ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องราวแห่งยุค 70 ยุคแห่งการปฎิวัติดนตรี Rock และการแสวหาความหมายแห่งชีวิตและการดำรงอยู่ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ยุคที่คนหนุ่มสาวเริ่มตั้งคำถามกับสังคมและสิ่งรอบตัว ยุคที่สงครามเย็นดำเนินไปอย่างดุเดือด ร้อนแรงที่สุดผ่านทางสงครามตัวแทนที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับล้าน พร้อมกับฝากรอยแผลอันยากเยียวยาแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง วันนี้ข้าพเจ้าขอนำภาพยนตร์เรื่องเยี่ยม ที่สร้างออกมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการรวมตัวกันของคนหนุ่มสาวในวันที่ดอกไม้บาน วันที่ความรักในเสียงเพลงและการไขว้คว้าหาสันติภาพ เสรีภาพ ผ่านทางเสียงดนตรี จากกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ฮิปปี้ ผู้พิสมัยในบทเพลง และเสรีภาพแห่งชีวิต พวกเขาได้มารวมตัวกันกว่า 500,000 คน กลางท้องทุ่งเมืองเบเทล แห่งนิวยอร์ค การรวมตัวกันครั้งนี้มีชื่อเป็นทางการว่า Woodstock Music and Arts Fair ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15 – 18 สิงหาคม 1969 นี่คือมหกรรมทางดนตรีที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญมากที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรี เนื่องด้วยงานครั้งนี้มีศิลปินมากมายในยุค 70 ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่และเป็นแนวทางให้ศิลปินยุคต่อมาได้ก้าวเดินตาม ศิลปินที่ขึ้นเวทีในครั้งนั้นมีอาทิเช่น CCR , Paul Butterfield Blues Band , Crosby Still Nash and Young , Mountain , The Who , Joan Baez , Ten Years After , Johny Winter , Canned Heat , Joe Cocker , Ravi Shankar , Arlo Guthrie , Country Joe , SAtana , John Sabastian , Grateful Dead , Janis Joplin , Sly and the Familys Stone , Shanana , Jefferson Airplane , The Band , Blood Sweat and Tears และยังมีศิลปินอีกมากมายหลายคนด้วยกันที่มาร่วมงานนี้ Joni Michell ศิลปินโฟล์คผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถมาร่วมงานได้ เธอได้แต่งเพลงอุทิศให้กับงานครั้งนี้ โดยมอบให้ Crosby Still Nash and Young นำไปร้องจนกลายเป็นบทเพลงยิ่งใหญ่ตลอดกาลอีกบทเพลงหนึ่ง Woodstock อาจจะมิใช่มหกรรมดนตรีที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุด แต่นี่คือ มหกรรมดนตรีที่มีความสำคัญมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ครั้งนี้ นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญที่สุดทางด้านดนตรี และสังคมของอเมริกาในยุค 70 นักอนุรักษ์นิยมประณามเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า เป็นความเสื่อมทางวัฒนธรรม แต่สำหรับมวลชนคนหนุ่มสาวที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมในยุคต่อมา พวกเขาถือว่านี่คือการแสดงออกของกลุ่มคนผู้ใฝ่หาสันติภาพ ความรัก และเสรีภาพแห่งชีวิต พลังของกลุ่มคนเกือบครึ่งล้านคนที่มารวมตัวกันตลอดสามวันสามคืน เพื่อจะประกาศให้โลกได้รู้ว่า สันติภาพ และความรักคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ มหกรรมนี้ เกิดขึ้นจากความคิดของคนเพียงไม่กี่คน โดยความริเริ่มของ ไมเคิล แลง ฮิปปี้ผู้มีความคิดอยากจะจัดมหกรรมดนตรีที่รวบรวมวงดนตรีชื่อดังในยุคนั้นมาร่วมเล่นด้วยกัน ในสถานที่ธรรมชาติกลางทุ่งหญ้า โดยคาดหมายว่าคนอาจจะมาร่วมงานนี้ไม่เกิน 100,000 คน เขาตั้งใจจะใช้สถานที่เรียกกันว่า วอล์ล คิล ซึ่งอยู่ที่ วู๊ดสต้อก เป็นที่จัดงานหนนี้ แต่คนท้องถิ่นที่นั่นซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ที่ชิงชังเหล่าบุปผาชนชาวฮิปปี้ ไม่ต้องการให้มีการจัดงานนี้ขึ้น ทางผู้จัดงานคือ ไมเคิล แลง จึงต้องคิดหาวิธีแก้ปัญหานี้ ในขณะที่ตั๋วบางส่วนเริ่มจำหน่ายออกไปแล้ว และเหลือเวลาอีกเพียงหกสัปดาห์ เท่านั้นก่อนงานเริ่ม เงินทุนการจัดงานเริ่มหมดลง พวกเขาประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ไมเคิล แลง คิดว่างานหนนี้คงต้องยอกเลิกแล้ว ในขณะที่ประสบปัญหาเข้าขั้นวิกฤตินั้น ทาง Warner บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวู้ด ได้ยื่นมือเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน เพื่อแลกกับสิทธิในการถ่ายทำมหกรรมหนนี้เป็นภาพยนตร์สารคดีออกฉายทั่วโลก รวมถึงการผลิตแผ่นเสียงบันทึกการแสดงด้วย แต่ปัญหายังไม่จบเพราะทางทีมงานจะต้องหาสถานที่แห่งใหม่ที่เพื่อเดินหน้าจัดงานครั้งนี้ต่อไป และเรื่องราวหลังจากนี้คือที่มาของสุดยอดภาพยนตร์จากฝีมือของ ผกก อัจริยะ จากประเทศจีน Ang Lee ที่ได้ทำการถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องหลังแห่งมหกรรมดนตรีครั้งนี้ออกมาบนแผ่นฟีล์ม
Taking Woodstock บอกเล่าเรื่องราวเบื้องลึกของมหกรรมดนตรี Woodstock โดยเริ่มจาก เอเลียท หนุ่มไฟแรงผู้ที่ต้องการที่จะรักษาธุรกิจของครอบครัว คือโรงแรมขนาดเล็กที่ ไวท์เลค ในเมืองบิเธล ซึ่งกำลังจะถูกธนาคารยึด เขารู้ว่าที่นี่คือทุกสิ่งทุกอย่างของพ่อและแม่ ที่ดำเนินธุรกิจมาช้านานแล้ว ในขณะที่ตัวเขาเองนั้นมีตำแหน่งเป็นประธานหอการค้าของเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ แม้จะพยายาม ขอผ่อนผันประณอมหนี้กับทางธนาคาร แต่เส้นตายคือระยะเวลาสองสัปดาห์ที่เขาต้องชำระเงินกู้ให้ธนาคาร ในช่วงที่กำลังจวนตัวนี้ เอเลียท ได้ไปพบข่าวการไม่อนุญาติให้ใช้สถานที่จัดงานดนตรีที่ Woodstock ที่เรียกว่า วอล์ลคิล เขาเกิดความคิดว่า หากให้การจัดงานหนนี้มาจัดที่เมืองนี้ อย่างน้อยโรงแรมของเขาน่าจะมีแขกมาพักมากขึ้น และยังสามารถใช้เป็นสถานที่จำหน่ายบัตรให้กับผู้ชมได้ เขาติดต่อไปยัง ไมเคิล แลง เพื่อให้มาดูสถานที่ พร้อมกับชักนำให้ ไมเคิล ได้พบกับ แมค ยาสการ์ ชายวัยกลางคนเจ้าของฟาร์มขนาดใหญ่ในเมือง ซึ่งแมค ตอบตกลงทันที แต่กว่าที่มหกรรมครั้งนี้จะเริ่มต้นขึ้นได้ เอเลียท ต้องแก้ปัญหาสารพัด ทั้งเรื่องต่อต้านจากผู้คนในชุมชน การปรับปรุงโรงแรมเพื่อให้เพียงพอต่อผู้คนและทีมงานจัดงานที่เข้ามาพัก ในขณะที่แม่ของ เอเลียท ซึ่งไม่ต้องการให้พวกฮิปปี้ เข้ามายุ่มย่ามภายในโรงแรม อีกทั้งยังมีกลุ่มพวกสติ้กเกอร์ กลุ่มนักแสดงละคร ผู้แสวงหาความบริสุทธิ์แห่งชีวิต ด้วยการเปลือยกายกลางที่สาธารณะ เพื่อประท้วงต่อความฉ้อฉลในสังคม เอเลียทต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ถึงสิ่งที่เขาได้พบเห็น จากความพยายามเพียงแค่ต้องการรักษาธุรกิจของครอบครัว แต่เมื่อมาถึงจุดที่งานเริ่ม ผู้คนเดินทางมาราวกับคลื่นในมหาสมุทร ด้วยความมุ่งมั่นเพียงแสดงออกถึงความรัก และสันติภาพ ผ่านบทเพลงที่เขาได้ยินมาแต่ไกลจากเวทีที่อยู่ห่างออกไป เอเลียทเริ่มรู้สึกว่า เขา เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญนี้ มากกว่าสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัว แม้แต่โรงแรมขนาดเล็กซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวมาเนิ่นนาน ก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป ภาพของกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอย่างเสรี ปราศจากพันธนาการทางสังคม มีแต่ กาล ณ ปัจจุบัน ท่ามกลางควันแห่งโอสถหลอนจิตที่ล่องลอย เสียงซีต้าร์จาก Ravi Shankar ที่เปรียบเสมือนโพยมยานที่พาจิตใจให้ล่องลอยไปสู่ดินแดนที่แสนไกล เอเลียทซึมซับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้คนมากมายที่เสพยา เสพกาม และใช้ชีวิตร่วมกันท่ามกลางพื้นหญ้าและโคลนที่เฉอะแฉะจากพายุฝนที่โหมกระหน่ำเข้าใส่ท้องทุ่งของ แมค ยาสการ์ ในห้วงเวลานั้น
Taking Woodstock กล่าวถึงเหตุการณ์เบื้องหลังการจัดงานครั้งนี้ และเรื่องราวของผู้คนที่ใช้ชีวิตร่วมกันที่ Woodstock ในครั้งนั้น โดยหลีกเลี่ยงที่จะเสนอภาพของเหล่าศิลปินที่อยู่บนเวที ซึ่งเราสามารถดูได้จากสารคดีที่บันทึกออกฉายในปี 1970 ผกก Ang Lee พาผู้ชมร่วมเดินทางไปกับฝูงชนที่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติตลอดเวลาสามวันสามคืน ภาพของชีวิตเสรี กลางท้องทุ่ง ที่มีทั้งการเสพยา เสพกาม การทำสมาธิ และกิจกรรมต่าง ๆ ของเหล่าบุปผาชนทั้งหลาย ภาพเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างสมจริง ด้วยโลเคชั่นที่ไม่แตกต่างจากที่ดูในสารคดี เขาสะท้อนภาพการใช้ชีวิตของคนเหล่านี้ ตังแต่การเดินทางมาถึงท้องทุ่งแห่งนี้ จนกระทั่งงานจบลง ด้วยภาพที่ปรากฏบนจอแบบแบ่งเป็นหลายภาพ เหมือนที่เราดูจากในสารคดีบันทึกเหตุการณ์หนนี้ แต่ต่างกันที่ภาพจากในหนังเป็นภาพของผู้คนและบรรยากาศของเหตุการณ์นี้ ซึ่งในสารคดีมีปรากฏให้เห็นเพียงน้อยนิด
Woodstock , Music and Arts Fair ปิดฉากส่งท้ายด้วยการก้าวขึ้นเวทีของศิลปินคนสุดท้าย ในตอนสายของเช้าวันที่ 18 สิงหาคม 1969 ศิลปินผู้นั้นคือ Jimi Hendrix เทพเจ้าแห่งไซคลีเดลิค ผู้เป็นตำนานและแรงบันดาลใจของนักกีต้าร์ทั่วโลก เขาขึ้นเวทีพร้อมกับกีต้าร์คู่ใจ ร่ายมนต์สู่ปลายนิ้วบนฟิงเกอร์บอร์ด ราวกับเทพผู้บ้าคลั่ง บทเพลงแล้วบทเพลงเล่าถูกถ่ายทอดออกมา จนมาถึงช่วงท้าย หลังจากการเล่นกีต้าร์ที่แสนดุเดือดในบทเพลง Voodoo Chile ด้วยความยาวเกือบยี่สิบนาที และแล้ว บทเพลงที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีใครนำมาเล่นบนเวที ก็ได้ถูกนำมาบรรเลง นั่นคือ The Star – Spangled Banner เพลงชาติแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ถูกบรรเลงผ่านเสียงกีต้าร์ที่แหบพร่า และกระด้างดุดันของเขา สะกดผู้ชมให้นิ่งเงียบราวต้องมนต์ หลายคนถึงกับร่ำไห้ ด้วยความคิดถึง พี่ น้อง พ่อ ที่ถูกส่งไปเวียดนาม เพื่อทำการรบกับข้าศึกที่ไร้ตัวตน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีในตอนสายของวันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม 1969 แต่สำหรับภาพที่ สุดยอด ผกก Ang Lee ถ่ายทอดออกมาบนแผ่นฟีล์ม ด้วยภาพของฝูงชนที่เริ่มเดินทางกลับ ท้องทุ่งที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำขัง และขยะ เอเลียท นั่งเหม่อมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ผู้คนจากไปทิ้งไว้เพียงความทรงจำ อีกไม่กี่วันท้องทุ่งแห่งนี้จะกลับมาเงียบสงบเหมือนเดิม เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ โดยที่ตัวเองไม่ได้คาดคิด
Taking Woodstock อาจจะมิใช่หนังที่ดีที่สุดในชีวิตการทำหนังของ ผกก Ang Lee แต่นี่อาจนับเป็นหนังเกี่ยวกับดนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของฮอลลีวู้ด ข้าพเจ้าขอนำบางส่วนของหนังเรื่องนี้มาให้ท่านทั้งหลายได้ทัศนากัน พอสังเขป ณ บัดนี้แล้ว
( หมายเหตุเพิ่มเติมจากข้าพเจ้า หลังจากมหกรรมดนตรีครั้งนี้จบลง ได้มีความพยายามที่จะจัดงานในลักษณะนี้ขึ้น โดยมีวงดนตรี Rolling Stone เป็นผู้นำในการจัดงาน แต่งานต้องยุติลงกลางคัน เพราะแก๊งค์มอเตอร์ไซค์ Hell Angel ซึ่งทางวงว่าจ้างมาเพื่อเป็นการ์ดในงาน ได้แทงผู้ชมงานคนหนึ่งเสียชีวิต กลายเป็นรอยด่างของวงการดนตรีร็อก ส่วนงานมหกรรม Woodstock มีการจัดขึ้นอีกต่อมาหลายหนด้วยกัน โดยไม่ได้ใช้สถานที่เดิม แต่ความยิ่งใหญ่และตำนานของ Woodstock นั้น เกิดขึ้นได้เพียงหนเดียวเท่านั้นคือ Woodstock Music and Arts Fair 1969 )