Mobile Version / สำหรับโทรศัพท์มือถือ ยินดีต้อนรับท่านผู้มาเยือน www.peoplecine.com ท่านยังไม่ได้ log in นะครับ เข้าใช้งานระบบ / สมัครสมาชิก/ ลืมรหัสผ่าน

ประธานกรรมการ :ปวีณ เขื่อนแก้ว
เวบมาสเตอร์:อนุกูล วิมูลศักดิ์ 084-819-7374,095-308-6840


= ภายใน24ชั่วโมง , = ภายใน 3 วัน = ทั่วไป , = คลาส2 , = คลาส3 ,
รูป
โรงหนังเมื่อครั้งอดีต เจ้าของ อ่าน ตอบ ผู้ตอบหลังสุด
-โรงภาพยนตร์ในจังหวัดกาญจนบุรี530511.. 17/6/2561 21:38
-โรงหนังเก่าเมืองอุดร...51737.. 2/5/2561 12:39
-โรงหนังเฉลิมตรัง17140ยังไม่มีคนตอบ
- โรงหนังทับเที่ยงภาพยนตร์16531.. 9/2/2561 15:01
- สืบสาน เมืองวิกหนัง13550ยังไม่มีคนตอบ
-Gaumont Kalee 21 35mm film projector 11690ยังไม่มีคนตอบ
-ก(ล)างเมือง : โรงหนังนี้พี่รัก13231.. 20/9/2560 9:37
-โรงหนัง ความผูกพันธ์ และความบันเทิงแห่งอดีต24390ยังไม่มีคนตอบ
-กำเนิดโรงหนังไทย14620ยังไม่มีคนตอบ
-ศาลาเฉลิมกรุง20830ยังไม่มีคนตอบ
-ภาพวาดโปสเตอร์หนัง2180372.. 28/5/2560 18:17
-อ.บรรณหาร ไทธนบูรณ์ ช่างวาดภาพหน้าโรงหนังในตำนาน...22642.. 22/4/2560 17:26
-ก.แก้วภาพยนตร์ จากโรงหนังบรอดเวย์สู่จอกลางแปลง14660ยังไม่มีคนตอบ
-สนทนาการชุบชีวิตโรงภาพยนตร์เก่า โดย หอภาพยนตร์13830ยังไม่มีคนตอบ
-โรงภาพยนตร์ศรีราชา20001.. 25/3/2560 15:45
-The Todd-AO 70mm Film Festival11470ยังไม่มีคนตอบ
เลือกหน้า
[<<] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12] [13] [14] [15] [16]
จำนวนหัวข้อทั้งหมด 248

(ID:23748) โรงหนัง ความผูกพันธ์ และความบันเทิงแห่งอดีต


ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณ Teepchalit Thakerngkittaya ...

โรงหนัง ความผูกพันธ์ และความบันเทิงแห่งอดีต

เรื่องราวแห่งการล่มสลายของสถานบันเทิงที่เรียกขานกันว่า โรงหนัง ซึ่งครั้งอดีต นี่คือสถานที่แห่งความอบอุ่น กิจกรรมร่วมกันอย่างมีความสุขของครอบครัว ยังจำกันได้มั๊ย การเข้าโรงหนังไปดูหนังสักเรื่องหนึ่งของคนในยุคเมื่อราวสามสิบสี่สิบกว่าปีที่แล้ว มันเป็นความทรงจำที่ประทับใจมิรู้ลืม ข้าพเจ้าจำได้ว่า หากวันไหนจะได้ไปดูหนังโรง ข้าพเจ้าจะทำตัวดีกว่าปรกติ พ่อแม่ให้ทำอะไรจะไม่ขัดใจเลย รีบอาบน้ำแต่งตัวแต่หัววัน รอคอยเวลาที่จะได้ไปดูหนังที่โรง หากเป็นช่วงเทศกาลผู้คนจะแห่กันไปดูหนัง พี่พาน้อง พ่อ แม่ พาลูกไปดูหนังกัน ทุกคนต่างมีความสุข เพราะในยุคนั้นห้างฝาหรั่งผูกขาดประเทศไทยยังไม่มี ความบันเทิงที่ราคาถูกที่สุด เป็นที่ชื่นชอบของคนทุกวัยก็คือ โรงหนัง หนังที่เข้ามาฉายใหม่จะฉายกันที่โรงหนังชั้นหนึ่ง ซึ่งจะเป็นโรงหนังที่ตั้งอยู่ตามย่านการค้าสำคัญในยุคนั้น ยุคที่ กทม ยังไม่ขยายตัวกว้างขวางอย่างไร้ทิศทางเหมือนในสมัยนี้ ซึ่งราคาค่าตั๋วจะมีราคาสูงกว่าโรงหนังที่อยู่ตามย่านที่รองลงไป ซึ่งจะเรียกขานกันว่า โรงหนังชั้นสอง และที่แตกต่างกันอีกคือ โรงชั้นสองเหล่านี้จะฉายหนังควบสองเรื่อง โดยที่ราคาค่าตั๋วจะย่อมเยาว์กว่า นอกจากนี้ยุคนั้นยังเป็นยุคทองของ หนังไทย โดยเฉพาะหนังของท่านดอกดิน กัญญามาลย์ ซึ่งจะสร้างออกมาปีละเรื่อง ฉายในเทศกาลตรุษจีน ซึ่งถือกันว่า เทศกาลตรุษจีน เป็นโปรแกรมทอง ทุกค่ายจะงัดหนังที่ดีที่สุดออกมาประชันกันในช่วงนี้ โรงหนังที่ฉายเฉพาะหนังไทย เท่าที่จำได้อย่างเช่น เพชรรามา , เฉลิมเขตร์ , โคลีเซียม , คาเธย์ ( ภายหลังช่วงปี 2521 ได้เปลี่ยนมาฉายหนังอินเดีย โดยท่านทิวา ราตรี สองนักพากษ์หนังในยุคนั้นได้ขอเช่าโรงหนังเพื่อสั่งหนังอินเดียมาฉาย ) เอมไพร์ , พาราไดซ์ , ศาลาเฉลิมกรุง , ศาลาเฉลิมไทย , สามย่านราม่า ส่วนหนังจากต่างประเทศนั้นจะมีค่ายหนังอยู่ด้วยกันสามค่ายที่เป็นตัวหลักในการสั่งหนังจาก ตปท มาฉาย คือ โรงภาพยนตร์เครือสยามมหรสพ ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น พิรามิด เอนเทอร์เทนเม้นท์ ค่ายนี้จะเป็นค่ายใหญ่สุด สั่งหนังชั้นดีจากฮอลลีวู้ดมาฉาย โดยมีโรงหนังที่ดีที่สุดในยุคนั้นอย่างเช่น สกาล่า , ลิโด , สยาม , ฮอลลีวู้ด , อินทรา ( (โรงนี้ถือได้ว่าเป็นโรงหนังซีเนเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทย เพราะตั้งอยู่ในศูนย์การค้าอินทรา โรงหนังอินทรายังเป็นโรงหนังแห่งแรกของไทย ที่มีระบบเสียงรอบทิศทาง Dolby Stereo ลำโพงรอบทิศทาง พร้อมกับระบบจอภาพขนาด 70 มม Super Panavision ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ) อีกค่ายคือ Creation ของท่านวันชัย อรรถเเวทวรวุฒิ ซึ่งมีโรงหนังในเครือคือ เอเธนส์ และ พาราเมาท์ อีกค่ายคือ Oriental Artist ของท่านแมน โชติชวาลา มีโรงหนังในเครือคือ แมคเคนน่า , อีเอ็มไอ , ไดรฟอินน์ ( นี่คือโรงหนังแบบที่ขับรถเข้าไปดูโรงแรกและโรงเดียวของเมืองไทย เปิดดำเนินกิจการได้ไม่กี่ปี โดยไม่ได้รับความนิยมมากนักจึงเลิกกิจการไป ) และค่ายเล็กอีกแห่งคือ สหมงคลฟีล์ม ซึ่งในเวลานั้นมีโรงหนังในเครือเพียงสองโรงคือ สเตลลา และ เพรสซิเด้นท์ ส่วนหนังจีนนั้นจะผูกขาดหนังจากชอว์ บราเดอร์ โดยเครือของ ยูเนี่ยนโอเดียน ซึ่งมีโรงหนังจีนที่ตั้งอยู่ในย่านตนจีนในยุคนั้นฉายหนังจีนจากค่ายนี้โดยเฉพาะคือ สิริรามา , โอเดียน , รามา , เทียนกัวเทียน นอกจากนี้ยังมีค่ายหนังอิสระที่สั่งหนังจีนจากไต้หวันมาฉาย โดยฉายที่โรงหนังที่ฉายหนังจีนโดยเฉพาะระดับรองลงไปอย่างเช่น กรุงเกษม , เฉลิมบุรี , ศรีราชวงศ์ , ศรีเยาวราช , นาครสนุก , เฉลิมราษฎร์ หากเป็นหนังฝาหรั่งระดับรองลงไปจะจัดฉายที่ คิงส์ , แกรนด์ , เมโทร , ออสการ์ , สุขุมวิท , ปารีส และ ควีนส์ ( โรงนี้ภายหลังได้เปลี่ยนมาฉายหนังอินเดียอย่างเดียว แทนที่โรงหนัง เท็กซัส ซึ่งแต่เดิมฉายแต่หนังอินเดียมาโดยตลอด แต่ต่อมาได้ถูกรื้อไปสร้างที่จอดรถ ) นอกจากนี้ยังมีโรงหนังที่ฉายหนังญี่ปุ่นเป็นหลักคือ บรอดเวย์ ซึ่งจัดฉายหนังจาก โตเอะ เป็นหลัก และอีกโรงคือ แคปปิตอล ซึ่งโรงนี้จะจัดฉายหนังจาก โตโฮ เป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่อง ก๊อตซิลล่า ซึ่งมักจะจัดฉายช่วงเทศกาลตรุษจีนทุกปี ข้าพเจ้าจะได้ดูตอนใหม่ของอสูรร้ายจากใต้ทะเลตัวนี้เป็นประจำจากโรงนี้

ในภายหลังประมาณช่วงปี 2520 ได้มีการสร้างโรงหนังเพิ่มขึ้นอีกสำหรับฉายหนังฝาหรั่ง ตามย่านต่าง ๆ เช่น วอชิงตัน , แอมบาสเดอร์ , เพชรพิมาน , โอลิมปิค , ซึ่งจัดฉายหนังจากเครือของสหมงคลฟีล์ม

ยุคทองของโรงหนังเหล่านี้อยู่คู่กับการเขียนคัทเอาท์ติดตามหน้าโรง และย่านการค้าตามสี่แยกสำคัญต่าง ๆ ทั่ว กทม ในยุคนั้น อย่างเช่น แยกเจริญผล , แยกสามย่าน , แยกพญาไท , สี่แยกบ้านแขก , รอบวงเวียนใหญ่ , แยกประตูน้ำ , แยกมหานาค , แยกผ่านฟ้า , แยกหัวลำโพง , บรรทัดทอง เป็นต้น ภาพคัทเอาท์หนังในยุคนั้นยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างชนิดที่ว่าใครได้เห็นเป็นต้องตะลึง กินเนสท์ เรคคอร์ด ถึงกับต้องบันทึกไว้ว่า คัทเอาท์หนังในประเทศไทยนั้น มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คัทเอาท์เหล่านี้ใช้การวาดด้วยมือล้วน ๆ ไม่มีการพิมพ์แบบในสมัยนี้ แต่ละใบมีขนาดใหญ่มโหฬารเท่ากับตึกหลายชั้น บางใบใหญ่และสูงเท่ากับตึห้าชั้นก็เคยมี ซึ่งขนาดความใหญ๋โตของคัทเอาท์เหล่านี้ขึ้นอยู่กับหนัง หากเป็นหนังฟอร์มยักษ์ คัทเอาท์แต่ละใบจะมีขนาดใหญ่ และติดตั้งหลายจุด เท่าที่จำกันได้ คัทเอาท์หนังฝาหรั่งที่ติดมากจุดที่สุดและมีขนาดใหญ๋ที่สุดคือหนังเรื่อง คิงคอง 77 ส่วนคัทเอาท์หนังไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีจำนวนจุดที่นำไปติดมากที่สุดคือเรื่อง จงอางผยอง

ธุรกิจอีกอย่างที่ควบคู่มากับยุครุ่งเรืองของโรงหนัง คือ ตั๋วผี ในยุคนั้นหนังที่เข้าฉายใหม่ ๆ จะมีคนไปดูกันมาก ยิ่งเป็นช่วงวันหยุดคนยิ่งมาก แม้แต่วันธรรมดา หากเป็นรอบทุ่ม คนยังหนาตา เพราะสื่อบันเทิงของคนทั่วไปยุคนนั้น มีทางเลือกน้อยไม่มากเหมือนยุคทุนนิยมสามานย์ในปัจจุบัน บรรดาคนขายตั๋วผีเหล่านี้จะไปกว้านซื้อตั๋วล่วงหน้าจากห้องขายตั๋ว ยิ่งหากเป็นฟอร์มยักษ์ คนพวกนี้จะถึงกับนั่งกินนอนกินหน้าช่องขายตั๋วกันเลย จากนั้นจึงนำตํ่วมาขายต่อในราคาบวกค่าดำเนินการของตน เช่น ตั๋วใบละ 15 บาท ขาย 25 ตั๋วใบละ 20 ขาย 30 ข้าพเจ้าเห็นคนซื้อตั๋วจากพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้เป็นเรื่องปรกติธรรมดาในยุคนั้น ยิ่งเป็นช่วงเทศกาลราคาตั๋วผีเหล่านี้จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก อีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องมีควบคู่กับโรงหนังยุคนั้นคือ ร้านขายขนมขบเคี้ยวที่อยู่ภายในโรงหนัง ข้าพเจ้าจะดีใจมากทุกครั้งที่ได้ไปดูหนัง เพราะจะได้มีโอกาศกินขนมชอกโกแลต ที่จะบรรจุมาในกล่องพลาสติกใสที่ทำเป็นเครื่องบิน หรือตุ๊กตา ต่าง ๆ โดยมีชอกโกแลตอยุ่ข้างใน นอกจากนี้ยังมีข้าวโพดคั่วของ POP ที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปเป็ด อีกทั้งยังมีฮอทด้อก แซนวิช ที่ขายในตู้สแตนเลสอบความร้อน ที่หน้าโรงหนังก็จะมีพ่อค้าแม่ค้านำกระจาดมาวางขายของกินเล่น โดยมากจะเป็นผลไม้ดอง ขนุน มะขามคลุกพริกเกลือ อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับบรรยากาศการดูหนังในยุคก่อนคือ รอบปฐมทัศน์ ซึ่งคือรอบแรกเปิดตัวของการฉายหนังแต่ละเรื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นหนังไทยซะมากกว่า รอบปฐมทัศน์นี้จะมีการโชว์ตัวของดาราและผู้กำกับตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนั้น ๆ นอกจากนี้ยังมีการนำวงดนตรีวงใหญ่ในยุคนั้นมาบรรเลงเพลงขับกล่อมบนเวทีในโรงหนังเลยทีเดียว โดยนักร้องที่มีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็นท่านธานินทร์ อินทรเทพ ท่านสุเทพ วงศ์กำแหง ตลอดจนนักร้องลูกทุ่งชื่อดังในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น ชาย เมืองสิงห์ พนม นพพร รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ก่อนที่จะจัดฉายหนังปิดท้าย ราคาตั๋วสำหรับรอบปฐมทัศน์นี้ จะแพงกว่าปรกติหลายเท่าตัว ส่วนหนังฝาหรั่งนั้นการจัดรอบปฐมทัศน์จะไม่ยิ่งใหญ่น่าดูนัก หากเทียบกับหนังไทย เพราะไม่อาจนำพาดาราฮอลลีวู้ดเดินทางมาโชว์ตัวได้ มีเพียงบางเรื่องเท่านั้นที่จัดได้อย่างยิ่งใหญ่ เท่าที่ถามจากคนรุ่นน้า รุ่นลุง ก็คือเรื่อง The Ugly American ซึ่งเป็นหนังที่ถ่ายทำในไทยตลอดทั้งเรื่อง ดังนั้นทางผู้สร้างจึงเปิดฉายรอบปฐมทัศน์โลกขึ้นที่ประเทศไทย ที่โรงหนังศาลาเฉลิมไทย โดยทีมงานดาราและ ผกก ที่นำโดย Marlon Brando ยอดดาราในยุคนั้นได้เดินทางมาร่วมงานด้วย โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหนังเรื่องนี้ ซึ่งมีหนังจากฮอลลีวู้ดหลายเรื่องทีเดียวที่จัดรอบปฐมทัศน์ โดยพระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรเช่นเดียวกัน เช่นเรื่อง Spartacus , The Sound of Music , Doctor Zhivaco , Lawrence of Arabia ซึ่งเป็นหนังฟอร์มยักษ์ระดับโลกทั้งสิ้น

บรรยากาศการดูหนังในยุคนั้นจึงมีแต่ความสนุกสนาน พ่อ แม่ พาลูก พี่พาน้องไปดูหนังกัน เป็นสายสัมพันธ์แห่งครอบครัวที่อบอุ่นและแนบแน่น ซึ่งหาไม่ได้แล้วในยุคสมัยทุนนิยมในปัจจุบัน เป็นสถานที่นัดพบของหนุ่มสาวที่กำลังจีบกัน คือการพาสาวไปดูหนัง ส่วนหนังในจอจะสนุกหรือไม่ มิใช่เรื่องสำคัญ เพราะการได้พาสาวเข้าโรงหนังถือว่า หญิงคนนั้นเริ่มมีใจกับชายหนุ่มแล้ว การดูหนังในวิถีแบบเดิมจึงเป็นความงดงามอย่างหนึ่งของวิถีชีวิตในยุคสมัยนั้น ก่อนที่ทุนนิยมจะเข้ามาผูกขาดแลทำลายรากเหง้าสังคมไทย โรงหนังค่อย ๆ ปิดตัวลง และเริ่มหันมาฉายหนังโป๊กัน โรงหนังที่แอบฉายหนังโป๊แห่งแรกเท่าที่ข้าพเจ้าจดจำได้ดีคือ โรงหนังปริ๊นซ์ ย่านบางรัก ก่อนที่จะแพร่ระบาดออกไปเป็นแห่งที่สองคือ โรงหนังแคปปิตอล และนนทบุรีรามา หลังจากนั้นจึงมีโรงหนังโป๊เต็มไปทุกมุมเมือง โรงหนังชั้นสองต่างพากันจัดฉายหนังโป๊ ทั้งญี่ปุ่น จีน ไทย อย่างโจ๋งตรึ่มประจานความเน่าเฟะของสังคมที่ไม่สนใจเรื่องคุณธรรมแลจริยะธรรมอีกต่อไปแล้ว นอกจากการแสวงหาผลกำไรเท่านั้น และแล้วเมื่อประเทศไทยปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเซีย กระแสแห่งทุนนิยมผูกขาดเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เกิดเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงหนังเริ่มถูกรื้อไปจนแทบสูญสิ้น แม้แต่โรงหนังชั้นสองที่หันมาเอาดีทางฉายหนังโป๊ ก็มิอาจรอดพ้นวัฎจักรแห่งการล่มสลายนี้ไปได้ เกิดเป็นโรงหนังแบบใหม่ตามยุคสมัยวัฒนธรรม แดกด่วน นั่นคือโรงหนังแบบผูกเป็นพวง ที่แฝงตัวอยู่ตามศูนย์การค้าทั่วทุกมุมเมือง ด้วยสนนราคาค่าตั๋ว และของขบเคี้ยวที่แพงลิบลิ่ว มิใช่แหล่งบันเทิงราคาถูกอย่างแต่ก่อนอีกต่อไป โรงหนังที่เคยเป็นแหล่งนัดพบของหนุ่มสาวที่จีบกัน โรงหนังที่เป็นสถานบันเทิงราคาเยาว์ โรงหนังที่เป็นสื่อแห่งสายสัมพันธ์ของครอบครัว สิ่งเหล่านี้ได้ขาดสะบั้นลงไป พร้อมกับการมาถึงของสิ่งที่เรียกกันว่า โลกาภิวัตร

สรรพสิ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในปัจจุบัน โรงหนังในยุคเดิมที่ยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบันและยังเปิดกิจการอยู่ได้ มีเพียงแห่งเดียวคือ โรงหนังสกาลา อัครโรงหนังที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่สง่างามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พร้อมทั้งระบบเสียง ระบบจอ รูปแบบการขายตั๋ว และพนักงานใส่สูทสีเหลืองพร้อมทั้งไฟฉายในมือ ที่พาผู้ชมเดินไปหาที่นั่งในโรง เฉกเช่นครั้งอดีต สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ยังคงยิ่งใหญ่ยืนหยัดท้าทายกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน โรงหนังสกาลาคือตัวแทนแห่งกาลเวลา บอกเล่าเรื่องราวความบันเทิงราคาเยาว์ของยุคก่อน ที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันได้ซึมซับเงาแห่งอดีตอันเกรียงไกรนี้ต่อไป

ทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวแห่งสิ่งบันเทิงราคาเยาว์ที่เรียกว่า โรงหนัง ข้าพเจ้าเล่าเรื่องราวงดงามนี้ เท่าที่จำความได้ดั่งนี้แล



ความเห็น


เลือกหน้า

จำนวนหัวข้อทั้งหมด 0

กลับขึ้นข้างบน / กลับหน้าแรก

ค้นกระดานข่าว:


ถูกเปิด: ถูกคลิ๊กแล้ว: 113105692 ตอนนี้มีผู้เข้าชม : 1 ล่าสุด :MichaelaWah , AnnaFlego , bkNer , Davidhkc , Davidsjc , Glenntiktub , Ambroseatut , Vikinax , Vilianavft , Pedronet ,