Hotel Rwanda ( 2004 ) รวันดา ความหวังไม่สิ้นสูญ จากความเกลียดชัง นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
นี่คือเรื่องราวแห่งความเกลียดชังที่ถูกบ่มเพาะสร้างปมขึ้นมาจากคนเพียงไม่กี่คน จนนำไปสู่เหตุการณ์เศร้าสลดสะเทือนโลก ที่แม้แต่พระเจ้ายังต้องหลั่งน้ำตา ผู้คนนับล้าน ต้องสังเวยให้กับความบ้าคลั่งอันเป็นผลพวงมาจากความเกลียดชัง ที่ถูกสื่อมวลชนผู้ฉ้อฉลยัดเยียดจนกลายเป็นกระแสสังคม อันนำไปสู่กระแสแห่งการฆ่าล้างผลาญชีวิตที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เป็นการล้างผลาญชีวิตที่มีผู้ตกเป็นเหยื่อสังหารมากที่สุด โดยใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือนเศษเท่านั้น นี่คือเรื่องราวของการล้างเผ่าพันธุ์ใน รวันดา เหตุการณ์สลดที่โลกไม่อยากจดจำ จากเดือนเมษายน 1994 จนถึงเดือนกรกฎาคมในปีเดียวกัน ผู้คนมากกว่า 900,000 คน ถูกสังหารอย่างไร้ความปราณี
Hotel Rwanda ภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 2004 จากผลงานการกำกับของ เทอร์รี จอร์จ เล่าเรื่องราวของชายผู้หนึ่งที่ชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่ลุกลามจนกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดเหี้ยมอำมหิตที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เขาต้องปกป้องชีวิตของตนเอง ครอบครัว ให้รอดพ้นจากความตายโดยมีชีวิตของผู้บริสุทธิ์อีกนับพันเป็นเดิมพัน
รวันดา ประเทศเล็ก ๆ ในแอฟริกา มีเมืองหลวงชื่อ คิกาลี ประชาชนของประเทศนี้ประกอบด้วยชนเผ่าฮูตู ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศราว 85 เปอร์เซ็นต์ และชนเผ่าทุสซี่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ แต่คนเผ่าทุสซี่ที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศนี้จะเป็นชนชั้นปกครอง มีสิทธิต่าง ๆ ที่มากกว่าเผ่าฮูตูซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ชาวเผ่าฮูตูจึงต้องอยู่ภายใต้การกดขี่จากเผ่าทุสซี่มาโดยตลอด ในอดีตประเทศนี้เคยเป็นเมืองขึ้นของเยอรมันจนเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลง เบลเยี่ยมได้เข้าครอบครองเป็นเจ้าอาณานิคมและได้นำนโยบายการแบ่งแยกประชาชนออกเป็นสองฝ่ายเพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง เบลเยี่ยมสนับสนุนการแบ่งชนชั้นด้วยการกำหนดรูปร่าง สีผิว ลักษณะโครงสร้างใบหน้าระหว่างชนเผ่าทั้งสองนี้ โดยกำหนดลงบนบัตรประชาชนว่าผู้ใดเป็นเผ่าฮูตู และเผ่าทุสซี่ ซึ่งลักษณะทางกายภาพที่เด่นชัดที่สุดคือเผ่าทุสซี่จะมีสีผิวที่ดำน้อยกว่าคนเผ่าฮูตู ชาวทุสซี่จะมีสถานะทางสังคมที่เหนือกว่า และมีสิทธิต่าง ๆ ที่มากกว่าพวกฮูตู ความขัดแย้งทางสังคมและเชื้อชาตินี้เองทำให้คนทั้งสองเผ่ามีเรื่องกระทบกระทั่งกันมาตลอดเวลา จนกระทั่งในปี 1962 รวันดาได้รับเอกราชจากเบลเยี่ยม นายคายิบานยา ชาวเผ่าฮูตูได้ทำการขับไล่ชาวทุสซี่ที่ปกครองประเทศออก และก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศ รัฐบาลเผด็จการของเขาใช้นโยบายกดขี่ชาวทุสซี่ในฐานะชนกลุ่มน้อยของประเทศ เพื่อตอบโต้ที่ชาวทุสซี่เคยกดขี่ชาวฮูตูมาเป็นเวลาช้านานและเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้กับชาวฮูตู จนกระทั่งในปี 1973 เขาถูกปฎิวัติโค่นอำนาจลงโดยนายฮัมยาริบมาน ซึ่งเป็นคนสนิทของเขาและเป็นชาวฮูตูเช่นกัน ชาวเผ่าทุสซี่จึงเริ่มก่อตั้งกองกำลังจับอาวุธขึ้นต่อสู้ภายใต้การสนับสนุนจากอเมริกา โดยมีฐานที่มั่น่ในอูกานดา โดยใช้ชื่อกลุ่มกองกำลังว่า RPF ทำการสู้รบกับรัฐบาลเผด็จการของนายฮัมยาริบมาน สงครามกลางเมืองเริ่มประทุพร้อมกับการเข่นฆ่ากันของทั้งสองเผ่าดำเนินมาจนถึงปี 1990 RPF สามารถยึดพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไว้ได้ทั้งหมด ปธน ฮัมยาริบมาน มีแนวคิดที่จะประนีประนอมยอมเจรจากับกองกำลัง RPF เพื่อแบ่งพื้นที่การปกครอง ท่ามกลางความไม่พอใจและโกรธแค้นของทหารตลอดจนประชาชนชาวฮูตูหัวรุนแรงที่ต้องการกวาดล้างชาวเผ่าทุสซี่ให้หมดสิ้นไป สื่อมวลชนเริ่มโหมสร้างกระแสแห่งความเกลียดชัง และชักนำให้ชาวฮูตูเห็นว่าชาวทุสซี่คือแมลงสาบที่น่ารังเกียจ เป็นต้นตอของความชั่วร้ายทั้งมวลในแผ่นดินนี้ มีการจัดตั้งกองกำลังขึ้นมาในทุกหัวเมือง และหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อกำจัดชาวทุสซี่ โดยมีอาวุธหลักคือมีดสปาต้าร์ ในปี 1993 ปธน ฮัมยาริบมาน มีแผนการที่จะเซ็นสัญญาหยุดยิงกับ RPF เพื่อยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ จนลุถึงเดือนเมษายน 1994 เครื่องบินโดยสารที่เขานั่งไปเพื่อลงนามในสัญญาหยุดยิงถูกยิงตก ทุกคนบนเครื่องเสียชีวิตหมดรวมถึงตัว ปธน ฮัมยาริบมาน ด้วย สื่อวิทยุกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าชาวทุสซี่คือตัวการผู้สังหาร ปธน ดังนั้นพวกมันทุกคนต้องตาย และได้เรียกร้องให้ชาวฮูตูออกทำการสังหารชาวทุสซี่ทุกคนที่พบ หากชาวฮูตูผู้ใดเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ถือว่าเป็นนผู้ทรยศและจะต้องถูกสังหารเช่นเดียวกัน ท้องถนนของกรุงคิกาลี และหมู่บ้านต่าง ๆ ทุกแห่งกลายเป็นทะเลเลือด ฝูงชนชาวฮูตูผู้บ้าคลั่งออกทำการปิดถนนเพื่อตรวจบัตรประชาชน ค้นและปล้นสะดมบ้านเรือนชาวทุสซี่ก่อนที่จะทำการฆ่าทิ้งอย่างเลือดเย็น การสังหารหมู่ การข่มขืน เกิดขึ้นทุกหัวระแหง ท่ามกลางความโกลาหลและนองเลือดที่ถูกเพิกเฉยจากประเทศมหาอำนาจและองค์กรสิทธิมนุษยชน ในชั่วระยะเวลาเพียง 100 วัน ชาวทุสซี่กว่า 900, 000 คนถูกฆ่าอย่างไร้ความปราณี การล้างผลาญชาวทุสซี่ยุติลงเมื่อกองกำลัง RPF เคลื่อนกำลังบุกถึงกรุงคิกาลี จนสามารถยึดเมืองหลวงแห่งนี้ ยุติความตายที่กลืนกินชาวทุสซี่ทุกคนเอาไว้ได้ หนังเรื่อง Hotel Rwanda ได้หยิบยกเรื่องชีวิตจริงของ นายพอล เซซาเบกินา ชาวฮูตูซึ่งมีภรรยาเป็นชาวทุสซี่ เขาเป็น ผจก โรงแรมไมล์ คอลลินส์ โรงแรมระดับห้าดาวในกรุงคิกาลี ซึ่งรับบทโดย ดอน เครเดิ้ล ท่ามกลางความโกลาหลน่าสะพรึงกลัวนั้น พอล ต้องปกก้องครอบครัวของเขาให้พ้นภัยจากกลุ่มชาวฮูตูผู้บ้าคลั่ง เขาเป็นผู้บริหารที่ชาญฉลาด ที่รู้จักวิธีผูกมิตรกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้นำทางทหาร ทั้งเรื่องการเจรจาต่อรองตลอดจนการติดสินบนต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจโรงแรมเป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อสถานะการณ์มาถึงจุดวิกฤติเขาต้องใช้ทักษะความชำนาญทั้งหมดที่เคยกระทำมาในการปกป้องครอบครัวและตัวเขาเองให้พ้นภัย เนื่องจากเขาเป็นชาวฮูตูที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง ท่ามกลางสถานการณ์ที่บีบคั้น พอลตัดสินใจใช้โรงแรม ไมล์ คอลลินส์ เป็นที่หลบภัยสำหรับครอบครัว แต่เมื่อเขาได้พบเห็นซากศพจำนวนมากบนท้องถนนในกรุงคิกาลี เขาตัดสินใจที่จะปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์ด้วยการใช้โรงแรม ไมล์ คอลลินส์ เป็นที่หลบภัยให้กับชาวทุสซี่ พอลใช้ทรัพยากรทั้งหมดของโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นเงินดอลล่าร์ เหล้าและไวน์ชั้นเลิศ เพื่อติดสินบนให้กับ ผ.บ ทหารฮูตู แลกเปลี่ยนกับการคุ้มครองโรงแรมแห่งนี้ให้ปลอดภัยจากชาวฮูตูผู้บ้าคลั่ง ตลอดระยะเวลากว่าสามเดือนที่ พอล ต้องปกป้องชีวิตคนนับพันภายในโรงแรมที่ถูกดัดแปลงเป็นประหนึ่งศูนย์ลี้ภัย โลกทั้งโลกเพิกเฉยไม่รับรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในรวันดา ชาวรวันดาส่วนน้อยนิดที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงต่างพากันส่งข่าวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้ไปยังทุกคนในต่างประเทศที่ตัวเองรู้จัก นายพลโรเมโอ ซึ่งรับบทโดย นิค โนลเต้ ผู้นำกองกำลังยูเอ็นเพียง 250 คน ได้รับภารกิจเพียงเพื่อดุแลการอพยพชาวตะวันตกออกจากรวันดา เขาขอกำลังเพิ่มจากยูเอ็น 5000 คนเพื่อยุติความโหดร้ายครั้งนี้ แต่คำขอได้รับการปฎิเสธเนื่องจากอเมริกาถือว่าเหตุร้ายในรวันดาเป็นเพียงการจลาจลของประชาชนมิใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เหตุการณ์ดำเนินไปกว่าสามเดือน จนย่างสู่เดือนกรกฎาคมยูเอ็นตัดสินใจว่าจะส่งกองกำลังทหาร 5000 คนเข้าสู่รวันดา แต่ถึงตอนนั้นกองกำลัง RPF ได้บุกยึดกรุงคิกาลีไว้ได้แล้ว การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุติลง ท่ามกลางความตาย ซากศพ และความสับสนไม่เข้าใจว่าเหตุร้ายนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในชั่วระยะเวลาเพียง 100 วันที่ผู้คนมากมายมหาศาลต้องจบชีวิตลง สื่อมวลชนผุ้ฉ้อฉลนั่นเอง ที่เป็นเสมือนไม้ขีดไฟที่โยนลงไปในบ่อน้ำมันที่พร้อมจะระเบิดได้ตลอดเวลา
Hotel Rwanda ได้ถ่ายทอดเหตุการณ์ข้างต้นออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจนที่สุด นี่คือหนังบอกเล่าเรื่องราวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ช็อกโลกที่ทำออกมาได้อย่างทรงพลังที่สุดนับตั้งแต่ The Killing Field เป็นต้นมา ดอน เครเดิ้ล กับบทบาทของ พอล เซซาเบกินา ผู้บริหารโรงแรมที่เสี่ยงชีวิตตัวเองและครอบครัวเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น นี่คือบทบาทที่ดีที่สุดในชีวิตการแสดงของเขา โดยเฉพาะฉากที่ต้องแสดงอารมณ์สิ้นหวัง และกดดันเมื่อทราบว่ากองกำลังยูเอ็นถอนตัวออกไปแล้ว เขาถูกทิ้งไว้เพียงลำพังท่ามกลางฝูงชนที่บ้าคลั่ง พอล ต้องต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเองที่พังทลายลงแล้ว แต่ในขณะเดียวกันเขาต้องแสดงให้ทุกคนเห็นว่าเขายังเข้มแข็งอยู่ ความหวังยังมีอยู่ ท่ามกลางแววตาทุกคู่ที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและอ้อนวอนฝากชีวิตไว้กับเขาเพียงผู้เดียว หนังบอกเล่าเรื่องราวความโหดร้ายใน รวันดา เรื่องนี้ ผกก แสดงภาพความน่ากลัว หดหู่ออกมาด้วยภาพของฝูงชนที่เดินถือมีดกรีดไปบนท้องถนน เสียงใบมีดที่กรีดลงบนพื้นคอนกรีต สร้างความรู้สึกพรั่นพรึงได้มากกว่าภาพความสยดสยองเสียอีก ภาพของซากศพที่กองเต็มท้องถนน ภาพการสังหารหมู่ที่ถ่ายในระยะไกลเหมือนภาพจากข่าว สร้างความรู้สึกน่ากลัวสมจริงในอารมณ์ส่วนลึกได้โดยที่ไม่ต้องมีภาพของเลือดท่วมจอปรากฎให้เห็นแม้แต่ฉากเดียว นี่คือชั้นเชิงการทำหนังที่ยอดเยี่ยมของ เทอร์รี่ จอร์จ ผกก หนังเรื่องนี้ และนี่คือหนังสร้างจากเรื่องจริงอันเศร้าสลดที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจนและทรงพลังที่สุดเรื่องหนึ่ง บทเรียนสำคัญจากโศรกนาฎกรรมหนนี้ หนังเรื่องนี้สื่อออกมาเพื่อให้ผู้คนทั้งหลายได้ทบทวน พิจารณาว่าความเกลียดชังในสิ่งที่ผู้อื่นสร้างขึ้นมาครอบงำผู้คนที่ไร้สติ เพื่อนำไปสู่หนทางแห่งอำนาจของตนเองและพวกพ้องนั้น บั้นปลายที่สุดแล้วมักจบลงที่ความสูญเสียของชีวิตผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อสังเวย อย่างไร้เหตุผล ไร้มนุษยธรรม แต่ในยุคแห่งความมืดมนและไร้หนทางยังคงมีแสงแห่งความหวังอยู่เสมอ คือมโนธรรมของมนุษย์นั่นเองที่ช่วยฉุดรั้งความดีเอาไว้มิให้หลุดลอยไป ดั่งเช่นสิ่งที่ พอล เซซาบิเกนาได้กระทำไว้ใน Hotel Rwanda ข้าพเจ้านำบางส่วนของหนังแห่งโศรกนาฎกรรมเรื่องนี้มาให้ทุกท่านได้ชม ขอเชิญทัศนา ณ บัดนี้เถิด
ความเห็น |