะกลับบ้านไปพบหน้าเพื่อนฝูงและคนในสังคม แล้วก็อีกนั่นแหละ ไมเคิลคือคนที่ช่วยผลักดันให้สตีเว่นยอมรับความจริงข้อนี้
พิธีแต่งงานในทางศาสนาของสตีเว่นกับแอนเจล่า-ถูกเชื่อมต่อไว้ด้วยงาน เลี้ยงฉลองส่งเพื่อนทั้งสามไปรบ หนังให้เวลาและความสำคัญกับสองฉากนี้ค่อนข้างยาวนาน ส่วนหนึ่งก็เพื่ออธิบายให้ผู้ชมได้เข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนเล็กๆที่ สลัดไม่หลุดจากขนบธรรมเนียมประเพณี ขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากความเชื่อในเรื่องเหล่านี้ของตัวละคร-แทรกสิ่ง ที่เป็นเสมือน’ลางบอกเหตุร้าย’เข้ามาอย่างต่อเนื่องและเป็นกระบวน
เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนพิธีกรรมทั้งหมดจะเริ่มต้น-เมื่อใครบางคนเห็นพระ อาทิตย์ทรงกลดในยามเช้า และไมเคิลอธิบายว่าสำหรับชาวอินเดียนแดง นั่นถือเป็นฤกษ์ดีสำหรับการล่าสัตว์ หลังจากนั้น ในช่วงที่นิคพูดคุยกับไมเคิลตามลำพัง จู่ๆนิคก็ขอร้องเพื่อนรักให้คำมั่นอย่างจริงๆจังๆเหมือนมองเห็นอนาคต-ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในเวียดนาม “นายต้องไม่ทิ้งฉันไว้ที่นั่น”
ไมเคิลรับคำของนิคและคงนึกไม่ถึงว่า คำสัญญานี้จะมีความหมายจริงๆจังๆ-จนผลักดันให้เขาต้องกลับไปเวียดนามในช่วง แห่งความโกลาหลอีกครั้งเพื่อตามหาเพื่อนรักที่หลงหาย
แต่การแสดงลางร้ายที่ชัดเจนที่สุด-ก็คือฉากที่สตีเว่นกับคนรักดื่มไวน์ จากถ้วยสองใบที่เชื่อมอยู่บนก้านเดียวกัน-ตามความเชื่อที่ว่า ถ้าหากทั้งสองดื่มโดยไม่หกแม้แต่หยดเดียว ก็จะพบกับโชคดีไปตลอดทั้งชีวิต ระหว่างที่บรรดาแขกเหรื่อส่งเสียงเชียร์เจ้าบ่าวเจ้าสาว ภาพในระยะใกล้ก็จับให้เห็นสีแดงของไวน์หยดลงบนชุดแต่งงานสีขาวของแอนเจล่า
ภายหลังจากสองเหตุการณ์จบสิ้น ชิมิโนยังคงไม่ได้พาผู้ชมเข้าสู่สนามรบโดยตรง เพราะสำหรับไมเคิลกับเพื่อนๆ ยังหลงเหลือพิธีกรรมสำคัญอีกอย่างที่จะต้องเข้าร่วม นั่นคือการล่ากวาง เสียงร้องประสานแบบคอรัสที่ผู้ชมได้ยินในระหว่างนี้-ทำให้ไม่ต้องสงสัยเลย ว่านี่คือห้วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับนักล่า เป็นช่วงแห่งความสำรวม และไม่ใช่ใครที่ไหนจะมาทำเป็นเรื่องเล่นๆ เพราะเหตุนี้ เมื่อไมเคิลพบว่า สแตน(จอห์น คาเซล)ลืมพกรองเท้าบู้ทขึ้นมา เขายืนยันแข็งกร้าวไม่ให้สแตนยืมรองเท้าสำรอง-จนเพื่อนคนอื่นพากันแปลกใจใน พฤติกรรม
ฉากล่ากวางบนหุบเขาสูง-กินเวลาเพียงไม่กี่นาที แต่บรรยากาศกลับเต็มไปด้วยความเคร่งขรึม, จริงจัง ก่อนหน้านี้ ไมเคิลเคยพูดคุยกับนิคถึงปรัชญาส่วนตัวในการล่า-ว่า หัวใจสำคัญก็คือการใช้กระสุนเพียงนัดเดียวในการปลิดชีวิต ฉากนี้คือการถ่ายทอดความเชื่อข้างต้นให้ผู้ชมได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
เพียงแต่ว่า ในทันทีที่กระสุนตัดขั้วหัวใจของกวาง เสียงที่ฟังเหมือนบทสวดมนต์-กลับหยุดชะงัก ภาพจับให้เห็นดวงตาของเหยื่อเคราะห์ร้ายที่ค่อยๆทรุดตัวลง ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์หรืองดงามใดๆหลงเหลือ สิ่งที่ถูกทดแทนกลายเป็นความน่าเวทนาสงสาร
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ชมได้เห็นในฉากนี้-ก็เทียบกันไม่ได้เลยกับซีเควนซ์ถัดไปใน เวียดนาม-เมื่อทั้งสามอยู่ในระหว่างการรบ การฆ่าและทำลายล้างเกิดขึ้นอย่างพร่ำเพรื่อ, ไร้ทิศทางและจุดมุ่งหมาย มันเริ่มต้นด้วยฉากที่พวกเวียดกงสังหารหมู่ผู้หญิงและเด็กที่ซ่อนตัวอยู่ใน หลุมหลบภัยอย่างอำมหิตและสยดสยอง ตามด้วยฉากที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง เมื่อไมเคิล, นิคและสตีเว่น-ถูกจับเป็นเชลยศึก และโดนบังคับให้ต้องเล่นเกมแห่งความตาย
ปรัชญา’กระสุนนัดเดียว’ของไมเคิล-ที่หมายถึงทุกครั้งที่เหนี่ยวไก ต้องได้ผลร้อยเปอร์เซนต์-กลายเป็นเรื่องน่าขัน เพราะกระสุนนัดเดียวที่ถูกบรรจุอยู่ในรังเพลิงของการเล่นเกมรัสเชี่ยนรูเล็ท ท์-ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหยิบยื่นความตายให้กับใครเสมอไป มันอาจจู่โจมอย่างไม่ทันให้ตั้งตัว หรือยืดเยื้อออกไปจนทำให้คนเล่นประสาทเสีย ไม่มีอะไรแน่นอน อธิบายไม่ได้ด้วยหลักเกณฑ์ทางตรรกะหรือเหตุผล ความเป็นหรือความตายกลับไม่มีความหมายและกลายเป็นเรื่องไร้สาระ
แม้ว่าจะเป็นส่วนที่บิดเบือนข้อเท็จจริง(fact)ทางประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ความว่ามันปราศจากความจริง(truth)ในสิ่งที่คนทำหนังนำเสนอ หนึ่งในความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ซ่อนเร้นในเกมรัสเชี่ยนรูเล็ทท์-ก็คือการ สะท้อนความบ้าคลั่งจนถึงขั้นเสียสติของการทำสงคราม ในขณะที่ความสนุกสนานของผู้คนจากเกมที่เดิมพันด้วยชีวิตมนุษย์-ยิ่งเพิ่ม เติมแง่มุมเหลวไหลให้ยิ่งแจ่มชัด
นอกจากนี้ ความกดดันและบีบคั้นที่ตัวละครได้รับในฉากนี้-ก็ถือเป็นบทสรุปที่กะทัดรัด แต่ครบถ้วนกระบวนความ-ถึงสภาพที่บรรดาทหารต้องเผชิญในสนามรบ เหนืออื่นใด ไม่มีใครที่ผ่านเกมนี้ไปแล้ว-ยังคงดำรงความเป็นปกติอยู่ได้ทั้งในทางร่างกาย และจิตใจ
ด้วยความเข้มแข็งและกล้าหาญของไมเคิล เขาช่วยประคับประคองเพื่อนอีกสองคนให้รอดพ้นเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้อย่าง เฉียดฉิว แต่ทุกอย่างไม่ได้จบแค่นั้น ฝันร้ายครั้งนี้เป็นจุดผกผันและเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนทั้งสามไปโดยสิ้นเชิง สตีเว่น-ต้องกลายเป็นคนทุพพลภาพ และประสพปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับสังคม ไมเคิลกลับบ้านในฐานะของวีรบุรุษสงคราม แต่ก็ไม่มีความภาคภูมิใจหลงเหลือ
ฉากที่เขาบอกให้โชเฟอร์แท็กซี่ขับผ่านบ้านพักของตัวเองที่เพื่อนๆเตรียม จัดงานต้อนรับ-ไม่ได้บอกเพียงแค่ว่าเขาไม่อยู่ในอารมณ์เฉลิมฉลอง แต่สิ่งที่เขาพบในสงครามมันโหดร้ายทารุณ-เกินกว่าจะมองย้อนหลังแล้วเห็นเป็น เรื่องสนุกสนาน บาดแผลทางร่างกายของเขาทุเลาไปแล้ว แต่เห็นได้ชัดเจนว่าสภาพจิตใจยังคงถูกกระทบกระเทือนจากสงคราม และนั่นทำให้การกลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน-ไม่ใช่เรื่องง่าย
ถึงอย่างไร หนังให้เห็นว่าในที่สุดแล้ว ไมเคิลก็สามารถทำความเข้าใจกับประสบการณ์เลวร้ายที่พบเจอและเรียนรู้เพื่อ ที่จะเติบโตขึ้น ฉากที่บอกถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่ชัดเจนที่สุด-ก็คือตอนที่เขากลับ ไปล่ากวางอีกครั้ง ในห้วงวินาทีที่กวางเคราะห์ร้ายไม่มีทางรอดพ้นวิถีกระสุน ไมเคิลจงใจยิงให้พลาดเป้า อย่างน้อยที่สุด เวียดนามก็ได้ทำให้ไมเคิลตระหนักถึงความโหดร้ายของการฆ่า, การล่า-มากขึ้น
คนที่โชคร้ายกว่าเพื่อนก็คือนิค ตั้งแต่ต้นเรื่อง หนังแนะนำตัวละครนี้ให้ผู้ชมได้รู้จักในภาพของชายหนุ่มที่อ่อนไหว ไม่มีความเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งเหมือนไมเคิล เขาไปเวียดนามด้วยเหตุผลของความรักชาติโดยแท้ ทั้งๆที่ความสุขจริงๆสำหรับนิค-ก็คือการได้ชื่นชมความงดงามของต้นไม้หลาก สีสันบนหุบเขา
เหตุการณ์ในช่วงที่ตกเป็นเชลยศึกของเวียดกง-ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอย่าง รุนแรง และตัดขาดตัวเขากับชุมชนที่จากมาโดยสิ้นเชิง ฉากที่เขาพยายามโทรศัพท์กลับไปหาคนรัก(เมอรีล สตรีพ)แล้วเลิกล้มความตั้งใจกลางคัน-กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่เชื่อมโยงตัว เขากับโลกใบเก่า นับจากนี้ต่อไป เขาพลัดหลงเข้าไปในโลกแห่งวิปลาสของสงครามและไม่ได้หวนกลับคืนมาอีกเลย
ฉากที่ไมเคิลกลับไปหานิคในไซ่ง่อนตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ และจำต้องร่วมเล่นเกมรัสเชี่ยนรูเล็ทท์เพื่อรื้อฟื้นความทรงจำของเพื่อน รัก-เป็นอีกฉากที่ถ่ายทอดได้อย่างบีบคั้น,สะเทือนอารมณ์ และเย้ยหยัน ขณะเดียวกัน-ก็ตอกย้ำสิ่งที่หนังเน้นมาอย่างต่อเนื่อง พลังแห่งการทำลายล้างของสงคราม
ส่วนที่ถือเป็นจุดอ่อนแอของหนัง-ก็คือการหลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์ บทบาทของรัฐบาลตลอดจนนโยบายที่ผิดพลาดกองทัพ รวมทั้งไม่พยายามตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใด ความสูญเสียแบบนี้จึงต้องเกิดขึ้น ทั้งๆที่ในอีกด้านหนึ่ง คนทำหนังไม่เคยปิดบังความรู้สึกทางลบของตัวเองต่อพวกเวียดกง หรือสภาพความวุ่นวายเหยิงในเวียดนาม และจงใจแสดงความเลวร้ายเหล่านั้นออกมาอย่างไม่บันยะบันยัง
หนังเลือกที่จะตีกรอบความขัดแย้งให้กลายเป็นเรื่องส่วนตัว เมื่อร่างไร้วิญญาณของนิค-ถูกส่งกลับบ้าน และเพื่อนๆร่วมกันไว้อาลัยแด่การจากไปของเขา เพลง God Bless America ที่ตัวละครร่วมกันร้องในตอนท้าย-ถูกใช้เสมือนเป็นการบอกผู้ชมโดยเฉพาะที่ เป็นอเมริกันว่า ถึงแม้สงครามครั้งนี้จะลงเอยด้วยความสูญเสีย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะหมดสิ้นความหวัง
ภาพของเพื่อนฝูงยกแก้วขึ้นดื่มเพื่อหวนระลึกถึงใครบางคนที่ไม่อยู่ตรง นั้นอีกแล้ว-เป็นภาพที่ให้ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์และส่งท้ายหนังได้สวยงาม แต่ถึงอย่างนั้น เชื่อว่าคนดูจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะที่ไม่ใช่อเมริกัน-คงอดรู้สึกไม่ได้ว่าคน ทำหนังตั้งใจหลีกเลี่ยงการผูกมัดตัวเองกับประเด็นทางการเมืองมากเกินไป และนั่นทำให้ความเข้มข้นและหนักแน่น-ลดทอนไปอย่างน่าเสียดาย
THE DEER HUNTER(1978)
กำกับ-ไมเคิล ชิมิโน/อำนวยการสร้าง-แบร์รี่ สไปกิ้งส์, ไมเคิล ดีลี่ย์, ไมเคิล ชิมิโน, จอห์น เพเวอร์ออลล์/บท-เดอริค วอชเบิร์น/กำกับภาพ-วิลมอส ซิกมอนด์/ลำดับภาพ-ปีเตอร์ ซินเนอร์/ดนตรี-สแตนลี่ย์ ไมเยอร์ส/กำกับศิลป์-รอน ฮอบส์ คิม สวาดอส/ผู้แสดง-โรเบิร์ต เดอนีโร, คริสโตเฟอร์ วอลเก้น, จอห์น คาเซล, จอห์น ซาเวจ, เมอรีล สตรีพ, จอร์จ ดีซันด้า, ชัค แอสเปอเกรน/สี/ความยาว 183 นาที