ความเห็น |
คงจะไม่ใช่เรื่องที่อยู่เกินเลยความจริงและเชื่อว่าคงจะต้องมีคนจำนวนมาก
มายมหาศาลเห็นพ้อง-ถ้าหากจะกล่าวว่า Cinema Paradiso หรือ Nuovo Cinema
Parasio (1988) ของ จุยเซปเป้ ทอนาทอเร่
เป็นหนังที่จับจองพื้นที่อันพิเศษและจำเพาะในความทรงจำของผู้ชม
และโดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมที่เรียกขานตัวเองว่าเป็นนักดูหนังหรือคนรักหนัง
ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนและมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าของแต่
ละคน และนั่นก็คือ Cinema Paradiso
เป็นหนังที่ไม่ได้เพียงแค่เล่าเรื่องราวที่อาจจะเรียกว่าเป็น love affair
ของใครคนหนึ่งที่มีต่อการดูหนัง และรวมถึงองค์ประกอบแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวง
ตั้งแต่โรงหนัง, คนฉาย หรือแม้แต่กลุ่มคนที่ดำเนินชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน
จนกระทั่งใครคนนั้นเติบใหญ่ขึ้นมา เป็นผู้กำกับที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
แต่ไม่มากไม่น้อย เราซึ่งเป็นผู้ชมที่เฝ้าติดตามภาพเคลื่อนไหวเบื้องหน้า
ต่างมองเห็นตัวเองในตัวละครเอกของเรื่องที่ชื่อโตโต้......
ข้อที่ควรได้รับการระบุอีกประการหนึ่งก็คือ ยุคสมัยที่หนังของ-ทอนาทอเร่ อาศัยเป็นพื้นเพภูมิหลังในการบอกเล่า อยู่ราวๆปลายทศวรรษที่ 1940 ซึ่งว่าไปแล้ว มันเป็นช่วงเวลาที่อาจกล่าวได้ว่าไม่ว่าแห่งหนตำบลไหนในโลกใบนี้ การดูหนังก็แทบจะกลายเป็นกิจกรรมความบันเทิงเพียงอย่างเดียวของแต่ละชุมชน (เพราะในขณะที่วิทยุเป็นสื่อที่มีข้อจำกัดในตัวมันเอง อันได้แก่การที่มันมีแต่เสียงและไม่มีภาพ โทรทัศน์ก็ยังเป็นของใหม่เกินไป และกว่าที่มันจะเริ่มแพร่หลาย และแย่งชิงกลุ่มผู้ชมไม่ให้ออกจากบ้าน ก็ยัง ต้องใช้เวลาเป็นสิบๆปีโดยเฉพาะในหลายๆประเทศ) นั่นส่งผลให้ทั้งหนังและโรงฉาย-กลายเป็นอะไรบางอย่างที่มีความหมายพิเศษใน ตัวมันเอง
กล่าวอย่างกว้างๆสำหรับคนจำนวนไม่น้อยในช่วงเวลานั้น โรงหนังเปรียบได้กับมิติพิศวง และการเข้าโรงหนัง-ก็เป็นเหมือนการแสวงหาแหล่งพักพิงทางอารมณ์ การพาตัวเองหลีกลี้หนีไปจากโลกของความเป็นจริงชั่วครู่ชั่วยาม หรือแม้กระทั่งในรายที่เคร่งครัดมากๆ มันก็แทบจะเป็นเสมือนการปฏิบัติธรรม และมีวัตรปฏิบัติที่ต้องยึดถืออย่างแน่นอนตายตัว จนสามารถกล่าวได้ว่า ไม่น่าจะมียุคสมัยไหนที่หนังและโรงหนังจะมีบทบาท และอิทธิพลกับชีวิตของผู้คน อย่างมากมายมหาศาลถึงเพียงนี้
ทว่าหลังจากที่ช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็นยุคทองผ่านพ้นไป
(อันได้แก่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนกระทั่งถึงการมาของโทรทัศน์-ซึ่ง
น่าจะเหมือนๆกันในเมืองน้อยใหญ่ทั่วโลก) ความสำคัญของหนังและโดยเฉพาะโรงหนังตลอดจนเสน่ห์และมนต์ขลังก็พลอยเจือจาง ทั้งจากทางเลือกในการแสวงหาหนทางการพักผ่อนหย่อนใจของผู้คนที่มีความ
หลากหลายมากขึ้น
และการที่โรงหนังต้องเผชิญกับคู่แข่งที่น่าเกรงขามที่ในเวลาต่อมา
ไม่ใช่เพียงแค่โทรทัศน์เพียงอย่างเดียว
แต่รวมถึงเครื่องเล่นวิดีโอเทปที่อาจโยนความผิดบาปให้ได้ว่าเป็นต้นเหตุให้
โรงหนังในช่วงเวลาหนึ่ง ต้องปิดตัวไปตามๆกัน
(ส่วนที่นับว่าเย้ยหยันก็คือในท้ายที่สุด
วิดีโอเทป ก็มีอายุขัยของมันเหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้
และโรงหนังก็ไม่ได้ล้มหายตายจากไปจริงๆ
และดิ้นรนแสวงหนทางอยู่รอดในแบบที่อาจจะไม่ได้หลงเหลือความพิเศษเหมือนกับใน
อดีตที่ผ่านพ้นไป แต่อย่างน้อย มันก็ยังคงเป็นช่องทางที่
‘ ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดและให้ความรู้สึกอิ่มเอมที่สุด’
สำหรับการที่ใครจะดูหนังซักเรื่อง)
ในแง่มุมหนึ่ง Cinema Paradiso
ก็เป็นเสมือนประวัติศาสตร์ฉบับย่นย่อของช่วงเวลาที่ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ
ดังกล่าวนั่นเอง หรืออีกนัยหนึ่ง มันคือ ‘rise and fall’
หรือความรุ่งโรจน์และโรยราของโรงหนัง และตามที่ จุยเซปเป้
ทอนาทอเร่ บอกเล่าไว้ในหนังเรื่องนี้ ในช่วงเวลาแห่งความเฟื่องฟู
โรงหนังไม่ได้เป็นเพียงสถานที่หยิบยื่นความบันเทิงให้กับผู้ชมเพียงอย่าง
เดียว หากมันยังเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมนานัปการ ตั้งแต่การพบปะสังสรรค์,
ตลาดมืดสำหรับการขายของผิดกฎหมาย, หนุ่มสาวพบรักและพลอดรักกัน,
แม่ที่หอบหิ้วลูกน้อยมาดูหนังไปพลางให้นมลูกไปพลาง,
เด็กหนุ่มที่อาศัยความมืดในโรงและฉากโป๊เปลือยฝึกฝนการ ‘ช่วยตัวเอง’,
สถานที่ค้าประเวณีชั่วคราว หรือแม้กระทั่งการฆาตกรรม
และสมมติว่าจะมีซักฉากหนึ่งในหนังเรื่อง Cinema Paradiso
ที่อาจจะใช้เพื่ออธิบายจุดสูงสุดของความนิยม มันก็ได้แก่ฉากในช่วงกลางเรื่องที่ผู้ชมแออัดยัดทะนานจนแทบจะไม่เหลือพื้นที่แม้แต่จะยืน และยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องมาออกันหน้าโรงและไม่สามารถเบียดเสียดยัดเยียดตัวเองเข้าไป กระทั่งคนฉายหนังถึงกับต้องใช้กระจกสะท้อนภาพเคลื่อนไหวในโรงให้ไปปรากฏบน ผนังตึกกลางจัตุรสเพื่อเอื้อเฟื้อให้กับคนที่พลาดหวังได้ร่วมดื่มด่ำความสุข และความสนุกสนานเช่นเดียวกัน แน่นอนว่ามันเป็นฉากที่น่าจะปนเปื้อนจินตนาการมากกว่าความเป็นจริง แต่อย่างน้อย มันก็สาธยายรูปธรรมของความรุ่งเรืองของโรงหนังได้อย่างที่สามารถจับต้องได้อย่างง่ายดาย
ในทางกลับกัน ความตกต่ำของโรงหนังก็ไม่ใช่เพียงแค่ ผู้คนพากันหันหลังและอยู่กับบ้าน-ซึ่ง เป็นสิ่งที่คนทำหนังไม่ได้นำมาให้เห็นโดยตรง แต่ได้แก่ผลลัพธ์ที่อยู่หลังจากนั้น เมื่อโรงหนังที่ชื่อเดียวกับหนังเรื่อง นี้ต้องปิดตัวเอง และสังเกตจากซากปรักหักพังในฉากที่ตัวเอกเข้าไปแสดงความไว้อาลัยเป็นครั้ง สุดท้ายก่อนที่มันจะถูกระเบิดทิ้งและทำเป็นลานจอดรถ มันก็อนุมานและสันนิษฐานได้ไม่ยากว่า-โรงหนังแห่งนี้คงจะมีช่วงบั้นปลายของ ชีวิตที่น่าสมเพชเวทนา (และน่าแปลกใจที่มันเป็นชะตากรรมที่ละม้ายคล้ายคลึงกับโรงหนังหลายแห่งใน บ้านเราและน่าเชื่อว่าคงจะเป็นอาการที่ไม่แตกต่างกันทั่วโลก) จากที่ในช่วงเวลาที่เคยยิ่งใหญ่เกริกไกรเหมือนพระราชา มันฉายหนังคลาสสิกอย่าง The Gold Rush ของชาร์ลี แชปลิน, The Lower Depths ของฌ็อง เรอนัวร์, La Terra Trema ของ ลูคิโน่ วิสคอนติ, Stagecoach ของ จอห์น ฟอร์ด ทว่าโปรแกรมท้ายๆของมันกลับได้แก่หนังโป๊เกรดบี. ซึ่งบ่งบอกโดยอ้อมถึงการพยายามดิ้นอย่างทุรนทุรายเพื่อความอยู่รอดทาง เศรษฐกิจอย่างน่าสะเทือนอารมณ์ และนั่นไม่ต้องเอ่ย ถึงสิ่งละอันพันละน้อยที่หลงเหลือเป็นเศษเสี้ยวของอารยธรรม ตั้งแต่ชื่อของโรงหนังที่ปรากฏเป็นเพียงร่องรอยซีดจางให้คาดเดาได้อย่างลาง เลือน ไปจนถึงตัวตึกที่ครั้งหนึ่งเคยดูใหม่เอี่ยม สะอาดสะอ้าน เต็มไปด้วยสีสันสดใสและความมีชีวิตชีวา แต่ปัจจุบันกลับรกรุกรัง, ทรุดโทรมและมีสภาพไม่แตกต่างจากภูตผีหรือดวงวิญญาณของความหลังที่ผ่านพ้นไป และไม่หวนกลับคืน
โดยปริยาย มันก็เป็นสิ่งสรุปได้ไม่ยากเย็นว่า ‘ผู้ร้าย’ ของหนังเรื่องนี้ได้แก่กาลเวลานั่นเองที่ไม่เพียงพัดพาให้อะไรต่อมิอะไรไป กองรวมกันในรูปของอดีต และยิ่งโมงยามผ่านไป มันก็ยิ่งเคลื่อนตัวห่างไกลจาก ‘ปัจจุบันกาล’ ออกไปทุกที แต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือ มันยังยัดเยียดความเก่าแก่ชราภาพ, ความเสื่อมทรุด, จุดจบและแม้กระทั่งความตายให้กับคุณค่าและสรรพสิ่งทั้งมวล
แต่ถึงกระนั้น มันก็คงจะคลาดเคลื่อนจากความจริง-ถ้าหากจะบอกว่าคนทำหนังเรื่องนี้ยอมจำนน หรือศิโรราบให้กับเงื่อนไขของเวลา และ ‘พระเอกตัวจริง’ ของหนังเรื่องนี้ที่ในท้ายที่สุดแล้ว ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของความร่วงโรยของกาลเวลา-ก็คือภาพยนตร์นั่นเองที่ด้วย คุณสมบัติของมัน สามารถเก็บรักษาช่วงเวลาที่น่าจดจำทั้งหลาย ไม่ว่าเศร้าสร้อยหรือสุขสม สนุกสนานหรือน่าหวาดผวา อ่อนหวานหรือขื่นขม-ได้เหมือนกับครั้งแรกที่มันออกฉาย
ในแง่มุมหนึ่ง หนังเรื่อง Cinema Paradiso ก็เหมือนกับหนังในแนวหวนหาอดีตทั้งหลาย-ที่มาพร้อมกับอุดมการณ์ความเชื่อใน แบบอนุรักษ์นิยมที่มองเห็นอดีตเป็นช่วงเวลาที่น่าหวงแหน ทนุถนอม อ่อนหวานและสวยงาม ขณะที่ปัจจุบันเต็มไปด้วยเรื่องเศร้าหมอง, ความเลวร้ายและเรื่องน่าขุ่นเคือง และไม่มากไม่น้อย นั่นคือตอนที่หนังเรื่องนี้เริ่มต้น
ฉากหลังตามท้องเรื่องได้แก่เมืองเล็กๆทางตอนใต้ของประเทศอิตาลีในช่วง เวลาปัจจุบัน หรือราวๆกลางทศวรรษที่ 1980 ใครบางคนที่ชื่อ อัลเฟรโด้ เพิ่งจากไป และนั่นเป็นสาเหตุให้หญิงชราต้องโทรศัพท์แจ้งข่าวร้ายนี้แก่ลูกชายของ เธอ-ซึ่งเป็นผู้กำกับหนังชื่อดังในกรุงโรม ข้อมูลที่ผู้ชมได้รับการบอกเล่าเพิ่มเติมก็คือ ซัลวาทอเร่ เดอวิต้า (ฌาคส์ แปร์แรง ดารา/และผู้กำกับชาวฝรั่งเศสผู้เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่กี่ปีนี้) ไม่เคยเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดเนิ่นนานถึงสามสิบปี และนั่นน่าจะช่วยให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงและปะติดปะต่อเนื้อหาได้ทันทีว่า ผู้วายชนม์น่าจะต้องมีความหมายกับใครคนนี้อย่างมากมายมหาศาลทีเดียว เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว แม่ของเขาก็คงจะไม่โทรศัพท์ทางไกลไปหาและรบกวนเขาด้วยหยุมหยิมปลีกย่อยและ ไม่สำคัญ ตรงไหนซักแห่งแถวนี้เองที่หนังของ จุยเซปเป้ ทอนาทอเร่ พาผู้ชมแฟลชแบ็คกลับไปในความทรงจำของ ซัลวาทอเร่ เดอวิต้า ยุคสมัยที่เขายังเป็นเพียงแค่เจ้าหนูตัวกระเปี๊ยกที่ใครๆเรียกขานว่าโตโต้ (ซาลวาทอเร่ คาสชิโอ) และตกหลุมรักหนังเป็นครั้งแรก
ในแง่ของการวางกรอบการเล่าเรื่อง หนังสามารถแบ่งออกเป็นสามส่วนหลักๆด้วยกัน อันได้แก่ช่วงวัยเด็ก, วัยรุ่น และตอนเป็นผู้ใหญ่ และไม่ต้องสงสัยเลยว่าส่วนแรกคือส่วนที่แข็งแรงที่สุด ดูสนุก, เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน ความกระฉับกระเฉง ความน่ารักน่าเอ็นดู
หนังไม่ได้บอกอย่างเป็นกิจจะลักษณะและอันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องจำ เป็น ว่าด้วยเหตุผลกลใด หนูน้อยถึงได้หลงไหลมนต์เสน่ห์ของภาพยนตร์ แต่มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่เหนือคำอธิบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการต้องเติบโตอย่างยากจนข้นแค้นในช่วงที่บ้านเมือง เพิ่งจะผ่านพ้นสภาวะของสงครามมาได้ไม่นาน และความเป็นจริงของชีวิตรอบข้างไม่มีอะไรที่น่ารื่นรมย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องที่เขาสงสัย และแม่ไม่ยอมบอกซักทีว่าทำไมสงคราม เลิกไปตั้งนานแล้ว พ่อซึ่งไปรบไกลถึงรัสเซียจึงไม่ยอมกลับบ้านซักที และจนแล้วจนรอด เขาก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่าพ่อคงไม่กลับมาแล้ว
มีฉากเล็กๆอยู่ฉากหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในส่วนนี้และได้รับการนำ เสนออย่างแยบยล มันเป็นเหตุการณ์ที่แม่ของโตโต้ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการว่าพ่อของเจ้าหนูเสียชีวิต ในสงคราม หนังให้เห็นเธอเดินจูงมือลูกชายพร้อมกับร้องห่มร้องไห้ออกมา ภาพระยะใกล้จับไปที่ใบหน้าของเจ้าหนู ซึ่งแสดงท่าทีเหมือนอยากจะปลอบประโลม แม่ของตัวเอง แต่ระหว่างนั้น สายตาของเขาก็เหลือบไปเห็นโปสเตอร์หนังเรื่อง Gone with the Wind ที่เป็นภาพของ คล้าก เกเบิ้ล กำลังอุ้ม วิเวียน ลีห์ แล้วสีหน้าของโตโต้ที่เศร้าสร้อย ก็แปรเปลี่ยนไปเป็นรอยยิ้มหวานชื่นขึ้นมา อย่างฉับพลันอย่างผิวเผิน มันดูเหมือนว่าเจ้าหนูช่างลืมเรื่องพ่อของตัวเองได้ง่ายดาย หรือบางที นักจิตวิทยาอาจจะเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็น defense mechanism หรือกลไกในการป้องกันตัวเองจากการต้องรับรู้ความเป็นจริงอันโหดร้าย แต่ใครที่จำได้คงจะนึกออกว่าในช่วงแรกๆของเรื่อง โตโต้เคยถาม อัลเฟรโด้ (ฟิลิพพ์ นัวเร่ต์ ดาราฝรั่งเศสซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปแล้วเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา) คนฉายหนังของโรงหนังแห่งเดียวของชุมชนว่า รู้จักพ่อของเขาหรือไม่ ซึ่งชายสูงวัยก็บรรยายสรรพคุณให้ฟังว่าพ่อของโตโต้ว่าเป็นคนสูง ผอม ร่าเริงแจ่มใส ไว้หนวดเหมือนกันกับเขา ชอบยิ้มอยู่ตลอดเวลา และ ‘หน้าตาคล้ายกับคล้าก เกเบิ้ลมากๆ’ เป็นไปได้หรือไม่ว่า-นอกจากเจ้าหนูไม่ได้ลืมพ่อของตัวเอง ในห้วงเวลาหนึ่ง ความรักพ่อและความรักหนังบังเอิญกลายเป็นสิ่งเดียวกัน
ไม่ว่าจะอย่างไร หนังกลายเป็นเสมือนหน้าต่างบานเล็กๆที่เปิดโอกาสให้เจ้าหนูได้ผจญภัยไปในโลก ที่นอกจากไม่เหี่ยวแห้งอับเฉา และยังเต็มไปด้วยเรื่องน่าตื่นเต้นสนุกสนานและเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ และพร้อมๆกันนั้นเอง มิตรภาพระหว่างเขากับอัลเฟรโด้ผู้ซึ่งเจ้าหนูชอบแอบหนีออกจากบ้านไปคลุกคลี ด้วยในห้องฉายหนังจนแทบจะกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ก็พัฒนาไปอย่างอบอุ่น แน่นแฟ้นและงอกเงย จากในตอนแรกที่อัลเฟรโด้ไม่ค่อยอยากจะให้การต้อนรับ แต่ลงท้าย ชายสูงวัยก็ยอมแพ้ความดันทุรังของเจ้าหนู และเป็นคนสอนและฝึกฝนให้โตโต้กลายเป็นคนฉายหนัง และยิ่งเวลาผ่านพ้นไป มันก็เป็นเรื่องที่มองเห็นได้ไม่ยากว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองคนไม่ได้แตกต่างจาก ‘พ่อลูก’ ที่ต่างฝ่ายต่างไม่มี
อาจกล่าวได้ว่าหนึ่งใจความหลักของเนื้อหาในส่วนของวัยเด็กของโตโต้ ก็คือการ
บอกเล่าถึงอิทธิพลของภาพยนตร์ที่มีต่อชีวิตของชาวเมืองเล็กๆแห่งนี้
ตลอดจนอานุภาพหรือเวทมนตร์คาถาของมันในการชักจูงหรือชี้นำ
ดังจะเห็นได้จากการที่มันสามารถทำให้ผู้ชมหัวเราะเป็นบ้าเป็นหลัง
หรือเงียบงันกับภาพความเป็นจริงที่นึกไม่ถึง และประการสำคัญ
มันเป็นรูปแบบความบันเทิงเพียงไม่กี่อย่าง ในชุมชนที่แทบทุกคนสามารถจ่ายได้
ในราคาย่อมเยา ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม
หนังให้เห็นว่าบาทหลวง อเดลฟิโอ้ (ลีโอโพลโด้ ทริสเต้)
ซึ่งเป็นพระประจำหมู่บ้าน
ถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องคอยเซนเซอร์สิ่งที่ไม่เหมาะสมในทางศีลธรรมออกไป
และนั่นด้วยการสั่งให้อัลเฟรโด้ตัดทอนภาพโป๊เปลือย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ห้วงเวลาที่ตัวละครจูบกัน จนคนดูคนหนึ่งต้องบ่นออกมาดังๆว่า
ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านพ้นไป เขาไม่เคยเห็นฉากจุมพิตบนจอเงินแม้แต่ครั้งเดียว
ตอนจบของภาคปฐมวัยของโตโต้-ได้แก่เหตุการณ์ที่โรงหนังซินีม่า พาราดิโซ่ไฟไหม้ อันส่งผลให้อัลเฟรโด้ต้องสูญเสียดวงตา ข้อน่าสังเกตก็คือ แม้ว่าโรงหนังแห่งนี้จะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ และใช้ชื่อว่า Nuovo Cinema Paradiso แต่การจากไปของโรงหนังเก่า-ก็เป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่บอกถึงจุดจบของความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ระบบการพาสเจอร์ไรซ์ของหลวงพ่ออเดลฟิโอ้-ถูกยกเลิกกลางคัน และผู้ชมไม่เพียงได้เห็นตัวละครประกบปากกันอย่างเร่าร้อนรุนแรง แต่ยังล่วงเลยไปไกลยิ่งกว่านั้นเยอะทีเดียว
สำหรับ เนื้อหาในภาควัยรุ่นเน้นหนักที่ความรักครั้งแรกของโตโต้ (รับบทโดย มาริโอ้ ลีโอนาร์ดิ) กับลูกสาวของนายธนาคารที่ชื่อ เอเลน่า (แอกนีส นาโน่) ซึ่งไม่ได้มีเส้นเรื่องที่สลับซับซ้อนแต่อย่างใด ชายหนุ่มตกหลุมรักหญิงสาว และดิ้นรนทุกหนทางเพื่อให้ได้รับความรักเป็นการตอบแทน-ซึ่งฝ่ายหลังก็ตอบสนองไมตรีของเด็กหนุ่มด้วยดี และความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองก็พัฒนาไปในหนทางที่หวานชื่น กระนั้นก็ตาม อุปสรรคกลับกลายเป็นเรื่องของฐานะทางชนชั้น และเหนืออื่นใด อนาคตของทั้งสองคนที่ไม่ได้มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน แล้วในที่สุด เรื่องราวความรักของคนทั้งสองก็ปิดฉากลงด้วยการพลัดพรากจากลา
ข้อมูลที่ควรได้รับการบอกกล่าวอย่างทันท่วงที ณ ตรงนี้ ซึ่งเกี่ยวโยงกับโครงสร้างการเล่าเรื่องของ Cinema Paradiso ก็คือมันเป็นหนังที่มีด้วยกันทั้งหมดสามฉบับ อันได้แก่ฉบับที่ออกฉายทั่วโลกซึ่งกินเวลา 123 นาที รวมทั้งเป็นฉบับที่ได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์จากเทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์ และชนะเลิศรางวัลออสการ์หนังภาษาต่างประเทศ, อีกฉบับออกฉายในอิตาลี มีขนาด 155 นาที และฉบับ director’s cut ซึ่งยาวถึง 174 นาที และออกฉายในอีกราวสิบปีถัดมา
ในฉบับสองชั่วโมงโดยประมาณ เนื้อหาส่วนสุดท้ายซึ่งกินเวลาราวๆ 20 นาที ก็แทบจะทำหน้าที่ไม่แตกต่างไปจากบทสวดส่งดวงวิญญาณหรือการไว้ความอาลัยเป็น ครั้งสุดท้าย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะความตายของชายชราเพียงลำพัง แต่รวมถึงตัวโรงหนัง ตลอดจนรายละเอียดปลีกย่อยทั้งหลายที่ดับสูญไปพร้อมกับกาลเวลา (กระทั่งคนเสียสติที่แม้ว่าจุดยืนและเจตนารมณ์ของเขาในตลอดระยะเวลา 30-40 ปีจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และนั่นคือเขาเชื่อว่าจัตุรัสแห่งนี้เป็นของเขาแต่เพียงผู้เดียว แต่น้ำเสียงที่เคยประกาศอย่างกึกก้องในอดีต-ก็ยังลดระดับลงเหลือเพียงแค่การ งึมงำอยู่ในลำคอ) ขณะที่ ‘ของที่ระลึก’ ของอัลเฟรโด้ ที่ฝากไว้ให้กับโตโต้ก่อนตาย อันได้แก่บรรดาช็อทต้องห้ามทั้งหลายที่หลวงพ่ออเดลฟิโอ้เคยสั่งให้เซนเซอร์ ซึ่งมันถูกนำมาเรียงร้อยต่อเนื่องเป็นหนังเรื่องเดียวกันอีกครั้ง-ก็เป็นดัง ที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้า หลักฐานหนึ่งในไม่กี่อย่างที่ตอกย้ำถึงความวิเศษของภาพยนตร์ที่สามารถเก็บ รักษา, แช่แข็ง กอบกู้และรื้อฟื้นสิ่งต่างๆที่ผ่านพ้นไปแล้วให้หวนกลับคืนความมีชีวิตอีก ครั้งได้อย่างน่าอัศจรรย์ ข้อสำคัญ คุณค่าต่างๆเหล่านั้นจะไม่มีวันร่วงโรย และมันจะดำรงอยู่อย่างไม่มีวันตกหล่นสูญหายตราบนานเท่านาน และต้องบอกว่าในฉบับสองชั่วโมง มันเป็นตอนจบที่ทั้งฉลาดหลักแหลม ซาบซึ้งและน่าประทับใจ
พิจารณาในเชิงเปรียบเทียบ ฉบับ director’s cut
กับฉบับที่ออกฉายทั่วโลก-ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกันในสองส่วนแรกอย่างมีนัย
สำคัญ และเป็นเนื้อหาในส่วนที่สาม
อันได้แก่โตโต้ในภาคผู้ใหญ่นี่เอง-ที่ได้รับการขยายความอย่างชนิดที่สามารถ
ทำให้ผู้ชมจดจำหนังเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกที่แปรเปลี่ยนไป....
บรรยายสรุปอย่างสั้นๆก็คือในที่สุด
พระเอกของเราไม่เพียงกลับมาร่วมงานศพของอัลเฟรโด้ แต่ยังได้พบกับเอเลน่า
(รับบทโดย บริจิตต์ ฟอสซี่ คนเดียวกับหนูน้อยในหนังเรื่อง Forbidden Game
ของเรอเน่ แคลร์) อีกครั้ง
และบทสนทนาของคนทั้งสอง-ทำให้ผู้ชมได้รับรู้ว่าหญิงสาวไม่ได้หายตัวไปเฉยๆใน
ตอนที่ทั้งสองนัดหมายที่จะพบปะเพื่อร่ำลาเมื่อราวสามสิบปีก่อนหน้านั้น
และเป็นอัลเฟรโด้ที่อยู่เบื้องหลังหรือทำตัวเจ้ากี้เจ้าการไม่ให้ทั้งสองได้
เจอกัน
ซึ่งก็เป็นด้วยเหตุผลที่ผู้ชมในฉบับสองชั่วโมงสามารถคาดเดาได้ไม่ยากเย็น
และนั่นก็คือเพื่ออนาคตอันรุ่งโรจน์ในภายภาคหน้าของพระเอกของเรานั่นเอง
และผู้ชมถึงกับได้ยินเอเลน่าในวัยผู้ใหญ่บอกทำนองว่าเธอเองก็เพิ่งจะมาเข้า
อกเข้าใจในตอนหลัง และ “สมมติเราอยู่ด้วยกัน คุณก็คงไม่ได้ทำหนังพวกนั้น
และมันก็คงจะเป็นเรื่องน่าเสียดาย
เพราะหนังเหล่านั้นมันช่างวิเศษเหลือเกิน”
หรือพูดอย่างรวบรัด เนื้อหาที่ถูกเพิ่มเข้ามา (อันที่จริง ต้องบอกว่ามันอยู่ของมันตั้งแต่แรกและถูกตัดทอนออกไป และมันมีสถานะไม่แตกต่างจาก deleted scenes ที่เรามักจะพบเห็นในส่วนที่เป็นของแถมในแผ่นดีวีดี.) ที่เกี่ยวข้องกับการที่พระเอกของเราได้ ‘รียูเนี่ยน’ กับคนรักเก่า-ก็ด้วยจุดประสงค์เพื่อบอกถึงความเป็นคนที่มี ‘ญาณทัศน์’ ของอัลเฟรโด้นั่นเอง ซึ่งเป็นแง่มุมที่ถูกตอกย้ำอย่างค่อนข้างหนักแน่นแล้วในฉบับสองชั่วโมง และมันส่งผลให้หนังยืดยาดและเยิ่นเย้อโดยไม่จำเป็น มิหนำซ้ำ ยังสุ่มเสี่ยงต่อการที่ผู้ชมอาจตั้งคำถามถึงการพยายามเล่นบทพระเจ้าของชาย ชราซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่สมควร
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ฉบับ director’s cut ก็มีประโยชน์ในแง่ที่มันทำหน้าที่เสมือนเป็นภาคขยายสำหรับกลุ่มผู้ชมที่ตก หลุมรักหนังเรื่องนี้และปรารถนาที่จะรับรู้ทุกอย่างเท่าที่คนทำหนังสามารถ หยิบยื่นให้ และตัวหนังก็ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชมอย่างชนิดที่แทบไม่หลงเหลือ ปมปริศนาหรือเงื่อนงำที่ชวนให้ตั้งข้อสงสัยอีกต่อไป
ไม่ว่าจะอย่างไร เป็นไปได้สูงมากว่าหนังเรื่อง Cinema Paradiso จะไม่มีวันตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ชมถึงเพียงนี้-ถ้าหากไม่ได้ดนตรีอัน สุดแสนงดงาม ไพเราะและชวนให้ซาบซึ้งของเอนนิโอ มอร์ริโคเน่และแอนเดรีย มอร์ริโคเน่ ลูกชาย และเพลงธีมหลัก ธีมรอง ตลอดจนธีมที่ว่าด้วยความรัก-ซึ่งล้วนแล้วกลายเป็นท่วงทำนองที่คุ้นหูคนฟัง ไม่เพียงสอดประสานกลมกลืนไปกับเนื้อหาอย่างเป็นเนื้อเดียว แต่ลำพังตัวดนตรีเองยังแทบจะกลายเป็นท่วงทำนองที่เป็นสากลที่สื่อความหมาย ถึงความหลังและการหวนหาอดีตหรือ nostalgia โดยตรง และไม่มีทางกล่าวเป็นอย่างอื่นนอกจากบอกว่านี่คืองานศิลปะที่คุณค่าของมัน อยู่ในระดับ ‘ปรากฏการณ์’
CINEMA PARADISO (1989)
กำกับ, บทภาพยนตร์-จุยเซปเป้ ทอนาทอเร่/อำนวยการสร้าง-ฟรังโค ครัสตัลดิ/ลำดับภาพ-มาริโอ้ มอร่า/กำกับภาพ-บลาสโก้ จุยราโต้/ดนตรีประกอบ-เอนนิโอ และแอนเดรีย มอร์ริโคเน่/ออกแบบงานสร้าง-แอนเดรีย คริสแซนติ/เสื้อผ้า-เบียทริซ บอร์ดอนเน่/ผู้แสดง-ฌาคส์ แปร์แรง, ฟิลิพพ์ นัวเร่ต์, ซาลวาทอเร่ คาสชิโอ, มาริโอ้ ลีโอนาร์ดิ, แอกนีส นาโน่, แอนโทเนลล่า แอตติลิ, พัพเพลล่า แมกจิโอ, ลีโอโพลโด้ ทริสเต้/สี/ความยาว (ฉบับฉายโรง) 123 นาที, (ฉบับ director’s cut) 174 นาที